Proceedings มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ๒ (๓)


คุณค่า และมูลค่า แห่งปัญญาปฏิบัติ

คำกล่าวทักทายผู้ร่วมงานและนำเข้าสู่การชมวีดีทัศน์

“คุณค่าและมูลค่าแห่งปัญญาปฏิบัติ”

       สวัสดีทุกท่านอย่างเป็นทางการ สำหรับรายการงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติในวันนี้ เนื่องจากทุกท่านมีสูจิบัตรเรียบร้อยแล้ว   จึงจะไม่ขอเรียนอ่านตามรายการ จะขอเน้นย้ำในจุดที่สำคัญๆ ซึ่งคณะผู้จัดขอให้ย้ำมา คือในเรื่องของการประชุมทั้งสองวัน วันนี้ในช่วงเช้าจะมีการประชุมร่วมกันในห้องนี้ มีการปาฐกถาพิเศษจากคุณหมอประเวศ พอช่วงพักรับประทานอาหารว่าง จะมีการแยกกันไปเพื่อที่จะชมนิทรรศการหรือจะไปร่วมในส่วนของคลินิกให้คำปรึกษา ซึ่งจะมี 3 ส่วนได้แก่ Weblog  KM Thesis และ Faci. Service ซึ่งแต่ละท่านมีชื่ออยู่แล้วว่าจะเข้าอยู่ที่กลุ่มไหนแยกกันไปตามห้องย่อยต่างๆ เราจะไม่พบกันอีกจนกระทั่งถึงวันพรุ่งนี้   วันพรุ่งนี้จะมาพบกันอีกครั้งในห้องใหญ่นี้เวลา 16.15 น.ถึงเวลา 17.00 น. ซึ่งจะเป็นการกล่าวสรุปขุมความรู้ทั้งหมดของสองวันที่ได้ทำร่วมกันมา ซึ่งเป็นสิ่งที่พลาดไม่ได้  สำหรับในวันที่ 2 นั้น ในเรื่องของคลินิกให้คำปรึกษา มีอยู่ 2 รอบในวันพรุ่งนี้รอบแรก เป็นรอบพิเศษเพิ่มมาอีกช่วง 8.00-8.45 น. เป็นคลินิกซึ่งยังคงจัดที่ห้องมาร์สที่ชั้น 3 เหมือนเดิม นอกจากนี้ จะมีพิเศษอีกหนึ่งช่วง คือ เรื่องของ morning talk ซึ่งดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด จะเป็นผู้มาคุยกันตอนเช้าที่ห้อง Grand B ผู้ที่สนใจขอเชิญเข้าร่วมฟังได้ และคลินิกให้คำปรึกษานั้นยังมีอีกรอบหนึ่งในเวลา 15.30 น. ถึงเวลา 16.15 น. ดังนั้นคลินิกให้คำปรึกษาจะมี 3 รอบด้วยกันทั้งหมดระหว่าง 2 วัน วันนี้ 1 รอบวันพรุ่งนี้ 2 รอบ ท่านที่สนใจจะเข้าร่วมในการพูดคุยกลุ่มย่อยนั้นก็ไปตามกลุ่มของท่าน  ซึ่งท่านจะต้องติดตามกลุ่มของท่านจากวันนี้ไปถึงวันพรุ่งนี้ด้วย จะไม่มีการมาพบกันอีกจนกว่าจะถึงเวลา 16.15 น.ในวันพรุ่งนี้  หลังจากวันนี้แล้ว  หวังว่าทุกท่านคงเข้าใจ หากมีปัญหาประการใด ขอให้ถามเจ้าหน้าที่ของ สคส.ที่ห้อยป้ายสีขาวอยู่ด้านหน้าห้อง สิ่งที่คณะผู้จัดงานเน้นอีกเรื่องคือเรื่องของแบบสอบถามที่ทุกท่านได้รับ ขอความกรุณาตอบแบบสอบถาม แล้วนำไปหย่อนไว้ที่กล่องเหลืองที่บริเวณขายหนังสือ ในวันนี้ขอแจ้งสั้นๆ และ ขอนำท่านเข้าสู่การชมวีดีทัศน์ ซึ่งจะเป็นการนำเสนอเรื่องคุณค่าและมูลค่าแห่งปัญญาปฏิบัติ
สาระสำคัญของวีดีทัศน์ เรื่อง คุณค่าและมูลค่าแห่งปัญญาปฏิบัติ
            วีดีทัศน์เรื่อง คุณค่าและมูลค่าแห่งปัญญาปฏิบัติ จัดทำโดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม มีความยาวประมาณ 24 นาที เป็นการรวบรวมกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำแนวคิดการจัดการความรู้ที่เชื่อถือว่าความรู้มีอยู่ในผู้ปฏิบัติ และทำให้เกิดผลได้จริง นำไปสู่การพัฒนาบุคคล กลุ่ม องค์กร ที่ตั้งอยู่บนฐานของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยในกรณีศึกษาที่ 1 เป็นการนำเสนอบทเรียนการจัดการความรู้จากขบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิจิตร ที่นำเอาการจัดการความรู้เขาไปผูกโยงกับการพัฒนาท้องถิ่น โดยภาคประชาสังคม เชื่อมโยงกับเครือข่ายภาครัฐ ทั้งราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีศึกษาที่ 2 เป็นการนำการจัดการความรู้ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพของการให้บริการในโรงพยาบาลบ้านตาก
 
กรณีศึกษาที่ 1 บทเรียนการจัดการความรู้ที่พิจิตร
6 ปีก่อน กระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิจิตรเริ่มขึ้นจากความรู้ชุดเดิมและเลือด โดยคุณลำไย บัวดี (นักวิชาการสาธารณสุข อำเภอโพธิ์ประทับช้าง /ที่ปรึกษาเครือข่ายเกษตรปลอดสารพิษ) และคุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ เลขานุการมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร ได้เล่าให้ฟังว่า
“ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องเกษตกรมีสารเคมีตกค้างในเลือดเยอะ”
“ป่วย เพราะว่าสารเคมีจากภาคการเกษตร ในอัตรา 70 ต่อประชากร 100,000 คน อยู่ในอันดับ 5 ของประเทศ”
“เวลาเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเจาะเลือดก็จะแค่แนะนำเขาว่า ลุง ป้า ให้หยุดใช้สารเคมีนะ”
“บอกเขาว่า ป่วยนะ เสี่ยงนะ แล้วก็ให้สุขศึกษา ถามว่า แก้ปัญหาอย่างนี้มานาน ด้วยความรู้ชุดอย่างนี้ แก้ปัญหาได้มั้ย มันทำมานานแล้วแต่แก้ไม่ตก”
ความรู้เดิมที่เรามีเชื่อมโยงเกษตรเคมีเข้ากับการผลิตเพื่อตลาด  ภายใต้แผนพัฒนาที่ส่งเสริมการผลิตที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว หลายสิบปีในอู่ข้าวอู่น้ำแห่งนี้ สารเคมีทั้งในรูปปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และสารกำจัดศัตรูพืชถูกอัดลงไปในดิน ไหลลงไปในแหล่งน้ำ ซึมซ่านอยู่ในเนื้อของผลผลิตที่กลายมาเป็นอาหารเลี้ยงคนทั่วไป  เป็นหลายสิบปี  ที่วงจรเลวร้ายหมุนเวียนก่อผลเป็นสิ่งแวดล้อม  ธรรมชาติเสื่อมโทรมเป็นพิษ สุขภาพของทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตเสื่อมทรุดและยังก่อให้เกิดหนี้สินของเกษตรกร ถมทับเป็นกองทุกข์  สั่งสม โยงใย เป็นปัญหายาก แก้ไม่ได้ด้วยวิธีคิดแบบแยกส่วน  
หัวขบวนของการพัฒนาคือ ทีมสาธารณสุขในพื้นที่ เริ่มขบวนใหม่ด้วยการรวมกลุ่มแล้วพากันไปเรียนรู้จากอีสาน ดังที่คุณสุรเดชเล่าว่า
“ก็มีบรรดาผู้นำปราชญ์ชาวบ้านที่มีจิตวิญญาณ มีชุดความรู้ชัดเจนก็สามารถตอบโจทย์สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความยากจนได้ พออยู่พอกินได้ โดยเฉพาะเขามีเครื่องมือ เขามีโรงเรียนที่เรียกว่า วปอ. ได้วิธีคิดความรู้ใหม่ทางภาคอีสานเขามา เราคว้าความรู้เขามา  แต่เราไม่ได้ลอกเลียนแบบเขามา แต่เราเอาวิธีคิดเขามา”
 
ในมุมของการจัดการความรู้ นี่คือการเริ่มต้นจากด้านบวกท่ามกลางปัญหาใหญ่โตซับซ้อน ชุมชนยังคงมีพลังด้านดีที่สั่งสมอยู่ในรูปภูมิปัญญาพื้นบ้าน เป็นฐานทุนที่สามารถนำมาใช้เป็นจุดเริ่ม  ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้  ทีมพัฒนาพิจิตรกลับมาค้นหาความรู้จริงที่แฝงฝังอยู่ในตัวคน  ค้นพบภูมิปัญญาชาวบ้าน  ชักชวนมาเป็นวิทยากร  เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ของชาวพิจิตร ดังตัวอย่างของลุงจวน และลุงณรงค์
ลุงจวนเป็นปราชญ์ชาวบ้านคนหนึ่งที่เป็นต้นแบบของวิถีเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่เพียง 6 งาน ลุงจวนและภรรยา สามารถหาอยู่หากินได้อย่างพอเพียง ไม่มีหนึ้สิน ลุงจวนเล่าให้ฟังว่า
“เมื่อก่อนนี้ ที่อยู่สิงห์บุรีบ้านเกิด เป็นหนี้ เป็นหนี้ตั้งหกหมื่นแต่พอมาทำเกษตรพออยู่พอกิน  ตรงนี้มันมีความสุข มีความสุขที่เราไม่เป็นหนี้เขา”
 
            ลุงณรงค์ก็เป็นอีกหนึ่งในวิทยากรรุ่นแรก ที่เรียนรู้ทั้งสองวิธีการเกษตรด้วยประสบการณ์ชีวิต  ก่อนหน้านี้ลุงณรงค์ เคยป่วยเข้าโรงพยาบาลเพราะน็อคจากการใช้สารเคมี ลุงเล่าให้ฟังว่า
                “ระหว่างนอนป่วย นอนคิดว่าสารเคมีนี่ถ้าขืนทำไปฉันตายแน่ สมัยที่ใช้สารเคมี  ระหว่างนั่งเก็บพุทรา นกปรอดร่วงมาตาย  แล้วพุทรานี้ก็ไม่ได้ไปไหนเลยก็ขายให้ในชุมชน เด็กโรงเรียน สองโรงเรียนมัธยมซึ่งประมาณเกือบพันคนซื้อพุทราผมกินแต่ละวัน ทำให้เรานึกถึงบาปบุญคุณโทษ ก็พอเราหาทางวิธีการปลอดสารได้ สามารถทำให้เราหนึ่งชีวิต สอง ชีวิตเราชีวิตคนอื่น”
            หลังจากเปลี่ยนวิธีคิดลุงณรงค์ก็ทุ่มเทให้กับการเรียนรู้  เปิดรับความคิดใหม่เดินทางออกไปศึกษาดูงานและทดลองด้วยตนเอง  สร้างสูตรผสมและวิธีการใหม่ๆ เกิดนวัตกรรมกลายเป็นต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนเกษตรกรคนอื่นๆ เรื่องการเรียนรู้ที่ไม่เคยหยุด ดังเช่นความรู้ที่ลุงถ่ายทอดให้สมาชิกฟัง เรื่องการทำปุ๋ยหมักชีวภาพตอนหนึ่งว่า
“ความชื้นไม่พอ  ความชื้นพอมันต้องปั้นก้อนได้ แล้วบีบไม่ให้น้ำออก  ขบวนการหมักจึงจะได้ผล 100 เปอร์เซนต์”
เป็นสาระความคิดที่ได้จากการเรียนรู้ด้วยตนเอง จึงเป็นจริงและบันดาลใจเมื่อถ่ายทอดออกมาเป็นบทเรียนชีวิต เป็นหนึ่งในมรรควิธีที่เสนอให้กับเพื่อนเกษตรกรผู้มาเรียนรู้ในโรงเรียน วปอ.(วิทยากรการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและการพึ่งพากันเอง) ซึ่งคุณสุรเดช และคุณลำไย เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า  
“ถามว่าโรงเรียนนี้สอนอะไร ก็จะใช้หลัก  อริยสัจ 4 เป็นตัวเดินเรื่อง  มาวันแรกแรกต้องถามก่อนว่ามีหนี้เท่าไหร่ แล้วรวมกันทั้งรุ่นเป็นเท่าไหร่ ปัญหาที่สองเหตุแห่งทุกข์คืออะไรเขาก็จะช่วยกันหาทางออก วิเคราะห์กันว่ามีสาเหตุจากอะไรให้ทุกคนช่วยตั้งเป้าหมายชีวิต ว่า อยากให้ชีวิตเราเป็นอย่างไร จะแก้อย่างไร เราก็ไปเรียนรู้จากคุณครู ไปที่บ้านเขาเลยไปนอนที่บ้านเขาไปกินที่บ้านเขา เพราะว่าสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น   การเรียนรู้สมัยใหม่มันต้องสัมผัสด้วยอารมณ์ ด้วยความรู้สึก เหมือนใจกระทบใจ”
“เป็นเหมือนการรวบรวมความรู้ที่มีอยู่ในคน ที่เป็นเรื่องที่ดี  เอามาเล่าให้อีกคนหนึ่งฟังเอามาใช้ได้มันเป็นรูปธรรมเลย มันไม่ใช่ต้องอ่านเป็นวิชาการแล้วมาถอดออกเป็นรูปธรรม เป็นเรื่องเล่าที่เกิดจากความสำเร็จของเขาอยู่แล้วเอามาใช้ได้เลย”  
“จากนั้นมา ปัจจุบันนี้ก็มา 11 รุ่นแล้วเราสร้างผู้นำเข้าไปประมาณ 300 กว่าคน เข้าไปในกลุ่มเกษตรกร  เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ ก็จะไปนำการเปลี่ยนแปลง ก็คือคนเหล่านี้จะเข้าไปทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ทางปัญญา”
กระบวนการเรียนรู้ทางปัญญาที่กล่าวนั้น ประกอบไปด้วยการเรียนรู้สองส่วนคือ    
1. เรียนรู้จากตัวอย่างเชิงบวก
2. สร้างฐานเครือข่ายเชื่อมโยงเพื่อรองรับกระบวนการเรียนรู้
ดังนี้ขบวนการเกษตรธรรมชาติที่พิจิตร จึงขยายตัวกว้างออกไปโดยมีวิทยากรที่ผ่านโรงเรียน วปอ. เป็นกลไกหลักผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรร่วมกันเรียนรู้พร้อมไปกับการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆทางด้านเทคนิคการเกษตรและการบริหารจัดการ เสริมแรง เสริมกำลังใจ
อย่างกลุ่มผักที่ฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคร่วมกันมากว่า  2 ปี ถึงเวลานี้  เมื่อผลการตรวจเลือดออกมา  จึงได้เห็นรอยยิ้มของสมาชิกกลุ่ม ดังที่ผู้คนที่เกี่ยวข้องได้สะท้อนว่า
“จริงๆ แล้วอยากให้กลุ่มเขารู้ว่าที่เขาทำตรงนี้  สุขภาพเขาดีขึ้นนะ ผลเลือดที่เคยเสี่ยงตอนนี้ ปลอดภัยแล้วนะ”
“ใช่  มันต้องเกิดทุกข์ก่อน คนเราถึงจะเปลี่ยนได้  ธรรมะของพระพุทธเจ้าเองก็เป็นหลักของธรรมชาติ  ธรรมชาติอาศัยธรรมชาติเข้ามาช่วยโดยตรงถ้าทำไปในสิ่งที่เราทำได้ ไม่ใช่จะหวังอะไรแล้วกู้เงินกู้ทองเขามามันเป็นทุกข์  วิธีคิดต้องเปลี่ยนอย่างนี้ถึงจะมาทำตรงนี้ได้”
นอกจากนำเรื่องการเรียนรู้มาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของปัจเจกแล้ว ยังนำการเรียนรู้ไปช่วยพัฒนาระบบการจัดการของกลุ่มด้วย เช่น สมาชิกกลุ่มผักมาหารือกัน เรื่องระบบจัดการการตลาดกว่า 30 ครัวเรือนตกลงแบ่งกันปลูกผักให้หลากหลายไม่ซ้ำซ้อน เพื่อให้ได้ผลผลิตหลากชนิดสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ดูแลอย่างใส่ใจจนโตใหญ่ ตัด เก็บ  ล้าง มัด มีสมาชิกอาสามารับ แล้วนำมาสุ่มตรวจสารเคมีตกค้าง โดยทีมสาธารณสุขท้องถิ่นก่อนจัดส่งเข้าสู่ตลาด ด้วยระบบจัดการแบบนี้  ผักปลอดสารเคมีมีพิษที่เจริญเติบโตมาได้  ด้วยความเอื้ออาทร ของดิน น้ำ ฟ้าและจิตใจที่เอื้ออารีของสมาชิกกลุ่มเกษตรธรรมชาติ จึงมีมาวางขายหน้ามูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร ให้ผู้บริโภคชาวเมืองเลือกซื้อไปประกอบอาหารปลอดภัยได้เป็นประจำทุกสัปดาห์  คือเส้นทางเดินของผักปลอดภัยคู่ขนานกันไปกับการขยายตัวเติบใหญ่ขึ้นของขบวนการเกษตรธรรมชาติพิจิตร 
อย่างไรก็ตาม การเดินทางดังกล่าวได้มาจนถึงระดับที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาต่อ เพื่อยกระดับการเรียนรู้ ดังที่ คุณลำไย และคุณสุรเดช เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นว่า
“หลังจากที่ทำมาพอหมดงบประมาณของ สสส. ไป ก็ค่อนข้างที่จะแผ่วไปช่วงหนึ่ง  เพราะว่าแกนนำหลายคนเริ่มล้า”
“จุดอ่อนก็คือว่า มันก็จะทำไปเรื่อยๆ มันไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเป้าหมายคืออะไร เราไม่มี เครื่องมือมาประเมินตัวเองว่าเราขาดอะไร”
“จนพี่สุรเดชไปเจอกับอาจารย์หมอวิจารณ์ ว่าลองมาทำ KM (จัดการความรู้) กันไหม?”
“ที่เราทำมาก่อนหน้านี้น่ะ คือกระบวนการจัดการความรู้ แต่เป็นการจัดการแบบธรรมชาติแต่เมื่อเรามาเรียนรู้กับคุณหมอวิจารณ์ เรารู้ว่า วิธีคิดน่าจะเป็นแบบนี้ กระบวนการน่าจะเป็นแบบนี้ เครื่องมือน่าจะเป็นแบบนี้”
ธารปัญญา (river diagram) ตารางแห่งอิสรภาพ และขั้นบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ladder diagram) กลายเป็นเครื่องมือที่ สคส. นำลงมาแล้วใช้ได้ผลทันทีที่พิจิตร ที่ว่างในตารางซึ่งเคยบรรจุความหมายเชิงนามธรรม ถูกแทนที่ด้วยเกณฑ์รูปธรรม ที่เหล่าผู้ปฏิบัติร่วมกันกำหนด จากเป้าหมายความสำเร็จที่ถูกนำมาทบทวน จนเห็นเป็นภาพชัดร่วม เห็นสถานะทางปัญญาที่เป็นอยู่ เห็นทั้งตัวเองและเห็นทั่วทั้งขบวน ดังภาพสะท้อนจากคำบอกเล่าของผู้ร่วมคิดร่วมทำ
“มันเป็นระบบขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นเพราะว่า  เกณฑ์ที่เรามาใช้กับกลุ่มต่างๆเป็นเรื่องชาวบ้านคิดขึ้นเอง” 
“พอได้เครื่องมือนี้มาเราสามารถเรียนรู้ได้ว่า  ใครเก่งกว่าเรา เราควรจะเรียนรู้จากใคร ก็ประเมินตนเองได้ นี่คือความพิเศษของการจัดการความรู้”
            คุณสุรเดช ได้กล่าวเสริมถึง คุณค่าของการนำการจัดการความรู้มาใช้ว่า
“อีกตัวที่เราได้มา คือการรวมตัวกันเป็นกลุ่มชนที่เรียกว่าชุมชนนักปฏิบัติ  ต่อยอดความรู้  แลกเปลี่ยนเรียนรู้     สร้างความรู้ใหม่    ยกระดับความรู้     และนำความรู้ที่ได้ย้อนกลับมาให้กลุ่มเกษตรกร ซึ่งทั้งหมดนี้หลังจากที่เราได้เรียนรู้จากหมอวิจารณ์          กลุ่มเกษตรกรเราก็มาคิดกันว่าน่าจะเป็นแบบนั้น ทุกกลุ่มก็กำลังเริ่มขับเคลื่อนแล้ว”
คือการผนวกการจัดการความรู้เข้าไปในกระบวนการทำงาน  กลมกลืนเข้าไปเป็นเนื้อเดียวเหมือนกระแสเลือดที่สูบฉีดไปทั่วร่าง  นำพาพลังความรู้ พลังปัญญา  ไหลเวียนเชื่อมโยงไปทั้งขบวน ก่อให้เกิดพลังแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นในแต่ละหน่วย หนุนเสริมให้ขบวนการร่วมพัฒนาพิจิตรขับเคลื่อนงานต่อไปได้อย่างสร้างสรรค์และมีชีวิตชีวา
            19 กันยายน 2548 มีการประชุมใหญ่ในระดับจังหวัดเพื่อนำความรู้ของเครือข่ายร่วมพัฒนาพิจิตรมาขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ มีหลากหลายภาคีเข้าร่วมในการพัฒนาครั้งนี้ จากภาครัฐมาจนครบ 4 กระทรวงหลัก รวมถึงองค์การปกครองท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. และเทศบาล  มาในบทบาทของคุณเอื้อ เพื่อช่วยกันมองทิศทางใหญ่ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงาน  เช่น การศึกษานอกโรงเรียน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อื่นๆ มาร่วมด้วยในบทบาทของคุณอำนวย ช่วยหนุน ช่วยเสริม บางคนมาเป็นคุณลิขิตช่วยจดช่วยบันทึก  สังเกตการณ์และร่วมเรียนรู้อยู่ในวงคุยของบรรดาคุณกิจที่ซึ่งความรู้แฝงฝังภายในตัวปราชญ์ชาวบ้านถูกดึงออกมาสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปเป็นบทเรียนสังเคราะห์เป็นข้อเสนอและนำมาบูรณาการเข้าด้วยกันในที่ประชุมใหญ่ เป็นทิศทางและแผนการดำเนินงานต่อไป  เพื่อสร้างพิจิตรให้เป็นเมืองปลอดภัยด้วยพลังความร่วมมือและพลังปัญญาของคนพิจิตรเอง
คุณสุรเดช  ได้สรุปบทเรียนที่ชี้ให้เห็นถึงสถานะปัจจุบันของการทำงานได้อย่างน่าสนใจว่า...
“ตอนนี้ก็เข้าไปทฤษฎี ของอาจารย์หมอประเวศแล้ว สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ต้องมีฐานความรู้ปัญญา ฐานทางสังคม ฐานทางการเมือง นโยบายและสามอย่างนี้ไปไม่ได้ถ้าไม่มีการจัดการร่วมกัน  ฉะนั้นขบวนการทางปัญญาถือว่าสำคัญที่สุด การจัดการความรู้ คือเครื่องมือ สร้างขบวนการทางปัญญา ตรงนี้ที่จะทำให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ การเมืองก็เป็นการเมืองที่พร้อมที่จะเรียนรู้เพื่อตอบโจทย์นโยบายสาธารณะ แล้วก็เป็นการตอบโจทย์ที่เป็นการร่วมกันของทุกฝ่าย ทำอย่างนี้จะไปได้ เรื่องยากๆ มันจะแก้ได้ เรามีความเชื่ออย่างนั้น”
กรณีที่ 2  บทเรียนจากโรงพยาบาลบ้านตาก  เรียนรู้จากประสบการณ์เชิงบวกโรงพยาบาลบ้านตาก อ.บ้านตาก   จ.ตาก
โรงพยาบาล  คือ ตัวอย่างหนึ่งของระบบซับซ้อนเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายหลักเพียงข้อเดียวคือการจัดบริการสุขภาพที่ดีที่สุดแก่ชุมชน ต้องมีหลายกระบวนการ โดยผู้ปฏิบัติงานหลายคนดำเนินการคู่ขนานกันไป  โดยทั่วไปโรงพยาบาลจึงมักจะมีระบบการบริหารจัดการที่ซับซ้อนและสับสน ผิดกับที่โรงพยาบาลบ้านตาก  บรรยากาศยามเช้า สบายๆ เช่นนี้มีให้เห็นมาเกือบ 2 ปีแล้ว  บริการส่วนหน้า รองรับคนไข้นอกเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว  นับตั้งแต่มีการนำเครื่องมือธรรมดาๆ ที่เรียกว่า Hospital OS มาใช้ ดังที่บุคลากรได้สะท้อนให้ฟังว่า
 “ปกติเราจะประกันเวลาไว้ จากเดิม 10 นาทีตอนนี้คือทำบัตรใหม่บัตรเก่าไม่เกิน 5 นาที”
“เวลามากขึ้นทำงานได้เพิ่มขึ้น พอทีมซักประวัติเสร็จ เราก็สามารถจะเข้าไปให้ความรู้คนไข้ได้ อย่างเช่นเราจัดตะกร้าการเรียนรู้”
“ประหยัดเวลาในการรักษาและลงบันทึก พอลงบันทึกเสร็จเราสามารถที่จะสื่อสารกับทุกคนที่อยู่ต่างแผนกก็ได้”
“ทำให้เราสามารถจัดเตรียมอุปกรณ์ เตรียมคน เตรียมของ ได้พร้อมก่อนที่คนไข้จะเข้ามา”
“ทำให้เราทำงานสะดวกมากขึ้น รวดเร็วขึ้น และคุณภาพดีขึ้น”
โปรแกรมนี้แจกฟรีให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศเหมือนๆ กัน แต่เมื่อมาถึงที่นี่กลับกลายเป็นเครื่องมือชั้นดีเยี่ยมขึ้นมาได้  เพราะคนทำงานที่นี้เข้าใจว่าเครื่องมือคือสิ่งที่ต้องนำมาประยุกต์และปรับใช้ในการทำงานจริง คือสิ่งที่ต้องพัฒนาและเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน โดยบุคลากรที่เป็นทั้งคนปรับปรุงและคนใช้งานได้เล่าว่า
“ต้องมาเรียนรู้กันเกือบๆเป็นปี พยายามแกะตัวโปรแกรมช่วยกัน”
“จุดที่มี OS ใช้ก็ต้องสรุปไปว่ามีปัญหาอย่างหอผู้ป่วยพี่ ใช้แล้วมีปัญหาอะไรบ้าง”
“ทุกอย่างต้องมีปัญหา  แต่พอเราแก้ไขไป มันเหมือนเป็นการเรียนรู้ร่วมกันเรารู้จักโปรแกรมมากขึ้น” 
“หลายๆส่วนใครรู้ส่วนไหนก็มาคุยกัน”
“กว่าจะมาคงตัวอย่างนี้คุยกันตลอด เราสามารถที่จะเรียนรู้โปรแกรมได้มากกว่าที่เขาให้มาและมีการดัดแปลงประยุกต์ใช้กับโรงพยาบาลเราได้”
นี่คือฐานทุนสำคัญที่โรงพยาบาลบ้านตากมี เป็นระบบการทำงานที่ประกอบด้วยคนที่เห็นคุณค่าและอยู่ในวิถีของการเรียนรู้ที่เคลื่อนไหวไม่เคยหยุด ดังที่ผู้อำนวยการ คือ นพ.พิเชฐ บัญญัติ เล่าถึงการพัฒนาบุคลากรเหล่านี้ว่า
“ต้องกระตุ้นให้ทุกคนเห็นเสมอว่า สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เทคโนโลยีในด้านการรักษา การดูแลผู้ป่วยและ ความต้องการของพี่น้องประชาชนมีการปรับเปลี่ยนตลอด นโยบายก็ปรับเปลี่ยน เราก็ต้องปรับตาม กระตุ้นให้คนเรียนรู้ตลอดเวลาและไม่ยึดติด”
 
โรงพยาบาลบ้านตากเป็นโรงพยาบาลชุมชน ที่มีการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการใช้เครื่องมือและกิจกรรมคุณภาพหลากหลายจนได้รับรางวัลต่างๆมากมาย  ส่วนสำคัญของผลสำเร็จนี้เกิดจากวิสัยทัศน์และภาวะการนำของผู้บริหาร ดังที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกล่าวว่า
“ผมไม่ได้มองว่าการจัดการความรู้เป็นเรื่องใหม่ที่แยกออกมาจากงานเดิม  พอเราตั้งเป้าหมายว่าเราต้องการ 3 อย่าง คือประชาชนมีสุขภาพดี  เจ้าหน้าที่มีความสุขและโรงพยาบาลอยู่รอด ในฐานะของ CKO (chief knowledge officer)หรือ CEO ก็ตาม เราพยายามที่จะหาวิธีการอย่างไรให้ได้อย่างนี้ ก็คือไปหาความรู้เอามาใช้ นำมาพัฒนาก็คือการจัดการความรู้”
มีปรากฏการณ์พิเศษเกิดขึ้นที่นี่  เพราะนำวิธีคิดกิจกรรมและเครื่องมือพัฒนาคุณภาพหลากหลายมาปฏิบัติจริงเป็นประจำสม่ำเสมอจึงตกผลึกเป็นองค์ความรู้ใหม่  เกิดระบบเกิดโครงสร้างของการจัดการความรู้ขึ้นมารองรับ สอดประสานอยู่ในวงจรการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพ เกิดคน เกิดบทบาทงานตามธรรมชาติ    กลายเป็นปริมณฑลแห่งการเรียนรู้ของผู้ปฏิบัติโดยมีคุณเอื้อ  คุณอำนวยคอยหนุนเสริม  ดังที่คุณเกศราภรณ์   ภักดีวงศ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้ เล่าว่า
“ก็คือเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เหมือนตอนแรกเรามีกิจกรรมคุณภาพอยู่ ตรงนี้ช่วยคลุมและช่วยเขยื้อน ช่วยเขยื้อนในภาพใหญ่ คราวนี้หน้าที่ของเรา เมื่อเราวิเคราะห์ได้  เราก็มากระตุ้น เวทีต้องต่อเนื่อง”
 เพราะทุกที่ที่มีการทำงานย่อมเกิดทั้งปัญหาและความรู้ดีๆที่ใช้แก้  ทุกหน่วยในโรงพยาบาลจึงเป็นเวทีเรียนรู้ได้ อย่างกรณีเด็กเล็กหาเส้นแทงน้ำเกลือยาก เดิมทีมีพยาบาลอาวุโสเพียงคนเดียวที่สามารถทำได้ (คุณศศิธร ชัยมัง)  วิธีคิดในการจัดการความรู้ เปลี่ยนความเชี่ยวชาญนี้ให้เป็นสิ่งดีๆ ชวนพี่ศศิธรมาเป็นวิทยากรสอนน้องๆลงมือปฏิบัติ ดังที่พยาบาลรุ่นน้องได้สะท้อนว่า
“สมัยก่อนมีคนเก่งในหน่วยงานเราคนหนึ่ง  ก็จะเก่งอยู่คนเดียว พอมี KM เข้ามา มันทำให้เป็นวัฒนธรรมของเราว่า  ถ้าเราเรียนรู้แล้วว่าทำอย่างนี้แล้วประสบความสำเร็จ เราจะถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนทุกคนในหน่วยงานให้เก่งเหมือนเรา”
“มันจับความรู้สึกยาก พี่เขามาสอนทำให้เรามั่นใจ”
“เพราะฉะนั้นงานมันจะต้องดีขึ้นเพราะทุกคนเก่งเหมือนกันหมด จริงไหม”
            ในฐานะผู้แบ่งปันความรู้ ก็เกิดความรู้สึกทางบวก ดังที่คุณศศิธร ซึ่งเป็นคุณอำนวย เล่าว่า
“รู้สึกดี  เพราะน้องๆจะได้เกิดความมั่นใจ”
คือแง่งามของความรู้   เป็นผลลัพธ์จากการเรียนรู้การทำสิ่งดีๆร่วมกันได้ทั้งความรู้   ได้ทั้งใจเป็นคุณค่าสูงสุดที่กัลยาณมิตร มอบให้แก่กันและกันได้ในเวทีเรียนรู้  ดังที่คุณเกศราภรณ์  ภักดีวงศ์ (คุณอำนวย) ผู้อำนวยการได้สะท้อนว่า
“มันเห็นชัดมากเลยคือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนดีขึ้น  มันมีความรู้สึกว่าคนนี้ให้เรา  คนนั้นก็ให้เรา  ถึงแม้ได้ฟังในส่วนที่ไม่ดี เราก็อยากรู้ว่าเพราะอะไร อยากเข้าไปช่วย อยากเข้าไปแก้”
“หัวใจสำคัญก็คือการจัดการความรู้ ต้องเป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนในหน่วยงานเพราะว่าความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้เรา ไว้ใจกัน  เชื่อใจกัน  รักกัน จะดึงเอาความรู้ฝังลึกที่เป็นประสบการณ์  เป็นทักษะที่ซ่อนอยู่ในตัวคน ออกมาเล่ามาแลกมาแบ่งกันได้”
                “...แม้คนจะเป็นทรัพย์สินสำคัญ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกลับสำคัญยิ่งกว่า แม้จะมีคนกล่าวว่าความรู้คืออำนาจ แต่กันแบ่งปันความรู้มีอำนาจยิ่งกว่า...” (นพ.พิเชฐ บัญญัติ: 23 มิ.ย. 48)
ถึงจะเรียนรู้มามากแค่ไหน  ก็ยังคงเรียนได้ไม่รู้จบ เวทีคร่อมหน่วยงานข้ามโรงพยาบาล  มีคุณกิจจากโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวร มาแบ่งปันประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยแบบเป็นองค์รวม ในบรรยากาศของการมีส่วนร่วมกัน ทำให้เกิดการยกระดับการเรียนรู้ ดังที่บุคลากรหลายท่านได้สะท้อนว่า
“ประโยชน์ของ KM ที่เห็นชัดๆ ทำให้กระบวนการพัฒนาคุณภาพไปไวขึ้น”
“พอมารวมกัน แชร์กัน ได้องค์ความรู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้  ภาระงานตัวเองลดลง งานตัวเองก็มีคุณภาพ  ผู้ป่วยได้ด้วย ทุกคนได้รับ”
“บางอย่างเราไม่ต้องเรียนรู้เอง เราไปทางลัด เราหยิบจับสิ่งดีๆมาใช้ในหน่วยงานเราแต่ว่าไม่เอามาทั้งหมด เราจะดูว่า อันไหนที่มันเข้ากับบริบทหรือสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลเราที่เราสามารถทำได้”
จะข้ามออกไปข้างนอก คร่อมอยู่ข้างใน  หรือโยงออกไปในเครือข่ายการบริการก็สามารถจัดการความรู้ได้ไร้ขอบเขต  สถานีอนามัย ทุ่งกระเชาะ รับซื้อวิธีคิด best practice มาใช้จัดกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน มาเรียนรู้จากเพื่อน มาฟัง มาซักให้เข้าใจทักษะการควบคุมน้ำตาลจากเพื่อนผู้ทำได้สำเร็จเรียนรู้จากตัวอย่างเชิงบวก คนไข้และบุคลากรสะท้อนว่า
“บางทีคุณหมอบอกทีเราก็เฉยไม่ค่อยทำ แต่เวลาพอเพื่อนที่เป็นเหมือนกันบอกเขาทำแล้วหาย เราก็ทำตามเขา ควบคุมน้ำตาลจากเพื่อน มาฟังมาซักให้เข้าใจทักษะการควบคุมน้ำตาล”
“ผลออกมาดีขึ้นประมาณ 90 % ของคนไข้น้ำตาลลดลง เช่น บางคนจากเมื่อก่อน 200 เหลือ 133”
 ผลดียืนยันวิธีคิด  ความรู้แฝงฝังเกิดขึ้นทุกที่ที่มีการปฏิบัติ  การจัดการความรู้ยิ่งทำจึงยิ่งง่าย กลายเป็นฉันทะ เกิดเป็นลักษณะนิสัยในตัวคน วันนี้ถ้ามีโอกาสเข้าไปในโรงพยาบาลบ้านตาก มองผ่านรอยยิ้มสดใสและบริการสะดวกสบายทั้งระบบก็จะเห็นความสะอาดและความเป็นระเบียบอยู่ในทุกๆจุด   เพราะที่นี่มีกิจกรรม 5 ส. พัฒนามาต่อเนื่องมายาวนาน    เป็นฐานรองรับชุมชนนักปฏิบัติที่มีสมาชิกมากที่สุด คือ เจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงพยาบาล ดังที่บุคลากรหลายคนสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า  
“เรียกว่าทำจนเป็นนิสัย จะรู้สึกสนุกสนาน”
“ไม่ต้องมีคนมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช เพราะทุกคนจะทำไปโดยอัตโนมัติ”
“อะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงเราก็จะค่อยๆคุยกันไปเรื่อยๆ สมมติว่าทำแล้วยังไม่ดีขึ้นมานั่งคุยกันใหม่ประชุมกันใหม่”
“ทั้งทีมต้องมาช่วยกันปรับ ทุกคนมีส่วนร่วม”
“เราทำให้มันเป็นวัฒนธรรม เป็นธรรมชาติ มันยิ่งทำให้งานเรามีคุณภาพมากขึ้น”
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากได้เน้นย้ำเรื่องการจัดการความรู้อย่างน่าสนใจว่า
“การจัดการความรู้ ต้องสอดแทรกหรือเป็นเรื่องเดียวกับงานประจำ อันนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเข้าใจแนวคิดชัดเราจะไม่ไปติดกับรูปแบบ KM ของที่ต่างๆ สามารถที่จะสร้างวิธีการจัดการความรู้ของตนเองได้ การทำ KM แบบรู้ เห็น รัก ในความสำคัญในประโยชน์ของ KM จริงๆ ตรงนี้จึงจะประสบความสำเร็จและยั่งยืน”
คือการเปลี่ยนแปลงตนเองไปทีละก้าว  เพื่อขยับใกล้เข้าสู่เป้าหมายสู่ความสุขจากการได้ทำงานเพื่อประโยชน์ของคนอื่นเพราะเลือกแล้วว่าจะเดินไปบนวิถีการเรียนรู้ จึงอุ่นใจและมั่นใจ พร้อมทั้งยังมีเพื่อนมิตรที่ช่วยให้เราเข้าใจชีวิตและโลกแวดล้อม มากขึ้นๆ ทุกวัน
บทสรุป
แม่น้ำสายใหญ่ยังคงไหลผ่านพิจิตร ที่ลุ่มชุ่มน้ำยังคงมีข้าวมีผัก มีเกษตรกรที่ยังคงเรียนรู้ ปลูกสร้างผลผลิตมาเป็นอาหารเลี้ยงกาย  สร้างสมความรู้ขึ้นมา  เป็นอาหารเลี้ยงปัญญา  ในพื้นที่นี้ การจัดการความรู้จึงเกิดขึ้นและยังประโยชน์  บนเป้าหมายเดียวกันเพื่อนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่ามาสู่องค์กรและบ้านเกิด ขบวนการร่วมพัฒนาพิจิตรและโรงพยาบาลบ้านตากได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ของตนขึ้นมา  เริ่มจากทั้งความรู้ที่คว้ามาจากภายนอก และความรู้ที่ควักมาจากภายใน เพราะด้วยการนำความรู้มาใช้ ความรู้จึงเกิดใหม่และพัฒนายกระดับขึ้น พร้อมไปกับการทำงานที่เคลื่อนไปข้างหน้าในกระแสความเปลี่ยนแปลงที่หนุนเนื่อง จะสอดรับหรือขัดขืน  กลมกลืนหรือขัดแย้ง การจัดการความรู้เป็นเพียงเครื่องมือของกระบวนการเรียนรู้  เพื่อยกความรู้ของชุมชนนักปฏิบัติ สู่ระดับปัญญา เชื่อมโยง อิสระจากทุกข์พ้นไปจากปัญหายาก บนวิถีนี้ เราและโลกแวดล้อมจึงเคลื่อนไหวก้าวหน้าต่อไปได้อย่างสมดุลย์และมีความสุข

หมายเลขบันทึก: 12212เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2006 05:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท