ว่าด้วยเรื่อง..."หีบอ้อย"


สำหรับดิฉัน...การหีบอ้อย...เป็นอะไรที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

                  เนื่องจากเป็นครอบครัวที่ทำอาชีพเกษตรกรรม  ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นพ่อกับแม่ทำนา ทำสวน ทำไร่กันแล้ว ดิฉันชอบนั่งรถไถไปกับพ่อ(เพราะมันสนุกดี)...ค่าโดยสารไม่เสียหรอกค่ะ...แต่ต้องตัดลำอ้อยแทนค่าโดยสารเท่านั้นเอง...ถึงไร่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรพ่อกับแม่เลย (จะเล่นซะมากกว่า) ก็ตามประสาเด็ก... วิธีดำเนินการปลูกอ้อยจะเป็นหน้าที่พ่อกับแม่และก็พี่ๆคนงานมากกว่าตัวดิฉันเองจะช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อกับแม่ได้ก็คือ...การได้ช่วย"หีบอ้อย"นั่นเอง... เพราะอะไรหรือค่ะ? ก็เพราะว่าได้หยอดน้ำอ้อยลงหลุมหรือเบ้า  เหมือนเราได้เล่นหยอดขนมครก (มันก็เลยเข้าทางดิฉัน) เหมือนเราได้เล่นกับสิ่งที่ตัวเองชอบ...แถมได้ประโยชน์อีกด้วย เรามาพูดถึงวิธีการหีบอ้อยกันดีกว่า...การหีบอ้อยก็ต้องมีอ้อยถูกมั้ยค่ะ! โดยเราต้องริใบออกให้หมดให้เหลือแต่ลำอ้อย...

                เครื่องหีบอ้อยก็มีลักษณะเป็นไม้สามหลัก   โดยอันที่อยู่ตรงกลางจะสูงกว่าไม้อันที่อยู่ด้านข้างประมาณ 1 ศอก(50 เซนต์) เห็นจะได้ แต่ละอันก็จะเป็นตุ่มๆสลับกัน(เหมือนตุ่มล้อรถบดถนน)...ไม้ทั้งสามอันจะประกบกันและที่มีลักษณะเป็นตุ่ม หรือที่ชาวบ้านเรียก "ฟันมะเฟือง" ก็สลับกันซึ่งมันจะมีหน้าที่...หนีบลำอ้อย ส่วนไม้ตัวกลางที่สูงกว่าเอาไว้สำหรับให้วัวหรือควายเทียม(ลาก)เดินหมุนรอบเป็นวงกลม ด้านล่างก็จะเป็นฐานไม้ และฐานไม้ก็จะมีช่องไว้สำหรับไส่ถาดที่จะรองน้ำอ้อย...ซึ่งก็จะมีทั้งถาดเหล็กและถาดไม้การป้อนลำอ้อยเราก็จะป้อนเข้าไปบริเวณโคนหีบ (ด้านล่าง) น้ำอ้อยก็จะไหลลงถาด ในแต่ละครั้งของการหีบอ้อย ก็จะได้น้ำอ้อยประมาณ 1 กะทะใหญ่ (กะทะหุงข้าวตามงานวัดสมัยเก่า) ใช้อ้อยประมาณ1,000ลำขึ้นไปหลังจากเราได้น้ำอ้อยแล้วก็นำไปกรองเอาเศษกากอ้อยที่ตกค้างอยู่ออกให้หมดแล้วนำไปตั้งกะทะเคี่ยวจนได้ที่โดยเราพอที่จะสังเกตุได้คือ จะมีลักษณะของเกล็ดทรายติดตามขอบกะทะหลังจากนั้นก็ลองทดสอบโดยการหยอดลงเบ้าดู โดยยังตั้งกะทะเคี่ยวน้ำอ้อยอยู่ (ใช้ไฟอ่อน)

                 การทำเบ้าหยอดโดยใช้ดินร่วนปนทรายทั่วๆไป มีความชื้นพอสมควรที่สามารถจะทำให้เป็นหลุมหรือเบ้าได้โดยปรับดินให้เสมอ มีขนาดความกว้างประมาณ 1.00x2.00 เมตร ด้านรอบๆก็จะมีไม้ขนาดไม้หน้าสามปิดกั้นดินไว้หรือเราเรียกว่า.. ใช้ไม้หน้าสามเป็นแบบนั่นเอง...เมื่อปรับดินเสมอไม้แบบแล้วก็ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำบิดจนแห้ง แล้วนำมาปูบนพื้นดินที่เราได้ปรับไว้เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็ใช้สากกะเบือ (ไม้ตีพริก) กดลงให้เป็นหลุมหรือเบ้าตามขนาดที่เราต้องการ แล้วก็เอาน้ำอ้อยมาหยอด พอเย็นและแข็งตัวแล้ว ก็ดึงผ้าขึ้นจากเบ้า เวลาจะหยอดใหม่เราก็ทำตามวิธีการครั้งแรก...คือปรับดิน...ปูผ้าขาวบาง...และกดเบ้า

               น้ำตาลอ้อยหรือ..."น้ำอ้อยปึก"ที่ได้ส่วนหนึ่งก็จะเก็บไว้กิน...อีกส่วนหนึ่งพ่อกับแม่ก็จะนำไปขายเป็นรายได้เสริมของครอบครัวดิฉันอีกทางหนึ่งด้วย

               เรื่องราวของดิฉันสำหรับการที่ได้หีบอ้อย...เป็นเรื่องที่ดิฉันต้องทำไม่สามารถหลบ...หรืออู้งานได้...เพราะมันหมายถึง...(ตังค์...ค่าขนม)...ของดิฉันด้วยซ้ำไป............สวัสดีค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 120977เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2007 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เสียดายจัง...มาไม่ทันตอนคุณกำลัง.."หีบอ้อย" ถ้าจะรู้สึกแปลก ๆ พิลึก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท