บทความเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ...ก่อนโหวต


เมืองไทยในบางแง่...น่าคิดก่อนโหวต
 

อนาคต (อันว้าเหว่) ที่มองเห็น [7 ส.ค. 50 - 22:05]                                                 โดย“ลม เปลี่ยนทิศ”  นสพ.ไทยรัฐ

เมื่อวานนี้ ผมนำประเด็นที่ถกเถียงกันระหว่าง “ฝ่ายยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่” กับ “ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย” ตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ มาเจาะลึกลงในรายละเอียดบางประเด็นสำคัญ ตามเนื้อหาที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ยิ่งวิเคราะห์ก็ยิ่งเห็น อนาคตที่ว้าเหว่ ของประเทศไทย ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จนถึงวันนี้ผมก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ จะตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ดี

จะฝืนใจรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งๆที่มองเห็นอนาคตชัดเจนอยู่แล้ว ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำประเทศชาติไปสู่ความอ่อนแอวุ่นวาย และเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ก็เหมือน “ทำบาป” ให้กับประเทศและลูกหลานไทยในอนาคต หรือจะตัดสินใจไม่รับ วัดใจกับ คมช.ซื้ออนาคตประเทศไทยอีกรอบว่า จะนำรัฐธรรมนูญใหม่อีกฉบับเดินไปในทิศทางใด

แต่ต้องไม่ใช่การวางกฎเกณฑ์มาทำลายรากฐานประชาธิปไตยของชาติ ทำให้อนาคตประชาธิปไตยของชาติต้องอ่อนแอเปราะบาง อย่างที่ “พวกกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ” ทำไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ซึ่งผมได้ชี้ให้เห็นรายละเอียดไปแล้วในฉบับเมื่อวานนี้

ส.ส.นักการเมือง และพรรคการเมืองไทย มีอุดมการณ์ทางการเมืองแค่ไหน ผมเชื่อว่าทุกคนก็คงรู้ดีอยู่แก่ใจ ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จึงมีการวางกฎเกณฑ์มากพอสมควรในการ “บังคับ ส.ส.” ให้อยู่ในกรอบ เพื่อทำการเมืองไทยให้แข็งแรง ปูทางไปสู่การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรงในอนาคต

เพียงแต่ไม่มีใครคาดคิดว่า เมืองไทยจะมี “แฮกเกอร์” นักการเมืองมหาเศรษฐีอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีความรู้ ความสามารถอันฉลาดหลักแหลม สามารถเจาะเข้าไป “ยึดหัวใจ” ของ กลไกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ได้สำเร็จ จนนำไปสู่ “ยึดอำนาจประชาธิปไตย” ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งในรัฐสภา ในรัฐบาล และข้าราชการประจำไปจนถึงประชาชนระดับรากหญ้า

แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลับทำลายกรอบต่างๆที่มีอยู่เดิมทิ้ง ด้วยการ “ปล่อยผี ส.ส.” ครั้งใหญ่ให้เป็นอิสรเสรีเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อน เปิดทางให้ “พรรคเล็ก” เกิดขึ้นมากที่สุด ส.ส.แค่มีพรรคสังกัดก็พอแล้ว แต่ “ไม่ต้องมีวินัยการเมือง” ใดๆทั้งสิ้น ไม่ต้องฟังมติพรรค ไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรค

อยากเสนอกฎหมายอะไรก็เสนอเองได้ ไม่ต้องขออนุญาตพรรค อยากตั้งกระทู้ถามเพื่อฟาดฟันใครก็ทำได้ ไม่ต้องผ่านพรรค การลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ก็ให้ ส.ส.ตัดสินใจเอง ไม่ต้องขึ้นกับมติพรรค

ไม่มีระบบการเมืองแบบไหนที่จะเละเท่าระบบการเมืองแบบนี้อีกแล้ว

ระบบแบบนี้ นำไปใช้กับบริษัทไหน บริษัทนั้นก็เจ๊ง เมื่อฝ่ายบริหาร และพนักงานบริษัท ไม่ต้องฟังมติบอร์ด ไม่ต้องฟังคำสั่งฝ่ายบริหาร อยากทำอะไรก็ทำ ไม่รู้คณะกรรมาธิการยกร่างชุดนี้คิดเรื่องอย่างนี้ออกมาได้อย่างไร

เห็นกฎเกณฑ์การ “ปล่อยผี ส.ส.” ในรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับนี้แล้ว ทำให้ผมนึกถึง “สภาหินอ่อน” สมัยก่อน เด็กรุ่นใหม่อาจเกิดไม่ทัน แต่ไปเปิดดูหนังสือพิมพ์เก่าดูได้ ส.ส.ยุคนั้นก็เป็นอิสระอย่างนี้ ยกมือลงคะแนนในสภาได้อย่างอิสระ ไม่ต้องฟังมติพรรค ผลที่เกิดขึ้นก็คือ มีการ “ซื้อคะแนน” ใน “ห้องน้ำรัฐสภา” กลางวันแสกๆ จนเป็นข่าวฮือฮาในหนังสือพิมพ์ยุคนั้น

ส.ส.ที่เขี้ยวหน่อย ก็ใช้ความอิสระนี้ “ทำนาบนหลังรัฐมนตรี” เสียเลย ง่ายและเป็นกอบเป็นกำดี รัฐมนตรีคนไหนมีแผลเยอะ ก็ต้องหมั่นเลี้ยงดู ส.ส.ฝ่ายค้านเอาไว้ไม่ให้มาจิกแผล การเมืองแบบนี้คนร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่รู้ดี

ถ้าการเมืองไทยในอนาคต จะต้องย้อนยุคกลับไปสู่สภาพเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ก็ต้องถือเป็นเรื่องเศร้าใจของชาติอย่างใหญ่หลวงจริงๆ.

************************************************************************************************************

ปรารถนาทิวาราตรีที่รุ่งเรืองกลับมา [6 ส.ค. 50 - 23:00]    (นิติภูมิ555......555....555)

ผมได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จากผู้อ่านท่านหนึ่ง บรรยายถึงสภาพตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ครอบครัวท่านแทบจะรับไม่ไหวในปัจจุบัน จดหมายอีกฉบับก็เล่าถึงความตกต่ำของไทยในสายตาของผู้คนชนออสเตรเลีย ประเทศที่ท่านกำลังทำปริญญาเอกอยู่

ขอเรียนว่า ไม่ใช่เฉพาะผู้อ่านท่านทั้งสองดอกครับ ที่สัมผัสสถานะตกต่ำของไทยในต่างประเทศ นิติภูมิเองซึ่งต้องตระเวนไปโน่นมานี่ เจอมากกว่าใครเพื่อน จึงขออนุญาตเรียนว่า ขณะนี้ถึงเวลาซ่อมบ้านที่ทรุดโทรมแล้วจริงๆ ไม่ใช่ซ่อมกันแต่เพียงลมปาก สิ่งที่ต้องซ่อมโดยด่วนก็คือปัญหา 1. เศรษฐกิจ 2. สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3. การเมืองที่โลกดูหมิ่นถิ่นแคลนเราว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และ 4. การศึกษาของชาติ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งปัญหาทั้งหลายทั้งปวง

สมัยรัฐบาลทักษิณ ผมไม่ชอบนโยบายส่งทหารไทยไปอิรัก ไม่ชอบการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ไม่ชอบกรณีที่มีคอรัปชันระบาดมากมายในระยะหลังของรัฐบาล และไม่ชอบที่ปล่อยให้มีการแพร่ขยาย กระจายพันธุ์อย่างไวไปทั่วประเทศของห้างต่างชาติ

แต่ผมยังจำกลิ่นอายความยิ่งใหญ่ของไทยในยุคต้นๆของรัฐบาลทักษิณได้ ต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2546 ผมไปเป็นแขกงานวันชาติของมาเลเซียที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ต่อมาก็ได้เดินทางจากรัฐมะละกาขึ้นเหนือไปที่รัฐเกดะห์ หรือที่บ้านเราเรียกรัฐไทรบุรี ระหว่างนั้นได้อ่านหนังสือพิมพ์ ของมาเลเซียทุกเช้า มีเรื่องเมืองไทยให้อ่านทุกวัน

ผมเขียนไว้ในเปิดฟ้าส่องโลกใน นสพ.ไทยรัฐฉบับวันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ.2546 ว่า “ทุกคอลัมน์และทุกข่าวเกี่ยวกับไทย สื่อมาเลเซีย จะเขียนทำนองชื่นชม โดยเฉพาะข่าวที่รัฐบาลไทยในสมัยนั้นเอาจริงกับพันธบัตรเอเชีย”

“ดร.มหฎิร มุฮัมมัด เคยฝันถึงพันธบัตรเอเชีย เคยบินมาคุยกับรัฐบาลไทยในเรื่องพันธบัตรเอเชียด้วย แต่รัฐบาลไทยในยุคก่อนไม่เอา เพราะกลัวฤทธิ์ฝรั่ง เมื่อรัฐบาลไทยสมัย พ.ศ.2546 เป็นตัวตั้งตัวตีระลอกใหม่ สื่อมวลชนและคนมาเลเซียก็เชียร์กันใหญ่ ยิ่งทราบว่านายกฯไทยเคลียร์เรื่องนี้กับมหาอำนาจอเมริกาแล้ว พวกคอลัมนิสต์ในมาเลเซียก็ดีใจที่เราชาวเอเชียจะได้ปลดแอกทางการเงิน (เป็นบางส่วน) จากฝรั่งซะที”

ก่อนเขียนคอลัมน์ราตรีนี้ ผมใช้เวลากว่าชั่วโมงอ่านจดหมายใน [email protected] และก็เปิดเว็บไซต์ nitipoom.com ซึ่งรวบรวมบทความเก่าๆที่ผมเคยเขียนไว้ประมาณ 5,000 บทความ รู้สึกเสียดายสถานะของประเทศไทย เมื่อตอนย้อนไปอ่านย่อหน้าหนึ่งของบทความวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2546 ที่ว่า...

“ไล่อ่านข่าวจากทางซีกมาเลเซียที่เกี่ยวกับเมืองไทย ก็ยังได้อ่านเรื่องที่เศรษฐกิจของไทยดีวันดีคืน สัญญาณต่างๆทุกอย่างปรับตัวไปใน ทิศทางที่ดีขึ้นมาก การส่งออกก็ขยายตัวต่อเนื่อง ดัชนีในตลาดหุ้นก็ปรับตัวดีขึ้น อุตสาหกรรมก็ดี การบริโภคของประชาชนก็มีมากขึ้น รวมๆ ก็คือ หนังสือพิมพ์มาเลเซียรายงานว่า ไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จ เศรษฐกิจของไทยในปีนี้และปีต่อๆไปก็คงจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง”

กลางเดือนมิถุนายน พ.ศ.2546 ผมเป็นแขกของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ไปร่วมงานในงานวันชาติเหมือนกัน การไปเยือนฟิลิปปินส์ครั้งนั้นทำให้ ได้ทราบว่า พ.ศ.2515 คนฟิลิปปินส์ติดยาเสพติดทั้งประเทศเพียง 2 หมื่นคน แต่ พ.ศ.2546 มีคนติดยาเสพติดทั้งประเทศมากกว่า 3.4 ล้าน

ปัญหายาเสพติดในฟิลิปปินส์แรงไม่แพ้ที่ไทยเคยเป็น รัฐบาลของนางคอราซอน อากิโน, พลเอกฟิเดล รามอส หรือแม้แต่โจเซฟ เอสตราดา พยายามแล้ว แต่ก็แก้ไม่ได้

ระหว่างที่ผมอยู่ในฟิลิปปินส์ นางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประกาศสงครามกับยาเสพติด โดยนางพร้อมที่จะเป็นผู้นำเข้าทำสงครามเอง รัฐมนตรีท่านหนึ่งในรัฐบาลกระซิบผมว่า นางอาร์โรโยเลียนแบบการปราบยาเสพติดมาจากนายกฯของยู

นโยบายปราบยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณโดดเด่นมาก หลายประเทศถึงขนาดเอาไปเป็นตัวอย่าง แม้ว่าจะมีกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนตามมา ให้เลือกระหว่างยาบ้าที่ระบาดไปทุกตรอกซอกมุม กับการโดนด่าเรื่องสิทธิมนุษยชน ผมเลือกเอาโดนด่าดีกว่า

เขียนถึงบรรทัดนี้ ก็ให้เสียดายภาพพจน์และสถานะประเทศ ไทยในระหว่าง พ.ศ.2545-2547 ซึ่งผิดกับสมัยนี้ แม้แต่ตัวเป้งๆ จากไทยไปประชุมระดับนานาชาติ ยังโดนไล่ให้ไปเป็นแค่ observer ผู้สังเกตการณ์ แถมยังโดนตะโกนใส่หน้ามาว่า ถ้าเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยเมื่อไร ตัวแทนจากประเทศของยูจึงจะได้เป็นกรรมการเข้าประชุม.

นิติภูมิ นวรัตน์

 ความพอเพียง กับ การสืบทอดอำนาจ

อดีตประธานรัฐสภาประกาศไม่รับรธน.ในวันที่ 19 ส.ค.นี้เด็ดขาด ชี้เป็นการทำให้การเมืองไทยยวบไม่มีพลัง เปิดช่องทางให้มีการปฏิวัติง่าย

แนะจัดดีเบตทางโทรทัศน์มีส่วนช่วยปชช.เข้าใจขึ้นได้ เผยไม่ลงส.ส.-ส.ว.แต่พร้อมอยู่แวดวงการเมืองต่อไป

นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตประธานรัฐสภา ยืนยันชัดเจนในการกล่าวปาฐกถา เรื่อง“การเมืองไทย 24 กรกฎา 50” ที่ศูนย์ศึกษาเอเชียอาคเนย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2550 ที่จะทำประชามติในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ เพราะเห็นว่า ทำให้การเมืองอ่อนแอ และถอยหลังยิ่งกว่าฉบับปี 2540 และว่า ที่ผ่านมาไม่ออกมาให้ความเห็น เพราะเกรงถูกมองว่าปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ร่วมร่าง

นายอุทัยกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปรียบเหมือนทั้งกงจักรและดอกบัว มีทั้งชั่วและดี โดยในส่วนที่ดีคือ ให้สิทธิเสรีภาพประชาชน มีคุณธรรม จริยธรรมทางการเมือง เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบสูงขึ้น แต่ในทางปฏิบัติอาจทำได้ยาก เพราะต้องอาศัยเครือข่ายที่ตรวจสอบ ขณะที่ ข้อเสีย อาทิ ส.ส. สามารถเป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องลาออก ส่งปัญหากลุ่มมุ้งการเมือง อีกทั้งเป็นการฆาตกรรมนักการเมืองที่ดี เพราะการแบ่งเขตที่กว้างขึ้นอาจทำให้นักการเมืองที่มีทุนน้อยหาเสียงลำบาก ดูแลประชาชนไม่ทั่วถึง เนื่องจากเขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้น และอาจจำเป็นต้องเข้ากลุ่มมุ้ง ส่งผลให้มีการต่อรอง

ทั้งนี้นายอุทัย ให้ความเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จัดทำขึ้นเพื่อต้องการให้การเมืองไทยมีความเข้มแข็ง เพราะการเมืองไทยในอดีตทำให้การพัฒนาประเทศไทยลำบาก เปลี่ยนรัฐบาลโดยไม่ได้มีการสานต่อนโยบายต่าง ๆ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กลับทำให้การเมืองอ่อนแอลง

ส่วนการที่ออกมารณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ไขภายหลังนั้น นายอุทัย มองว่า อาจไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะมีหลายปัจจัย เช่น ส.ว.และ ส.ส. ที่มาจากการคัดสรร คงไม่ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของตัวเอง รวมทั้งคนที่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งคงไม่ต้องการแก้ไขเรื่องเขตเลือกตั้งที่ใหญ่ขึ้น และอาจมีการหยิบยกเรื่องการลงประชามติที่ประชาชนทั่วประเทศเห็นชอบ มาเป็นข้ออ้างไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนเพียง 50,000 หรือ 200,000 คนเข้าชื่อขอแก้ไข

ส่วนกรณีที่ประชาชนไม่เข้าใจเนื้อหารัฐธรรมนูญนั้น นายอุทัย กล่าวว่า การจัดเวทีอภิปรายใหญ่ หรือดีเบต ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ น่าจะมีส่วนช่วยได้ ขณะที่ความสนใจของประชาชนในการพูดคุยและแสดงความเห็นต่อกันก็เป็นอีกทางที่ช่วยได้ ขณะที่ต้องเร่งทำความเข้าใจด้วยว่า การจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็ต้องมีการเลือกตั้งแน่นอน

“ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผมตัดสินใจแล้ว แต่ผมไม่เคยพูดว่า ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ รับไปเถอะ แต่แก้ภายหลังไม่สำเร็จหรอก ถ้าอยากให้การเมืองอ่อนแอ กลับมาปฏิวัติอีก ก็รับไปเถอะ การที่นายกรัฐมนตรีบอกให้เลือกว่า จะเอาของที่อยู่ตรงหน้า หรือเอาของที่ซ่อนไว้ ถ้าของที่เห็นเฮงซวยก็ไม่เอาดีกว่า รอได้ และถ้าร่างฉบับใหม่ไม่ผ่าน ก็ควรเอาฉบับ ปี 2540 มาแก้ไข ถ้าประชาชนไม่เอา แล้วเอาของที่เลวกว่าเดิมมาให้ กจะเป็นการดูถูกประชาชนได้” นายอุทัย กล่าว

ข้อคิดของคุณคนชุดขาวจากราชดำเนินขออนุญาตนำมาให้อ่าน

ความสามัคคีสมาฉันท์ไม่มีวันเกิดในประเทไทยอีกต่อไป ถึงจะล้ม รธน.ปี50ได้แล้วใช้รธน.ปี40 มีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม
เพราะคนไทยแตกแยกทางความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ด้านการเมือง การบริหาร การปกครอง ไปอย่างสุดขั้วคนละฟากอย่างลึกซึ้ง ฝังรากอย่างถาวรแล้ว ไม่ว่าฝ่ายไหนจะคิด จะพูด ต้องการอะไร อีกฝ่ายก็จะไม่เชื่อ ไม่ยอมรับฟัง ไม่ยอมทำตาม ตอนนี้ทุกน ทุกฝ่าย คิดอย่างเดียวว่า "ร่วมความคิด อุดมการณ์" กันไม่ได้แล้ว เพราะมีเป้าหมาย จุดประสงค์ที่แตกต่างกันชัเจน จนมีการพูดกันว่า" เมื่อพวกนั้นต้องการผู้นำ นโยบาย การบริหาร การเมือง การปกครองแบบนั้น  ก็ให้มันแยกไปเป็นประเทศปกครองบริหารตามที่มันต้องการ   ส่วนพวกเราต้องการผู้นำ นโยบาย การบริหาร การเมือง การปกครองแบบนี้ เราก็แยกประเทศมาบริหาร ปกครองแบบของเรา "
 ผมวิเคราะห์ได้ว่าที่เป็นแบบนี้เพราะ
1. เพราะคนกลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณไม่ยอมรับระบบ ระเบียบ ข้อตกลง กฎ ข้อบังคับ ที่ทำร่วมกันเพื่อ่ให้ยึดถือปฎิบัติให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบ สันติสุข ลดความขัดแย้ง ทะเาะ ขัดขืนกัน คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ  โดยการขัดขืน ไม่ยอมใช้การเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน 2549 เป็นการตัดสินแพ้ชนะกันทางการเมือง การปกครองตามระบอบครรลองประชาธิปไตยที่บัญญัติไว้ใน รธน. เพื่อหาข้อยุติให้ยอมรับแพ้ชนะกันด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ใครชนะได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนมากก็เป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายที่แพ้ก็ยอมรับและยุติการต่อสู้กันทางความคิด การเมือง การปกครอง  แต่กลับไม่ยอมใช้กฎกติกานี้ กลับหาเหตุ ข้ออ้างต่างๆมาขัดขืน ขัดขวางการเลือกตั้ง ผลสุดท้ายกลับรวมหัวกันใช้อาวุธใช้ทหารมาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยลง
ทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งสนับสนุนคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทย ไม่พอใจว่าทำไมไม่ยอมรับกฎ  กติกาที่ทำร่วมกันมา  ด้งนั้นมาถึงปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านั้นจึงหันกลับมาต่อต้าน ขัดขืน ขัดขวางไม่ยอมรับ รธน. ปี 2550 และไม่ยอมรับที่จะให้มีการเลือกตั้ง เพราะรู้สึกถูกกดดัน บีบบังคับ รู้สึกเคียดแค้น ที่เคยถูกอีกกลุ่มหนึ่งที่แหก ฉีกกฎ กติกา  ข้อตกลงที่ทำร่วมกันมาก่อน ตามที่เขียนไว้ใน รธน. 2540
 2.  เมื่อทำรัฐประหาร คมช. รู้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายมีปัญหากัน แทนที่จะโละทั้ง 2 ฝ่ายไปไม่ให้มายุ่งเกี่ยวการบริหาร การปกครอง แล้วตั้งฝ่ายที่เป็นกลางซึ่งทั้ง 2 กลุ่มยอมรับ มาเป็นรัฐบาลรักษาการ เพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ คมช. กลับกลายเป็นฝ่ายที่ต่อต้านคุณทักษิณรัฐบาลไทยรักไทย  รัฐบาลตั้ง คตส. สสร. สนช. โดยเลือกคนที่ต่อต้านคุณทักษิณ รัฐบาลไทยรักไทยขึ้นมาทั้งแผง หนำซ้ำมีการดำเนินการในลักษณะตามแก้แค้นกลั่นแกล้ง ตรวจสอบคุณทักษิณ ครอบครัว รัฐบาลไทยรักไทย พร้อมทั้งแทรกแซงสื่อ ศาล ตุลาการ รื้อ ล้ม เลิก โครงการ นโยบาย แผนงานรัฐบาลไทยรักไทยหมด โดยไม่คำนึงว่าดีหรือไม่ เข้าทำนองต้องการขุดรากถอนโคนคุณทักษิณ และรัฐบาลไทยรักไทย โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศด้านต่างๆ รวมทั้งหาวิธีดำเนินการยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 5 ปี
3.  รัฐบาล คมช. แนวร่วม ใช้วิธีการชี้นำ ครอบงำ สั่งการแทรกแซงสื่อทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่ Internet ปิดกั้น ปิดบังข่าวสาร ข้อมูลของคุณทักษิณ พรรคไทยรักไทยและผู้สนับสนุน ออกแต่ข่าวโจมตี ใส่ร้ายคุณทักษิณ รัฐบาลไทยรักไทยโดย ไม่รอให้ผ่านกระบวนการตัดสินผิด ถูกทางศาลยุติธรรมก่อน เพราะต้องการให้คนที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิเชื่อ สนับสนุนตนเองต่อไป และต้องการให้คนที่สนับสนุนคุณทักษิณและไทยรักไทยหันมาเชื่อรัฐบาล  แต่ก็ไม่ได้ผลไม่สามารถทำให้คนที่สนับสนุนไทยรักไทยเชื่อได้ หนำซ้ำกลับรู้สึกต่อต้านรัฐบาล คมช.มากขึ้น  และเมื่อเวลาผ่านไป รัฐบาลไม่มีความรู้ ความสามารถในการบริหารประเทศ นำพาให้ประเทศเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความเชื่อถือศรัทธาของต่างประเทศ โรงงานปิดตัวมากมาย ประชาชนตกงานขาดรายได้ ฯลฯ แต่กลุ่มคนที่สนับสนุนรับบาล คมช. แนวร่วมทั้งๆที่ได้รับผลกระทบกลับยังสนับสนุนรับบาล คมช. ต่อไปแต่ก็เริ่มมีบางส่วนที่รู้สึกว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นสิ่งผิดพลาดทำให้ประเทศเสียหายและเริ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล คมช.  ส่วนกลุ่มคนที่สนับสนุนคุณทักษิณ รัฐบาลไทยรักไทยก็ยิ่งเชื่อถือคุณทักษิณ ไทยรักไทยมากขึ้น เพราะเปรียบเทียบฝีมือกันไม่ติดฝุ่น ยิ่งรู้สึกต่อต้านรับบาล คมช. แนวร่วมากขึ้นๆๆ
  จากที่กล่าวมาผมจึงฟันธงว่าไม่มีทางอีกแล้วที่คนไทย 2 กลุ่มนี้จะหันมาสามัคคีปรองดอง สมานฉันท์กัน ด้วยใจบริสุทธิ์ ด้วยความต้องการ สมัครใจอีกต่อไป  นอกจากจะถูกบังคับ ให้ฝืนใจเท่านั้น  หรือในอนาคตประเทศไทยจะแตกเป็ประเทศ รัฐเล็กๆเหมือนโซเวียตรัสเซียในสมัยก่อนตามที่นายนิติภูมิเคยพูดไว้??????      

      (รับ)รศ. ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์

 

·        แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากการรัฐประหาร แต่ควรพิจารณาที่เนื้อหาและผลลัพธ์ด้วย  ถ้านำไปสู่เผด็จการยิ่งขึ้น ก็ควรแก่การประณาม  แต่ถ้านำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยสูงขึ้นและเป็นที่พึงพอใจของประชาชน ก็ถือว่ามีความชอบธรรม

·        เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความก้าวหน้าอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และองค์กรอิสระ เป็นข้อดีที่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ทุกประการ

·        ระบบเลือกตั้ง ส.. แบบใหม่ จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการเลือกผู้แทนของประชาชน ขณะที่ระบบ ส.. แบบผสม จะทำให้เกิดการกระจายตัวของ ส.. ที่มาจากทุกภาคส่วนของสังคมได้ดีขึ้น

 (ไม่รับ)

รศ. ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ 

·        การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเหตุผลหลักๆ คือ ไม่รับในแง่ของที่มาและกระบวนการซึ่งไม่มีฐานความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และในแง่เนื้อหานั้นไม่มีฐานคิดที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งยังถอยหลังกว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ด้วยซ้ำไป

·        ระบบเลือกตั้ง ส.. แบบใหม่ได้ทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมืองและไม่ตอบคำถามในเรื่องนโยบายเลย ทั้งยังสร้างความไม่เสมอภาคในการออกเสียงของประชาชน

·        ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แสดงให้เห็นการกลับมาของกลุ่มพลังข้าราชการระดับสูง ซึ่งจะมีผู้แทนจากองค์กรตุลาการเป็นตัวนำ 

 

หมายเลขบันทึก: 119363เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2007 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท