อริยสัจ ๔ ในชั้นเรียน


พื้นหลังของผู้ศึกษา

เราจะพบว่า นักศึกษาแต่ละคนที่เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา จะได้เรียนวิชาพระพุทธศาสนามาอย่างน้อย ๖ ปี คือตั้งแต่ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ - ๖

ปรากฏการณ์

"การดำรงชีวิตตามหลักศาสนาพุทธ" คือหัวข้อที่จะเรียนรู้ในวันนี้ (วันก่อนๆ เราเรียนเรื่อง การดำรงชีวิตตามหลักศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, คริสต์....เป็นลำดับ) ผมเริ่มต้นด้วยการวางแผ่นใสลงบนเครื่องฉายข้ามศีระษะ ตัวเลือกแรกที่จะเรียนคือ "อริยสัจ" และต่อด้วยคำถามว่า "อริยสัจ" คืออะไร แต่แล้วผมก็ต้องตอบเองว่า ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ และอธิบายไปถึงว่า ธรรมทั้งหมดที่พระพุทธเจ้านำมานั้น ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า แต่เป็นของมนุษยชาติ เพียงแต่พระองค์ค้นพบ และหยิบเอาสิ่งนี้มาเสนอ เหมือนกับทฤษฏีอะตอม จะมีผู้ก่อตั้งทฤษฎีหรือไม่มี ทฤษฎีนี้ก็มีอยู่ เพียงแต่รอการค้นพบ และวันหนึ่งมนุษย์ก็ค้นพบสิ่งนี้ จากนั้นสักระยะหนึ่ง ผมก็ถามว่า อริยสัจ ๔ ประการมีอะไรบ้าง นักศึกษาคนหนึ่ง เอ่ยขึ้นว่าทุกข์....และหายไป ผมมองไปที่นักศึกษาคนนั้น เห็นเขาพยายามคิดคำตอบอะไรสักอย่าง เห็นเขาหันไปปรึกษากับเพื่อน ขณะที่เพื่อนก็พยายามปรึกษาด้วย คำตอบที่ผมได้คือ อริยสัจ ๔ ประการได้แก่ ทุกข์

เมื่อผมรอไปสักระยะหนึ่งผมก็ต้องเฉลยคำถามนั้นเองว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และพยายามอธิบายให้เห็นว่า แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ยากจะปฏิเสธ แม้วิทยาศาสตร์ก็อยู่ในแนวคิดนี้ เราสามารถใช้แนวคิดนี้ควบคู่กับวิทยาศาสตร์ที่เราในยุคนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากได้

และผมสรุปลงว่า อริยสัจ ๔ ประการนี้ เมื่อสรุปแล้วมีเพียง ๒ เท่านั้นคือ เหตุและผล

ผมมีคำถามในใจว่า ตกลงนักศึกษาจะรู้ไหมว่า อะไรคือเหตุ อะไรคือผล เพื่อทำความสงสัยของผมให้จางไป ผมต้องถามนักศึกษาและผมก็ถามว่า "อริยสัจ ๔ นี้ อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล" ทุกคนนั่งนิ่งเฉยซ่อนเร้นความคิดความสงสัย แต่ผมก็ไม่ได้คำตอบ จากนั้นผมต้องเริ่มวิธีการต่อไป

๑) ทุกข์คืออะไร สมุทัยคืออะไร นิโรธคืออะไร มรรคคืออะไร

คำถามยุ่งยากในใจ : ทำไมยังตอบไม่ได้นะ ไม่กล้าตอบ กลัวผิดหรืออย่างไร มันไม่ใช่เรื่องยากเลย

คำตอบในใจ : สงสัยจะไม่กล้าตอบ เราอยู่กับสิ่งนี้ เราจึงคิดว่าง่าย นักศึกษาไม่ได้อยู่กับสิ่งนี้ มันจึงอาจเป็นเรื่องยากธรรมดา สิ่งที่เรียนมาโดยไม่ได้ฝึกปฏิบัติ ก็เหมือนกับ คนที่เพื่อนแนะนำให้รู้จัก เมื่อไม่เจอกันนานหลายปีก็นึกไม่ออกหลังจากเจอกันอีก หรือถ้าไม่เคยใส่ใจ ก็ยากหน่อยที่จะอยู่ในใจ งั้นก็ต้องถามไปทีละตัว แย้มทีละหน่อย

ภาพปรากฏ : นักศึกษาตอบได้ และผมก็ช่วยตอบด้วย คำตอบคือ ทุกข์ได้แก่สิ่งที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ปัญหา อุปสรรค... สมุทัยคือ สาเหตุให้ทุกข์เกิด นิโรธคือ ความสิ้นไปแห่งทุกข์ ความดับไปแห่งทุกข์ การที่ทุกข์ดับสิ้นไป มรรคคือ หนทางแห่งความดับทุกข์ หนทางหรือแนวทางที่จะนำไปสู่ความสิ้นไปแห่งทุกข์

๒) อะไรคือเหตุ อะไรคือผล

ภาพปรากฏ : ทุกคนนั่งนิ่ง บางคนอ้ำอึ้ง ตอบเปรยๆ ผ่านไปพักใหญ่ ผมก็ต้องยกข้อความมาเปรียบเทียบโดยชี้ไปที่ ๒ ตัวแรก คือ ทุกข์ และสมุทัย "นักศึกษาคนหนึ่ง เบื่อหน่ายเอามากๆ กับการต้องมานั่งเรียนอะไรก็ไม่รู้ที่ตนไม่ชอบ เนื้อความนี้ อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล" ตอบกันไปตอบกันมาพักใหญ่ จนได้ข้อยุติว่า ความเบื่อหน่ายเป็นผล การเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบเป็นเหตุ คำถามต่อไปคือ "ข้อความชุดนั้น อะไรเป็นทุกข์อะไรเป็นสมุทัย" ผ่านไปพักใหญ่ กับการพยายามล้วงคำตอบแบบซัดไปเซมา ส่ายไปส่ายมา พบว่า ความเบื่อหน่ายเป็นทุกข์ การเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบเป็นสมุทัย และถามสรุปตอนท้ายว่า ตกลง ทุกข์และสมุทัย อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล กว่าจะได้คำตอบว่า ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ ก็ใช้เวลาไปนานกว่าปกติเกินกว่าที่คาดไว้ หลังจากนั้น จึงเริ่มจาก ๒ ตัวต่อไปคือ นิโรธ และมรรค ตัวอย่างที่ยกคือ "นักศึกษาคนหนึ่งดีใจมาก ที่อาจารย์ชมว่า การเข้าชั้นเรียนสายนั้นเป็นเรื่องที่ดีแล้ว" ทุกอย่างต้องเดินไปตามรูปแบบข้างต้นนั้น และสรุปใหญ่สุดท้ายว่า ตกลง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล กว่าจะได้คำตอบที่ดี นักศึกษาก็หัวเราะกันยกใหญ่หลังจากที่เห็นและได้ยินผมถอนหายใจเฮือกใหญ่

ก่อนจบเรื่องอริจสัจ ประโยคสุดท้ายที่มอบให้แก่นักศึกษาคือ "ระดับปริญญาตรีแล้ว แค่เพียงเราพูดว่า อริยสัจเมื่อสรุปแล้วมีเพียงสองคือ เหตุและผล เราก็ต้องเชื่อมโยงได้เองแล้วว่า อริยสัจคืออะไร มีอะไรบ้าง หมายถึงอะไร อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ทำไมจึงเป็นเหตุ ทำไมจึงเป็นผล .........".... "ทำไมเราจึงเชื่อมโยงไม่ได้... เพราะเราขาดความรู้ ทำอย่างไรให้มีความรู้" นักศึกษาตอบว่า "ต้องแสวงหาความรู้" ผมเอ่ยต่อว่า ใช่ เราต้องรีบแสวงหาความรู้

ข้อคิดในใจ "ใช่ การที่ผมไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ได้ เพราะผมไม่มีความรู้นี่เอง ดังนั้น ผมต้องแสวงหาความรู้ให้มากๆ"

จากนั้นจึงขึ้นข้อย่อยใหม่เรื่อง "ไตรลักษณ์" ทุกประการต้องใช้กิจกรรมทำนองเดียวกันนั้น....โอ..พระเจ้า ถ้ามีใครถามผมในวันนี้ว่า การผ่าตัดหัวใจทำอย่างไร ผมก็คงตอบไม่ได้เช่นกัน เพราะผมไม่ได้เรียน.......

คำคมวันนี้ : บ้านที่แข็งแรง เพราะสร้างฐานที่มั่นคงไว้

คำสำคัญ (Tags): #บันทึกกิจกรรม
หมายเลขบันทึก: 123700เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2007 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2016 09:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ ...

กลไกชีวิต   ซึ่งหมายถึงการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าและความหมายนั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่คนเราต้องค้นให้พบถึง "ต้นสายปลายทางของเหตุและผล" ..ในเรื่องนั้น ๆ

เหตุและผลที่ค้นพบ  คือ  เส้นทาง หรือแสวงสว่างของการก้าวเดิน ...

ผมเชื่อเช่นนั้นนะครับ

 

สวัสดีครับคุณนมินทร์

         ผมเห็นด้วยกับ         

ข้อคิดในใจ "ใช่ การที่ผมไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ได้ เพราะผมไม่มีความรู้นี่เอง ดังนั้น ผมต้องแสวงหาความรู้ให้มากๆ"

          เพราะคนเราจะแก้ปัญหาได้ก็เพราะความรู้ มีคำกล่าวว่า "ปัญหามา ปัญญาเกิด"  ครับ

สวัสดีครับอาจารย์

เข้ามาเรียนรู้ครับ

ขอบคุณครับ

ขอแสดงความขอบคุณครับ คุณแผ่นดิน อาจารย์กรเพชร และคุณหมอสุพัฒน์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท