หนุ่มเอ็กเทอร์น : คุยกับป้ามลที่บ้านกาญจนาภิเษก ๓


เมื่อเกิดความภาคภูมิใจในตนทุกอย่างก็ปรับเปลี่ยน

                 ตอนนี้จุดแข็งของที่นี่คือ คนไม่มีอีโก้ พร้อมสู่การเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่หลายคนไม่เคยรู้สึกว่าได้รับการยอมรับมาก่อน แต่เมื่อเขารู้สึกว่าเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนบ้านกาญฯก็ภูมิใจ ยิ่งเมื่อเข้าไปสู่เวทีต่างๆ การสัมมนาต่างๆ เมื่อวิทยากรรู้ว่ามาจากบ้านกาญฯก็จะซักถามเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ก็ยิ่งภูมิใจในตัวเอง

                บทบาทของเจ้าหน้าที่เปลี่ยนไป ขณะนี้เป็นที่ปรึกษาให้กับเด็กๆด้วย แรกๆก็ทำไม่ได้ ไม่มีความมั่นใจ ป้ามลก็ให้กำลังใจว่า เคยคุยกับจิ๊กโก๋ไหม เคยให้คำปรึกษาเพื่อนๆเรื่องแฟนไหม  แต่เพื่อไม่ให้หลงทางก็ให้เขียนบันทึกการให้คำปรึกษาส่งป้ามลด้วย นับจากเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษากับเด็กไม่เคยมีใครให้คำปรึกษาผิดพลาด

ป้ามลเคยเอาเรื่องนี้ไปเล่าในเวที ดูเหมือนว่าอาจารย์ทางด้านจิตวิทยาจะไม่แฮปปี้ ไม่เห็นด้วยที่ทำการให้คำปรึกษาเป็นศิลปะจากที่มันเป็นศาสตร์ แต่ป้ามลเชื่อมั่น ไม่อย่างนั้นเด็กที่ได้รับการปรึกษาจะเป็นที่ปรึกษาให้คนอื่นได้หรือ

 เมื่อเด็กบ้านกาญฯเป็นที่ปรึกษาให้ขาโจ๋

ป้ามลเล่าว่า มีผู้ปกครองเด็กโทรมาปรึกษาว่าอีกเดือนเดียวลูกจะจบ ม.๓ แต่อยากจะให้ลูกไปเรียนนิวซีแลนด์ เพราะถ้าอยู่เมืองไทยอีกเดือนลูกต้องก่อคดีจนติดคุกแน่ๆ ลูกออกไปเที่ยวผับกินเหล้าทุกวัน หลังจากคุยกัน ๒วัน อยู่ๆพ่อลูกคู่นี้ก็มาที่บ้านกาญฯ ป้ามลคุยกับเด็กตามลำพัง แต่เด็กก็แข็งกร้าว คุณพ่อที่ดูแล้วทั้งรวยทั้งเก่ง แต่ทำไมทุกข์ ทำไมเขาเป็นอย่างนี้

                ป้ามลให้เด็กที่มาได้คุยกับเด็กที่เคยก่อคดีฆ่าคนตายในผับ หายกันไป ๓ชั่วโมง เมื่อเด็กกลับมาหาป้ามลนั้นดูนุ่มนวลขึ้น ภายหลังพ่อโทรมาขอบคุณบอกว่าลูกไม่เคยออกไปเที่ยวผับอีก เด็กขอคุยกับป้ามลและบอกว่าจะขอเข้ามาเยี่ยมพี่ๆที่เคยให้คำปรึกษาจะได้ไหม

 การตีความที่ผิดพลาด

                ในส่วนเจ้าหน้าที่เมื่อ บทบาทหน้าที่เปลี่ยนไป บางคนก็ทำไม่ได้ดี เช่นคนที่เคยทำหน้าที่เพียงผู้คุม คอยเฝ้าอย่างเดียว เมื่อต้องมาให้คำปรึกษาก็อาจจะไม่ถนัด ก็ต้องหากระบวนการต่างๆช่วยเจ้าหน้าที่ ปัจจุบันไม่มีแรงต่อต้านในบ้านกาญฯ  แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ออกส่วนหนึ่งเพราะไม่สามารถปรับกระบวนการ เช่นไม่ถนัดที่จะคุยกับเด็ก  เจ้าหน้าที่มีหน้าที่นำสารจากที่ประชุมไปสู่เด็กและนำสารจากเด็กมาในที่ประชุม แต่บางคนพูดไม่รู้เรื่อง ตีความไม่ได้  ก็บอกกับเขาอย่างตรงไปตรงมา เขาเข้าใจ ลาออกไปเองก็มี

            ที่นี่ให้ความสำคัญกับการตีความมาก เช่น กรณีเด็กยากจน ไม่มีญาติมาเยี่ยม ป้ามลก็จะให้เงินแก่เด็กในฐานะที่เป็นหลานชาย อาทิตย์ละ ๕๐บาท ป้ามลคิดว่า เด็กไม่ควรขอเพื่อน ไม่ควรต้องหลบหน้าเพื่อน บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็พูดกับเด็กมากเกินไปว่า เช่นได้เงินแล้วต้องช่วยงานให้เต็มที่ ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ เราให้เงินเด็กเพราะเขาเป็นญาติ ไม่ใช่เพราะต้องการสิ่งแลกเปลี่ยน การจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดบางครั้งก็ใช้เวลามาก

 
หมายเลขบันทึก: 118770เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2007 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท