เอาไง...กับลงประชามติ 19-08-50


รับ - ไม่รับ

 

ประชามติ (Referendum) แตกต่างจากประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ตรงที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องเข้าคูหาการบัตรลงคะแนนว่า รับ หรือไม่รับ หรือไม่ออกเสียง แล้วหย่อนบัตรนั้นลงในหีบ (Cast the Ballot) เป็นพฤติกรรมหนึ่ง ในกระบวนการประชาธิปไตยโดยตรง ว่าด้วยการแสดงเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ซึ่งประวัติศาสตร์การเมืองไทยถือว่า ในครั้งนี้จะเป็นการทำประชามติครั้งแรก และเป็นนิมิตหมายอันดีว่า ต่อไปจะมีประเด็นสาธารณะอื่น ๆ ที่ภาครัฐ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเช่นนี้อีก

ส่วนนิยามของประชาพิจารณ์นั้น เป็นการระดมสมอง (Brain Storming) ของประชาชนทั่วไป นำไปสู่การสรุป (Infer) ให้ได้ข้อยุติเบื้องต้นว่า ประเด็นสาธารณะ (Public Issues) เรื่องใด ควรมีทางออก หรือมีข้อเสนอแนะอย่างไร เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำข้อสรุปนั้น ไปใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายของภาครัฐ เช่น ควรก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ในท้องที่จังหวัดแพร่ หรือไม่ เป็นต้น

เนื้อหาสาระของการลงประชามติครั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อยุติว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะ รับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550 หลังจากนั้น รัฐบาลจะนำผลการลงประชามติไปพิจารณา ตามหลักการในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี พ.ศ.2549 ม.31 และ ม.32 มีเนื้อหาดังนี้...

มาตรา 31 ในการออกเสียงประชามติ ถ้าประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้บังคับ แล้วให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาตินำร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้ได้

มาตรา 32 ในกรณีที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จ ภายในกำหนดเวลาตาม มาตรา 29 วรรค 1 ก็ดี สภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 28 วรรค 2 ก็ดี หรือการออกเสียงประชามติตาม มาตรา 31 ประชาชนโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ ไม่เห็นชอบให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ดี ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง และให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้เคยประกาศใช้บังคับมาแล้วฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุง ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบ และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป

ในการประชุมร่วมกันตามวรรค 1 ให้ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม การประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามมาตรานี้ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ประชาชนจะตัดสินใจ รับ หรือไม่รับ ถ้ารับ ใช้หลักการ ตาม ม.31 และถ้าไม่รับ ใช้หลักการ ตาม ม.32 นั้น เป็นเรื่องของ "ผลลัพท์" ของประชามติ ที่ผู้เขียนไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก

แต่...ในระหว่างนี้ ได้มองเห็นประชาชนเริ่มแสดงจุดยืนของตน และพยายามขยายบทบาท ให้คนรอบข้างเห็นดีเห็นงามกับจุดยืนนั้น ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ หรือไม่ ผู้เขียนไม่อาจล่วงรู้ได้ และก็ไม่อยากล่วงรู้อีกด้วย

ผู้เขียนกลับให้ความสนใจต่อ "พฤติกรรมหมู่" ของคนสองขั้ว ฝ่ายหนึ่งจะรับ อีกฝ่ายหนึ่งจะไม่รับ และมีบางกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งกลุ่มหลังนี้ผู้เขียนเห็นว่า "เนื้อหอม" เพราะสองกลุ่มแรกจะพยายามเสนอความคิดเห็น โน้มน้าวจิตใจให้ยอมคล้อยตาม ใครที่ตัดสินใจเร็วก็จบ แต่ใครที่ตัดสินใจช้า เนื้อนั้นก็ยิ่งหอมหวาน ย่างกรายเข้าไปในกลุ่มไหน ก็ได้รับการยินดีต้อนรับ กลุ่มเนื้อหอมนี้จะได้เปรียบตรงที่ ได้เก็บเกี่ยวข้อมูลข่าวสารมากกว่าสองกลุ่มแรก แล้วถ้านำข้อมูลข่าวสารนั้นไปเปรียบเทียบกัน ย่อมจะมองเห็นความเหมือน และความแตกต่าง อันเป็นบ่อเกิดแห่ง "ปัญญา"

ณ เวลาที่ประชาชนต้องเดินเข้าคูหาเพื่อตัดสินใจ กลุ่มเนื้อหอมนี้จะเดินเข้าไปด้วยความสง่างาม กาเครื่องหมายลงประชามติ ด้วยสติสัมปชัญญะอันแน่วแน่มั่นคง เพราะนั่นคือ การแสดงสิทธิในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อันมิใช่เกิดขึ้นจากผลของการถูก "จูงจมูก"

ดังนั้น ผู้อ่านจะพิจารณาเลือกเป็นคนในกลุ่มใด ก็สุดแท้แต่จะเห็นสมควร

หมายเลขบันทึก: 118580เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2007 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
แล้วหลังจากการทำประชาพิจารณ์แล้ว มีการกำหนดหรือเปล่าคะว่ากี่วันจึงจะสามารถลงประชามติได้ หรือเราสามารถทำได้ทันทีหลังจากมีการทำประชาพิจารณ์แล้ว หรือเปล่าคะ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท