ปัจจัยที่มีผลต่อการถ่ายทอดความรู้ ( ตอนที่1 )


การสื่อสาร
ปัจจัยที่มีผลต่อการถ่ายทอดความรู้ ( ตอนที่1 )
ปัญหาด้านการสื่อสารจะเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นได้ในการถ่ายทอดความรู้    หากผู้รับและผู้ส่งสารยังเข้าใจไม่ตรงกัน
จะทำให้ผลที่ได้รับเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายที่ต้องการได้
ในที่นี้จึงขอนำกระบวนการสื่อสารระหว่างบุคคล ซึ่งมีองค์ประกอบทั้งหมด  7 ส่วน  มานำเสนอค่ะ    ได้แก่
1. ผู้ส่งข่าวสาร (Sender) อาจเป็นบุคคล กลุ่ม หรือองค์กร ที่ต้องการการติดต่อสื่อสารบางอย่างไปยังบุคคลอื่น
หรือถ่ายทอดความคิด ความปรารถนาแสวงหาข้อมูล หรือความรู้สึกไปยังบุคคลอื่น
ผู้ส่ง คือ ผู้ริเริ่มของข่าวสาร เช่น คำถาม การสัมภาษณ์ ปัญหา หรือรายงาน
2. ข่าวสาร (Message) ซึ่งอาจประกอบด้วย สัญลักษณ์ทางภาษา เช่น วาจาหรือลายลักษณ์อักษร
และไม่ใช่ทางภาษา       ข่าวสารมีประเด็นที่สำคัญ คือ ข่าวสารอาจบรรจุมากกว่าการมองเห็นด้วยตา เช่น ข้อต่อรอง
ผลทางอารมณ์ และข่าวสารจะสอดคล้องกับสื่อที่ใช้ส่ง เช่น ไม่ควรใช้บันทึกประจำวันประกาศปลดพนักงาน
ข่าวสารอาจถูกบิดเบือนโดยกระบวนการส่ง เช่น อุปกรณ์หรือเทคโนโลยี่ที่ผู้ส่งเลือกใช้ 
3. การแปลงข่าวสารที่ต้องการส่งเป็นข้อความ หรือคำพูด หรือสัญลักษณ์ต่างๆ (Encoding)
ซึ่งอาจเป็นทางภาษาหรือไม่ใช่ภาษา การแปลงข่าวสารอาจถ่ายทอดด้วยสัญญลักษณ์ที่สามารถแทนและใกล้เคียงความคิดเท่านั้น
การแปลงข่าวสารคือการแปรสภาพความคิดให้เป็นสัญญลักษณ์ที่บุคคลอื่นจะเข้าใจได้ โดยขึ้นกับปัจจัย 4 ประการ ได้แก่
ทักษะของผู้ส่ง อากัปกิริยาท่าทาง  ประสบการณ์ความรู้ และระบบประเพณีสังคม เช่น ความเชื่อ ลัทธินิยมตามประเพณีท้องถิ่น  
4. ช่องทางหรือสื่อที่ใช้ส่งข่าวสาร (Media) เป็นวิธีการที่ถูกใช้เพื่อที่จะส่งข่าวสารไปยังผู้รับ เช่น
ถ้อยคำที่เป็นลายลักษณ์อักษรภายในบันทึก การสนทนาเผชิญหน้า การโทรศัพท์ ป้ายประกาศ รูปถ่าย
การใช้สื่อทางอิเลคทรอนิคส์ สิ่งตีพิมพ์ การเลือกสื่อที่เหมาะสมขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ลักษณะของข่าวสาร ความมุ่งหมาย
ประเภทของผู้ฟัง เวลาของการเผยแพร่ และความพึงพอใจ
5. ผู้รับข่าวสาร (Receiver) คือบุคคลที่ข่าวสารถูกส่งไปให้ แล้วแปลความหมายของข่าวสารต้องอาศัยทักษะส่วนบุคคล
ท่าทาง ประสบการณ์ และประเพณีสังคมในการเข้าใจความหมายของผู้ส่งเมื่อส่งผ่านทางสื่อที่มีประสิทธิภาพ
6. การแปลงข่าวสาร หรือการทำความเข้าใจ หรือการตีความข่าวสารที่ได้รับ (Decoding) เป็นกระบวนการแปลความหมาย
ของสัญญลักษณ์ที่ผู้รับได้รับแล้วเข้าใจความหมายได้ตรงหรือใกล้เคียงกับวัตถุประสงค์ของผู้ส่ง
การติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ผู้ส่งและผู้รับจะต้องเข้าใจความหมายร่วมกัน
7.  การโต้ตอบจากผู้รับข่าวสาร หรือย้อนกลับ (Feedback) เป็นการตรวจสอบความเข้าใจที่ตรงกัน
ในความหมายของข่าวสารระหว่างผู้รับและผู้ส่ง ประสิทธิภาพจะขึ้นกับกระบวนการส่งกลับด้วยทำนองเดียวกับขั้นตอนของข่าวสารที่ถูกส่งมา หรือผู้รับได้กลายสภาพเป็นผู้ส่งในขั้นตอนนี้ก็ได้
สำหรับบางกระบวนการสื่อสารที่ไม่สามารถโต้ตอบกลับได้ เรียกว่า การสื่อสารแบบทางเดียว ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการบิดเบือนของความหมายของข่าวสารที่แท้จริงได้
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1205เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2005 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท