ปัจจุบันนี้นะรึ..หึหึ..


เรื่องบางเรื่องถ้าไม่จริงและไม่ตรงจะปล่อยไปไม่ได้

๑๑  มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๙
 
 เราผู้แสวงหาความรู้ ประกอบด้วย นิสา ดวงมณี และนเรศมันต์ เดินทางออกจากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ อันเป็นสถานที่ทำงานประจำ ในเวลา ๑๒.๓๐ น. จริงๆ แล้ว เราตั้งเป้าไว้ว่า จะออกเดินทางในเวลาเที่ยงตรง (๑๒.๐๐ น.) แต่มีเรื่องติดขัดบางเรื่อง โดยเฉพาะการรับประทานอาหารสำรองเผื่อไม่มีโอกาสใช้เวลาส่วนนี้ของ นิสาและดวงมณี และการเสียเวลาให้กับเรื่องส่วนตัวในการเลือกแว่นตาของนเรศมันต์ ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เวลาเคลื่อนจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ๓๐ นาที
 เมื่อรถเคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยฯ ผู้ขับรถและเจ้าของรถคือ นิสา ผู้เป็นหัวหน้าของกลุ่มเราผู้แสวงหาความรู้ เราทราบกันดีว่า เธอเป็นผู้เสียสละอย่างยิ่ง เนื่องจาก ๑) งานแสวงหาความรู้ครั้งนี้ เราใช้รถส่วนตัวของเธอ ๒) ในบางคราวเธอได้ดึงแม่ พ่อและน้าเข้ามาช่วยด้วย นอกจากเธอจะเหนื่อยแล้ว ทางบ้านก็ยังเหนื่อยไปกับงานนี้ไปด้วย เฉกเช่นวันนี้ แอร์ของรถที่เราใช้กันเป็นประจำเกิดเสียไป เราเดินทางไปด้วยเหงื่อและความร้อนของอากาศในชุมชนเมือง จริงๆแล้ว เคยซ่อมไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ก็เสียอีกในเวลาไล่เลี่ยกัน เธอขับรถไปให้แม่เพื่อให้แม่นำไปซ่อมให้ และขอยืมรถแม่ไปใช้ออกพื้นที่ ส่วนค่าซ่อมแม่นั่นแหละเป็นผู้ออกให้
 ด้วยความเร่งรีบและความร้อนใจเพราะเกรงว่าชาวบ้านที่เราตั้งเป้าไว้โดยผ่านการนัดหมายของผู้ใหญ่เทพพิทักษ์จะรอ มองไปที่เข็มไมล์บางคราวขึ้นไปที่ ๑๐๐ กม./ชม บางคราวขึ้นไปที่ ๑๓๐ กม./ชม. โยกซ้ายโยกขวาด้วยความชำนาญเพื่อหาช่องทางที่จะทำเวลาให้เร็วที่สุด เราถึงพื้นที่เป้าหมายตำบลในคลองบางปลากดในเวลา ๑๔.๐๐ น. ทิ้งรถไว้ให้แม่ของนิสานำไปซ่อม นิสาเข้าไปในบ้านเพื่อหายาแก้ปวดมากิน ทราบภายหลังว่าวันนี้เป็นวันเดือดร้อนของลูกผู้หญิง ฝ่ายดวงมณีกับนเรศมันต์ถืออุปกรณ์ออกจากรถเดินไปสำนักงานกองทุนหมู่บ้านก่อน เมื่อถึงหน้าสำนักงานกองทุนเรามองผ่านกระจกใสเห็นผู้ใหญ่เทพพิทักษ์กำลังทำงานบางอย่างอยู่กับโต๊ะทำงาน เราเดินเข้าไปในสำนักงานกองทุนพร้อมกับแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ฯ
 ระหว่างรอนิสานั้นเอง เราได้คุยอะไรบางอย่างกับผู้ใหญ่ฯ มีคราวหนึ่งผู้ใหญ่พูดเปรยออกมาว่า “งานวิจัยของเราเขวไปทางไหนแล้วเนี่ย” เป็นอันเข้าใจว่า ผู้ใหญ่รู้ดีว่าวันนี้เราเข้ามาหมู่บ้านทำไม และตั้งคำถามเหมือนกันว่า “ เอ๊ะ มันใช่การจัดการความรู้หรือไม่กับการแสวงหาบริบทชุมชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน” คงไม่มีคำตอบให้ใคร แต่จะตอบได้ก็ต่อเมื่อ เราได้เห็นว่าสิ่งที่เราค้นหาในวันนี้มีผลดีต่อชุมชนและเอื้อต่องานค้นคว้าความรู้หลักของเรา แม้ผู้ใหญ่จะเข้าใจว่าไม่รู้ว่าเกี่ยวอะไรกับงานวิจัย แต่ผู้ใหญ่ก็มิได้ขัดถึงการเข้าชุมชนเพื่อค้นหาเป้าหมายในวันนี้
 เราเดินทางออกจากสำนักงานกองทุน ก็คือที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑๓ ซึ่งมีคุณเทพพิทักษ์เป็นผู้ใหญ่บ้าน ขณะเดียวกันบุคคลนี้คือคุณ (ผู้) อำนวย (การ) ในการแสวงหาความรู้ของเรา ด้วยรถคันใหม่ จากเดิมรถกระบะโตโยต้าตอนครึ่งสีเลือดนก เป็นรถเก๋งโตโยต้าวีออสสีทอง ส่วนคนขับยังคงเป็นนิสาคนเดิม นิสาขับรถลัดเลาะไปตามตรอกซอยจนถึงบ้านของลุงสวัสดิ์ แสงอินทร์ อายุ ๗๗ ปี ต่อไปนี้ เราขออนุญาตเรียกลุงสวัสดิ์ว่า “ปู่สวัสดิ์”
 ระหว่างที่ปู่สวัสดิ์พูดคุยให้เราฟัง เรื่องราวต่างๆ ผู้ใหญ่เทพพิทักษ์จะเป็นคนคอยตั้งคำถาม ที่เด่นชัดคือการสรุปประเด็น และตรวจสอบจากปู่ว่า “อย่างนี้ถูกต้องไหม” หากถูกต้องปู่ก็จะบอกว่าใช่ หากไม่ถูกต้องปู่ก็จะบอกว่าไม่ใช่อย่างนี้ ขณะเดียวกันในวงสนทนานอกจากเราคือ นิสา คอยเขียนแผนที่เดินเท้าและสอบถามในบางโอกาส กระตุ้นให้ปู่คิดในบางคราว ดวงมณีคอยจดบันทึกด้วยความขะมักเขม้น นเรศมันต์ สอบถามปู่บางอย่างที่อยากรู้ และเก็บภาพบรรยากาศแล้ว มีอาจารย์ท่านหนึ่ง อายุมากกว่าผู้ใหญ่เทพพิทักษ์ แต่น้อยกว่าปู่สวัสดิ์ ร่วมให้ข้อมูลอยู่ด้วย ท่านจะแทรกเนื้อหาในบางช่วง จะเพิ่มเติมเนื้อหาในบางคราวในคราวที่เห็นว่าควรเพิ่มเติม เพื่อให้เนื้อหาที่เราพูดคุยกับปู่มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
 ที่ที่เรานั่งคุยกันคือศาลาริมคลองบางปลากด เป็นศาลาเชิงทรงไทย มีสะพานเดี่ยวทับซ้อนกันทอดยาวจากตัวบ้านไปถึงศาลานั้น ความสูงของสะพานไม้เดี่ยวห่างจากพื้นดินเลนประมาณ ๑ คืบ สองข้างของศาลาเป็นป่าจาก อีกฟากหนึ่งของคลองเป็นวัด ก่อนที่เราจะไปนั่งสนทนากันตรงนั้น สังเกตเห็นว่า มีพนักพิงซึ่งมีโครงทำจากเหล็ก ส่วนพื้นปูลาดทำจากไนล่อนลวดลายสก๊อตที่สามารถปรับเอนกึ่งนั่งกึ่งนอนได้ วางหันหน้าไปทางวัด เมื่อเรามีโอกาสเข้าไปนั่งที่ศาลา พบว่า แม้พนักพิงนี้จะดูเก่า แต่ไม่เห็นใยแมงมุมเลย ยื่นมือไปสัมผัสลากถูกที่พื้นในล่อน มิได้มีฝุ่นผงเปื้อนนิ้วมาด้วย เข้าใจว่า พนักพิงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ปู่ใช้อยู่เป็นประจำทุกวัน สายน้ำที่ไหลเอื่อย ภาพวัดบนความรู้สึกที่สงัด น่าจะเป็นเวลาพักผ่อนที่ดีที่สุดของปู่ และเข้าใจอีกว่า ศาลาริมน้ำนี้ น่าจะเป็นศาลาจากฝีมือของปู่เอง หวนคิดถึงว่า กว่าจะเป็นศาลาริมน้ำหลังหนึ่ง คงใช้เวลาและความพยายามจำนวนหนึ่ง กว่าจะเป็นงานวิจัยหรือได้บทสรุปของความรู้ที่เราแสวงหาก็คงต้องใช้เวลาและความพยายามจำนวนหนึ่งเหมือนกัน
 สำหรับผู้เขียนเรื่องราวนี้ ระหว่างสนทนา มีเรื่องราวบางอย่างที่เป็นความรู้และจดบันทึก เก็บความไว้ ผู้เขียนขอแยกความรู้ออกเป็น ๒ ส่วนคือ ความรู้จากคำบอกเล่า และ ความตระหนักจากความรู้ ในที่นี้ จะเขียนสรุปสาระสำคัญทั้ง ๒ อย่างรวมกัน เพื่อให้ได้อรรถรสของเนื้อหา ดังนี้
 

๑. การทำนาในสมัยก่อน ณ พื้นที่แห่งนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ชนิดคือ ก) นาป่า การจัดการพื้นที่โดยการนำหญ้าออกจากที่ และแขยะให้ดินร่วนก่อนปลูกข้าว ไม่มีการใช้ควายไถ เพราะดินนิ่ม ข) นาทุ่ง เป็นดินแข็ง ก่อนปลูกข้าวมีการไขน้ำเข้านา ปล่อยให้หญ้าเน่าและคราดหญ้าออก จากนั้นใช้ควายไถก่อนปลูก เรายังพบอีกว่า ปีหนึ่งๆ มีการทำนาคราวเดียว โดยเดือน ๖ หน้าน้ำจืด เริ่มจัดการพื้นที่ ช่วงเข้าพรรษาข้าวกำลังออกรวง เดือน ๑๑-๑๒ เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งฉาง หลังจากหน้านา มีเงินคงเหลือจากการขายข้าวจำนวนหนึ่ง ก็จัดเงินนั้นให้เป็นสวัสดิการกับลูกหลานเป็นรายปี เช่น ซื้อแหวนทองให้สวม ซื้อสร้อยคอให้สวม หรือตัดชุดสวยๆ ดีๆ ให้ (๒๔๘๐ ราคาทองอยู่ที่ บาทละ ๓๐๐)
ข้อสังเกต : ๑) การทำให้หญ้าเน่าโดยการไขน้ำเข้าที่นาเพื่อปรับพื้นที่เป็นการทำปุ๋ยหมักไปในตัว ๒) ดินที่เป็นดินนิ่ม ไม่จำเป็นต้องใช้ควายไถ หรือใช้เครื่องยนต์ ๓) ข้อจำกัดของพื้นที่นี้คือ ในปีหนึ่งๆ จะมีทั้งน้ำเค็มและน้ำจืด การทำนาจึงทำเพียงปีละครั้ง ถึงกระนั้น ปีละครั้งยังมีเงินเก็บหรือเป็นสวัสดิการให้กับลูกหลาน ปัจจุบันทำนาตลอดปี ๒ – ๓ ครั้ง แต่ไม่เหลืออะไรเลย มิหนำซ้ำมีหนี้สินล้นพ้น อีกอย่างหนึ่ง ทำงานเอาเป็นเอาตายตลอดปี นอกจากร่างกายทรุดโทรมอ่อนล้า แถมหนี้สินอีกต่างหาก คงไม่คุ้มค่ากับการเกิดมาอย่างแน่นอน ๔) เกี่ยวกับการจัดการเงินในครอบครัว ชาวนาได้ทำมาเป็นนิสัยอยู่แล้ว คือเมื่อเหลือจากการซื้อของเข้าบ้าน เก็บไว้ในยามจำเป็น ก็จัดสรรให้เป็นสวัสดิการกับลูกหลาน ปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านบางแห่ง ก็มีเป้าหมายเพื่อสวัสดิการของหมู่บ้านเช่นกัน
๒. ลำรางและลำหลอด มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ลำราง ได้แก่ร่องกว้างที่เรือมาดผ่านได้ สามารถทำเป็นเส้นทางขนย้ายสิ่งของได้ ส่วนลำหลอด คือทางน้ำสำหรับส่งน้ำเข้านา
ข้อสังเกต : ๑) สิ่งนอกนากับนา มีการเชื่อมต่อกันโดยใช้ลำรางและลำหลอด ๒) การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนก็คงต้องมีลำราง ซึ่งมิได้มีโอกาสในการท่องอยู่ในนานั้นคือความรู้จากภายนอกเครือข่าย และต้องมีลำหลอด คือช่องทางสำหรับนำความรู้เข้านาเพื่อพัฒนาเครือข่ายให้ต้นกล้าเติบโตออกเมล็ดพันธุ์ที่ดีเพื่อประโยชน์ต่อเจ้าของนาคือชุมชน
๓. จากคือผลผลิตรองลงมาจากข้าว ชาวบ้านจะตัดจากเมื่อแล้วเสร็จจากการเก็บข้าว จากนั้นจึงขายกับคนที่มารับซื้อเพื่อไปขายต่อที่อยุธยาและสิงห์บุรี
๔. ต่อจากการปลูกข้าวตัดจากก็เป็นยุคของการปลูกมะพร้าว บนร่องมะพร้าวจะปลูกพืชอื่นๆ ผสมเช่น มัน หมาก ส้ม กล้วย ส่วนภายในร่องมะพร้าวจะมีการปลูกข้าวไปด้วย ต่อจากยุคมะพร้าว ก็มีการทำสวนพุทรา ด้วยพันธุ์ที่นำมาจากนครปฐม
ดูเหมือนสิ่งที่ปู่สวัสดิ์และอาจารย์ภาคภูมิใจคือคุณภาพของดิน จากคำพูดอย่างภาคภูมิใจว่า “พื้นที่จะปลูกอะไรก็หอมหวาน..เพราะดินรักจืดรักเค็ม” อย่างไรก็ตาม จากข้อสังเกต พื้นที่แห่งนี้คงไม่มีผลไม้ พืชผัก หรือข้าวที่หอมหวานอีกแล้ว เนื่องจากบนแผ่นดินล้วนมีแต่โรงงานอุตสาหกรรม
๕. เสื้อผ้าที่ซื้อมาใช้ในสมัยนั้น มีเพียง ๑-๒ ชุดเท่านั้น “ใช้เท่าที่จำเป็นในการทำงานเท่านั้น เวลามีงานก็ไม่ต้องมีเตารีด ใช้ผ้าพับและนำของหนักมาทับให้เรียบก็เป็นอันใช้ได้” นี้คือคำบอกเล่าของปู่สวัสดิ์
ข้อสังเกต : ๑) ให้หวนคิดถึงผู้คนในยุคนี้ ที่ต้องรีดผ้าให้เรียบ ด้วยเตารีด สิ่งที่ใช้คือไฟฟ้า สิ่งที่เสียไปคือเงินค่าไฟ และคุณภาพของผ้า ทั้งที่รีดไม่นานก็ยับ หากไม่รีดเสื้อผ้าอย่างที่ปู่เล่าจะเป็นไรไป ๒) คนในปัจจุบันมีเสื้อผ้าเต็มตู้ เพียงแค่สีตกเล็กน้อยก็เลิกใช้ ทั้งที่เต็มตู้ก็ยังซื้อเพิ่มเติมตามความต้องการที่จะได้ (มิใช่ความจำเป็น) ยิ่งเราซื้อมาใช้ยิ่งเป็นการทำลายธรรมชาติลงไปทุกที
๖. การจีบสาวในสมัยก่อน มักไม่สมหวัง เพราะลูกสาวจะอยู่ในความปกครองของพ่อแม่ หากจะพอมองตากันได้ก็ต่อเมื่อมีงานเทศกาล งานประเพณี
ข้อสังเกต : ๑) เมื่อพ่อ แม่ ลูกสาว มีเวลาให้กัน การที่ลูกสาวจะออกนอกลู่นอกทางนั้นเป็นไปได้น้อยมาก ๒) งานเทศกาล งานประเพณี นอกจากเป็นวันสำคัญในวิถีชีวิตของชาวบ้านแล้วยังเป็นวันหนึ่งที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้มองตากัน ปู่สวัสดิ์พูดเปรยในเชิงตัดพ้อว่า ปัจจุบันนี้นะรึ....” พร้อมกับหัวเราะในลำคอ..หึ..หึ....
 
 อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตวงสนทนา โดยเฉพาะปู่สวัสดิ์จะอยู่ในเป้าสายตาอันดับที่ ๑ ดูเหมือนบางช่วงปู่สวัสดิ์ จะมองมาที่แผ่นที่เดินดินและตรวจดูอย่างตั้งใจจากสิ่งที่ปู่บอกและนิสาเขียนลงไปนั้น สักครู่หนึ่งก็บอกว่า แผนที่นี้น่าจะเขียนใหม่ เพราะยังไม่หมด เป็นการแสดงให้เห็นว่า เรื่องบางเรื่องถ้าไม่จริงและไม่ตรงจะปล่อยไปไม่ได้

---------------------------------------

 มุ่งหน้าเดินเผชิญโลกไสวกว้าง
 ระยะทางวนเวียนจำเนียรผ่าน
 ผู้มุ่งมั่นแม้เส้นทางจะยาวนาน
 ต่อให้ไกลสุดสุสานมิไกลเกิน
“คากรอง”

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12040เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2006 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท