ภัย"เน็ต" กับศีล 5 เกี่ยวกันยังไงนะ!


 

อินเตอร์เน็ต สื่อข้ามชาติในยุคสมัยนี้ ที่เป็นทั้งสื่อความรู้ สื่อบันเทิง และสื่อมหันตภัยตามที่รับทราบกันดี กำลังกลายเป็นสภาพแวดล้อมใหม่ที่เด็กและเยาวชนต่างรู้จักมักคุ้น และใช้ชีวิตอยู่ด้วยมากยิ่งขึ้นจนแยกไม่ออกจากสภาพแวดล้อมอื่นๆ 

ด้วยอำนาจการแพร่กระจายของอินเตอร์เน็ตในสภาพแวดล้อมของสังคม เช่น ร้านอินเตอร์เน็ตตามซอกซอย ตามหมู่บ้าน ฯลฯ สามารถส่งผลต่อชีวิตและพัฒนาการของเด็กและเยาวชนได้อย่างมาก เมื่ออินเตอร์เน็ตได้เป็นชนวนนำภัยในรูปแบบต่างๆ ที่เข้าถึงตัวเด็กอย่างไม่จำกัดพื้นที่ และไม่จำกัดเวลา และนับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากข้อมูลของนักวิชาการระบุว่า เด็กกว่า 60% สนใจที่จะดูเว็บลามก และกว่า 27% ใช้เว็บแคมเพื่อดูโชว์ลามก นอกจากนี้ยังพบว่า เด็ก 8 ใน 10 คน เล่นแชต (Chat) และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเด็กกลุ่มนี้กว่า 80% เคยแชตกับคนแปลกหน้า และนำไปสู่การพบปะกันจริงๆ กว่า 30% และที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือการที่เด็กเล่นแชต 1 ใน 10 คน เคยมีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้จักกันทางอินเตอร์เน็ต 

การเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงในประเด็นสื่ออินเตอร์เน็ต ก็พบว่าสาระที่เป็นภัยกับเด็กและเยาวชนนอกจากที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว บรรดาเกมต่างๆ และบริการบันเทิงหลากหลายรูปแบบในอินเตอร์เน็ต ยังสร้างกลลวงและกับดักให้เกิดความเสียหายกับผู้เล่นหรือผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ขัดกับหลักธรรมที่สังคมยึดถือปฏิบัติในวิถีชีวิตเกมที่ไม่เหมาะสมในอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิงกับผู้เล่นทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ล้วนเป็นฝีมือชาวต่างชาติบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจบริบทวัฒนธรรมไทย และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกมเหล่านั้นจะถูกปรุงแต่งขึ้นอย่างขาดความระมัดระวัง ในสาระที่ขัดแย้งกับหลักธรรมที่มุ่งสอนให้คนในสังคมเป็นคนดีมีคุณธรรม

นอกจากมุ่งในเรื่องความสะใจและเมามันในอารมณ์ผู้เสพเท่านั้น เจตนารมณ์ที่ผู้สร้างเกมกำหนดไว้ให้ผู้เล่นทั้งหลายถอดรหัส จะหนีไม่พ้นเรื่องการแข่งขันเพื่อเอาชนะที่เน้นความรุนแรง ความโลภ การฆ่ากัน ทำลายล้างกัน การก่ออาชญากรรม ฯลฯ หรือพูดง่ายๆ คือ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชนะ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเป็นการกระทำที่ดีหรือไม่ และความเป็นจริงที่ปรากฏ ก็พบว่าผู้เล่นเกมแต่ละรายมักไม่มีใครที่ตั้งใจเล่นเกมแค่เพียงเกมเดียวแล้วเลิกเล่น หากแต่ผู้เล่นเกมทั้งผู้ใหญ่และเด็กจำนวนมาก เมื่อลองเล่นเกมแล้วไม่ชนะก็ไม่ยอมเลิกรา หรือวางมือไปจากคอมพิวเตอร์ง่ายๆ  

ในอินเตอร์เน็ตยังมีสิ่งที่ล่อใจผู้เล่นอีกมากมาย เช่น ห้องสนทนาหรือห้องแชต ซึ่งใครจะสนทนากับใครก็ได้ทั้งที่รู้จักหรือไม่รู้จักกันมาก่อน สำหรับสาระที่สนทนากันก็มักเป็นเรื่องที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายโกหกหลอกลวง หรือสร้างเรื่องเท็จแทบทั้งสิ้น สำหรับคนที่ด้อยประสบการณ์ หากได้เข้าไปสู่วังวนนี้แล้วก็มักจะได้รับความเดือดร้อนและความเสียหายกับชีวิตตนเอง ซึ่งก็มีให้รับรู้กันบ่อยครั้งในสังคม และยังมีในเรื่องของการนำเสนอเว็บไซต์ลามกจำนวนนับแสนนับล้านเว็บ อันนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมและจริยธรรมให้กับผู้คนอีกมากมาย

 โลกออนไลน์เป็นพาหะนำความเสื่อมมาสู่วัฒนธรรม และปัญหาจากโลกออนไลน์ก็ได้ทวีความรุนแรงในทุกๆ ด้านที่บัญญัติไว้ในศีลห้า ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมของเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นผู้เล่นอินเตอร์เน็ต ในประเด็นตามที่ระบุไว้ในหลักศีลธรรม พบว่า....

     ศีลข้อ 1 ที่ระบุให้ประชาชนถือปฏิบัติ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแต่กลับพบว่า เกมที่ได้รับความสนใจและนิยมเล่นกันมากที่สุดถึงเกือบ 60% คือ เกมฆ่ากัน (ข้อมูลจากเอแบคโพล) 

     ศีลข้อ 2 ไม่ลักทรัพย์ก็พบว่าเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่เล่นเกมจนติด มักจะหาวิธีลักทรัพย์จากพ่อแม่หรือผู้ปกครองเพื่อนำมาเล่นเกม และในบางรายที่มีปัญหาครอบครัวเป็นทุนอยู่แล้ว ก็มักใช้วิธีการทุจริตอื่นๆ ที่เป็นช่องทางหาเงินมาเล่นเกม ตั้งแต่ลักเล็กขโมยน้อย ไปจนถึงการทำร้ายร่างกายผู้อื่น การฉกชิงวิ่งราว ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดทั้งกฎหมายอาญาและแพ่ง และขัดกับหลักธรรม (ข้อมูลจากไทยคลีนเน็ตดอทคอม) 

   ศีลข้อ 3 ไม่ประพฤติผิดทางกามพบว่าปัจจุบันมีผู้สนใจท่องเว็บโป๊ลามกกว่า 60% โดยจำแนกเป็นกลุ่มที่สนใจโหลดภาพโป๊ถึง 55% เล่นเว็บแคม 27% และแชตหาคู่ 5% และ 1 ใน 10 คน มีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้จักกันทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ข้อมูลจากเอแบคโพล) 

   ศีลข้อ 4 “ไม่พูดปดแม้โลกออนไลน์จะเป็นโลกที่เสมือนจริงก็ตามที แต่ก็พบว่าผู้คนที่เข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ต่างไม่นิยมที่จะอยู่กับความจริงกัน จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจึงพบว่า คนจำนวน 79% เคยพูดปดบนเน็ต และเพียง 21% เท่านั้น ที่ไม่เคยพูดปด (ข้อมูลจากเอแบคโพล) 

   ศีลข้อ 5 “ไม่มึนเมาเด็กติดเน็ตงอมแงมจนกระทบกับชีวิตประจำวัน ทำให้เด็กแยกตัวออกจากครอบครัว โดยไม่พูดคุยกับคนในครอบครัว ไม่ทำกิจกรรมกับสมาชิกในครอบครัว ไม่ไปศึกษาเล่าเรียนจนมีปัญหาในการเรียน นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งปัญหาที่พบจากพฤติกรรมติดเน็ต (ข้อมูลจากเอแบคโพล) 

ขณะที่วัฒนธรรมข้ามชาติได้โหมกระหน่ำสู่สังคมไทย คนไทยต่างได้เสพวัฒนธรรมชาติอื่น เพิ่มสีสันและความหลากหลายที่ให้กำไรกับชีวิต แต่หากผู้คนต่างเสพวัฒนธรรมข้ามชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของสื่อที่ไม่เหมาะสมกันอย่างขาดสติ ขาดจุดยืน จนลืมรากเหง้าวิถีชีวิตและบริบทสังคมไทยโดยไม่รู้เท่าทัน ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อตนเอง ต่อสังคม รวมทั้งต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวม และเป็นหนทางไปสู่การสูญเสียความเป็นไททางวัฒนธรรมได้เช่นกัน

                                                       

                                                            ( โดย คุณลัดดา ตั้งสุภาชัย)

                                                                                           C..

                                         

                                                                      

  
หมายเลขบันทึก: 120650เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2007 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อะไรของแกวะฝ้าย.. งานเหรอ

อย่าไปเชื่อเขา

เปงไปตามบุญตามกรรมเขา

ใครจะทำไรก็เรื่องของเขา

เอาตัวเองให้รอดก่อนก็แล้วกัน

อยากได้ดีก็ต้องทำดี

อยากได้ชั่วกันทำชั่วสิ

แต่ทำดีมาตลอด ไม่เคยจะได้ดี

แต่พอมาทำชั่วกับได้ดี

โลกเรานี่มันก็แปลกนะ

.......................................................................................................................................................................

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท