หัตถกรรมเอเชียในตลาดและในสายตาคนยุโรป


หากเราจะยกระดับหัตถกรรมชาวบ้าน เพื่อให้ขายได้ มีตลาดกว้างขึ้นคงต้องยกระดับความเข้าใจของผู้ที่จะเข้าไปส่งเสริมก่อนว่าควรเข้าใจสังคมไทยของตนเอง และเข้าใจงานหัตถกรรม เข้าใจเรื่องศักดิ์ศรี ความภูมิใจ และความสุขของผู้ผลิตด้วย คงต้องหาสมดุลย์ไม่มุ่งเงินอย่างเดียว เพื่อให้ชุมชนหัตถกรรมไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

ในการประชุม CraftsNet Network ที่กรุงเทพ ผู้จัดได้เชิญศิลปินเซรามิคของเยอรมันผู้ผลิตงานที่สตูดิโอซึ่งเป็นบ้านของตัวเอง คงเป็นคนมีชื่อเสียงมากเพราะประวัติได้รับรางวัลยาวเหยียด มาเล่าและร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การตลาดกัน Manfred Braun ศิลปินเซรามิคผู้นี้ได้บรรยายเรื่อง "Marketing as Management of Longing" แปลคร่าวๆได้ว่า "การตลาดโดยการบริหารความปรารถนา"

เขาเล่าว่าตอนเริ่มงานใหม่ๆในปี 1981 เขาผลิตพวกเซรามิคที่ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันพวกถ้วย จาน ชาม ทำไปก็ชักเห็นผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดมีมากขึ้น ผลิตอย่างสวยงาม มีการออกแบบที่ดี แต่ทำแบบอุตสาหกรรม หลายท่านคงรู้จักร้านที่ขายของตกแต่งบ้าน ที่มีการออกแบบดี ราคาไม่แพงมาก มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกวางอยู่เสมอ เขาจะสั่งผลิตสินค้าจากประเทศที่ผลิตได้ถูกมากๆ มีร้านในเมืองใหญ่ๆเกือบทั่วโลก ร้านนี้ชื่อ IKEA ที่ศิลปินท่านนี้ต้องชะงักก็เพราะ จานเซรามิคที่ IKEA ขายแค่ใบละประมาณ 1.59 ยูโร หรือประมาณซัก 80บาทเห็นจะได้ พอเห็น เขาก็รู้ปัญหาชีวิตของตัวเองเลยว่าหากมาทำขายแข่งต้องตายแน่ๆ เพราะแค่ค่า ดิน ค่าพลังงานในการเผาที่เยอรมันก็เกินอยู่แล้ว

ในปี 1985คุณ Manfred แกจึงหนีตายหันมาทำสิ่งที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองมากๆ เริ่มด้วยการออกแบบถ้วย จาน ชามเป็นชุด ดีไซน์คลาสสิคเรียบง่าย แต่มีการเคลือบแวววาวพิเศษ ขายทั้งที่สตูดิโอ และงานแสดงสินค้าต่างๆ ก็ขายดีมาก คนที่เคยซื้อ ใช้แล้วติดใจ ก็กลับมาซื้ออีก และซื้อของอื่นๆด้วย เขาอธิบายว่า ถ้วยใบหนึ่งที่เขาทำ เป็นมากกว่าถ้วยหนึ่งใบ แต่มันเป็นความรู้สึกที่ผู้ซื้อไปใช้ภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของถ้วยพิเศษใบนี้ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อคนเบื่อหน่าย เอียนต่อสินค้าแนวอุตสาหกรรมแม้จะออกแบบดีน่าใช้ แต่ก็วางขายกันเกลื่อน หาซื้อได้ง่าย เขาย้ำว่าการตลาดของอนาคตคือต้องตระหนักต่อความต้องการด้านจิตใจของผู้ริโภคด้วย ไม่ใช่แค่ถ้วยอะไรก็ได้ที่ใส่น้ำได้

เขาบอกว่าคนจ่ายค่าความพิเศษของจานดินเนอร์หนึ่งชุด สำหรับหนึ่งคน อยู่ที่ประมาณ 90ยูโร หรือ 4,500 บาท

ที่จริงคงต้องพูดชัดๆไปเลยว่าคุณManfred เขาเป็นศิลปินเดี่ยว สร้างสรรค์งานอาร์ต ไม่ใช่ผลิตหัตถกรรมแบบชาวบ้านที่ทำกันเป็นกลุ่ม จากการออกแบบและผลิตถ้วย จาน ชาม เขาก็ผลิตงานซรามิคที่แตกต่างอีกชนิดคือชิ้นงานศิลป์ที่มีแสงสว่างส่องลอดออกมาตามช่องล็กช่องน้อยที่เจาะไว้ แต่ของนี้ไม่ใช่โคมไฟเพราะมันไม่สามารถให้แสงสว่างเพื่อการมองเห็น แต่เป็นไปเพื่ออารมณ์สุนทรีย์ ให้เกิดความผ่อนคลาย เมื่อมีชิ้นงานนี้ตั้งอยู่ในห้อง

วิธีการทำการตลาดของเขาก็มีความพิเศษ คือ เขาเปิดการขายด้วยของที่ไม่แพงมากพวกถ้วยพิเศษที่เขายังคงทำอยู่ และในปีหนึ่งเขาจะเดินทางมากราวแปดเดือน เพื่อพบปะผู้คน เมื่อกลับบ้านเขาจะเชิญคนที่เขาไปพบเจอ ให้มางานเลี้ยงที่บ้าน ซึ่งมีงานศิลปะของเขาจัดแสดงและขายด้วย เขามักขายของได้หมดหรือเกือบหมดด้วยวิธีเช่นนี้ แถมผู้ซื้อยังรู้สึกว่าได้ซื้อของที่มีเฉพาะ(Exclusive) รู้สึกพิเศษที่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับศิลปิน อะไรจะปานนั้น

เขาสรุปว่างานหัตถกรรมต้องทำน้อยชิ้น ให้มีความพิเศษ และทำการตลาดแบบพิเศษที่สร้างให้ผู้คนเกิดความปรารถนาที่จะได้รับความละเมียดละไมจากการได้ครอบครองและใช้สินค้าของเขา

งานของเขาสวยจริงๆไปชมได้ที่

http://www.kunsthandwerk-rlp.de

แล้วเขาก็พูดถึงความเห็นและความรู้สึกของเขาต่องานหัตถกรรมจากเอเชียว่า มันล้นตลาดยุโรป มีเกลื่อนกล่นทุกที่ และราคาถูกมากจนกลายเป็นทำให้ฝรั่งงงว่าทำไมราคาจึงเสมือนของนั้นไร้ค่าเช่นนั้น แม้ว่าจะเห็นว่างานนั้นแฮนด์เมด มีความงาม มันทำให้เขาเกิดความลังเลว่า ควรที่จะซื้อเป็นของขวัญให้ใครดีหรือไม่ เช่นเชิงเทียนลวดลายสวยงามมองก็รู้ว่าทำด้วยมือ แต่ราคาแค่ยูโรเดียว

ฝรั่งที่อยู่ในที่ประชุมอีกหลายคนต่างสนับสนุนความเห็นของคุณManfred และประธานอาพาด้าปีนี้ซึ่งเป็นชาวฟิลิปปินส์ ได้กล่าวว่าเพื่อนชาวอเมริกันที่ทำงานด้านการสั่งหัตถกรรมจากประเทศของเธอก็เคยบอกเธอว่าชิ้นงานสวยๆที่สั่งซื้อนั้น ขอให้เธอโปรดกลับไปบอกผู้ผลิตว่าขอให้หยุดผลิตชิ้นงานที่สั่งซื้อ อย่าผลิตออกมาอีก เพราะจะล้นตลาดและราคาตก ทำความลำบากให้ผู้สั่งซื้อ ที่จะขายทำราคาได้ยาก

ช่วงเวลาที่ท่องเที่ยวไปตามเมืองใหญ่ๆในยุโรป เช่นปารีส บาร์เซโลนา ได้เห็นหัตถกรรมจากประเทศที่กำลังพัฒนา ไม่เฉพาะจากเอเชีย ขายกันมากมาย ดูเป็นของโหลอย่างเขาว่าจริงๆ ใหม่ๆเห็นแล้วดีใจว่าดูซิมีของจากเมืองไทยมาขายด้วย แต่พอเห็นบ่อยๆแล้วยังเห็นว่าไม่ได้มีคนซื้อเท่าไร และเมื่อเทียบการออกแบบ วัสดุ ความประณีต บางครั้งยังรู้สึกอับอายที่มีของคุณภาพไม่ดีพอจากบ้านเรามาสร้างความเข้าใจผิดว่าหัตถกรรมจากเมืองไทยมีลักษณะโดยรวมเช่นนี้ ทั้งๆที่ของคุณภาพดีกว่านั้นมากในเมืองไทยก็มีมากมาย

สุภาพสตรีฝรั่งคนหนึ่งซึ่งทำงานร่วมกับชาวบ้านในหลายประเทศ กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านในประเทศกำลังพัฒนาหันมาผลิตหัตถกรรมอย่างล้นเหลือก็เพราะ "นโยบายขจัดความยากจน" ของรัฐ ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีงานทำ มีรายได้ (แต่ไม่ได้คิดให้รอบคอบ) มีผู้เสริมว่าที่จริงจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีความรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องและมีทักษะ ไม่ใช่แค่ส่งเสริมให้ผลิตมากๆแล้วหาตลาดไม่ได้

ความรู้สึกของผู้เขียนเมื่อฟังคุณManfred ก็คือได้มีความรู้ มุมมองใหม่ว่าศิลปินยุโรปทำงานอย่างไร แต่ไม่คิดว่าผู้ผลิตหัตถกรรมไทยจะไปทำเช่นนั้นได้ เพราะบริบทต่างกันมาก อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าชาวบ้านทำหัตถกรรมมักทำเป็นกลุ่ม แล้วเขาทำด้วยฐานความรู้และเหตุผลที่ต่างกัน หัตถกรรมไทยเคยยึดโยงกับการเกษตรที่เป็นอาชีพหลัก อย่างคำกล่าวว่า "พอสิ้นหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก" แม้ว่าเดี๋ยวนี้จะเปลี่ยนไปมากแล้วก็ตาม

หากเราจะยกระดับหัตถกรรมชาวบ้าน เพื่อให้ขายได้ มีตลาดกว้างขึ้นคงต้องยกระดับความเข้าใจของผู้ที่จะเข้าไปส่งเสริมก่อนว่าควรเข้าใจสังคมไทยของตนเอง และเข้าใจงานหัตถกรรม เข้าใจเรื่องศักดิ์ศรี ความภูมิใจ และความสุขของผู้ผลิตด้วย คงต้องหาสมดุลย์ไม่มุ่งเงินอย่างเดียว เพื่อให้ชุมชนหัตถกรรมไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

จากที่ฟังความเห็นของชาวยุโรปและผู้มีประสบการณ์ ที่รู้สึกต่อหัตถกรรมของเอเชีย ไทยเราควรฟังให้มากเรื่องอย่าผลิตจนเฝือ และสร้างตลาดหัตถกรรมในแบบที่นักการตลาดเขาเรียกว่า niche market น่าจะเป็นทางที่เราควรเลือกเดิน

หมายเลขบันทึก: 118113เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • สวัสดีค่ะ  พี่นุชเฉย ๆ  ..

ค่ะ  ต้อมเห็นด้วยที่ว่า หัตถกรรมของไทยหรือของภูมิภาคเอเชียนั้น  น่าจะมุ่งที่ตลาดกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีความต้องการเฉพาะกลุ่มจริง ๆ   เพื่อที่ว่าผู้ผลิตและผู้บริโภคจะได้มีความภูมิใจ  มีความสุข  ทั้งสองฝ่าย

แต่ในการที่จะทำอย่างนั้นได้ .. ไม่รู้สินะคะ   ในสายตาต้อมที่เป็นคนตัวเล็ก ๆ (( เปรียบเทียบ ๆ ๆค่ะ  เพราะความจริงตัวหนูล่ำบึ้กมาก ๆ     ^_^ ))   มองเห็นว่า   ราคาของสินค้ามีส่วนเป็นอย่างมากในการจะผลิตอะไรขึ้นมาสักอย่าง    พอสินค้าชิ้นนี้เป็นที่สนใจของผู้บริโภค   ก็ต้องรีบผลิตออกมาเป็นจำนวนมากชิ้น   ต้องกอบโกยไว้ก่อน    โอกาสแบบนี้ไม่ได้มีเข้ามาบ่อย ๆ  พอมีการเร่งการผลิตก็จะมีสินค้าออกมาเกร่อ    บางทีคุณภาพก็ด้อยกว่าเดิมเพราะต้องการลดต้นทุนในการผลิต   อะไรทำนองนี้น่ะค่ะ    ส่วนเรื่องความสุข  ความภาคภูมิใจนั้นลืมไปได้เลย   ในเมื่อยังต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนในครอบครัวอยู่

ต้อมยังสงสัยอยู่น่ะค่ะ  เอาเฉพาะในเมืองไทยนะคะ  จะมีงานหัตถกรรมของผู้ผลิตรายไหนบ้าง  ที่ไม่สนใจในตัวเลขอันเป็นจำนวนผลิตและรายได้   ทำไปเพราะความสุขจริง ๆ เพื่อความภาคภูมิใจที่จะยกระดับชิ้นงานนั้น ๆ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์คะ

       เห็นด้วยที่จะให้งานหัตถกรรมไทย เป็นแบบNiche Market แต่ ก็อย่างที่เคยให้ความเห็นไว้ค่ะ ต้องพยายามสร้างbrandค่ะ เพราะมิฉะนั้น ก็จะปนกันไปหมด ของดี ของไม่ดี สีสันคล้ายๆกัน ต้องสร้างความต่างขึ้นมาค่ะ

         แต่ก็อย่างที่อาจารย์ปรารภไว้

ให้ผู้ผลิตทำแบรนด์เอง อาจยากหน่อย

พี่นึกถึงนาฬิกาแบรนด์ดังๆ ของสวิส เขาเริ่มมาจากอุตสาหกรรมในครอบครัว ทำกันมาหลายgeneration เป็น100ปี ใครจะทำแบบdigitalยังไง เขาก็ทำแบบautomatic อยู่อย่างนั้น ขายได้ดีกว่ามาก บางรุ่นผลิตไม่กี่เรือน ซื้อเก็บกันแบบของมีราคาหายาก ซื้อขายต่อกันแพงๆ

   มีการประมูลมาจาก Ebay แล้วขายต่ออีกเป็นงานอดิเรก  ขายทางอินเตอร์เน็ต เห็นจะซื้อ จะขาย ต้องเอาแว่นขยายส่องกัน เพื่อดูว่า แท้ไม่แท้ เป็นงานอดิเรกสนุกๆของพวกผู้ชาย พวกผู้ชาย ชอบนาฬิกามากค่ะ

  ลองดูเรื่องbrand  เพื่อให้เกิด ความแตกต่างนะคะ

แต่ถ้า ชาวบ้าน คิดแค่ ทำยามว่าง จากงานเกษตรกรรม การทำbrand อาจไม่คุ้ม เพราะเสียค่าใช้จ่ายมากค่ะ

สวัสดีค่ะน้องต้อมP 

ขอโทษนะคะที่ตอบช้าไม่อยู่บ้านเป็นอาทิตย์ เพิ่งกลับมาค่ะ โดนน้องแซวซะแล้ว^-^

 พอสินค้าชิ้นนี้เป็นที่สนใจของผู้บริโภค   ก็ต้องรีบผลิตออกมาเป็นจำนวนมากชิ้น   ต้องกอบโกยไว้ก่อน    โอกาสแบบนี้ไม่ได้มีเข้ามาบ่อย ๆ  พอมีการเร่งการผลิตก็จะมีสินค้าออกมาเกร่อ    บางทีคุณภาพก็ด้อยกว่าเดิมเพราะต้องการลดต้นทุนในการผลิต   

นั่นซีคะ ทำอย่างไรก็ได้ ขายอะไรก็ได้ "ถ้ามีคนซื้อ"

ประเด็นที่เรากำลังต้องการมาช่วยกันสร้างความแตกต่างคือ การให้หัตถกรรมนั้นขายได้ยั่งยืน มีพัฒนาการ มันยากตรงนี้เพราะสวนกับกิเลสคนยุควัตถุนิยม ที่มองทุกอย่างเป็นเงิน ทำงานโดยเอาความโลภนำ มากกว่าใช้ สติและ ความรู้นำ

สังคมเราทุกวันนี้มันเป็นเหมือนกันหมดไม่ใช่เฉพาะแค่วงการหัตถกรรม ดูผลไม้นานาชนิดซีคะ ล้นตลาดทุกปี ราคาตกทุกปี คุณภาพก็ลดลง ตั้งต้นด้วยความโลภ และไม่มีความรู้พอ ชะตากรรมจะจบลงที่เดียวกันหมด

คงไม่มีใครผลิตของโดยไม่สนใจว่าจะขายได้หรือเปล่า การมีสัมมาชีพ หาเงินเลี้ยงชีพ เป็นเรื่องปกติ แต่การรู้จักความพอดี พอเพียง เคารพในสิ่งที่ทำ อยากให้ผู้ซื้อได้กินได้ใช้ของดีสมค่าเงินที่ต้องจ่ายต่างหาก คือคุณธรรมของผู้ผลิต และจะทำให้เลี้ยงชีพได้อย่างยาวนานเพราะผู้ซื้อติดใจในคุณภาพ

แต่หากเป็นผู้ซื้อที่ไม่คิดอะไรมาก ชอบบริโภคหรือซื้อของตามๆกันเป็นแฟชั่น ชอบของถูก ไม่มีความรู้ในการพิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อ คงเป็นโอกาสทองของผู้ผลิตในแนวมากๆ เร็วๆ ถูกๆ ก็อย่าไปยุ่งกับคู่นี้เขาเลยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์P เรื่องแบรนด์สินค้าไทยนั้นเห็นทางภาครัฐก็ดำเนินการอยู่หลายปี แต่ยังไม่เห็นเข้าไปถึงหัตถกรรมที่ชาวบ้านทำ เคยเห็นเอ็นจีโอฝรั่งเข้ามาช่วยชาวบ้านที่สุรินทร์ในการออกแบบ การตลาดเครื่องประดับเงิน และผ้าทอ โดยตัวเอ็นจีโอเองเป็นเสมือนแบรนด์ให้ ไม่ได้ทราบรายละเอียดมากนักค่ะ น่าสนใจหาเรื่องราวความสำเร็จมาเรียนรู้กัน เพื่อปรับใช้นะคะ

นุชคิดว่างานหัตถกรรมสามารถพัฒนาให้สร้างรายได้มากได้ ด้วยการใช้ความรู้และสติ แต่ไม่ควรให้เขาทิ้งการเกษตรที่แม้อาจไม่ได้สร้างรายได้มากแต่เขาใช้พึ่งตนเองได้ มามุ่งหาแต่เงิน

ขอบคุณมากค่ะที่ผู้รู้จริงมาร่วมแชร์

 

  • พี่นุช เฉย ๆ   ..

กลับมาเสียที   ต้อมคิดถึงค่ะ  เห็นหายไปนาน  เป็นห่วงแทบแย่น่ะค่ะ   TT_TT

  • มาทักทายพี่
  • จำไม่ได้ รูปเจริญปุระ
  • ถ้าบ้านเรายึดหลัการผลิตแบบพอเพียง
  • มีคนดูแลการตลาดให้คงประสบผลสำเร็จนะครับ
  • ขอบคุณครับ
มาเยี่ยม...
P
ผมเข้าใจว่า...สิ่งที่ชาวยุโรปต้องการเห็นคืองานฝีมือจริง ๆ หรือเป็นงานทำด้วยใจไม่ใช่งานปั้มแม่พิมพ์ซึ่งเป็นสำเนาไม่ใช่ต้นฉบับครับผม...
ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิตP (และขอถือโอกาสตอบคุณต้อมPด้วย ที่จริงไปหาถึงบ้าน-บล็อกแล้วนะคะ)

แล้วชอบมั้ยล่ะคะ รูปใหม่นี่

ความพอเพียงนั้นพี่ว่าต้องประกอบกันทั้งตัวผู้ผลิต และผู้เข้าไปส่งเสริม ส่วนมากผู้ส่งเสริมนี่ล่ะค่ะที่ไม่เข้าใจ ไปทำให้ความพอดีหมดสิ้นไป

ที่อาจารย์ยูมิเขียนนั้นใช่เลยค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ยูมิP เห็นด้วยมากๆเลยค่ะ แต่คนส่วนใหญ่สมัยนี้ไม่รู้หัวใจไปไหนหมด ทุกอย่างต้องเร็วๆ มากๆ วัดกันเป็นปริมาณ เป็นตัวเลข ตัวเงิน จึงต้องเร่งปั๊ม ง่ายกว่า เร็วกว่า แล้วมากลุ้มทีหลัง

ที่เห็นกระแสว่าจะวัดที่ความสุขเป็นเพียงการพูดไปอย่างนั้นเองนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท