BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สัมมันตะ และมิจฉัตตะ


สัมมันตะ และมิจฉัตตะ

มีผู้ถามคำว่า สัมมันตะ มา และไม่ได้ให้ email ไว้ จะบอกให้ไปค้นเอาเองในหนังสือ เพราะศัพท์นี้ค้นหาได้ไม่ยาก (นักเรียนรุ่นใหม่ไม่ชอบค้น ชอบมาตั้งกระทู้ถามใน web) ... และเนื่องจาก มิจฉัตตะ ตรงข้ามกับสัมมันตะ จึงถือโอกาสนำมาบอกเล่าควบคู่กันไป...

สัมมันตะ ตามที่มีผู้ถามมา น่าจะเขียนผิด เพราะเคยเจอแต่ สัมมัตตะ ดังนั้น จะว่าไปตามความหมายคำว่า สัมมัตตะ (เพิ่มเติมและแก้ไขจากกัลยาณมิตรแนะนำ)

  • สัมมัตตะ แปลว่า ความเป็นถูก
  • มิจฉัตตะ แปลว่า ความเป็นผิด

สัมมัตตะ จัดเป็นหมวดธรรมมี ๑๐ ข้อ ซึ่งเพิ่มมาจากอริยมรรคมีองค์ ๘ อีก ๒ ข้อ  (ส่วนที่ตรงกันข้ามเรียกว่า มิจฉัตตะ) ดังนี้

  • สัมมาทิฎฐิ เห็นชอบ               - มิจฉาทิฎฐิ เห็นผิด
  • สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ        - มิจฉาสังกัปปะ ดำริผิด
  • สัมมาวาจา พูดชอบ               - มิจฉาวาจา พูดผิด
  • สัมมากัมมันตะ การงานชอบ  - มิจฉากัมมันตะ การงานผิด
  • สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ        - มิจฉาอาชีวะ อาชีพผิด
  • สัมมาวายามะ เพียรชอบ       - มิจฉาวายามะ เพียรผิด
  • สัมมาสติ ระลึกชอบ                - มิจฉาสติ ระลึกผิด
  • สัมมาสมาธิ สมาธิชอบ           - มิจฉาสมาธิ สมาธิผิด
  • สัมมาญาณ รู้ชอบ                   - มิจฉาญาณ รู้ผิด
  • สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นชอบ       - มิจฉาวิมุตติ หลุดพ้นผิด

......... 

ผู้เขียนยังไม่เคยเจอเนื้อหาที่อธิบายเรื่องนี้ไว้โดยพิสดาร (ละเอียด) เจอแต่เพียงที่อธิบายไว้โดยสังเขป (ย่อ) เท่านั้น...  ดังนั้น จึงเล่าไปตามความเห็นส่วนตัว...

ในการดำเนินชีวิตหรือการปฏิบัตินั้น ถ้าเป็นไปตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็จะถึง สัมมาญาณ คือ รู้ชอบ และเมื่อรู้ชอบแล้วก็จะหลุดพ้นชอบ คือ สัมมาวิมุตติ... นี้เรียกว่า สัมมัตตะ การกำหนดความเป็นธรรมที่ถูกต้อง

ในส่วนที่แตกต่างกัน ถ้าการดำเนินชีวิตหรือการปฏิบัตินั้น เป็นไปตรงข้ามกับอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ก็จะถึง มิจฉาญาณ คือ รู้ผิด และเพราะรู้ผิดนี้เองจึงสำคัญว่าตนเองหลุดพ้น นั้นคือ มิจฉาวิมุตติ ... นี้เรียกว่า มิจฉัตตะ การกำหนดความเป็นธรรมผิด

..........

ตามสำนักปฏิบัติที่สอนกันอยู่ทั่วไปในเมืองไทย บางสำนักสอนกรรมฐานแบบผิดๆ ก็จะเกิดมิจฉาสติและ มิจฉาสมาธิ ซึ่งอาจไปสู่ความสำคัญตนเองว่ารู้แจ้งบางสิ่งบางอย่าง (มิจฉาญาณ) และสำคัญตนว่าหลุดพ้น (มิจฉาวิมุตติ)...

หรือบางครั้ง อาจารย์สอนไม่ผิด แต่ผู้ฝึกกรรมฐานเข้าใจผิดด้วยอำนาจวิปัสสนูปกิเลส (ความเศร้าหมองแห่งจิตด้วยความสำคัญว่ารู้แจ้ง) ก็อาจนำไปสู่ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณ และมิจฉาวิมุตติ เช่นเดียวกัน...

อนึ่ง ความรู้ คือ ญาณ และ วิมุตติ คือ ความหลุดพ้น ซึ่งมีอยู่ในคำสอนอื่นๆ นอกพุทธศาสนา ก็จัดเป็น มิจฉาญาณ และมิจฉาวิมุตติ เช่นเดียวกัน...

หมายเลขบันทึก: 120537เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2007 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • นมัสการ หลวงพี่ 
  • สังคมไทย ความรู้ไม่พอใช้   จึงทำให้วุ่นวายทั้งตัวและหัวใจ 
  • ไม่ได้อ่านงานหลวงพี่  นานพอสมควร   
P
 ความรู้ไม่พอใช้
นับว่าเป็นคำคมได้... อนึ่ง ยุคนี้เศรษฐกิจพอเพียง น่าจะมีแนวคิด ความรู้พอเพียง ควบคู่ไปด้วย
หวังว่าท่านผอ. คงจะสุขสบายดี....
เจริญพร
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท