บันทึก KM สัญจร ครั้งที่ ๒ (๔)


ไปเรียนรู้กิจกรรมเครือข่ายโรงเรียน ฝึกนักเรียนให้ทำการเกษตรปลอดสารพิษ

บันทึก KM สัญจร ครั้งที่ ๒ (๔)


เช้าวันอังคารที่ ๑๐ มค. ๔๙ ผมออกไปวิ่งออกกำลังประจำวันแล้วกลับมากินอาหารเช้ารองท้อง     ตามปกติผมไม่กินอาหารเช้า แต่เวลาเดินทางต้องกินเผื่อไว้นิดหน่อย

เยี่ยมชมกิจกรรมทายาทเกษตรกร  

  
คณะเราแยกย้ายกันเป็น ๔ ทีม     นั่งรถตู้ไปดูกิจกรรมในพื้นที่     ผมถูกจัดให้ไปดู กิจกรรมทายาทเกษตรกร   ที่โรงเรียนวัดหนองปลาหมอ   ต. หนองปล้อง   อ. วังทรายพูน    โดยนั่งรถไปประมาณครึ่งชั่วโมง    

คุณตั้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรเล่าในรถว่า    กิจกรรมนักเรียนเริ่ม ปี ๒๕๔๔  ตัวบุคคลหลัก คือ อ. ทิพวรรณ์ จันทรสุกรี  ซึ่งเวลานี้เป็นครูใหญ่ รร. หนองปลาหมอ     ตั้งแต่ยังอยู่ที่ รร. เดิม    อ. ทิพวรรณ์ เป็นคนคิดสร้างสรรค์ สอนไม่เหมือนคนอื่น    ชอบตั้งคำถามให้เด็กคิด    เช่นที่เราจะไปดูงานนี้    ครูทิพวรรณก็จะบอกเด็กว่า  “มีนักวิชาการเขาจะมาดูงาน เธอมีอะไรให้เขาดูบ้าง”     ปี ๒๕๔๔ มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรจัดกิจกรรม ทักษะชีวิตเยาวชน เชิญนักเรียนมาร่วมหลายโรงเรียน   อ. ทิพวรรณ์ เป็นวิทยากรด้วย     และทำให้เกิดความร่วมมือกันเป็นเครือข่ายต่อมา    โรงเรียนหนองปลาหมอมีที่นา ๓ไร่ ใช้สอนนักเรียน (ชั้นประถม) ให้ทำนา  เชิญชาวนามาสอน   ได้ข้าวเปลือกก็สอนให้ทำข้าวกล้องโดยใช้เครื่องสีมือ    ได้ผลดีมาก    มีผู้ปกครองให้ยืมที่ ๕ ไร่ สำหรับทำนาเพิ่มขึ้น     อ. ทิพวรรณ์ไปชวนโรงเรียนอื่น ดำนา และทำนาร่วมกัน    เกิดเครือข่ายระดับอำเภอ  และระดับจังหวัด     อ. ทิพวรรณ์ ทำวิจัย สกว. กับ อ. อัจฉรียา ที่ มน. ด้วย    เวลานี้เป็น อจ ใหญ่
ศ. ดร. อภิชัย พันธเสน  เล่าเรื่องการทำธุรกิจชุมชน  ที่เน้นการแลกเปลี่ยนกันที่บ้านกุดชุม    เริ่มหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐    โดยฝรั่งเป็นผู้ริเริ่ม     และเล่าเรื่องร้านค้าชุมชนของชุมชนมุสลิม ที่เขตประเวศน์  กทม. ที่ทำธุรกิจแบบแลกเปลี่ยนโดยให้สมาชิกผลิตสินค้าที่ชุมชนต้องการนำมาฝากขาย     และสามารถมาซื้อสินค้าแบบลงบัญชีไว้กับร้านค้า     แล้วร้านค้าหักบัญชีจากของที่ขายได้    ร้านค้าชุมชนนี้ได้ความคิดจาก อ. จะนะ  จ. สงขลา  ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมเช่นเดียวกัน    มีร้านค้าชุมชน  สินค้ามี กรงนก  และสินค้าราคาสูง เช่นวิทยุ ทีวี มอเตอร์ไซคล์     ธุรกิจที่เฟื่องฟูมากคือ เอากรงนกไปแลกกับที่มาเลเซีย     ตัวอย่างของธุรกิจชุมชนแบบแลกเปลี่ยนมี ๘ กลุ่ม   ที่กำลังเติบโต มีประมาณ ๔๐ กลุ่ม    ในเดือนมีนาคมจะมีการสัมมนาระดับชาติเรื่องธุรกิจชุมชนแบบแลกเปลี่ยน ที่นครราชสีมา

โรงเรียนวัดหนองปลาหมอมีบริเวณกว้างขวาง น่าจะเกิน ๒๐ ไร่     มีบ่อน้ำชุมชน (ขนาดเนื้อที่เป็นไร่) ๒ บ่อขนาบโรงเรียน    มีนักเรียน ๗๐ คน  ครู ๖    รับนักเรียนอนุบาล – ป. ๖    นักเรียนยากจน    ๘๐% อยู่กับปู่ย่าตายาย     เพราะพ่อแม่ไปทำงานกรุงเทพหรือที่อื่น    เด็กสวมรองเท้าฟองน้ำมาโรงเรียน   
มี “กลุ่มค้ำคูน” โรงเรียน ซึ่งผมเข้าใจว่าคงหมายถึงกรรมการและผู้คอยช่วยเหลือโรงเรียน มาต้อนรับและ ลปรร. กับคณะที่มาเยือน    สังเกตดูคณะครูและชาวบ้านตื่นเต้นกันมาก    เพราะนี่คงจะเป็นคณะแรกที่มาแปลกแบบนี้     คือไม่ใช่มาแนะนำหรือตรวจราชการ     แต่มาขอ ลปรร.

   
กิจกรรมทายาทเกษตรกรนี้ทำเป็นเครือข่าย ๖ โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ  อ. บางมูลนาก,     โรงเรียนวัดหนองปลาหมอมิตรภาพที่ ๒๑๕   อ. วังทรายพูน,    โรงเรียนบ้านเนินพลวง   อ. โพธิ์ประทับช้าง,   โรงเรียนวัดวังไคร้   อ. ตะพานหิน,  โรงเรียนบ้านท่ามะไฟ   อ. โพทะเล,   และโรงเรียนหนองง้าว   กิ่ง อ. ดงเจริญ     แต่ละโรงเรียนจะมีกิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษของกลุ่มนักเรียน     และจะมาประชุม ลปรร. กันทุก ๓ เดือน    มีการจัดอบรม “วปอ. น้อย” 

    ในวันนี้ มีพี่วินัย” ประธาน วปอ. น้อย รุ่น ๑๒ มาร่วมกิจกรรมด้วย     วินัยเป็นนักเรียน ม. ๖ ของ รร. วังตะกูฯ     เป็นเด็กหนุ่มที่ท่าทางและพูดจาคล่องแคล่ว     มีลักษณะมั่นใจตนเอง     ผมถามว่าปีหน้าวินัยจะทำอะไร    วินัยตอบว่า “ไปราม” คือจะไปเรียนที่ ม. รามคำแหง เรียนรัฐศาสตร์     วินัยบอกว่าอยากเป็นปลัดอำเภอ 

 
หลังจากผู้ใหญ่บ้านอ่านคำกล่าวต้อนรับ ก็เป็นการเล่าเรื่องโดยตัวแทนนักเรียนจาก ๔ โรงเรียน โดยเป็น รร. มัธยม ๑ แห่ง คือ รร. วังตะกูฯ   อีก ๓ แห่งเป็น รร. ประถมที่มีนักเรียนไม่ถึง ๑๐๐ คน และเด็กยากจน ทั้งสิ้น    คุณตั้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร เป็นผู้ซักถามเด็กๆ     เห็นได้ชัดว่าเด็กๆ เหล่านี้ที่ต้องการทำเกษตรปลอดสารพิษที่โรงเรียนก็เพื่อเอามาเป็นอาหารกลางวัน     เป้าหมายหลักของเด็กคือต้องการมีกิน เพราะเด็กยากจน    ที่บ้านของเด็กเกือบทั้งหมดทำนา แต่มีไม่กี่คนที่ช่วยพ่อแม่ทำนาด้วย เพราะยังเล็ก    ผักที่มีการปลูกที่บ้านได้แก่ กุยช่าย   ผักกาด   ผักหวาน   ถั่วพู   แค    ผักคะน้า   ผักกวางตุ้ง    ผักบุ้ง    นอกจากนั้นมีการปลูกผลไม้ ได้แก่ ชมพู่   ฝรั่ง   มีหลายบ้านปลูกดอกรัก    สังเกตดูระหว่างทางมีแปลงปลูกต้นรัก    และมีปลูกเป็นแนวริมถนนด้วย      
วินัยเล่าว่าที่บ้าน ทำนา ๘๐ ไร่ เดิมใช้สารเคมี    คนที่ทำนา ๘๐% เป็นแผลต้นขา   ผื่นแดงๆ ตุ่มคัน    นานๆ เป็นหนอง    พ่อแม่เป็นแผลต้นขาเรื้อรังจนเป็นแผลเป็น    พอทำนาอินทรีย์แผลหาย    ที่บ้านของวินัยเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์มา ๓ ปีแล้ว   วันนี้กำลังวิดน้ำใส่นา    อีก ๒ เดือนเกี่ยวได้   ทำนาหว่าน ๓ ไร่ ข้าวสุพรรณ   หว่านข้าวไร่ละ ๑๐ กก.   ในระหว่างที่วิยัยเล่า อ. จำรัส วิทยกรเกษตรปลอดสารของเครือข่ายพิจิตรก็ซักไปด้วย     อ. จำรัสเป็นคนพูดเสียงดัง     เวลาซักคล้ายๆ ทนายซักในศาล     แต่วินัยไม่สะทกสะท้านเลย เวลาพูดก็ไม่ประหม่า     ผมนึกถึงตอนผมอายุประมาณ ๑๘ ปีอย่างนี้ ไม่กล้าพูดในกลุ่มคนมากๆ เลย    แม้ตอนจบแพทย์แล้วความสามารถในการพูดนำเสนอในที่ประชุมก็ไม่ได้ครึ่งหนึ่งของวินัย


ฟังดูเข้าใจว่าทางโรงเรียนต้องการใช้เด็กเป็นผู้ไปบอกพ่อแม่ให้เลิกใช้สารเคมี หันมาทำการเกษตรปลอดสารพิษ    ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้บ้าง     เด็กๆ ยอมรับกันอย่างหน้าชื่นว่าที่บ้านยังใช้ปุ๋ยเตมีและยาฆ่าแมลงอยู่ 


หลังจากซักถามเด็กๆ ไปได้ระยะหนึ่ง     ผอ. รร. ในเครือข่ายก็มาเล่ากิจกรรมเกษตรปลอดสารพิษในแต่ละโรงเรียน ดังนี้

อ. บุญรอด ผอ. รร. วัดหนองปล้อง

   
โรงเรียนมีที่ดิน ๑๒ ไร่ ผังพื้นที่ไม่เหมาะต่อการทำกิจกรรมเกษตรปลอดสารพิษ   เพราะใช้พื้นที่ปลูกสร้างอาคารเรียน  อาคารอเนกประสง   บ้านพักครู   ขุดบ่อน้ำไว้มาก    เหลือที่ทำเกษตรน้อย    เด็ก ๘๑ คน  เป็นเด็กโตระดับ ป. ๕ – ๖  ๒๐ คน ที่จะพอเป็นแรงงาน    ทำแปลง ๑ x ๔ เมตร ด้วยคอนกรีตบล็อก เพื่อลดความต้องการแรงงานเพราะเด็กยังเล็ก   มีกำลังไม่มาก     ฝึกเด็กและให้เอาความรู้ไปเผยแพร่ที่บ้านและในชุมชน    เด็กเอาผักปลอดสารไปขายเป็นที่นิยม

อ. นิศนา  รร. วังตะกูราษฎร์อุทิศ  


 โครงการทายาทเกษตรกร  ไม่ได้อยู่ในหลักสูตร   ครูไม่ใช่ครูเกษตร แต่เป็นครูคหกรรม ไม่มีความรู้ด้านการเกษตรโดยตรง    จึงเรียนความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน    ลองผิดลองถูก    ตนเป็นครูสังคมศึกษา สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม     มีหลักสูตรโครงงาน    
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้ที่นี่ขาดน้ำ     ดึงน้ำไปทางโน้นหมด    ข้าวกอเดียว (เป็นชื่อพันธุ์ข้าว) เป็นข้าวหนัก มีปัญหาน้ำ     จึงต้องหันไปปลูกข้าวลูกผสม    ชาวนาไม่กินข้าวของตน จึงไม่รู้ว่าข้าวที่ตนปลูกกินเป็นอย่างไร   ขาดกำลังต่อรอง    อยากได้นักวิชาการมาทำวิจัย     รร. วังตะกูฯ ให้เด็กปลูกแต่ละห้องเรียน มีเด็กแกนนำ ๕ – ๖ คนต่อชั้น    ใช้กุศโลบายให้เด็กกลับไปปลูกผัก (ปลอดสารพิษ) ที่บ้าน  พ่อแม่จะเข้ามาช่วย และร่วมเรียนรู้กับลูก     พอผักใกล้เก็บได้ ครูไปประเมิน ให้รางวัล จัดงานให้รางวัล ทำให้เกิดความคึกคัก
รร. วังตะกูฯ ที่กว้าง แต่ดินแข็ง    เข้าโครงการโรงเรียนในฝัน    ทำให้ต้องปรับภูมิทัศน์    แปลงผักกลายเป็นสวนหย่อม    กระดานดำกลายเป็นไวท์บอร์ด    สวนมะม่วงหมดไป    การปรับปรุงดินติดปัญหาแกลบดิบหายากเพราะไปเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า   
โรงสีใหญ่ๆ อบข้าว ตอนเย็นส่งกลิ่น ทำให้คนป่วย     คนไม่กล้าพูดเพราะโรงสีอิทธิพล    

รร. บ้านพนมกวาว  


 พนมกวาวเป็นแหล่งกวาวเครือ    ขาดน้ำ    ไม่มีน้ำประปา    มีคลอง แต่แห้ง     มีสระสาธารณะหน้า รร.    ชาวบ้านใช้อุปโภค บริโภค    รร. เอามาใช้ทำเกษตร ชาวบ้านว่า    เด็กตัวเล็กขุดแปลงผักไม่ไหว    แปลงอิฐบล็อกช่วยประหยัดน้ำ    นักเรียน ๘๐% ยากจน อยู่กับปู่ย่าตายาย    พ่อแม่ไปทำงานกรุงเทพ     เขาพนมกวาวหลัง รร. มีกวาวเครือขาว ใช้ทำฮอร์โมนพืชได้   มีสรรพคุณพิเศษ    กำลังให้เด็กศึกษาทำโครงงาน    
ให้เด็กเลี้ยงปลา ๑ รุ่น ได้ผลดีมาก เอาไปทำอาหารกลางวัน    ปีนี้หนาวมาก เทอม ๒ ไม่กล้าเลี้ยงเพราะปลาโดนหนาวจะไม่กินอาหาร    เลี้ยงโดยบ่อซีเมนต์ น้ำเสียง่ายถ้าใช้อาหารทำเอง     เพาะปลวกเลี้ยงปลา     บริเวณพื้นที่เชิงเขามีปลวกในดินมาก     สามารถเพาะเลี้ยงปลวกได้ง่าย     ภูมิใจว่าเป็นนวัตกรรม 
เรื่องเพาะปลวกเลี้ยงปลานี้    ผมชื่นชมมาก    เป็นนวัตกรรมที่น่าต่อยอดความรู้   

รร. วัดใหม่สามัคคีธรรม  อ. อนันต์ ผอ.  

เป้าหมายคือส่งเสริมสุขภาพ  ตนมองฉีกแนว   อันดับ ๑  อาหารการกิน,   อันดับ ๒  สภาพแวดล้อม  ชวนกันปลูกต้นไม้   ร่วมกัน มองบ้าน วัด โรงเรียน,    อันดับ ๓  กีฬา ให้คนในชุมชนออกกำลัง  ให้ รร. เป็นศูนย์กีฬา,   อันดับ ๔  จิตใจ พระช่วยเป็นครูสอนพัฒนาจิตใจ   ให้เด็กบวชทุกเทอม     โรงเรียนวัดใหม่สามัคคีธรรม ทำแบบหลายประเด็น   ได้ท่านพระครูช่วยดูแล    รร. ไม่ใช่โรงงาน   ไม่เน้นผลิต   เน้นเรียนรู้    เอาไปเผยแพร่ที่บ้าน   เรียนให้เกิดปัญญา    ไม่ใช่เพื่อเป็นเกษตรกร   ชาวบ้านอยู่ในเศรษกิจสังคมแข่งกัน  คุยยากมาก
ผมประทับใจมุมมอง และการดำเนินการแบบบูรณาการ    เลยไปจากการทำเกษตรปลอดสารพิษ ของ รร. วัดใหม่สามัคคีธรรมมาก    ศ. ดร. อภิชัย ก็ชมไม่ขาดปาก  

   
ท่านพระครู (อาจารย์ต๊ะ)

การทำเกษตรเกิดปัญหาเป็นโรคภัย  ดินเสีย    เน้นการเรียนรู้    เด็กก้าวร้าว มีต้นเหตุจากสิ่งแวดล้อม (คน)    จัดให้เด็กทำสมาธิ พัฒนาจิต    อบรมสัปดาห์ละ ๑ – ๒ ชม. เพื่อพัฒนาจิตใจ    การบริหารกาย – เล่นกีฬา     ต้องรักษากายด้วย อย่าให้ทุจริต อย่าโกรธ   อาฆาตพยาบาท แก้ด้วยเมตตา    
ผู้ใหญ่กระซิบบอกผมว่าท่านพระครูนี้ก่อนบวชเป็นคนขี้เมา   บวชมาแล้ว ๓ ครั้ง    ครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้เป็นพระครูแล้ว

การนำเสนอของชาวบ้านที่เข้ามาร่วมสอน


นาย สมพงศ์ จินดาพันธุ์ (เป็นนักเรียน วปอ. รุ่น ๑๐)   ต. หนองปลาหมอ    ป็นผู้นำ รร. เกษตรอินทรีย์   ธกส. มาตั้งให้     มาสอนเด็กทำเกษตรอินทรีย์    สอนให้ปลูกเอง เลี้ยงเอง กินเอง    พ่อแม่ ๙๐% อยู่ในวงจรหนี้สิน    อยากให้เด็กเปลี่ยนแนวมาทำเกษตรอินทรีย์     ไม่เดินตามพ่อแม่ที่ใช้ปุ๋ยเคมีและเป็นหนี้     เวลานี้มีนักวิชาการมาแนะนำให้ทำฮอร์โมน ปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง     ตนใช้มา ๓ – ๔ ปี ตอนแรกคนว่าบ้า  แฟนก็ว่า     ทำเกษตรอินทรีย์ ต้องขยัน อดทน ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม    
อ. จำรัส 
ปุ๋ยคืออาหารของพืช   กวาวเครือขาว ปั่นใส่ข้าวแตกกอดี    มะม่วงเขียวเสวยฉีดได้ช่อยาว    ทำให้เกสรตัวผู้แข็งแรงผสมกับเกสรตัวเมียได้    ตนลองทำได้ผลมาแล้ว    เอามาสอน   เจ้าพ่อแห่งสูตร

สรุป  

ทิพวรรณ   ความเป็นมาของเครือข่าย    รร. วัดหนองปลาหมอ มีส่วนเชื่อมร้อย    โยงกับมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร     ชวน ๕ รร. มาคุยกันว่าควรมีกิจกรรมอะไรบ้าง    ได้โครงการสืบสานภูมิปัญญาไทย ใฝ่ใจสุขภาพ    รร. ให้เด็กสรุปว่าได้อะไร    เด็กได้เพื่อนจากต่าง รร.     เด็ก / ครู ไปเห็น รร. อื่น ทำ ได้เปิดโลกทัศน์ จากเวทีสัญจร     ได้เรียนรู้แนวของ อ. อนันต์ รร. วัดใหม่สามัคคีธรรม    สสส – มูลนิธิฯ คล้ายเป็นเครื่องจักร     ใช้ทุนสังคมช่วย    แต่ละ รร. มีปราชญ์ช่วย     สามารถ ลปรร. กับ รร. อื่นได้    
การขับเคลื่อนนโยบายระดับจังหวัด    มีการ ลปรร. ในจังหวัด    เกิดหลักสูตร วปอ น้อย     เวลานี้ ๘ รร.    ยังไม่ได้คุยว่าจะทำอะไรร่วมกัน    แนวคิดเกษตรปลอดสาร  เศรษฐกิจพอเพียง  ให้เด็กได้ รร จากการปฏิบัติจริง 

สุนทรียสนทนา  

 อ. วรรณิภา  (จบสถิติ  เกษียนอายุจากวิทยาลัยเทคนิค)    การสอนหนังสือในห้องเรียนสนุกสู้ออกมาทำงานมูลนิธิไม่ได้    ได้เรียนรู้    เด็กเทคนิคขาดคนเอาใจใส่    ปราชญ์แต่ละท่านให้อะไรใหม่ๆ เสมอ   
อ.  จำรัส อยากให้สร้างหลักสูตร บรรจุไว้ในหลักสูตร ให้เด็กรู้จักจุลินทรีย์    รู้จักเอามาใช้ประโยชน์  
ศึกษานิเทศก์   ตนทำโครงการของเขตพื้นที่    การจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น    ภูมิปัญญาต้องเอามาใช้ประโยชน์    ใช้แก้ปัญหาจึงจะอยู่อย่างยั่งยืน   พูดเรื่องข้อเสียของการที่วันหยุดของโรงเรียนไปเลียนต่างประเทศ    ไม่หยุดวันพระวันโกน     ควรให้เด็กเรียนรู้จากอาชีพพ่อแม่    ฟื้นฟูศาสนากับชีวิตวัฒนธรรม   
อภิชัย  เคยทำ รร. เพิ่มผลิตภาพให้แก่ชุมชน มี รร.   พระ  ปราชญ์ชาวบ้าน   ทำงานร่วมกัน    ทำที่ รร. มาบตะโกเอน  โคราช    เน้นให้ รร. มีหลักสูตรที่ตรงกับสภาพความเป็นจริง     เนื่องจากเด็กต้องการอาหารกลางวัน    รร. จึงควรผลิตอาหาร    ใช้เรื่องการผลิตอาหารเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้     สำรวจความต้องการภายในหมู่บ้าน     สอนเด็กให้ได้เรียนการจัดการธุรกิจ    สำรวจว่าในชุมชนมีตลาดอะไรบ้าง     จะผลิตตามความต้องการของตลาดได้หรือไม่    ผู้รู้ในการผลิตอยู่ที่ไหน     มีปัญหาที่ความงี่เง่าของการสั่งการให้เหมือนๆ กันหมด โดยกระทรวงศึกษาธิการ      ต้องเรียนรู้โดยการปฏิบัติ  Learning by doing.    สร้างรายได้พร้อมกับการเรียน Earning by learning.    พ่อแม่มีความรู้ด้านวิชาการจำกัด   แต่มีความรู้จากกการปฏิบัติมาก     รร. มีความรู้วิชาการมาก ความรู้ปฏิบัติน้อย จึงควรช่วยเสริมกัน    เด็กควรมีรายได้จากการเรียน – ทำงาน เก็บออมไว้ตอนออกไปจาก รร.     อย่าคิดแบบเอาเงินเป็นตัวตั้ง  ให้ใช้ความคิดเป็นตัวตั้ง    มีปัญญาเหมือนมีทรัพย์   
ผมมองว่าที่ ศ. ดร. อภิชัยคิด คือ การศึกษาที่ไม่ลอย แยกตัวออกจากชีวิต


 

อาหารเที่ยงฝีมือกลุ่มแม่บ้านค้ำคูนโรงเรียน


กินอาหารพื้นบ้าน แกงบอน (อ้อดิบหรือคูน)  น้ำพริก ๒ ชนิด    น้ำพริกปลาร้า   ผักดิบผักลวกหลายชนิด (เช่นแตงกวา   สายบัว   มะเขือเปราะ  ถั่วฝักยาว  ดอกสะเดา   ผักคะน้า)     แกงส้มมะละกอ    แกงหยวก   ผมชอบกินผัก โดยเฉพาะผักดิบ    ผักมื้อนี้ปลอดสารพิษ    จึงเป็นอาหารมื้อที่อร่อยมาก
 คนละแวกนี้เป็นคนอีสาน  มีภาษาถิ่น ทั้งภาษาเสาไห้ และภาษาอีสาน    มีคนไทยในพื้นที่ดั้งเดิมน้อย     แม่ครัวแกงบอนบอกว่าตนเป็นคนเดียวที่พูดภาษาไทย

งานแสดง

เด็กนักเรียนเตรียมซ้อมฟ้อนทำนา    โดยออกแบบท่ารำและฝึกซ้อมกันเอง   เตรียมเครื่องใช้ในการแสดงมาเองจากบ้าน    กินเสร็จเราจึงต้องรีบมาชมการแสดง  และรีบกลับ    เรากลับมาถึงห้องประชุมที่ศาลากลางสายกว่าเวลานัดคือ ๑๔.๐๐ น.  ไป ๑๐ นาที

AAR
  • ศ. ดร. อภิชัย บอกว่าประทับใจเครือข่ายโรงเรียนมาก    ยินดีไปพบปะให้คำแนะนำทุกๆ ๓ เดือน     คุณอ้อมจะประสานงานกับมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร เพื่อสนับสนุนค่าเดินทาง
  • ผมได้แนวคิดเรื่องการดำเนินการเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน โดยไม่หยุดอยู่แค่การเกษตรปลอดสารพิษ    แต่ขยายออกไปสู่การผลิตรูปแบบอื่นๆ เชื่อมโยงกับธุรกิจชุมชนแบบแลกเปลี่ยน ที่ ดร. อภิชัยเป็นผู้เชี่ยวชาญการพัฒนา

วิจารณ์ พานิช
๑๒ มค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 12000เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2006 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

วันที่ไปดูงานรร.หนองปลาหมอ อาจจะดูวุ่น ๆ ไปหน่อย เนื่องจากเกิดกระบวนการดำน้ำของทีมงานทางพิจิตร ตอนแรกอาจารย์ทิพวรรณ์เตรียมไว้ว่าจะให้แบ่งกลุ่มพูดคุยกัน 3 กลุ่ม ครู นร. และชุมชน และให้นักวิชาการที่ไปดูงานแยกกลุ่มซักถามกันเองตามอัธยาศรัย แต่คุณหมอวิจารณ์บอกว่า "ไม่ต้องแบ่งดีกว่า อยากเห็นทั้งหมดเลย "

และก็เป็นธรรมชาติของชุมชน ที่จะดีใจและตื่นเต้นมากที่มีคนต่างถิ่นไปเยี่ยม ก็อยากจะเล่าอะไรหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะสิ่งที่ตนเองทำสวนกระแสอยู่ ก็อยากจะอวด(สิ่งที่ดี) เวลาที่มีให้ก็ดูจะน้อยมาก  ทำให้ทุกคนที่มีโอกาสได้ถือไมล์ จะวางกันไม่ลงน่ะซิ

ควบคุมเวลาไม่ได้ จริง ๆ ควรจะเริ่มเดินทางออกจากรร.ไม่เกินบ่าย 1 แต่ ก็ late ไปมาก ๆ นึกขอโทษทีมดูงานในใจ และกำลังจะลงโทษตัวเองด้วยการเครียด แต่ด้วยความเมตตาของทีมดูงาน โดยเฉพาะคุณหมอวิจารณ์ ท่านเป็นบุคคลที่น่าเคารพศรัทธาอย่างยิ่ง ดูอาจารย์ไม่เคร่งเครียดอะไร ตื่นตัวกับการเรียนรู้อยู่เสมอ สังเกตุจากตอนลงจากรถใหม่ ๆ อาจารย์ก็เดินชมรร.อย่างคล่องแคล่ว ถ่ายภาพด้วยตนเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส มอบบทบาทหน้าที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ในการจัดการอย่างเต็มที่ ท่าทีที่เมตตาของอาจารย์หมอ ทำให้งานวันนั้นไม่เครียดเลย

การให้เกียรติ ความไว้วางใจ ปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามเหตุและปัจจัย (ที่ได้มีการวางแผนเบื้องต้นแล้ว) ทำให้เกิดกระบวนการทำงานที่ทุกคนได้ภาคภูมิใจ มั่นใจ และพร้อมมุ่งไปสู่เป้าหมายร่วมกัน

ตอนเช้าวันที่ 11มค.49 ก่อนเดินทางกลับกทม. อาจารย์หมอยังทิ้งประโยคเพื่อการลปรร.อีกว่า "เฮ้ย! ตั้ว ผมมานึกดูแล้วนะ ถ้าเราใช้คำถามว่า เด็ก ๆ ไปค่ายวปอ.มาแล้ว มีอะไรอยากจะเล่าให้ฟังบ้าง เด็ก ๆ อาจจะเล่าได้มากขึ้นนะ " 

ตั้ว

มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร

อาจารย์หมอวิจารณ์ เขียนละเอียดมากครับ

ผมชอบตอนหนึ่งครับที่บอกว่า.......

อ. ทิพวรรณ์ เป็นคนคิดสร้างสรรค์ สอนไม่เหมือนคนอื่น    ชอบตั้งคำถามให้เด็กคิด    เช่นที่เราจะไปดูงานนี้    ครูทิพวรรณก็จะบอกเด็กว่า  “มีนักวิชาการเขาจะมาดูงาน เธอมีอะไรให้เขาดูบ้าง”

ผมชอบครูแบบนี้จังเลยครับ เป็นการปล่อยให้นักเรียน รู้จักคิด และให้บทบาทนักเรียนได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่..

..มาเปรียบเทียบกับตัวเอง ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในทีมประชาสัมพันธ์ของ สคส. ก็มักจะถูกตั้งคำถามจาก ...

อ.หมอวิจารณ์ ในเรื่องงานเสมอๆ เป็นการกระตุ้นให้เราได้คิด และนำเสนอสิ่งที่ได้รู้ ได้เห็น และทำมากับมือตัวเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาผมเองยังทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น แต่ก็พยายาม เรียนรู้จากพี่ๆ ที่ร่วมงานด้วยกัน และอาจารย์เก่งๆหลายท่านใน สคส.

..และก็ทำงานได้ในระดับหนึ่ง เท่าที่ตัวเองเข้าใจ ส่วนจะถูกหรือผิด เชื่อว่าผู้ที่เป็น "ครู" ย่อมพร้อมที่จะชี้แนะช่องทางที่ดีกว่าให้เสมอ (ผมเชื่ออย่างนั้นนะครับ)

..ขอนับถืออาจารย์หมอวิจารณ์ครับ อาจารย์เขียนครบถ้วนและมีหลากหลายมุมมองของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกๆท่าน (นี่ก็เป็นอีกส่วนที่ผมได้เรียนรู้ผ่านบล็อกของอาจารย์)

..เชื่อว่าผู้ที่ได้อ่านบล็อกเรื่องนี้ต้องรู้สึกเหมือนว่าได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นเหมือนกับผม ยิ่งคนที่ได้ไปร่วมงานครั้งนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ไปดูพื้นที่เดียวกับอาจารย์หมอวิจารรณ์ ก็พอจะนึกภาพออกครับ

..และขอสวัสดีคุณ "ตั้ว" ผ่านบล็อกครับ...ไม่ทราบว่าคุณตั้วเปิดบล็อกเมื่อไหร่ และเขียนบล็อกบ้างหรือยัง จะได้ติดตามความเคลื่อนไหวของเครือข่ายพิจิตรได้อีกช่องทางหนึ่งครับ 

 

                                        ขอบคุณครับ

                                          แขก_PR

สวัสดีคุณแขก

ตั้วcopy บทความของคุณหมอวิจารณ์ไปให้เครือข่าย รร.ที่มาร่วมงาน ทุกคนดีใจ และภาคภูมิใจกันมากเลย วันที่ 18 มค. คือวันนี้ 19.00 น.เลยนัดกันไปฉลอง พบกันที่ร้าน "บ้านนมสด" ของครอบครัว อ.ทิพวรรณ์ อยู่ในเมืองพิจิตรนี่เอง แกนนำกล่มแสงตะเกียง(ไม่ใช่แสงตะวันนะคะ คนละกล่มกัน) 5-6 คน จะมาเล่าสู่กันฟังในหลาย  ๆเรื่องเกี่ยวกับเยาวชน และจะหารือเรื่อง บ้านดิน ที่คิดว่าจะเป็นประเด็นสื่อกลางการเรียนรู้ของปีนี้ด้วย

ตั้ว

*แสงตะเกียง เป็นชื่อกลุ่มผู้ใหญ่ใจดีที่มีแนวคิดการพัฒนาเยาวชนเชิงสร้างสรรค์ ประกอบด้วยครู ตำรวจ และหมออนามัย รวมประมาณ 15 คน รวมตัวกันมาตั้งแต่ พค.45 เป็นผลสืบเนื่องจากการทำโครงการเยาวชนของมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรค่ะ

*น้องเปีย เปิดบล๊อคแล้วนะคะ ชื่อ Delpiero คุณแขกลองติดตามดูนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท