On Cyber Bully: แบบไหนเจ็บกว่ากัน?


ถ้าผมเถียงว่าความรักนั้น จับต้องไม่ได้ แต่รู้สึกได้ ดังนั้นไม่ว่าจะคบกันอย่างไร ถ้าต้องเลิกราแล้ว ปริมาณความเจ็บมันแปรผันตรงกับความรักที่ทุ่มเทไป ไม่ใช่วิธีที่สื่อสาร

ผมขอถามว่า... ถ้าคุณต้องอกหักจากแฟนที่คบหากันทางอินเตอร์เน็ต กับอกหักจากแฟนตัวเป็นๆ ที่คบกันมาด้วยระยะเวลาเท่าๆ กันแบบหลังเจ็บกว่าจริงไหมครับ?

ใครเห็นด้วย ยกมือขึ้น

ถ้าผมเถียงว่าความรักนั้น จับต้องไม่ได้ แต่รู้สึกได้ ดังนั้นไม่ว่าจะคบกันอย่างไร ถ้าต้องเลิกราแล้ว ปริมาณความเจ็บมันแปรผันตรงกับความรักที่ทุ่มเทไป ไม่ใช่วิธีที่สื่อสาร…

ใครเห็นด้วย ยกมือขึ้น

bully deli

ผมมีเพื่อนคนหนึ่งคบหาเป็นแฟนกับผู้หญิงโดยติดต่อกันทางอินเตอร์เน็ตเป็นรักออนไลน์อยู่ปีกว่า ไม่เคยเจอกันจริงๆ แต่เห็นหน้าตากันทางอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเว็บแคม หรือรูปถ่าย พูดคุยกันก็บ่อย ได้เวลาสุกงอมก็นัดเจอกัน เพื่อนอุตส่าห์บินจากอเมริกากลับไปเพื่อเจอสาวเจ้า แต่สุดท้ายสาวผิดนัด ทำให้ไม่ได้เจอกัน เพื่อนผมคนนี้บินกลับมาเรียนต่อด้วยจิตใจชอกช้ำ ต้องใช้เวลารักษาอยู่หลายเดือน เพราะแผลเจ็บลึก และสงสัยจะอักเสบ

การถูกใครสักคนด่าเจ็บๆ และหยาบคายก็เป็นเรื่องที่ต้องเจ็บช้ำระกำใจกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการชี้หน้าด่าหรือด่ากันทางอินเตอร์เน็ต จริงไหมครับ? การทำร้ายกันทางอินเตอร์เน็ตหรือ cyber bully นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องไม่ชัดเจนในบ้านเราในความรู้สึกผม เพราะเราไม่ค่อยมีประเด็นนักเรียนถูกแกล้งกันในโรงเรียนมากจนถึงขนาดที่คนถูกแกล้งต้องเครียดหรือฆ่าตัวตาย (เท่าที่ผมทราบนะครับ) แต่ที่เมืองนอกมี

จากประสบการณ์ของผม มีสองเรื่องที่เข้าข่าย cyber bully

เรื่องแรกเริ่มต้นเพราะทางภาควิชามีการเปิดเว็บบอร์ด แล้วก็จัดให้มีห้องสนทนารับฟังเสียงบ่น มีนักศึกษาเข้ามาบ่นถึงคุณวุฒิของอาจารย์ในภาควิชา และตั้งข้อสงสัยกับวิธีการสอนและคุณสมบัติของอาจารย์ ลงชื่ออาจารย์แล้วก็แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา แม้ภาษาจะสุภาพ แต่ท่าทีไม่สุภาพ หัวข้อนี้สร้างความปั่นป่วนกับเว็บบอร์ดได้เป็นเดือนครับ กลายเป็นกระทู้ร้อน เดือนร้อนให้อาจารย์หลายท่านต้องเข้าไปแสดงความเห็น บางท่านอยากทราบว่าเด็กคนนี้เป็นใคร บ้างอยากให้มาคุยเปิดใจ มีอะไรจะได้แก้ไขกันไป กระทู้เริ่มร้อนแรงจนสุดท้ายอาจารย์ที่ควบคุมเว็บบอร์ดต้องนำกระทู้นั้นลงครับ จนบัดนี้ก็ยังไม่ทราบว่าเด็กคนนั้นเป็นใคร

เรื่องที่สองนี้ ผมว่าหลายท่านคงทราบ กรณีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนเป็นข่าวว่าล่อลวงนักศึกษาหญิงไปทำมิดีมิร้าย แล้วผู้ปกครองของเธอทราบเรื่องก็เขียนอีเมลส่งกระจายทางอินเตอร์เน็ต กลายเป็นข่าวใหญ่โต ทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์และวิทยุ เรื่องนี้จบลงที่จับตัวคนผิดได้ คือศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกพันทิพย์จุดคอม ค้นประวัติอาจารย์ท่านนั้นจากอินเตอร์เน็ต แล้วก็เขียนแต่งเรื่องเป็นตุเป็นตะ พอทางอาจารย์ได้ข้อมูลจากทางพันทิพย์จุดคอม ก็โทรไปถามเหตุผลที่ทำ แล้วแจ้งว่าจะฟ้องร้องเอาเรื่อง เธอก็ร้องไห้และสารภาพว่าแค่อยากลอง สุดท้ายแล้วก็ตกลงกันโดยที่เธอเขียนจดหมายขอโทษแล้วก็มีการลงในหน้าหนังสือพิพม์ มีการส่งต่ออีเมลกันให้ทุกคนได้รับทราบ

กรณีแรกนั้น จนแล้วจนรอดก็ไม่รู้ตัวคนก่อการ กรณีที่สองถ้าหาต้นตอไม่เจอคงยิ่งเป็นเรื่องร้ายแรง เสียชื่อเสียงและกระทบถึงการงาน

bully bunny

ถ้ามีคนมาด่าคุณแรงๆ กลายเป็นหัวข้อดังในวงสนทนาออนไลน์ของที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือที่ทำงาน ด่าในเรื่องที่คุณไม่ได้ทำเลย หรือด่าในเรื่องที่คุณทำผิด แต่ด่าจนเกินเลยร้ายแรง คุณจะทำอย่างไร?

ถ้าถามผมตอนนี้ ผมคิดว่าผมอาจเจ็บใจ เสียใจ อยากล้างแค้น อยากรู้ตัวคนทำ อยากได้รับการปลอบประโลมจากคนที่ห่วงใย และคนที่เข้าใจ

การตอบรับของผมคงไม่ต่างกัน ถ้าเรื่องเกิดกับตัวนอกโลกไซเบอร์

การกลั่นแกล้ง ทำร้ายกัน บางครั้งจับต้องไม่ได้ แต่รู้สึกได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดขั้นที่ไหน อย่างไร ปริมาณความเจ็บมันแปรผันตรงกับถ้อยคำที่ทำร้าย

ใครเห็นด้วย ยกมือขึ้น

 

มีลิงค์ข้อมูลและวิดีโอดีๆ ให้เพลินกันต่อนะครับ
www.cyberbully411.org
www.getnetwise.org
www.ila.org/netsafe
http://www.youtube.com/watch?v=seOQyMvG99w
http://www.youtube.com/watch?v=QYaWNYXpBis
(หวังว่าสักวันถ้ารัฐบาลเลิกบล๊อก youtube เราคงได้ดูกัน)

ภาพประกอบ
http://farm1.static.flickr.com/17/90674288_01c3385f1a_m.jpg by Jim in Times Square
http://farm1.static.flickr.com/90/225573371_f99b1118d4_m.jpg by massdistraction

หมายเลขบันทึก: 121974เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2007 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีด้วยความระลึกถึงยิ่งค่ะอาจารย์วสะ

  • ดิฉันชอบแนวคิดที่ว่า  "การสื่อสาร คือการประกาศว่าเรามีตัวตน"  
  • คงสื่อความหมายนัยยะเดียวกับ "มนุษย์ทุกคน ต้องการการยอมรับ"
  • การประกาศว่าเรามีตัวตน คือ ความต้องการการเป็นที่ยอมรับ 
  • (คือยอมรับว่าเรามีตัวตนอยู่ในโลกนี้  และมีความหมายสำหรับใครก็ตาม  ที่เราอยากให้เขารู้สึกว่าเรามีความหมาย)
  • และแสดงหรือนำเสนอ(สื่อสาร)อะไรบางอย่างที่สื่อความหมายว่าเราต้องการเป็นที่ยอมรับ 
  • มนุษย์ทุกคนจึงต้องการความรัก เพราะการได้เป็นที่รัก  และได้รู้สึกรักผู้อื่น เป็นความรู้สึกว่า"มีความหมาย"  และเป็นที่ยอมรับ
  • สำหรับประเด็น "การทำร้ายจิตใจกันโดยการสื่อสาร"  (ที่มีใช่ทำร้ายกันด้วยกำลังกาย  แต่ใช้ถ้อยคำภาษา  ทั้งวัจนะและอวัจนภาษา)ซึ่งแสดงถึงการไม่ยอมรับ หรือปฏิเสธ หรือต่อต้าน ฯลฯ   ดิฉันคิดอย่างนี้ค่ะ
             1.   การ"เข้าใจ"ความหมายอยู่ที่การแปล
             2.   "ความรู้สึกที่มีต่อความหมาย"  อยู่ที่การให้คุณค่า  ว่าดี-ไม่ดี ชอบ-ไม่ชอบ 
             2.   การให้คุณค่าต่อความหมายนั้น  และการเกิดอารมณ์ความรู้สึก  (บวกหรือลบ  กระทบหรือสงบนิ่ง   ) อยู่ที่วุฒิภาวะในการสื่อสาร หรือลึกไปกว่านั้นคืออยู่ที่วุฒิภาวะทางจิตใจ  ซึ่งต่างไปในแต่ละบุคคล
            
  •  เมื่อเราสื่อสาร(สื่อความหมาย)  และแปลความ แล้วตอบสนองเป็นอารมณ์ความรู้สึก  ความหมายครั้งนั้นๆก็จะทำให้เราตีความเป็นคุณค่า   คุณค่านี้จับต้องไม่ได้  แต่ให้ผลเป็นอารมณ์และความรู้สึกแบบ "ชอบ ไม่ชอบ  หรือเฉยๆ" 
  • เมื่อไปตกอยู่ที่ชุดอารมณ์ความรู้สึกไหน  เราก็เต้นไปตามชุดกลไกของอารมณ์ความรู้สึกนั้น  
  • การทำร้ายจิตใจกันด้วยการสื่อสาร  บางครั้งจึง"จับต้องไม่ได้" (คือหาตัวตนผู้ทำร้ายไม่เจอ  สารที่สื่อความหมายร้ายก็เป็นเพียงถ้อยคำหน้าจอ   และมาไม่ถึงร่างกายเรา  แต่มัน"ถึง"ที่ใจ)
  • ดังนั้นจึง "รู้สึกได้" จริงอย่างที่อาจารย์ว่า   และส่งผลกระทบต่อชีวิตได้จริงด้วย
  • และ"ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน  (คือรับรู้ความหมายจากถ้อยคำหน้าจอ  หรือรับรู้ความหมายจากที่คนคนหนึ่งพูดกับเราแบบเห็นตัวเป็นๆ) อย่างไร
  • ปริมาณความเจ็บมันแปรผันตรงกับถ้อยคำที่ทำร้าย (คือเราได้รับรู้"ความหมาย"นั้น  ได้แปล ได้ตีความ ได้เกิดอารมณ์ความรู้สึกตามอายตนะที่ใช้รับรู้เหมือนกัน  แม้จะต่างกันเล็กน้อย เรื่อง"พื้นที่" และอายตนะที่รับสัมผัส)

 

  • อย่างไรก็ตาม  หากเป็นเรื่องความไม่สมหวังในความรัก  ประเด็น"นอกจอหรือในจอ  อย่างไหนเจ็บกว่ากัน" นั้น  ดิฉันยังสรุปไม่ได้  เพราะคิดว่ามันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยและเงื่อนไขที่หลากหลายและละเอียดอ่อน   ร่วมถึงวิธีคิดในการให้คุณค่า ของทั้งผู้ส่งสาร  ผู้รับสาร  และปริบทการสื่อสารโดยรวม  ดังนั้นจึงคิดว่าต้องวิเคราะห์เป็นรายกรณีไป  
  • และประเด็นนี้  "ความรักนั้นจับต้องไม่ได้ แต่รู้สึกได้ ดังนั้นไม่ว่าจะคบกันอย่างไร(ไม่ว่าจะอยู่นอกจอหรือในจอ) ถ้าต้องเลิกราแล้ว ปริมาณความเจ็บมันแปรผันตรงกับความรักที่ทุ่มเทไป ไม่ใช่วิธีที่สื่อสาร…" 

  • ดิฉันคิดว่า "วิธีที่สื่อสาร" ก็เป็นการแสดงถึง "ระดับของการทุ่มเทความรัก" เช่นกัน  สองอย่างนี้มันประกอบกันอยู่ 
  • วิธีที่สื่อสาร  = การแสดงออก 
  • ระบุได้เป็นวิธีการแสดงออก  เช่น ยิ้ม  ยิ้มหวาน พูด พูดอย่างอ่อนโยน อุ้ม  อุ้มอย่างทะนุถนอมแบบแม่อุ้มลูก   
  • รับรู้ได้โดย ตาเห็น หูได้ยิน กายสัมผัส  (ไปยาลน้อย) 
  • การทุ่มเทความรัก = การแสดงออกซึ่งความรัก  ที่ปรากฏผลเป็น ระดับความเข้มข้นของความรัก 
  • ระบุได้เป็นการชี้วัดความรู้สึกเชิงปริมาณ 
  • รับรู้ได้โดยการตีความจาก "วิธีสื่อสาร"  อีก   
  • แปลว่าขึ้นอยู่กับ องคาพยพทั้งหมดของการสื่อสารนั้นเลย     จึงต้องวิเคราะห์เป็นรายกรณีไป ตามทฤษฎี  "จิตมนุษย์นี้ไซร้ยากแท้หยั่งถึง"
  • ยิ่งตอบดิฉันยิ่งสนุกค่ะอาจารย์วสะ    และเห็นจะไปได้เรื่อยเจื้อยตามประสา  ต้องออกตัวก่อนว่าดิฉันไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความรัก  แต่มีหน้าที่ในฐานะผู้สอนการสื่อสาร  ที่จะฝึกเด็กๆให้เข้าใจการสื่อสารที่ทำให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกชุดนี้  และรู้เท่าทันการเกิดความรู้สึกและอารมณ์ชุดนี้  เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตเขาในอนาคต  ดิฉันก็เลยว่าของดิฉันไปยืดยาว  โดยมีเด็กๆนั่งหาวหวอดๆจนกระทั่งถึงนาทีที่ทดลองให้ดูเธอถึงจะพยักหน้าหงึกๆ 
  • ขอบคุณอาจารย์มากเช่นเคยนะคะ  หากดิฉันออกนอกประเด็นไปไกลก็ต้องขออภัยด้วย  ยิ่งอายุมากก็ยิ่งบ่นอะไรยาวๆ  นึกแล้วก็ขำตัวเองอะค่ะ
  • ปล.ดิฉันยังไม่ลืมบันทึกโน้นที่ตอบค้างไว้นะคะ   มีจังหวะเมื่อไหร่ ดิฉันจะเข้าไปคุยกับอาจารย์อีกนะคะ  ขอให้อาจารย์เรียนอย่างมีความสุขค่ะ : ) 

สวัสดีค่ะ

      ข้อแรก ทำไมอาจารย์ไม่ใช้รูปที่ http://vasabrp.blogspot.com/  เท่ห์ออก รูปปัจจุบันก้ดี แต่ดูเป็นอาจารย์จัง

      ประเด็นคำถามที่ถาม ความเห็นส่วนตัว ไม่คุ้นเคยกับการจะมีความรู้สึกลึกซึ้งกับใครทางใจ ในโลกเสมือนค่ะ

       นึกไม่ออกว่า จะไปลึกซึ้งอะไรได้กับคนที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้มองตา ไม่ได้สัมผัส ไม่มได้ฟังเสียง

        และคนเราสร้างภาพกันได้ตลอด แล้วแต่อยากให้คนมองเราแบบไหน ทางโลกcyberนี้

        ที่ให้ความเห็นกันไปๆมาๆ อาจจะผิวเผินก็ได้ คนเราต้องคบกันตัวเป็นๆมากกว่านี้มากค่ะ

         ไม่ใช่ การไม่จริงใจ แต่ คนเรา มีรายละเอียดอีกมากค่ะ ที่ต้องค้นหากัน และต้องเจอกันตัวเป็นๆค่ะ สำหรับเรื่องความรัก อันเป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อนมาก

       ขอโทษมากๆค่ะ ความเห็นอาจไม่ถูกใจ แต่ฟังจากคนละมุมก็สนุกดีค่ะ นะคะ

      
     

สวัสดีครับ
P
ประเด็นการนำเสนอของคนนี่ ผมต้องขอบอกว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน การสื่อสารจะเป็นรูปแบบใด คนเราก็มักปรุงแต่งก่อนทั้งนั้นนะครับ เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่ายังจำภาพที่เขาเจอแฟนเขาครั้งแรกได้ดี ว่าแต่งตัวอย่างไร มีกริยาอย่างไร ถามว่านั่นคือตัวจริงของเธอหรือเปล่า ผมคิดว่าใช่ และไม่ใช่ เพราะคนเราก็ต้องอยากเป็นที่ยอมรับในการพบกัน ยิ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเช่นเรื่องความรัก ว่าไหมครับ?
ตอนที่ผมเขียนบันทึกนี้ผม ผมก็คิดถึงประเด็นผู้รับสารอยู่เหมือนกันนะครับ ว่าเป็นจุดสุดท้ายที่จะตัดสินว่า ข้อความนั้นร้ายแรง เสียดแทงแค่ไหน เพราะบางคนคิดมาก บางคนคิดน้อย ต่างกันไป ตรงกับที่อาจารย์บอกว่าแล้วแต่ว่าใครจะตีความหมายอย่างไร
ประเด็นวิธีสื่อสาร ในระดับของความรัก หรือมิตรภาพนั้น ผมเห็นด้วยกับที่อาจารย์บอกว่ามีเรื่องของการแสดงออก และระดับของการแสดงออก แต่มีอีกประเด็นหนึ่งที่ผมนึกถึงนะครับ เพราะบางครั้งแม้เราจะแสดงออกมาก แต่ถ้าไม่ตรงกับที่เขาอยากรับ ไม่ตรงกับรสนิยม สารก็ส่งไปไม่ถึง ก็คงจะต้องทำใจไปตามระเบียบ เขาอาจจะบอกว่า เธอเป็นคนดีนะ เธอเป็นคนดีเกินไป เรารักเธอแบบพี่ชาย อะไรก็ว่ากันไป...
ขอบคุณครับ
P สวัสดีครับคุณพี่ sasinanda
ก็เปลี่ยนรูปไปเรื่อยๆ น่ะครับ จะได้ไม่เบื่อ เพราะผมเองก็ไม่ค่อยอยากจะตกแต่งบล็อก Gotoknow เท่าไหร่
ผมเองต้องห่างบ้านหลายครั้งครับ และเห็นประโยชน์ของการสื่อสารสมัยใหม่มาก รู้สึกซึ้ง (appreciate) กับเทคโนโลยีมากครับ ผมไม่ได้หมายความว่ามันจะสามารถทดแทนการเห็น การสัมผัสได้ เพียงแต่ว่าถ้าเราต้องห่างบ้านไกลๆ ก็ทำให้เหมือนใกล้ เพราะจะโทรหา จะอีเมล จะคุยกันแบบใช้กล้องเว็บแคมทางอินเตอร์เน็ต ไม่ต้องรอจดหมายเป็นสัปดาห์เหมือนสมัยก่อน
ในกรณีของผมนั้น บางครั้งการที่เราไม่ได้อยู่กับคนที่เรารัก สื่อต่างๆ เหล่านี้ก็พอจะช่วยบรรเทาความคิดถึง ความเหงาได้ และการที่เราได้คุยทางโทรศัพท์ทางไกล ได้คุยกันทางอีเมล และโดยเทคโนโลยีอื่นๆ ก็เหมือนการได้ค่อยๆ เรียนรู้กันในวิธีต่างๆ ด้วยครับ
อย่า่งที่ผมบอกในความคิดเห็นข้างต้นนะครับ ผมเชื่อว่าคนเราสร้างภาพตลอดเวลา แต่การที่ไม่ได้เห็นหน้า ไม่ได้เห็นตัวตนนั้น จะทำให้เราสร้างได้แนบเนียนกว่า โดยใช้ทักษะน้อยกว่า จริงไหมครับ? 
ขอบคุณสำหรับความเห็นนะครับ ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ถูกใจเลยครับ เต็มที่เลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท