คนดีวันละคน : (103) นพ. ประชา ชยาภัม แพทย์ตัวอย่างภาคใต้ประจำปี พ.ศ.2550


         วันที่ 15 ส.ค.50  ผมเข้าร่วมพิธีประกาศเกียรติคุณแพทย์ตัวอย่างภาคใต้  ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้วยความสุข   หลังจาก ผศ. นพ. สุธรรม ปิ่นเจริญ  ประธานคณะกรรมการคัดเลือกอ่านประกาศเกียรติคุณ  และ พล.ต.ท. พิงค์พันธุ์  เนตรรังสี  รองประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์มอบเงินรางวัลแล้ว   นพ. ประชา ชยาภัม ก็กล่างต่อที่ประชุมว่า ตนเองยึดหลักอะไรบ้างในการทำงาน   ผมฟังแล้วมีความชื่นชมมากว่าคุณหมอประชาเป็นศัลยแพทย์ด้านประสาทศัลยศาสตร์ที่มีความคิดกระบวนระบบอย่างลึกซึ้ง   และมีแนวคิดเชิง complex adaptive systems

         ประวัติของ นพ. ประชา ชยาภัม มีดังนี้

ประวัติการศึกษา
     - แพทยศาสตรบัณฑิต  คณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ.2524
     - วุฒิบัตรสาขาประสาทศัลยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ปี พ.ศ.2530
     - นักบริหารการแพทย์และสาธารณสุข ชั้นสูง รุ่นที่ 19 ปี พ.ศ.2546

ประวัติการทำงาน
     - ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2524 - พฤษภาคม พ.ศ.2527
     - ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2527 - พฤษภาคม พ.ศ.2530
     - ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2530 - ตุลาคม พ.ศ.2531
     - ประกอบอาชีพส่วนตัว พฤศจิกายน พ.ศ.2531 - ตุลาคม พ.ศ.2533
     - ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลยะลา จ.ยะลา  ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2533 - จนถึงปัจจุบัน

ตำแหน่งปัจจุบัน
 นายแพทย์ 9 (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม)  หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมและผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา โรงพยาบาลยะลา

สถานที่ทำงานปัจจุบัน
     โรงพยาบาลยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

ผลงานดีเด่น
     - ขยันอดทนทำงาน รับผิดชอบงานหนักต่อเนื่องกันมาตลอดโดยไม่เกี่ยงงานและไม่เคยย่อท้อหรือเหนื่อยหน่ายต่อหน้าที่  กลับทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจในการผ่าตัดรักษาพยาบาลในสถานที่ที่มีความขาดแคลนแพทย์  ทำงานจนดึกดื่นด้วยความเต็มใจโดยไม่ได้เรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น   บ่อยครั้งต้องนอนในห้องผ่าตัด  จนได้รับการขนานนามว่า "เป็นศพ" โดยปฏิบัติงานเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทศัลยศาสตร์คนเดียวในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมานานเกินกว่า 15 ปี
     - เป็นที่พึ่งของโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไปในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง  ในการรับดูแลรักษาผู้ป่วยส่งต่อด้วยท่าทีที่เป็นมิตรและไม่เคยปฏิเสธ
     - ยึดหลักวิชาการในการบริการ  มีความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคที่ทันสมัยในการรักษาพยาบาลเป็นที่ยอมรับของผู้ป่วย  ผู้ร่วมงาน  ผู้ร่วมวิชาชีพและแพทย์สาขาอื่น ๆ ในพื้นที่
     - มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาจัดทำแผนการจัดระบบการรับสถานการณ์อุบัติภัยของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จนได้รับการยอมรับในระดับประเทศ  โดยเป็นผู้พัฒนารูปแบบวางแผน พัฒนา ทดสอบ ซ้อมและปรับปรุง  จนสามารถใช้งานได้ผลดีจริง  เกิดความร่วมมือ   ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นแม่แบบหรือเป็นตัวอย่างจนกระทั่งหลาย ๆ โรงพยาบาลได้นำไปเป็นต้นแบบและมีการนำไปใช้อ้างอิงในระดับประเทศอย่างแพร่หลาย
     - การปฏิบัติงานยึดหลักวิชาการเน้นการซักประวัติตรวจร่างกายและวินิจฉัยผู้ป่วยอย่างละเอียดรอบคอบ   แม้จะเป็นยามวิกาลหรือนอกเวลาไม่ยอมให้เกิดการผิดพลาดเพราะตระหนักว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
     - ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและเรียบง่าย   ปรับตัวตามสภาพแวดล้อม  ปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงทรัพยากรที่มีอยู่
     - ได้รับการยกย่องและยอมรับจากเพื่อนร่วมวิชาชีพในความรู้ความสามารถ   ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรรับเชิญและบรรยายในส่วนราชการระดับสูงเป็นประจำทุกปี   ตลอดจนได้รับยอมรับจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยให้ไปร่วมเป็นกรรมการสอบเพื่อวุฒิบัตรสาขาประสาทศัลยศาสตร์

วิจารณ์  พานิช
 21 ส.ค.50

หมายเลขบันทึก: 120987เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2007 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ท่านเป็นคุณของผมเองครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท