ความสำเร็จแห่งชีวิตใน พระมหาชนก (ตอนสุดท้าย)


พระมหาชนก : บทสรุปแห่งความสำเร็จแห่งชีวิต
ความตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงความเพียรที่บริสุทธิ์และปัญญาที่เฉียบแหลมว่าเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ  ความตอนนี้เป็นตอนสุดท้าย ที่จะกล่าวถึง กำลังกายที่สมบูรณ์  ซึ่งเป็นปัจจัยร่วมที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จได้ ดังเช่นพระมหาชนก  ติดตามต่อได้เลยครับ

กำลังกายที่สมบูรณ์ : ปัจจัยสนับสนุนความเพียรและปัญญา นำไปสู่ความสำเร็จแห่งชีวิต

                พระมหาชนก อาศัยกำลังกายที่สมบูรณ์สนับสนุนความเพียรและปัญญาพาพระองค์ไปสู่ความสำเร็จได้ กล่าวคือ

                ในสมัยครั้งทรงเยาว์พระชันษา ทรงจับเด็กที่ล้อเลียนพระองค์ว่าเป็นบุตรหญิงม่าย ด้วยพระกำลังที่แข็งแรงผิดเด็กทั่วไป ทรงตีเด็กเหล่านั้นให้เจ็บและกลัวร้องไห้กลับไป

                นั่นหมายความว่า  พระมหาชนกมีพระสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ จึงแข็งแรงมีพระกำลังมาก ด้วยเหตุนี้เองเมื่อถึงคราวคับขันในตอนที่เรือของพระองค์จะจมลงในมหาสมุทร จึงสามารถกระโดดออกจากเรือได้ไกลถึง อุสภะหนึ่ง หรือ 70 เมตร ซึ่งไกลมาก  นี่เป็นสถิติโลกที่ไม่มีวันที่นักกีฬาคนใดจะลบสถิติได้เลยครับ ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติหน้า

              เมื่อทรงว่ายน้ำในมหาสมุทร พระองค์ทรงว่ายน้ำอยู่ถึง 7 วัน 7 คืน โดยไม่หยุด นี่ก็เป็นเพราะทรงมีพระกำลังเหนือบุคคลธรรมดา หรือนักกีฬาคนใดในโลกนี้จะทำได้  ยิ่งไปกว่านั้น ทรงเจริญพระชนม์ชีพยาวนานถึง 7 พันปียิ่งเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์

" พระมหาชนก "  

     บทสรุปแห่งความสำเร็จของชีวิต  และ

     พระราชนิพนธ์ล้ำค่าที่คนไทยต้องอ่าน

                ความเพียรที่บริสุทธิ์  ปัญญาที่เฉียบแหลม  กำลังกายที่สมบูรณ์   คือปัจจัยสำคัญที่จะนำชีวิตเราไปสู่ความสำเร็จดังที่พระมหาชนกได้ดำเนินมาแล้ว  นี่คือคติธรรมล้ำค่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ให้แก่คนไทยนำไปคิดพิจารณา ปฏิบัติ เพื่อความสำเร็จแห่งชีวิต

               หากจะพิจารณาในแง่การปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งสอนคนให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ จะพบว่า  เรามุ่งสอนคนให้มี  ความรู้  คู่คุณธรรม และร่างกายแข็งแรง  ซึ่งไม่แตกต่างจากปัจจัยแห่งความสำเร็จ 3 ประการนี้เลย

               คุณธรรม     ก็คือ      ความเพียร  (สอนคนต้องนำด้วยคุณธรรมครับ)

               ความรู้        ก็คือ       ปัญญา (ศิลปวิทยาการต่างๆ)

               สุขภาพพลานามัย   ก็คือ      กำลังกายที่สมบูรณ์

            คุณสมบัติทั้งสามประการนี้ ครบถ้วนสมบูรณ์สำหรับพัฒนาคุณภาพคน  เราลองพิจารณาดูเถิดว่า  ปัจจัยทั้งสามนี้ต้องเกื้อกูลสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ 

            คิดดูเถิดหากคนในชาติขาดความเพียร เอาแต่เกียจคร้านไม่แสวงหาความรู้ ไม่อยากทำงาน   แม้มีปัญญาและ ร่างกายแข็งแรงก็ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองแต่อย่างใด 

            และถ้าคนในชาติมีความเพียร มีปัญญา แต่สุขพลานามัยอ่อนแอ กำลังน้อย เจ็บป่วยไข้กันมาก ชาติบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร

            หรือถ้ามีความเพียร มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงแต่ไร้สติปัญญา ไม่สามารสร้างสรรค์งาน บำรุง พัฒนาบ้านเมืองได้ เราก็คงได้แต่เอาอย่างชาติอื่นเขา ตกเป็นทาสทางความคิดเขาตลอดไป

           เพราะฉะนั้นในการสอนเด็กและเยาวชนเราต้องนำตัวอย่างที่ได้จากพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระมหาชนก" ไปสอน ไปฝึกอบรมให้เขา เพื่อเขาจะได้เห็นแบบอย่างที่ดี  รวมทั้งบรรดานักการเมือง ผู้บริหาร ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ก็ควรตระหนักในคุณค่าของพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ อย่าได้โง่เขลาเบาปัญญาอย่างบรรดาอำมาตย์ข้าราชบริพารที่ต่างพากันรุมทึ้งต้นมะม่วงมี่มีผลเลิศจนไม่นำพาว่าต้นจะหักโค่นลงจนในที่สุดก็หาประโยชน์อันใดไม่ได้ เพราะไม่รู้วิธีที่จะรักษาต้นมะม่วงให้ได้ผลกินต่อไปนานๆ เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า พากันละโมบเอาประโยชน์อย่างมูมมามน่ารังเกียจ   ในพระราชปรารภกล่าวถึงพฤติกรรมของข้าราชบริพารของพระมหาชนกไว้ตอนหนึ่งว่า

         "การที่พระมหาชนกจะเสด็จออกแสวงโมกขธรรมยังไม่ถึงวาระอันสมควร เพราะว่าได้ทรงสร้างความเจริญแก่มิถิลายังไม่ครบถ้วน กล่าวคือ ข้าราชบริพาร นับแต่อุปราชจนถึงคนรักษาช้าง คนรักษาม้า และนับแต่คนรักษาม้าจนถึงอุปราช และโดยเฉพาะเหล้าอมาตย์ล้วนจาริกในโมหภูมิทั้งนั้น ไม่มีความรู้ทั้งทางวิทยาการ ทั้งทางปัญญา ยังไม่เห็นความสำคัญของประโยชน์แท้แม้ของตนเอง จึงต้องตั้งสถานอบรมสั่งสอนให้เบ็ดเสร็จ"

               เพราะฉะนั้น คนจะฉลาดได้ก็ต้องอบรมให้การศึกษาแก่เขา ให้เขาได้เห็นแต่ตัวอย่างที่ดีๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กๆ ไม่ใช่ทะเลาะวิวาทแตกแยกแบ่งฝ่ายแบ่งข้างอยู่อย่างนี้ เห็นแล้วก็เพลียหัวใจครับ

             เรื่อง "พระมหาชนก"  จึงมีความสำคัญยิ่งต่อคนไทยกล่าวคือ

             1. เพราะนี่คือพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   พระผู้ทรงเป็นหัวใจของแผ่นดิน เป็น กษัตริย์เหนือกษัตริย์

             2. เพราะมีเนื้อหาสารธรรมอันล้ำค่า ที่ทรงพระราชทานไว้แก่ชนชาวไทยทุกคน สมควรแก่นำใส่เกล้าใส่กระหม่อม น้อมนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนและชาติบ้านเมือง

            3.เป็นวรรณกรรมของไทย ของคนไทย เป็นมรดกทางปัญญาที่ มิได้ลอกเลียนแบบจากฝรั่งมังค่ามาเชิดชู 

            ในขณะที่คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยกำลังเห่ออ่านแฮรี่ พอร์ตเตอร์  นวนิยายที่มีชื่อเสียงก้องโลก  จะมีคนไทยกี่คนที่หันมาสนใจอ่าน พระมหาชนก ด้วยอาการเช่นนั้นบ้าง     โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทยที่บางคนแทบไม่รู้จัก พระมหาชนก เสียด้วยซ้ำ  ไม่ต้องถามถึงว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร มีคุณค่าอย่างไร 

           น่าเสียดายที่แม้แต่รัฐบาลเองก็มิได้นำมาประชาสัมพันธ์ นำเอาสารธรรมในพระราชนิพนธ์มาเผยแพร่ รณรงค์ให้คนไทยอ่านพระมหาชนก  แม้แต่กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่เร่งรัดเชิดชูกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนอ่านเรื่องนี้อย่างจริงจัง และป่วยการพูดถึงองค์กรเอกชน รวมสื่อมวลชนที่เอาแต่ประโคมหนังสือพันธุ์ฝรั่งจนครึกโครม 

           ในวาระแห่งชาติ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ผมขออัญเชิญพระราชนิพนธ์อันล้ำค่า เรื่อง "พระมหาชนก" มาเชิดชู และเชื้อเชิญทุกท่านได้ช่วยกันเผยแพร่ความคิดสารธรรมล้ำค่าเพื่อยังประโยชน์ให้บังเกิดแก่คนไทยทุกๆ ท่านด้วยครับ

             

 

 

หมายเลขบันทึก: 122183เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2007 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาอนุโมทนาในกุศลครับ

เรื่องพระมหาชนกนี้เป็นตัวอย่างที่น่าศึกษามาก

และชื่นชมที่อาจารย์เขียนได้ละเอียดและมีประเด็นชัดเจน

เห็นด้วยว่า เยาวชนน่าจะหันมาศึกษาครับ แต่คงต้องอาศัยผู้ใหญ่ช่วยชี้และแนะนำ

เชิญชวนคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน เริ่มต้นที่ลูกของท่านครับ

คุยกับน้องชายเขาบอกว่า สำนวนราชรถมาเกยก็น่าจะเกิดจากเรื่องนี้ค่ะ เป็นตอนที่นางมณีเมขลาพาพระมหาชนกไปส่งเมือง แล้วเมืองนั้นขาดพระราชาก็มีการเสี่ยงทาย ปรากฎว่าราชรถไปหยุดที่พระมหาชนก ไม่ยอมไปต่อ ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือเปล่าคะ

ท่านคณบดีพิชัย ครับ

           ผมเห็นด้วยครับว่า พ่อแม่คือบุคคลสำคัญที่จะนำลูกให้มาสนใจอ่านและนำสารธรรมไปปฏิบัติ ตอนนี้บ้านเมืองเราต้องการสารธรรมสำคัญอย่าง "พระมหาชนก" นี้มากครับ  ขอบคุณครับที่ท่านแสดงความคิดเห็นตรงกับใจของผมมากทีเดียวครับ

สวัสดีครับ คุณ Little Jazz

         สำนวน "ราชรถมาเกย"  ก็น่าจะมาจากเรื่องนี้เพราะถ้าพิจารณาจากความเก่าแก่ของนิทานชาดกที่มีมาในพระไตรปิฎกแล้ว ก็ถือว่าเก่าแก่แต่ครั้งพุทธกาล  ผมเห็นด้วยครับ

         ถ้าไปอ่านเนื้อเรื่องมหาชนกชาดก ก็จะพบว่าบรรดามหาอำมาตย์ ข้าราชบริพาร ได้แต่งราชรถแล้วให้ม้าขับไปตามแต่ใจปรารถนาและแรงศรัทธาตามคำเสี่ยงทาย  ม้าราชรถหยุด ณ ที่ใด  คนใด  ก็ถือว่าคนนั้นมีบารมีสมดังคำเสี่ยงทาย คนนั้นก็จะถูกอัญเชิญขึ้นเป็นกษัตริย์  ในเรื่องมหาชนกก็เป็นเช่นนี้ครับ แต่มิใช่เรื่องง่ายครับ เพราะพิธีเสี่ยงราชรถหากษัตริย์จะต้องรอบคอบรัดกุม มีพิธีการขั้นตอนมากมาย การคัดเลือกม้าก็ดี พราหมณ์ผู้ทำพิธีก็ดี เครื่องประกอบพิธีก็ดี ต้องคัดเลือกอย่างดี   เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นได้ผู้ไม่เหมาะสมขึ้นมาเป็นกษัตริย์

          ในเรื่องพระมหาชนก เมื่อราชรถมาหยุด ณ พระมหาชนกแล้ว ก็ไม่ใช่จะอัญเชิญขึ้นครองราชบัลลังก์นะครับ แต่ต้องผ่านด่านทดสอบปัญญาด้วยการไขปริศนาที่ปราชญ์ของเมืองมิถิลาได้ตั้งขึ้นอีกหลายข้อได้ถูกต้องทั้งหมด  รวมทั้งมีเงื่อนไขว่าจะต้องอภิเษกกับพระราชธิดาของกษัตริย์ และต้องเป็นที่พึงพอใจของพระราชธิดาด้วย

          ปัจจุบัน สำนวน "ราชรถมาเกย"  ไม่ได้ใช้ในความหมายแต่เดิมแล้ว แต่มาใช้ในความหมายกว้างว่า ได้รับโชควาสนาให้ได้ครองตำแหน่งใหญ่โตโดยไม่คาดฝัน เป็นต้น  ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท