ล้างเครื่อง ล้างสาย และเปิดเทอม


ผมเชื่อว่าการทำงานก็เหมือนกับการสงคราม เราจะนำทัพบุกทะลวงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องให้เวลาในการจัดกระบวนทัพด้วย มิฉะนั้น "ชนะก็เหมือนแพ้" ครับ

ผมหายไปหลายวันทีเดียว ไม่ได้เขียนอะไรก็ใช่ว่าจะไม่มีอะไรมาแบ่งปันกันครับ เพียงแต่ว่าอยู่ในช่วงของการ "ล้างเครื่อง" และ "ล้างสาย" ผสมกับ "เปิดเทอม" หลังจาก release GotoKnow.org (ซึ่งใช้ MemeExpress 0.34b) ผมก็ทำการโยกย้ายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการพัฒนาให้สอดคล้องกับงานที่เกิดขึ้นมากยิ่งขึ้น การทำเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นครับ ผมเชื่อว่าการทำงานก็เหมือนกับการสงคราม เราจะนำทัพบุกทะลวงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องให้เวลาในการจัดกระบวนทัพด้วย มิฉะนั้น "ชนะก็เหมือนแพ้" ครับ

"ล้างเครื่อง"

"ล้างเครื่อง" ผมทำอะไรบ้าง ผมจะเล่าให้ฟัง ในการทำงาน project กับ ดร.จันทวรรณ เรามีเครื่องที่เรียกได้ว่าเร็วสุดของเราแล้ว 2 เครื่อง (Celeron 2.0GHz) และอีก 2 เครื่องเป็นเครื่อง "ยังพอไหว" (Celeron 400MHz) นอกนั้นเรามี Notebook อีกสองตัว (Pentium M 1.5GHz สนับสนุนโดย สคส.) สังเกตว่าเครื่องที่เรามีจะห่างจากความเป็น hi-end ที่คนอื่นเขามีกันมากเลย เรางบน้อยครับ แต่เราเชื่อในพลังของ "ปัญญา" ว่าด้วยปัญญาแล้ว เราจะสามารถ sqeeze all the performance out of our low-end machines จะพูดให้เหมือนเป็นสุภาษิตก็คงได้ว่า "ปัญญามีกับตัวกลัวอะไรกับเครื่องช้า" ว่างั้นเถอะ

กล่าวไปแล้วก็คือผมเชื่อว่าใน "Knowledge-Based Economy" เราให้ความสำคัญกับการใช้ Knowledge ในการแก้ปัญหามากกว่าการใช้ Capital เหมือน "Solid-Capital-Based Economy" ครับ ประหยัดกว่ากัน แถมยังได้ผลในระยะยาวที่สวยงามกว่าเยอะ

กลับมาเรื่องล้างเครื่องต่อ ผม "ล้างเครื่อง" โดยการสลับหน้าที่ของเครื่องเพื่อให้เครื่องที่เหมาะสมได้ทำหน้าที่ที่สมควรสำหรับงานพัฒนาที่จะเกิดขึ้นต่อไปครับ โดยเป็นดังนี้

Notebook ทั้งสองเครื่องใช้ Windows XP เพราะนี่คือเครื่องที่จะใช้งาน รวมทั้งพัฒนางานบน Windows ด้วย

เครื่อง Celeron 2.0GHz ทั้งสองเครื่อง เครื่องหนึ่งใช้ FreeBSD อีกเครื่องใช้ Fedora Core โดยเครื่อง FreeBSD จะเป็นเครื่องหลักในการพัฒนา (จากเดิมที่พัฒนางานอยู่บน Fedora Core) ส่วน Fedora Core นั้นต้องเก็บไว้คู่กันเพราะเป็น by the "popular" demand

เครื่อง Celeron 400MHz อีกสองเครื่อง เครื่องหนึ่งใช้ Debian ไว้ทดสอบงานพัฒนา เพราะปัจจุบัน Debian มาแรงเหลือเกินทั้ง Ubuntu ไหนจะ Nokia 770 อีก ไม่อยากตกรถไฟครับ ส่วนอีกเครื่องหนึ่งใช้ Windows XP ไว้เก็บไฟล์บ้าง หรือใช้ต่อ device ต่างๆ ที่ไม่สามารถต่อกับ FreeBSD หรือ Fedora Core ได้

"ล้างสาย"

การล้างสายคือการต่อ ADSL กับผู้ให้บริการเจ้าใหม่ครับ โทรศัพท์ที่ที่พักผมผมใช้บริการของ Ji-Net ซึ่งต้องจ่ายเดือนละ 1,600 บาทถ้วน เมื่อเอาเงินเดือนของอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ไม่ยอมไปขอใครสอนพิเศษตามหลักสูตรพิเศษต่างๆ เพราะเชื่อว่า (เน้นที่ "เชื่อว่า" เพราะเป็นความเชื่อครับ ไม่ใช่ความจริง) เชื่อว่าตัวเองควรทำอะไรที่แตกต่างจากการเดินสายสอน (หรือเพราะหัวผมมันแข็งไม่ยอมหาย แม้ใช้งานมานานแล้วหัวก็ยังไม่ยอมนิ่มลง) มาจ่ายแล้ว ผมก็กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะเอาเงินที่ไหนกินข้าว แต่ตอนนี้ต้องขอบคุณฟ้าดินที่บริการ ADSL ได้ถูกลงแล้ว ผมพึ่งสลับไปใช้บริการ Hi-Net ของ CAT ราคา 999 บาทต่อเดือน นี่ช่วยยืดลมหายใจผมได้มาหน่อย แต่ราคานี้ก็ยังไกลกว่า 599 บาทใน "เมืองหลวง" ครับ

ผมเชื่อว่าปัญหา Hi-Speed Internet นี่เป็นปัญหาที่คน "เมืองหลวง" ไม่เข้าใจหรอกครับ ผมยังแอบแปลกใจปนตกใจตลอดเมื่อได้อ่านข่าวที่มีหลายๆ คนพยายามทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้าน IT เพราะเท่าที่ผมจะคิดไปได้ ผมเชื่อว่ามันคงเป็นไปได้ยากครับ ถ้าค่าบริการ Hi-Speed Internet ของไทยเมื่อคิดกับค่าครองชีพแล้วยังแพงแทบจะเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างนี้ แต่อย่างไรก็ตามนโยบายศูนย์กลาง animation ศูนย์กลางการพัฒนาเกมส์ ศูนย์กลาง outsourcing และศูนย์กลางอื่นๆ อีกมากมาย อาจจะเป็นไปได้ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมี Internet Connection ที่ช้ามากและคนไทยภาษาอังกฤษไ่ม่แข็งแรงก็ได้ Who know?

"เปิดเทอม"

ครับ เปิดเทอมใหม่แล้ว ผมไม่อยากสอนเลย เพราะผมไม่เชื่อใน "การสอน" ครับ ผมเชื่อใน "การเรียน" ผมอยากเป็น "คุณอำนวย" ให้นักศึกษาได้เรียนด้วยตัวเองมากกว่าเป็น "ผู้สอน" ที่ให้นักศึกษาจดตามคำพูดแล้วจำเข้ามาทำข้อสอบ แต่ก็ไม่รู้ว่าผมคิดผิดหรือคิดถูก เพราะผมก็ไม่เคย "ถูกสอน" จากใครในห้องเรียน ถ้าเกี่ยวกับการสอนโดยส่วนใหญ่จะเคย "ถูกสอนมวย" นอกห้องเรียนเสียมากกว่า

เท่านี้ละครับ สำหรับเวลาที่ผ่านเกือบสองสัปดาห์ (ถ้าไม่นับการกวาดบ้าน ถูบ้าน ซ่อมรถ จัดการใบเสร็จต่างๆ ...)

(หมายเหตุ "ถูกสอนมวย" เป็นสำนวนไทยที่ (คงจะ) เก่าแล้ว หมายถึงการถูกใครที่มีศักยภาพในด้านใดด้านหนึ่งเหนือกว่าเอาชนะในด้านนั้นอย่างง่ายดาย และด้วยการที่ผู้ชนะเก่งกว่ามาก บางครั้งผู้ชนะอาจแกล้งอ่อนข้อทำให้ผู้แพ้รู้สึกเหมือนว่าจะชนะได้แล้วแต่ก็ไม่สามารถเอาชนะได้จริง เหมือนการสอนมวยของนักมวยนั่นเอง)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 118เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2005 07:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 11:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ถูกใจย่อหน้าท้ายๆครับ
>>ผมไม่อยากสอนเลย เพราะผมไม่เชื่อใน "การสอน"
 
นึกถึงสมัยเรียน ตอนนั้นก็มีความคิดว่า
ผมไม่อยากเรียนเลย เพราะผมไม่เชื่อใน "การสอน"
 
ขยายความนิดหนึ่ง เพื่อสื่อความหมายไม่ครบ
คือผมชอบอ่านหนังสือด้วยตัวเอง มากกว่าฟังอาจารย์พูดครับ 
ยังจำวิชา ประวัติศาสตร์การเมืองไทย (ขออภัยครับจำชื่อจริงๆไม่ได้) เป็นวิชาเลือกที่เปิดให้เด็กวิศวะเข้าไปเรียนได้
ฮ่วย ยังสอน "พ่อกูชื่อ ... แม่กูชื่อ ... " (สุโขทัย) อยู่เลย
นึกว่าจะได้เข้าไปฟังอะไรที่ลุ่มลึกกว่า "แผนภูมิ family"
 
 
 
 

ผมเชื่อว่าโลกปัจจุบันมีสื่อที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างมากมายครับ เพียงแค่บางครั้งผู้เรียนอาจอยากได้ "ผู้แนะนำ" ว่าจะเรียนเรื่องอะไรดี (แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้เรียน "ต้อง" เชื่อ "ผู้แนะนำ" ตลอดนะครับ) และการได้เป็นผู้แนะนำนี่น่าจะเป็นหน้าที่ในวิชาชีพของอาจารย์

ส่วนการบรรยาย ผมคิดว่านั่นคือการไปฟังประสบการณ์ มุมมอง แนวคิด ทัศนคติ ที่เกิดจากการกลั่นกรองมาแล้วจาก "ผู้เคยเรียนมาก่อน" แต่การบรรยายโดยการอ่านหนังสือให้ฟัง (หรือการท่องหนังสือมาเล่าให้ฟังก็แล้วแต่) ผมเองโดยส่วนตัวไม่ค่อยเห็นประโยชน์เท่าไหร่

อย่างไรก็ตามครับ ผมเองก็ไม่ได้เป็นนักการศึกษา เพียงแต่มองจากมุมมองส่วนตัวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท