มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

ลูกติดเกม : ปัญหาอยู่ที่พ่อแม่ !!


 ลูกติดเกม : ปัญหาอยู่ที่พ่อแม่ !! 
 
โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน 29 สิงหาคม 2550 10:14 น. 
  
        ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีเพื่อนคุณแม่โทรศัพท์มาคุยเรื่องลูกหลายคนทีเดียว ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าหัวอกคนเป็นแม่ก็อย่างนี้แหละ กังวลนั่นโน่นนี่เกี่ยวกับลูกไปซะทุกเรื่อง <p align="center"></p><p>        ช่วงลูกเล็กก็กังวลเรื่องกินนอน โรคภัยไข้เจ็บ พัฒนาการต่างๆ ที่วิตกกังวลสารพัด กลัวลูกจะผิดปกติ พอลูกเริ่มโตเข้าโรงเรียนก็จะมีเรื่องเพื่อน ครู และปัญหาเรื่องการเรียน พอลูกเข้าสู่วัยรุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรี่องพฤติกรรม เรื่องเพื่อน หรือเพศตรงข้าม
      
       ก็สุดแท้แต่ครอบครัวไหนจะประสบพบเจอ และมีวิธีการในการปรับแก้พฤติกรรมกันไป
      
       ทำไงได้ ก็คนเป็นแม่ ไม่ให้สุขหรือทุกข์เรื่องลูก แล้วจะเรียกว่าเป็นพ่อแม่ได้อย่างไร…
      
       แต่ปัญหาหนึ่งที่ดิฉันตั้งเป็นข้อสังเกตให้ระยะหลังที่มาแรงแซงโค้งมากๆ ก็คือ ปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกที่สร้างความหนักอกหนักใจ และคนเป็นพ่อแม่ก็มักจะฟูมฟาย เพราะกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง นั่นก็คือ ปัญหาลูกติดเกม
      
       เดี๋ยวนี้แทบทุกบ้านมีเจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์กันถ้วนทั่ว บางบ้านก็มีหลายเครื่องอีกต่างหาก และนี่แหละจึงกลายเป็นที่มาของสภาพปัญหาของพ่อแม่ ที่ในครั้งแรกซื้อเจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ลูกด้วยเพราะลูกต้องใช้เป็นเครื่องมือในการทำรายงาน หรือกราฟฟิก ในการทำสารพัดที่เจ้าคอมพิวเตอร์สามารถตอบสนองความต้องการให้กับผู้ใช้ได้
      
       ถ้าเป็นลูกวัยโตที่มีความจำเป็นก็เข้าใจได้ แต่ในปัจจุบันเจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ว่านี่แหละที่เข้าไปทะลุทะลวงในบ้านที่มีลูกอยู่ในวัยเด็กเล็ก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพราะลูกขอร้อง หรือด้วยเหตุผลเพราะดูทันสมัย ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณพ่อคุณแม่จัดซื้อหาให้ เพราะด้วยความเข้าใจว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กในยุคปัจจุบัน
      
       พ่อแม่บางคนไม่สามารถใช้หรือไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ทำอะไรได้บ้าง พอเห็นลูกอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ก็เข้าใจว่าลูกขยันจังเลย โดยหารู้ไม่ว่า ลูกกำลังทำอะไรอยู่
      
       เพื่อนคุณแม่คนแรกที่โทรศัพท์มาคุยบอกว่าตอนนี้ลูกวัย 11 ขวบค่อนข้างเก็บตัว ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจาเหมือนเมื่อก่อน ชอบอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ยิ่งตอนนี้ติดเกมด้วย ยิ่งแกะไม่ออกเลย ดิฉันเลยถามว่า แล้วใครเป็นซื้อเจ้าคอมพิวเตอร์หรือเกมให้ลูกล่ะ….คำตอบจะใครล่ะ ถ้าไม่ใช่พ่อแม่ ?
      
       ในขณะที่เพื่อนคุณแม่อีกคนหนึ่งถามตรงประเด็นเลยว่า ตอนนี้ลูกติดเกมจะแก้ปัญหาอย่างไงดี
      
       โห…เจอคำถามแบบนี้ ออกจะเซ็งด้วยซ้ำ เพราะนั่นเท่ากับว่า ปล่อยให้ลูกเล่นเกมจนติด และกลายเป็นปัญหาพฤติกรรม แล้วจะมาหาทางแก้ไขทีหลัง เหนื่อยครับท่าน…ดิฉันก็ตอบไปอย่างนี้ เพราะการที่ปล่อยให้ลูกติดแล้วมาแก้ไขทีหลังนั้นยากกว่าป้องกันตั้งแต่แรก
      
       แต่ทำไงได้ ก็ติดไปแล้วนี่หน่า
      
       มีตัวเลขของบริษัททำวิจัยรายใหญ่แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาชื่อว่า The NPD Group รายงานผลสำรวจเกี่ยวกับแนวโน้มของเด็กกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ว่าอายุโดยเฉลี่ยของเด็กที่เริ่มใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ ลดต่ำลงจากวัย 8.1 ปี ในปี 2548 มาอยู่ที่วัย 6.7 ปี ในปี 2550
      
       อุปกรณ์ที่เด็กวัย 6 ขวบเศษ โปรดปรานมากที่สุดคือ เครื่องเล่นวิดีโอเกมแบบพกพา (portable video games) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่เด็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบการเล่นวิดีโอเกมในปัจจุบัน ตามติดด้วยกล้องถ่ายรูปดิจิตอลที่เด็กๆ เริ่มมีโอกาสเป็นเจ้าของ และเด็กได้สัมผัสตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน ด้วยวัยเพียง 4-5 ปี
      
       นับตั้งแต่ปี 2548 ที่ NPD เริ่มทำการสำรวจการใช้อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ของชาวอเมริกันในช่วงวัยต่างๆ ข้อน่าสังเกตคือ อายุเฉลี่ยของเด็กที่เริ่มใช้อุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มล่าสุดก็คือ การใช้โทรศัพท์มือถือ และเครื่องเล่นดีวีดี
      
       “ผู้ที่เปิดประตูสู่โลกของการใช้ข้าวของไฮเทคเหล่านี้ก็คือผู้ใหญ่ หรือบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองนั่นเอง ที่มองว่ามันเป็นสิ่งที่ทันสมัยและไม่มีพิษมีภัยอะไร ทั้งยังคิดว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจำเป็น และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว” นักวิเคราะห์อุตสาหกรรม แห่ง NPD กล่าว
      
       ตัวเลขจากการสำรวจที่น่าสนใจมีดังนี้ เด็ก 39% เป็นเจ้าของเครื่องเล่นวิดีโอเกมแบบพกพา และ 29% เป็นเจ้าของเครื่องเล่นฯ แบบชุดควบคุมที่ต้องต่อเข้ากับจอทีวี โดยเกมบอยและเพลย์สเตชั่นทูได้รับความนิยมสูงสุด
      
       เป็นไงคะ..ตัวเลขเด็กติดเกมกับวัยของเด็กที่ลดลงของชาวอเมริกัน ซึ่งนักวิชาการในบ้านเราก็ออกมายอมรับว่าเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับเด็กในบ้านเรา ที่มีแนวโน้มเฉกเช่นเดียวกัน
      
       แล้วจะสังเกตลักษณะของเด็กที่ติดเกมได้อย่างไร
      
       หนึ่ง – เล่นเกมนานติดต่อกันหลายชั่วโมง และไม่สามารถควบคุมเวลาในการเล่นได้ บางคนเล่นข้ามวันข้ามคืน เวลาถูกบังคับให้เลิกเล่นก็จะต่อต้าน หรือมีปฏิกิริยาหงุดหงิดไม่พอใจ บางคนถึงขั้นก้าวร้าว อาละวาด
      
       สอง - ไม่สนใจการเรียน ไม่ทำการบ้าน หนีเรียนหรือแอบหนีออกจากบ้านเพื่อไปเล่นเกม การเรียนตกลงอย่างมาก ละเลยการเข้าสังคม หรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว
      
       สาม - มีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โกหก ลักขโมย เพื่อนำเงินไปเล่นเกม ดื้อ ต่อต้าน แยกตัว เก็บตัว ซึมเศร้า ฯลฯ
      
       ถ้าลูกเข้าข่ายลักษณะเช่นนี้ต้องรีบแก้ไขในบัดดล
      
       วิธีแก้ไขในเบื้องต้น ต้องไม่ใช้วิธี “ห้าม” เพราะจะยิ่งไปกันใหญ่ ลองดูวิธีเหล่านี้นะคะ
      
       หนึ่ง – คุยกับเด็กตรงๆ ว่าพ่อแม่ไม่ห้าม แต่ตอนนี้มันเป็นปัญหาสำหรับลูก ซึ่งก็เป็นปัญหาสำหรับพ่อแม่ด้วย ฉะนั้น ต้องพูดแบบเปิดใจกับลูกด้วยท่าทีที่เต็มไปด้วยความรักและความห่วงใย และบอกเขาว่า “เพราะเจ้าเกมนี่แหละที่ทำให้ลูกรักของแม่เปลี่ยนไป แม่อยากได้ลูกรักของแม่คืนมา” จากนั้นก็กำหนดกติกาในการเล่นเกมร่วมกันใหม่ โดยให้เขาได้มีส่วนร่วมในการตั้งกติกาด้วย เช่น ทำการบ้านเสร็จก่อน หรือเล่นเฉพาะวันหยุด หรือ…ฯลฯ ก็สุดแท้แต่กติกาที่เหมาะกับบ้านของคุณ
      
       สอง – เมื่อลูกรักษากติกาก็ควรได้รับคำชมจากพ่อแม่ หรือถ้าจะให้ดีเล่นกับลูกด้วยเลย เพื่อจูงให้ลูกได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และเรายังสามารถควบคุมเกมที่จะเล่นหรือเวลาได้อย่างเนียนๆ อีกด้วย
      
       สาม - จัดวางตำแหน่งเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมในสถานที่พื้นที่ส่วนกลาง คนในบ้านเดินผ่านไปมาสามารถรับรู้ได้ว่าเขากับกำลังเล่นเกมอะไรอยู่ แล้วเป็นเกมที่เหมาะสมหรือไม่ ไม่ควรตั้งไว้ในห้องนอน หรือสถานที่ส่วนตัว เพราะจะทำให้พ่อแม่ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าลูกเล่นเกมอะไร และเหมาะสมหรือไม่
      
       สี่ – ชวนลูกทำกิจกรรมอื่นๆ อาจดึงกีฬาสำหรับครอบครัวเข้ามาเป็นทางเลือก เพื่อจูงให้ลูกไปสนใจกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำร่วมกับครอบครัว และไม่หมกมุ่นกับเกมจนเกินไป
      
       กรณีในรายที่ติดเกมจริงๆ และเด็กต่อต้านรุนแรงที่จะเลิก ในระยะแรกพ่อแม่ควรร่วมเล่นเกมกับเด็ก ต้องใช้ความอดทน ด้วยท่าทีที่นุ่มนวล อย่าดุด่าว่ากล่าว เพราะจะทำให้เด็กเตลิด จากนั้นก็ค่อยๆ พาลูกไปปรึกษาแพทย์ร่วมด้วยก็ได้
      
       ปัญหาเรื่องเด็กติดเกม อย่าโทษว่าเป็นเพราะตัวเด็กอย่างเดียว แต่ลองเหลียวดูแล้วจะพบว่าคนเป็นพ่อแม่ล้วนแล้วเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแทบทั้งสิ้น
      
       ฉะนั้น เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องเยียวยาด้วยความรักของพ่อแม่ค่ะ
 
 ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ คอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก   โดย  สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน<hr /></p>

หมายเลขบันทึก: 123016เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2007 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท