ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ E-Journal [Electronic Journal]


วารสารอิเล็กทรอนิกส์...ง่าย....แค่ปลายนิ้วสัมผัส.......

แหล่งสารสนเทศเพื่อการศึกษา ค้นคว้าและวิจัย
          ฐานข้อมูลที่จะกล่าวถึงต่อจากฐานข้อมูลสหบรรณานุกรม คือ ฐานวารสารอิเล็กทรอนิกส์  ปัจจุบันนี้ ห้องสมุดหรือแหล่งบริการสารสนเทศต่างๆ ได้จัดให้บริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตามการจัดหาวารสารก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและงบประมาณด้วย เนื่องจากวารสารอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีราคาค่อนข้างแพง  
          ดังนั้น เพื่อให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ขอเชิญทุกท่านหันมาให้วารสารอิเล็กทรอนิกส์กันเยอะๆ นะคะ ใน Blog นี้ได้ให้รายละเอียดเบื้องต้น พร้อมมี Link ไปยังขอบเขตเนื้อหาของวารสารแยกเป็นสาขาต่างๆ พร้อมมีวิธีการใช้งานด้วย ลองเข้าไปศึกษาดูนะคะ แล้วคุณจะรู้ว่าวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ง่าย..... แค่ปลายนิ้วสัมผัส..จริงๆ
       
          3. ฐานวารสารอิเล็กทรอนิกส์
               วารสารอิเล็กทรอนิกส์ คือ สื่อรูปแบบหนึ่งที่เผยแพร่เป็นฉบับต่อเนื่องมีกำหนดออกที่แน่นอนและเสนอข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย รายงานความก้าวหน้าทางวิชาการ   กิจกรรมและผลงานในสาขาวิชาต่างๆ (Hatue, 2000) มีการจัดเก็บ บันทึกและเผยแพร่ในรูปของข้อมูลคอมพิวเตอร์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ผ่องพรรณ  แย้มแขไข, 2543) โดยสามารถสืบค้นข้อมูลและสั่งซื้อหรือบอกรับเป็นสมาชิกได้จากฐานข้อมูลซีดี-รอม ฐานข้อมูลออนไลน์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (สมร ตาระพันธ์, 2543)  นอกจากนั้น วารสารอิเล็กทรอนิกส์ยังหมายถึงสิ่งพิมพ์ต่อเนื่องในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่บันทึกด้วยระบบดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ เช่น  ซีดีรอม  แผ่นบันทึก  แถบบันทึก  หรือผ่านระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งสามารถเข้าถึงด้วยระบบออนไลน์ทางเวิลด์ไวด์เว็บหรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ การนำเสนอมีหลายลักษณะ เช่น โดยใช้ภาษาแอสกี (ASCII) ภาษาเอชทีเอ็มแอล (HTML) หรือใช้รูปพีดีเอฟ (PDF) (อังคณา ดอนหัวร่อ, 2547)

           ความสำคัญของวารสารอิเล็กทรอนิกส์
           วารสารอิเล็กทรอนิกส์มีความสำคัญต่อผู้อ่าน ผู้ผลิต ผู้เขียนและห้องสมุด สรุปได้ดังนี้  (สมาน ลอยฟ้า, 2537)
           1. วารสารอิเล็กทรอนิกส์เป็นแหล่งรวบรวมสารสนเทศทุกแขนงที่ทันสมัย และมีความสำคัญต่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัย ซึ่งผู้อ่านสามารถติดตามความรู้ ข่าวสารใหม่ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ได้จากทั้งที่บ้านและที่ทำงาน โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่
           2. ผู้ผลิตวารสารสามารถรวบรวม จัดพิมพ์วารสารในเวลาอันรวดเร็ว  ช่วยประหยัดงบประมาณ การพิมพ์ ประหยัดกระดาษ และคำนึงถึงผู้อ่านมากขึ้น
           3. การบอกรับเป็นสมาชิกวารสารอิเล็กทรอนิกส์ของห้องสมุด ช่วยประหยัดเวลา งบประมาณและการจัดเก็บ เพราะห้องสมุดไม่ต้องเสียพื้นที่จัดเก็บ บำรุงรักษาและนำขึ้นชั้น
           4. เพิ่มบทบาทในการรับรองคุณภาพผลงานทางวิชาการ (Certification) โดยบรรณาธิการ คณะกรรมการในการอ่านและพิจารณาความมีคุณค่าทางวิชาการของบทความ (Peer Review)
           5. บทบาทในการประชาสัมพันธ์ (Markerting) โดยทำหน้าที่ในการเผยแพร่ เนื้อหาสาระทางวิชาการ ซึ่งวารสารที่มีชื่อเสียงช่วยทำให้บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น
           6. บทบาทอื่นๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเวลาในการสื่อสารข้อมูลทางวิชาการ ขยายขอบเขตของการสื่อสารทางวิชาการ และช่วยให้นักวิชาการสามารถสร้างฐานข้อมูลที่มีพลังและความยืดหยุ่นมากขึ้น ตลอดจนเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนข้อมูลซอฟต์แวร์มัลติมีเดียต่างๆ อีกด้วย

           ประโยชน์ของวารสารอิเล็กทรอนิกส์
   วารสารอิเล็กทรอนิกส์มีประโยชน์พอสรุปได้ดังต่อไปนี้ (สมาน ลอยฟ้า, 2537)
           1. เป็นสื่อที่มีความทันสมัย น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้ใช้ ทั้งนี้เนื่องจากวารสาร
อิเล็กทรอนิกส์ เป็นนวัตกรรมที่ได้นำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีโทรคมนาคมเข้ามาใช้ประโยชน์ ทำให้การจัดพิมพ์วารสารและการเผยแพร่วารสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว
           2. มีความสะดวก รวดเร็วและทันต่อความต้องการ โดยสามารถค้นหาวารสาร อ่าน บันทึกหรือพิมพ์ผลข้อมูลได้ โดยผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งแตกต่างจากวารสาร   
ฉบับพิมพ์ที่การเข้าใช้ขึ้นอยู่กับเวลาทำการของห้องสมุด
           3. วารสารหนึ่งเล่มสามารถใช้ได้พร้อมกันหลายคน โดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา
           4.  วารสารอิเล็กทรอนิกส์สามารถแสดงผลข้อมูลได้ทั้งรูปภาพ กราฟิก ตารางและมัลติมีเดีย
           5. วารสารอิเล็กทรอนิกส์สามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสามารถที่จะคัดลอก ตัดภาพ และจัดส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว 
           6. วารสารอิเล็กทรอนิกส์สามารถเชื่อมโยง (Link) ผู้แต่ง ผู้ผลิต/ตัวแทนขายและ
ผู้อ่านได้ ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นระหว่างกันอย่างรวดเร็ว
           7. สามารถเชื่อมโยงไปยังเรื่องที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากบทความ ส่วนใหญ่ที่อยู่ในรูปของ HTML จะมีการเชื่อมโยงลิงค์ (LINK) ไปยังเรื่องที่เกี่ยวข้องในเอกสารอ้างอิงของบทความ และเชื่อมโยงลิงค์ (LINK) ถึงคำสำคัญ หัวเรื่องหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ใช้วารสารสามารถลิงค์ไปยังเรื่องที่สนใจหรือที่เกี่ยวข้องได้อย่างต่อเนื่อง
           8. สามารถจัดเก็บข้อมูล สร้างแฟ้มส่วนตัว จัดเก็บประวัติการค้น มีระบบการแจ้งเตือน สามารถฝากคำค้น เพื่อให้ระบบทำการค้นหาข้อมูลและจัดส่งข้อมูลให้ตามคำขอ
           9. ช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ เพราะต้องการเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ หรือแผ่นบันทึกรูปแบบต่างๆ ในการจัดเก็บ
         10. ประหยัดเวลาและลดจำนวนบุคลากรในการจัดเก็บวารสารขึ้นชั้นและเย็บเล่ม ตลอดจนไม่ต้องเสียพื้นที่ในการจัดเก็บ ไม่ต้องบำรุงรักษา
         11. ช่วยในการจัดเก็บสถิติการใช้วารสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         12. วารสารอิเล็กทรอนิกส์แต่ละฐานจะมีคู่มือและแนะนำวิธีการใช้ ซึ่งผู้ใช้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

           ข้อจำกัดของวารสารอิเล็กทรอนิกส์
           1. การใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางด้านคอมพิวเตอร์
           2. การใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์ผู้ใช้ต้องมีพื้นฐานและทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ ตลอดจนรู้เทคนิคในการสืบค้น
           3. วารสารอิเล็กทรอนิกส์ยังประสบปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ในการใช้ เช่น เมื่อผู้ใช้ต้องการทำสำเนาหรือสั่งพิมพ์ผลข้อมูลเป็นจำนวนมากๆ หรือดาวน์โหลดข้อมูลด้วยโปรแกรมจะถูกแจ้งเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์ จากบริษัทผู้ผลิต ซึ่งสถาบันที่บอกรับฐานข้อมูลอาจได้รับผลกระทบคือจะถูกระงับการเข้าใช้ฐานข้อมูลชั่วคราว และปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์อีกประการหนึ่งคือ    ทั้งสำนักพิมพ์และผู้เขียนต่างไม่เชื่อมั่นในมาตรฐานทางลิขสิทธิ์ เนื่องจากการเข้าใช้ฐานข้อมูล  ผู้ใช้สามารถบันทึกหรือพิมพ์ผลข้อมูลได้ ซึ่งจำนวนสำเนาที่บันทึกหรือพิมพ์ผลไป อาจนำไปจำหน่ายต่อไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าได้ 
           4. การเขียนบทความลงในวารสารอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีขั้นตอนที่ต้องเรียนรู้และยังไม่เป็นที่แพร่หลาย
           5. ผู้อ่านส่วนใหญ่คุ้นเคยกับลักษณะทางกายภาพของวารสารฉบับพิมพ์ ที่สามารถจับต้องได้กำหนดที่จัดเก็บได้ มากกว่าวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องเรียกใช้จากเครื่องคอมพิวเตอร์
           6. การให้บริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์ อาจเกิดความล้มเหลวของระบบ (System failure) หรือปัญหาขัดข้องทางด้านเทคนิค เช่น ระบบเครือข่ายขัดข้อง ปัญหาฐานข้อมูลขัดข้อง ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถค้นข้อมูลได้ในเวลาที่ต้องการ

           การส่งเสริมการใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (วิลาวัณย์ โต๊ะเอี่ยม และคณะ, 2550)
           การให้บริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักวิทยบริการ  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้บริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากหน่วยงาน/ภาควิชา/คณะ/ห้องสมุด   ผู้ใช้สามารถเข้าใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านหน้าโฮมเพจของหอสมุดกลาง http://library.kku.ac.th  
หรือเว็บไซต์ของฐานข้อมูลที่ห้องสมุดบอกรับโดยตรง  ส่วนการสืบค้นนอกระบบเครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้อง Login ผ่านระบบ SSL  VPN โดยใช้ User Name และ Password เดียวกับระบบ Web-Mail ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ซึ่งศูนย์คอมพิวเตอร์เป็นผู้กำหนดให้กับผู้ใช้  เพื่อตรวจสอบสิทธิ์ก่อนเข้าใช้บริการ ทั้งนี้นักศึกษาสามารถลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิก KKU NET ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ได้ Username และ Password ดังกล่าว เพื่อใช้ในการ Login เข้าสู่ระบบได้ที่ http://202.12.97.2/account/
            นอกจากนี้ยังจัดทำเครื่องมือช่วยค้นคว้า  รวบรวมชี้แหล่งสารสนเทศในรูปแบบ คู่มือ  เอกสาร  แผ่นพับแนะนำการใช้ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์  เพื่อแนะนำวิธีการเข้าใช้ฐานข้อมูล จัดอบรมแนะนำวิธีการใช้ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ให้กับนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกระดับทั้งปี   ตลอดจนบริการแก่ชุมชน  เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ  และทำให้ผู้ใช้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ตลอด 24 ชั่วโมง  โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาที่ห้องสมุด  ก็สามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว  และทันต่อความต้องการ [ดูรายชื่อฐานข้อมูล/ขอบเขตและวิธีค้นหาฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น]
 
          ด้านการประชาสัมพันธ์
          1. ประชาสัมพันธ์ในช่วงที่มีการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ (ระดับบัณฑิตศึกษา)
          2. ประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์
          3. ประชาสัมพันธ์ผ่านทางคณะ/หน่วยงาน/ภาค โดยทำเป็นหนังสือเชิญชวนเข้าอบรมการใช้ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์  เลือกเข้ารับการอบรมได้ทั้งที่หอสมุดกลาง  หรือที่คณะ/หน่วยงาน
          4. ประชาสัมพันธ์ผ่านข่าวสำนักวิทยบริการ  ส่งไปยังคณะ/หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น 
          5. ประชาสัมพันธ์ผ่านงานประชาสัมพันธ์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น
          6. ประชาสัมพันธ์ผ่านบัณฑิตวิทยาลัย  ซึ่งได้จัดโครงการแหล่งสารสนเทศเพื่อการค้นคว้าและวิจัย ให้กับนักศึกษาระดับบัณฑิตทุกปี  

           อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันการใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในบางสาขายังมีการใช้น้อยมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะข้อจำกัดของวารสารที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ตลอดจนวารสารอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ที่จัดให้บริการนั้นเป็นวารสารภาษาต่างประเทศทำให้ผู้ใช้ไม่ค่อยสนใจ ที่จะศึกษาและใช้เป็นแหล่งค้นคว้า วิจัย
           และจากประสบการณ์ยังพบอีกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใช้ไม่รู้ว่ามีฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์, ไม่รู้วิธีการใช้งาน สืบค้นไม่เป็น หรือเป็นเพราะพฤติกรรมของผู้ใช้เองที่ หากอาจารย์ผู้สอนไม่มอบหมายให้ทำงานส่งก็ไม่สนใจ ดังนั้นผู้สอนควรช่วยกันกระตุ้น ชี้แนะ หรือให้งานกับนักศึกษา โดยระบุให้ค้นคว้าจากวารสารอิเล็กทรอนิกส์หรือฐานข้อมูลออนไลน์อื่นๆ นักศึกษาจึงจะให้ความสนใจที่จะเข้าศึกษา ค้นคว้า 
            นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการเข้าถึงยาก ระบบขัดข้องบ่อยและล่าช้า บทความหรือวารสารที่ต้องการไม่มีหรือมีแต่ไม่ได้เอกสารฉบับเต็ม เป็นต้น
           
            
ฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้ทดลองใช้ฟรี
            
นอกจากนี้ ห้องสมุดยังจัดให้บริการฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ทดลองใช้ฟรีด้วย เนื่องมีบริษัทหรือตัวแทนจำหน่ายได้เสนอฐานข้อมูลให้บุคลากรมข. เข้าใช้ฐานข้อมูล ซึ่งบางฐานได้อนุญาติให้กับบุคคลภายนอกให้สามารถเข้าใช้ได้ด้วย ลองเข้าไปทดลองใช้ดูนะคะ เพราะฐานข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานวิชาการอย่างมาก
            1.  ฐานข้อมูล

เอกสารอ้างอิง
ผ่องพรรณ แย้มแขไข.  2544. บริการอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  = Electronic 
              services in Chiang Mai University Library.  วารสารสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
              8 (ฉบับห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์), 45-55.
วิลาวัณย์ โต๊ะเอี่ยม, สิริพร ทิวะสิงห์ และยุวดี มโนมยิทธิกาญจน์. 2550. การศึกษาการใช้วารสารอิเล็กทรอนิกส์
             ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น.
สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
วิลาวัณย์ โต๊ะเอี่ยม.  เอกสารแนะนำทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักวิทยบริการ 
              มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
2550. (เอกสารอัดสำเนา)
สมร  ตาระพันธ์.  2543.  วารสารอิเล็กทรอนิกส์:รูปแบบใหม่ของวารสาร. บรรณารักษศาสตร์และ
              สารนิเทศศาสตร์ มข., 18
(2), 20-32.
สมาน  ลอยฟ้า. 2537. วารสารอิเล็กทรอนิกส์. บรรณารักษศาสตร์ มข., 12(3), 40-54.
อังคณา ดอนหัวร่อ.  2543.วารสารอิเล็กทรอนิกส์:การวิเคราะห์เพื่อการบอกรับ. 
              มนุษยศาสตร์ปริทรรศน์. (22), 74-85.
อัมพร ขาวบาง. 2547. การใช้วาสารอิเล็กทรอนิกส์ของอาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ 
              วิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล.
ปริญญานิพนธ์วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) 
               สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
SSL VPN.  ศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.  ค้นเมื่อ 1 เมษายน 2550
http://www.kku.ac.th/vpn/
Hatua, Sudip Ranjan. 2000. E-Journal. retreived on 22 Nov 2006 from 
              
http://www.geocities.com/sudiphatua/ejn.html
.

หมายเลขบันทึก: 123521เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2007 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท