เมืองลำพูน พ.ศ. 2570 (4)


ในการมองอนาคตครั้งนี้ เราใช้ทั้งกล้องส่องทางไกล และกล้องจุลทรรศน์

กระบวนการ foresight ที่ดีจะเริ่มด้วยการ “นิยามโจทย์” และ “เฝ้าติดตาม” เพื่อเข้าใจและดักจับสัญญาณ

โจทย์ในครั้งนี้คือ การมองแนวโน้มของสภาพสังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการเมือง รวม ๆ เรียกว่า STEEP (มาจาก social, technology, economic, environment, politic) ของเมืองลำพูนจนถึงปี พ.ศ. 2570 รวมไปถึงความผันผวน ความไม่แน่นอน ที่อาจเกิดขึ้นได้ จากสิ่งที่ยังไม่ได้เห็นเป็นแนวโน้มที่ชัด ๆ ในวันนี้ แต่เริ่มมีสัญญาณอ่อน ๆ ปรากฏให้เห็น การเฝ้าติดตามที่ว่านั้น ก็เพื่อที่จะดักจับสัญญาณแบบนี้

ขอบเขตของการศึกษาคือเมืองลำพูน ไม่ใช่จังหวัดลำพูน แต่เป็นเขตอำเภอเมือง เจาะจงในเขตเทศบาลเมือง และตำบลบ้านกลาง อันเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเท่านั้นนะครับ

เราใช้วิธีการระดมสัมภาษณ์ชาวเมืองลำพูน และนักวิชาการผู้เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง แล้วนำมาวิเคราะห์ จนสรุปออกมาได้เป็นหนังสือเล่มหนึ่ง เพื่อแจกจ่ายกลับไปให้ชาวเมือง ผมควรต้องยอมรับว่า การเฝ้าติดตามและวิเคราะห์นี้ ทำภายใต้ข้อจำกัดด้วยเวลาค่อนข้างสั้น และคงจะไม่ละเอียดลึกซึ้งเท่าที่ใจต้องการ ก็ขอให้ถือว่าเป็นการวิเคราะห์เบื้องต้นเท่านั้นนะครับ

ขณะที่อีกส่วนสำคัญ คือการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ไทยและโลกโดยรวม เพื่อสนับสนุนนั้น ดำเนินการโดยผมและคณะผู้ร่วมโครงการ ซึ่งบุคคลสำคัญก็คือ หนุ่มไฟแรงคนนั้น เขาชื่อ ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ พร้อมด้วยทีมงานฝีมือดีของ สพน. ร่วมกับ APEC Center for Technology Foresight

หลักสำคัญข้อต่อมา ท่านว่าต้องให้เกิดเวทีการมีส่วนร่วม ที่จะช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการมองเห็นถึง ”แนวโน้ม” บวกกับ “ความผันผวน” ที่อาจเกิดขึ้นได้จริงในอนาคต เรื่องแบบนี้พูดง่ายแต่ทำให้ดีทำยาก

เราเลือกทำงานยากชิ้นนี้โดยแยกเป็นสองขั้นตอนครับ ขั้นตอนแรกเป็นการทำเวทีร่วมกันวิเคราะห์เชิงลึกเหมือนกับใช้กล้องจุลทัศน์ส่อง โดยวิธีการที่เรียกว่า “การวิเคราะห์อย่างเป็นลำดับขั้น (causal layered analysis – CLA)” วิธีการนี้พัฒนาขึ้นมาโดยศาสตราจารย์ Sohail Inayatullah 

เขาใช้วิธีตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วมระดมความคิด จาก 1) ระดับผิวเผินหรือระดับปรากฏการณ์ แล้วในเรื่องเดียวกันนั้นก็ถามทะลุลงไปถึง 2) ระดับเหตุผลที่มาของปัญหา หรือปรากฏการณ์นั้น ในเชิงกลไกหรือระบบสังคมเศรษฐกิจ ถัดจากนั้นถามต่อไปจนถึง 3) ระดับโลกทัศน์หรือค่านิยม แล้วไปสุดที่ 4) ระดับจิตใต้สำนึก สัญลักษณ์ หรือความเชื่อฝังลึกอันยากที่จะเปลี่ยนแปลง

คำถามทั้ง 4 ระดับนี้เขียนออกมา เป็นแผนภูมิได้เหมือนกับภูเขาน้ำแข็งที่มีสี่ชั้น ดังที่เห็นในภาพครับ

หมายเลขบันทึก: 117720เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2007 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท