พุทธทาส


พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย

พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย

ปรากฎการณ์พุทธทาส  คุณค่าและความหมาย สันติสุข  โสภณสิริมูลนิธิเสถียรโกเศศ นาคะประทีป *******************                 เมื่อคราวสมโภชฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ  150  ปี  ใน พ.. 2475  นั้น  มีปรากฏการณ์สำคัญสองครั้งเกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ไทย  นั่นคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24  มิถุนายน  ส่วนอีกเหตุการณ์หนึ่ง  เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น  1  เดือน  คือ  การก่อตั้งสวนโมกข์พลาราม    อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เมื่อวันวิสาขบูชาปีเดียวกัน                ปรากฎการณ์แรกนั้นส่งผลกระทบต่อการพัฒนาความคิดทางการเมืองของไทยตลอด  60  ปี  ในขณะที่ปรากฏการณ์อย่างหลัง  ได้กลายเป็นพลังเคลื่อนไหวทางศาสนาที่สำคัญในโลกสมัยใหม่                แน่นอน  ปรากฎการณ์คู่แฝดดังกล่าวมิได้อุบัติขึ้นลอย ๆ หากเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยทางเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมทั้งจากภายในและนอกประเทศที่กำลังคลี่คลายขยายตัวในยุคนั้น  คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า  การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  โดยคณะราษฎรจะเกิดขึ้นมิได้เลย  หากปราศจากแรงกระทบของเงื่อนไขสากลร่วมสมัย  เช่น  ขบวนการประชาธิปไตยในประเทศตุรกี  ซึ่งนำโดยคณะยังเตอร์ก  ของมุสตาฟา เคมาล  ปาซา  และขบวนการเก็กเหม็งในประเทศจีน  ซึ่งนำโดยคณะก๊กมินตั๋งของ ดร.ซุนยัดเซ็น  หรือแม้แต่การปฏิวัติใหญ่ในรัสเซีย  เป็นต้น  ส่วนเงื่อนไขภายในประเทศก็มีนักคิดประชาธิปไตยอย่างท่านเทียนวรรณ  ... กุหลาบ  หรือกบฏยังเติร์ก  .. 102  ของ ร.. หมอเหล็ง  ศรีจันทร์  เกิดขึ้น  ก่อนขบวนการคณะราษฎรเสียอีก                ในทำนองเดียวกัน  ขบวนการปฏิรูปศาสนาที่เรียกกันว่า  ขบวนการสวนโมกข์  ก็เป็นผลพวงทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัจจัยการทางสังคมการเมืองดังกล่าวด้วย  เพราะเมื่อสังคมก้าวหน้าขึ้น  คำถามที่ตามมาก็คือ  ศาสนาจะมีประโยชน์อะไรต่อโลกที่พัฒนาแล้ว                แต่เงื่อนไขสากลที่กล่าวได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจร่วมยุคของสวนโมกข์  คือ  ขบวนการฟื้นฟูพุทธศาสนา  ในลังกาและอินเดียของ  ท่านอนาคาริกะ  ธรรมปาละ  อุบาสกชาวศรีลังกา  ผู้ก่อตั้งมหาโพธิสมาคม  และภายในประเทศไทยเองก็มีความเคลื่อนไหวในการปรับปรุงพุทธศาสนาให้ทันสมัยมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่  5  โดย  สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพยะยาวชิรญาณวโรรส  ผู้ทรงออกวารสาร  ธรรมจักษุ  สำหรับชาวพุทธหัวใหม่                คนรุ่นหลังคงลืมกันไปแล้วในช่วงไล่เลี่ยกับการก่อตั้งสวนโมกข์ขึ้น  มีขบวนการปฏิรูปศาสนาเกิดขึ้นอย่างน้อย  2  ขบวนการ  ที่โด่งดังฮือฮากันในสมัยนั้นคือ  ขบวนการ  พระโลกนาถ  ภิกษุ  ชาวอิตาเลียนที่เข้ามาชักชวนสังฆบริษัทไทยร่วมเดินทางออกเผยแผ่พุทธศาสนาทั่วโลก  อีกขบวน  คือ  ขบวนการฟื้นฟูพุทธศาสนายุคกึ่งพุทธกาลของ  นายนรินทร์  (กลึง)  ภาษิต  ผู้ทำบัญชีเปิดโปงพระเถระอลัชชีในเมืองไทย  และตั้งคณะภิกษุณีสายเถรวาทขึ้นโดยบวชลูกสาว  2  คน  ขบวนการศาสนาทั้งสองขบวนการเป็นที่นิยมชมชอบของปัญญาชนชาวพุทธในเวลานั้นเป็นอันมาก  แต่ไม่นานก็กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง                เหตุที่การกำเนิดของสวนโมกข์ไม่ใช่เป็นเพียงอุบัติการณ์ชั่วคราว  แต่เป็นขบวนการฟื้นฟูศาสนาที่ก้าวหน้ายั่งยืนมาจนกระทั่งทุกวันนี้  ก็เพราะความมุ่งมั่นและเล็งเห็นการณ์ไกลของพระภิกษุหนุ่มวัย  26  ปีผู้ก่อตั้ง  ผู้ซึ่งได้ประกาศปฏิญญาอย่างแน่วแน่ต่อสาธารณชนในปี 2475  ว่า  พุทธัสสาหัง  นิยยาเทมิ  สรีรัญชีวิตัญจิทัง  พุทธัสสาหัสมิ  ทาโสวะ  พุทโธ  เม  สามิกิสสโร   อิติ  พุทธทาโส   ข้าพเจ้ามอบชีวิตและร่างกายนี้ถวายแด่พระพุทธเจ้า  ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า  เพราะเหตุดังว่า มานี้  ข้าพเจ้าจึงชื่อว่า  พุทธทาส                สิ่งที่เรียกว่า  ปรากฏการณ์พุทธทาส  อุบัติขึ้นอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่นั้นจนบัดนี้ล่วงเลยมา  61  วิสาขมาสแล้ว  นาม  พุทธทาส  ยังยืนยงเป็นสดมภ์หลักแห่งพุทธทาสในท่ามกลางโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยวัตถุนิยมผสมกับไสยศาสตร์                สังคมไทยพัฒนามาอย่างไม่สมประกอบ  ด้านหนึ่งรับความทันสมัยของวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามากมาย  แต่อีกด้านหนึ่งคนมากมายยังหลงงมงายในไสยศาสตร์  ด้วยเหตุนี้  จึงไม่แปลกเลยเมื่อพระสงฆ์ยอดนิยมของคนไทยส่วนใหญ่มักจะเป็นพระเกจิอาจารย์ประเภทอมน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก  นิยมแจกวัตถุมงคล  อีกด้านหนึ่ง  คนไทยก็นับถือพระสงฆ์  ผู้มักน้อย  สันโดษ  ปฏิบัติธรรม  เพื่อความหลุดพ้นจากกองกิเลส                เข้าใจว่าคนไทยส่วนใหญ่เคารพนับถือท่านพุทธทาสในคุณสมบัติประการหลังนี้เอง  ส่วนความเป็นพระนักคิดชั้นแนวหน้า  หรือความเป็นนักปฏิรูปศาสนาชั้นนำของท่านนั้น  คนส่วนใหญ่คงไม่รู้จักนอกจากปัญญาชนไทยจำนวนน้อย  หรือชาวต่างประเทศเท่านั้น                หากจะตั้งคำถามว่า  ท่านพุทธทาสมีความหมายอย่างไรต่อยุคสมัยของเรา  ข้อนี้คงตอบได้ไม่ยากนัก  แต่คงเข้าใจได้ลำบากสำหรับผู้คนในสังคมบริโภคนิยมสมัยใหม่ที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า  สังคมกินกาม  เกียรติ  หรือสังคมประโยชน์นิยมที่รู้จักแต่ความสุข  ที่เกิดจากการบริโภคมาก ๆ หรือเอามาเป็น  ตัวกู...ของกู  ให้มาก ๆ ด้วยเหตุนี้เอง  ไสยศาสนาจึงยังดำรงอยู่ได้ในสังคมบริโภคนิยมสมัยใหม่เพราะช่วยสร้างให้เกิดความหวังในโชคลาภ  หรือความรู้สึกมั่นคงในชีวิตทางวัตถุนั่นเอง                ในแง่สังคม  ก็คงยอมรับว่าในโลกสมัยใหม่  ศาสนา  ยังมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม  ความเชื่อและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม  อิทธิพลดังกล่าวมีทั้งในทางบวกและทางลบ  ซึ่งน่าเสียดายว่า  เมื่อแก่นแท้ของศาสนาถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไป  ไสยศาสนาหรือศาสนากระพี่ทั้งหลายก็แผ่อิทธิพลในทางติดลบงมงายมากขึ้น                ตรงนี้เองที่ท่านพุทธทาสได้ก้าวเข้ามีบทบาท  สำคัญ  กล่าวคือ  ท่านช่วยปฏิรูปศาสนาให้แสดงพลังในทางสร้างสรรค์ต่อสังคม  หากไม่มีขบวนการศาสนาอย่างสวนโมกข์เกิดขึ้นเมื่อ  60  ปีที่แล้ว  พุทธศาสนาที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนี้ก็คงเป็นพุทธศาสนาในมิติเก่าเพียงด้านเดียว  คือ  ศาสนาพิธีกรรมมีแต่การสอดมนต์ท่องบ่นภาษาที่ฟังแล้ว  คนฟังไม่เข้าใจ  หากจะมีการสอนอยู่บ้างก็เน้นในเรื่องการบำเพ็ญทาน  รักษาศีลซึ่งเป็นเพียงรูปแบบที่วนเวียนอยู่แต่เรื่องกรรมเก่า  นรก  สวรรค์  ชาตินี้  ชาติหน้า  ส่วนภาวนาก็หนักไปในทางสมถกรรมฐาน  บริกรรมคาถาอาคม  เพ่งนิมิตกันไปตามแต่ครูบาอาจารย์สำนักไหนกจะนำปฏิบัติ                พุทธศาสนาแนวนี้ถ่ายทอดกันมาจาก  คัมภีร์วิสุทธิมรรค    ซึ่งเป็นตำราที่แต่งขึ้นโดยพระพุทธโฆษาจารย์  อรรถกถาจารย์ชาวลังกาทวีป  เมื่อพ้นปีที่แล้ว มีการนำคติความเชื่อของลัทธิศาสนาพราหมณ์เข้ามาปะปนเป็นอันมาก  ไทยรับเอาคัมภีร์นี้มาเป็นหลักอธิบายพุทธศาสนาตั้งแต่กรุงสุโขทัย  ภายหลังได้นำมาเป็นหลักสูตรของเปรียญธรรม  9  ประโยค  จนกระทั่งปัจจุบัน                ความจริงการอธิบายพุทธศาสนาแบบนครสวรรค์  ของคัมภีร์วิสุทธิมรรคมีประโยชน์ในสังคมไทยสมัยโบราณที่เป็นชุมชนชนบท  แต่เมื่อสังคมพัฒนาซับซ้อนขึ้น  มีความเจริญทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น  การอธิบายพุทธศาสนาแบบมิติเดียว  อาจไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป                ท่านพุทธทาสเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่กล้าปฏิเสธคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่ามิใช่แก่นแท้ของพุทธศาสนาโดยหันไปหาคำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าโดยตรง  ซึ่งสามารถค้นคว้าได้จากพระไตรปิฏก  โดยเฉพาะพระสุตตันตปิฏก  (พระสูตร)  และพระวินัยปิฏก                ข้อน่าสังเกต  คือ  นักปฏิรูปศาสนา  (Reformist)  มักมุ่งกลับไปหา  เนื้อแท้  ของศาสนา  ซึ่งเรียบง่ายและทันสมัยอยู่เสมอ  และพ้นจากรูปแบบ  ประเพณีพิธีกรรม  ซึ่งเป็นเปลือกกระพี้ของสังคมแต่ละยุคที่ห่อหุ้มอยู่                สวนโมกขพลาราม  เป็นนวัตกรรมทางศาสนาที่ท่านพุทธทาส  ต้องการให้เป็นแบบอย่างของ  วัดแท้  ที่หลุดพ้นจากรูปแบบและเนื้อบกของวัดที่สร้างกันมา  ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์  สมัยอยุธยา  หลุดพ้นจากอิทธิพลของลังกาวงศ์สมัยสุโขทัย  กลับไปหาอารามที่เรียบง่ายในสมัยพุทธกาล                ด้วยเหตุนี้สวนโมกข์จึงไม่มีสิ่งก่อสร้างอันอลังการ์ราคาหลายสิบล้าน  มีแต่ โบสถ์ธรรมชาติ  ตามพุทธบัญญัติคือ  อาศัยรุกขชาติที่ขึ้นอยู่โดยรอบ  เป็นต่างผนังโบสถ์  กำแพงแก้ว  มีร่มไม้ต่างชายคา  มียอดไม้เป็นช่อฟ้าหางหงส์                ในช่วงแรก ๆ สวนโมกข์มีแต่รูปปูนปั้นสมัยสาญจีของอินเดีย  (ราว พ.. 400 – 600)  ยังไม่มีพระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า  แต่จะใช้สัญลักษณ์เช่น  เป็นความว่าง  (สุญญตา)  หรือเป็นรูปดอกบัว  และธรรมจักรแทน                ในคราวที่ท่านพุทธทาสได้รับนิมนต์ให้ขึ้นมาแสดงปาฐกถาครั้งแรกที่กรุงเทพฯ  เมื่อ  .. 2483  ท่านได้แสดงธรรมเทศนาด้วยการพูดเรื่อง  วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม  โดยมีประเด็นสำคัญว่า  พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ที่คนยึดถือตามรูปแบบประเพณีนั้น  อาจเป็นเสมือนภูเขาหิมาลัยที่ขวางกั้นไม่ให้เข้าถึงพระนิพพานได้  การพูดครั้งนั้นเองที่ทำให้ท่านถูกโจมตีว่าเป็น  คอมมิวนิสต์  หลังจากที่ก่อตั้งสวนโมกข์ในช่วงแรกก็ถูกกล่าวหาว่าเป็น  พระบ้า  มาแล้ว                ยิ่งเมื่อท่านพยายามนำเอาหลักพุทธธรรมขั้นปรมัตถ์กลับมาสอนใหม่ก็ยิ่งถูกโจมตีว่าสอนยากเกินไป  ฟังไม่รู้เรื่อง  หรือมิฉะนั้นก็ถูกกล่าวหาว่าเอาปรัชญาของฝ่ายมหายานมาสอน  ทั้งนี้เพราะการศึกษาพุทธศาสนา  2  ประการซึ่งเรียกว่า  ไตรสิกขา  ประกอบด้วยศีล  สมาธิ  ปัญญา  ในวัฒนธรรมไทย  เน้นเพียงสองประการแรก  การศึกษาทางด้าน  ปัญญา  นั้น  ถูกละเลยไปมาก                ท่านพุทธทาสเป็นพระนักปฏิบัติรูปแรกของไทยผู้นำเอาส่วนที่เป็น  ปัญญา  ของศาสนากลับมาย้ำสอนอีกครั้งในโลกสมัยใหม่  อาทิ  หลัก  อิทัปปัจจยตา  ที่ว่าด้วยสรรพสิ่งล้วนเกี่ยวข้องเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน  หรือให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง  ไม่มี  ตัวกู...ของกู  หรือ  ตถตา  สอนให้เห็นว่าทุกสิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่น  และอตัมยตา  อันเป็นสุดยอดแห่งพุทธธรรมที่สอนให้ปล่อยวางอย่างเด็ดขาด                ท่านเคยปรารภว่า  หากชาวพุทธไม่รู้จักถ้อยคำเหล่านี้  ก็เหมือนเสียชาติเกิด  แต่การกลับไปหา แก่นพุทธธรรม  ของท่านพุทธทาส  มิใช่เป็นการย้อนเส้นทางโบราณ  หากเป็นการกลับไปอย่างทันสมัยและเป็นวิทยาศาสตร์  กล่าวได้ว่า  สวนโมกข์เป็นวัดที่สอนธรรมะลึกซึ้งที่สุด  ด้วยวิธีการที่ทันสมัยที่สุด  ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มใช้อุปกรณ์ทางโสตทัศนศึกษาและวิทยุกระจายเสียงสอนธรรมะ  การสร้างโรงภาพยนตร์ทางวิญญาณสื่อธรรมะด้วยภาพปริศนาธรรมสมัยใหม่ให้สนุกเหมือนดูหนัง  แทนการดูภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบเก่า ๆ หรือการทำสระน้ำ  นาฬิกา  เพื่อเป็นนิทรรศการสอน นิพพาน  ในชีวิตประจำวันอย่างง่าย ๆ ตามคติเก่าที่ท่านพุทธทาสได้มาจากเพลงกล่อมเด็กพื้นฐาน  เป็นต้น  ท่านต้องการให้  สวนโมกขลาราม  เป็นห้องทดลองค้นคว้าทางจิตใจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อ  โมกขะ  ความเป็นอิสระหลุดพ้น                สวนโมกข์เป็นวัดป่าแห่งแรกที่ประสานการเรียนทฤษฎีกับการปฏิบัติเข้าด้วยกัน  ซึ่งเดิมพระฝ่ายปริยัติ  (ทฤษฎี)  และฝ่ายปฏิบัติ  มักจะแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด  ปัจจุบันคำยาก ๆ อย่าง  อิทัปปัจจยตาหรือสุญญตา  เริ่มติดริมฝีปากปัญญาชนไทยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน  ไม่ว่าจะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้เพียงใดก็ตาม                การที่ท่านพุทธทาสฝ่าฟันอุปสรรคมาได้ตลอดระยะเวลากว่า  60  ปีนั้น  ก็ด้วยสติปัญญาและการฝึกฝนอบรมตนเองจนมีความรู้จริงในเรื่องที่ท่านเผยแพร่  ท่านยังโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากพระผู้ใหญ่ผู้มีใจเป็นธรรมมาโดยตลอด  เช่น  เมื่อคราวที่เพิ่งก่อตั้งสวนโมกข์ได้เพียง  5  ปี  และกำลังถูกโจมตีดังที่ท่านกล่าวไว้เองว่า  ขณะนี้กำลังถูกคนส่วนใหญ่หาว่าแหวกแนวหรืออุตริวิตถาร  หรือถึงกับหาว่าสถานที่นี้เป็นที่เก็บพวกพระซึ่งเป็นบ้า  ท่านก็ได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพุทธโฆษาจารย์  (เจริญ  ญาณวรเถระ)  ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระผู้ใหญ่ระดับสูงสุดของคณะสงฆ์เวลานั้น  เพราะเจ้าประคุณสมเด็จองค์นี้เป็นถึงประธานกรรมการมหาเถรสมาคม  ซึ่งทำหน้าที่บัญชาการคณะสงฆ์แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันด้วย  แต่กระนั้น  จนบัดนี้  สวนโมกช์ก็ยังตนเป็นเป้าโจมตีอย่างรุนแรงจากคนบางกลุ่มในการทำงานของท่าน  เช่น  ถึงกับมีขบวนการอนุรักษ์ศาสนา  ขบวนการหนึ่งกล่าวหาท่านว่าเป็น  เดียรถีย์ทาส  หรือเมื่อไม่นานมานี้ก็มีบางกลุ่มกล่าวหาท่านว่าสอน  เพี้ยน"” หรือถึงกับกระทบกระเทียบสวนโมกข์ว่าเป็น  ดีสนีย์แลนด์                แม้จะเป็นพระมหาเถระผู้มีชื่อเสียงมากแล้ว  ท่านพุทธทาสก็ยินดีรับฟังคำวิจารณ์เหล่านี้ด้วยใจเป็นกลาง  ไม่เคนโต้ตอบด้วย  ท่านชอบปะทะสังสรรค์ทางความคิดในเรื่องของเนื้อหาและหลักการมากกว่าจะก่อนความขัดแย้งในเรื่องของตัวบุคคล  สิ่งเหล่านี้เป็นหลักที่ท่านยึดถือในการทำงานมาโดยตลอดและสามารถผ่านอุปสรรคมาด้วยดี                ท่านเผยแพร่ธรรมะด้วย  จิตว่าง  ไม่ยึดติดในลาภยศ  ชื่อเสียง  จึงไม่เดือดร้อนที่จะคอยแก้ต่างให้ตนเองเพื่อรักษาภาพพจน์ชื่อเสียง  ท่านเคยกล่าวไว้เป็นอนุสสติแก่คนรุ่นหลังไว้ว่า                การรักษาชื่อเสียง  คือการกระทำของคนทุจริตหลอกลวง  คนบริสุทธิ์แท้จริงไม่ต้องกังวลในการรักษาชื่อเสียงแม้แต่น้อย...                ชื่อเสียงที่ต้องรักษา  คือ  ชื่อเสียงที่ได้มาโดยทุจริตหลอกลวง  รักษาเพื่ออย่าให้เปิดเผยขึ้นว่าหลอกลวง  เป็นกังวลอย่างที่ใจไม่มีโอกาสบริสุทธิ์  พุทธบุตต์ทุกคนไม่มีกังวลในการรักษาชื่อเสียง  มีกังวลแต่การทำความบริสุทธิ์เท่านั้น  เมื่อได้ทำความบริสุทธิ์  มองเห็นชัดเจนใจอยู่แล้วว่า  นี่มันบริสุทธิ์  เป็นธรรมแท้ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม  เราจะต้องทำด้วยความพยายามอย่างสุดชีวิต  จะมีชื่อเสียงหรือไม่นั้น  อย่านึกถึงเลยเป็นอันขาด  จะกลายเป็นเศร้าหมองและหลอกลวงไปไม่มากก็น้อย                ปัจจุบัน  ภาพลักษณ์ของสวนโมกข์และท่านพุทธทาสในฐานะที่สอนธรรมะอย่างเป็นวิทยาศาสตร์กลายเป็นที่รับรู้และเข้าใจคนส่วนใหญ่แล้ว  อย่างน้อยที่สุด  พุทธทาสสายสวนโมกข์ต่อต้านไสยศาสตร์  โดยมีสหธรรมิกคือ  ท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิเมธี (ปัญญานันทะภิกขุ)  และพระพยอม  กัลยาโณช่วยเผยแพร่                คุณูปการของท่านพุทธทาสอีกประการหนึ่งซึ่งมีความหมายอย่างมากต่อยุคร่วมสมัย  และต่ออนาคตของเรานั่นคือ  ความเป็น  นักสากลนิยม  มีปัญญาชนไทยและชาวต่างประเทศจำนวนน้อยเท่านั้นที่มองเห็นความสำคัญของ  ปรากฏการณ์พุทธทาส  ในแง่นี้                ท่านพุทธทาสเคยปรารถว่า  เมืองไทยเป็นเมืองพุทธอยู่ที่เปลือกกระพี้  ไม่สามารถสื่อกับโสกสากลได้  แต่ก่อนเมื่อชาวต่างประเทศหันมาสนใจพุทธศาสนาแบบเถรวาทก็มักจะมองไปที่ลังกาและพม่า  เพราะมีพระสงฆ์และปัญญาชนพุทธที่มีความรู้พุทธศาสนาอย่างแตกฉานและสื่อความเข้าใจเป็นภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี  เดี๋ยวนี้พระสงฆ์หรือคนไทยเราเองถ้าจะเรียนต่อวิชาพุทธศาสนาในระดับสูงก็ยังต้องไปเรียนที่ศรีลังกา  อี.เอฟ. ชูเมกเกอร์  เอง  เมื่อเขียนเรื่อง  เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ  ก็ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาในพม่า  ท่านพุทธทาสมีความประสงค์จะให้เมืองไทยเป็นแหล่งพุทธศาสนาสำหรับสากลด้วย  ท่านจึงอุทิศตนศึกษา  ลัทธิของเพื่อไม่ว่าจะเป็นแนวมหายาน  คริสต์  อิสลาม  แนวคิดเชิงสังคมของตะวันตก  แม้แต่ลัทธิคอมมิวนิสต์  ตลอดจนติดตามข่าวสารบ้านเมืองและความเคลื่อนไหวทางศาสนาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ                แม้จะมีความรู้จากโรงเรียนเพียงมัธยม  2  ในระบบการศึกษาระบบเก่า  แต่ท่านพุทธทาสก็อ่านและแปลภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี  ภายในแวดวงพุทธศาสนาด้วยกัน  ท่านได้ศึกษาทั้งมหายานและวัชรยาน  จนได้แปล  คัมภีร์เว่ยหล่าง  และ  ฮอนโป  อันเป็นคัมภีร์หลักของเชน  ในด้านวัชรยานท่านได้นำภาพปฏิจจสมุปบาทอย่างธิเบต  มาใช้อธิบายในสวนโมกข์จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายและท่านกับองค์ดาไลลามะประมุขของวัชรนิกายก็ได้พบปะสนทนาธรรมะกันอย่างใกล้ชิดถึงสองครั้ง                ท่านยังศึกษาคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนาและคัมภีร์อัลกุรอ่านของอิสลาม  ท่านเป็นผู้มิใช่คริสตชนท่านแรกที่ได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงปาฐกถาสำคัญประจำปีของสภาคริสตจักรแก่งประเทศไทยที่เชียงใหม่  และได้เรียนหนังสือชุด  สอนพุทธศาสนาผ่านคัมภีร์ไบเบิล  และใจความแห่งคริสตธรรมเท่าที่พุทธบริษัทควรทราบ                ในส่วนของศาสนาอิสลามนั้นท่านยังเปิดให้ตีพิมพ์เรื่องที่เรียนมาจากนักศึกษาฝ่ายอิสลามลงในวารสาร  พุทธศาสนา  ของสวนโมกข์  ซึ่งเป็นเวทีเผยพร่แนวความคิดของสวนโมกข์ในยุคแรก  การที่ท่านเปิดใจกว้างสู่โลกทางปัญญานอกกระแสพุทธแบบของไทยออกไปมิใช่เพราะท่านต้องการเป็นมิชชันนารี  หากท่านเคยตั้งใจว่า                ปณิธานแห่งชีวิตของข้าพเจ้ามี  3  ข้อ  คือ  ให้พุทธศาสนิกชน  หรือศาสนิกชนแห่งศาสนาใดก็ตามเข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งสุดแห่งศาสนาของตนหนึ่ง,  ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาหนึ่ง, ถึงเพื่อมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยมหนึ่ง,  และข้าพเจ้าได้พยายามเพื่อความสมบูรณ์แห่งปณิธานเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา                ที่สำคัญยิ่งกว่านี้คือ  ท่านได้นำหลักธรรมทางศาสนาเข้าไปมีบทบาทในการหาทางออกให้กับปัญหาสังคม  ท่านเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่พูดเรื่อง  พุทธธรรมกับเจตนารมณ์ประชาธิปไตย  และพุทธธรรมกับสันติภาพ  และพุทธศาสนากับปัญหานิเวศน์วิทยา  และธัมมิกสังคมนิยม  ตลอดจนความคิดเรื่อง  ธรรมดา  ที่ท่านต้องการยกฐานะของสตรีเพศให้สามารถปฏิบัติธรรมได้ทัดเทียมกับบุรุษเพศ  ท่านเตือนคนรุ่นใหม่อยู่เสมอว่า  หากศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ  ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าชาวต่างประเทศที่สนใจพุทธศาสนาหรือสนใจศาสนาในระดับสากล  หรือที่เรียกว่า  “Ecumenical”  นั้นจะต้องศึกษา  ผลงานของท่านพุทธทาส  ปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยที่มีแผนกสอนวิชาศาสนาทั้งในยุโปและอเมริกาเหนือล้วนศึกษางานของท่าน  ปัจจุบันมีการแปลงานสำคัญของท่านเป็นภาษาอังกฤษไม่น้อยกว่า  150  เล่ม  ภาษาฝรั่งเศสไม่น้อยกว่า  15  เล่ม  และภาษาเยอรมนี  8  เล่ม  นอกจากนั้นยังแปลเป็นภาษาจีน  อินโดนีเซีย  ลาว  และตากาล็อคอีกด้วย  กล่าวได้ว่า  ในประวัติศาสตร์ไทยท่านพุทธทาสมีผลงานที่เป็นหนังสือแปลสู่ต่างประเทศมากที่สุด                ในโลกพุทธศาสนาสากลเวลานี้  บุคคลชั้นนำทางพุทธศาสนาที่ทั่วโลกยอมรับมีอยู่  3  ท่าน  คือ  องค์ดาไลลามะ  แห่งวัชรยาน  ท่านพุทธทาส  แห่งเถรวาท  และท่านติช  นัท  ฮันท์  แห่งนิกายเซน  ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ  วะสี  นักคิดชั้นนำฝ่ายอุบาสกเคยกล่าวไว้ว่า                ศาสนาธรรมที่จะมีผลต่อโลกทั้งโลกได้  จะต้องมีความเป็นสากล  นี้เป็นสิ่งที่สำนักสวนโมกขพลาราม  ได้ทำมากที่สุดอันเป็นการตระเตรียมธรรมะไว้สำหรับโลกโดยแท้                การอุบัติขึ้นของ  พุทธทาส  จึงมิใช่ปรากฏการณ์เพียงชั่วครู่ชั่วยามในชั่วอายุขัยของเราเท่านั้น  แต่จะส่งทอดความหมายและคุณูปการไปไกลในศาสนทรรน์และประวัติศาสตร์  ภูมิปัญญาของสังคมไทยและโลก  การที่สามัญชนระดับท้องถิ่นและผ่านการศึกษามาในระบบเพียงเล็กน้อย  แต่สามารถขึ้นมาสร้างสรรค์ความมั่นคงทางสติปัญญาจนกลางเป็นนักคิดคนสำคัญแห่งยุคได้นั้น  นับเป็นปรากฏการณ์ที่มีความหมายมาก  หากสังคมไม่สังเกตเห็นความหมายดังกล่าว สังคมนั้นก็คงไม่มีวันเติบโตเห็นความหมายดังกล่าว  สังคมนั้นก็คงไม่มีวันเติบโต  ไม่มีอะไรที่เป็นความภาคภูมิใจของตนเอง  ต้องคอยเดินตามหลังสังคมอื่นตลอดไป                แต่เหนืออื่นใด  พุทธทาสภิกขุ  เป็นพยานบุคคลชั้นนำ  ผู้ทรงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ท่านในสังคมไทยเรานี้ที่ได้มาใช้ชีวิตร่วมยุคสมัยกับเรา  แต่ได้แสดงให้เราประจักษ์แล้วว่าชีวิต  โลกุตตระในท่ามกลางโลกียวิสัยนั้นยังมีอยู่จริง          
คำสำคัญ (Tags): #พุทธทาส
หมายเลขบันทึก: 117993เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2007 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท