ระบบวิจัยของประเทศ


              ผมได้รับหนังสือจาก ดร. กิตติวัฒน์ อุชุปาละนันท์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี      เชิญประชุม ว่า รองนายกฯ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ต้องการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ     ในวันที่ ๓ ส.ค. ๕๐ เวลา ๑๗.๓๐ น. ที่ห้องท่านรองนายกฯ      เพื่อพิจารณาแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาคมวิจัย     ในการออกแบบการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศอย่างมีบูรณาการ

            ผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมประกอบด้วย
1. ศ. ดร. ธีระ สูตะบุตร  รมต. เกษตร และประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ
2. ศ. ดร. อานนท์ บุณยะรัตเวช  เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
3. ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการ สคส.
4. รศ. ดร. สุริชัย หวันแก้ว  อจ. คณะรัฐศาสตร์  และ ผอ. สถาบันวิจัยสังคม   จุฬาฯ
5. ดร. กอปร กฤตยากีรณ  ที่ปรึกษา รมต. วิทย์
6. นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์  เลขาธิการ มสช.
7. ดร. อุทิศ ขาวเธียร  รองเลขาธิการ สศช.
8. ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย  รอง ผอ. สกว.

         มาประชุมกันพร้อมเพรียง ยกเว้น นพ. สมศักดิ์     โดย ดร. กิตติวัฒน์ ร่วมสรุปการประชุม

         ข้อสรุปสำคัญที่สุดคือ ประเทศไทยขาดกลไกจัดการวิวัฒนาการของระบบวิจัยของประเทศ     ทำให้ระบบวิจัยมีประเด็นที่จะต้องพัฒนา ๖ ด้าน เพื่อให้ระบบวิจัยเป็นกลไกขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของประเทศ    คือ
1. Size (ขนาด)  เล็กกว่าที่ควรจะเป็น ๔ – ๕ เท่า      ดูที่เงินวิจัย  จำนวนนักวิจัย  และผลงานวิจัย
2. Complexity  ระบบวิจัยไทยยังไม่ซับซ้อนพอ     เพราะผู้บริหารประเทศมักต้องการให้เป็น simple system (เอกภาพ) เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม
3. Connectivity  ความเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ  เช่น ระบบ ว&ท   ระบบการผลิต   ระบบการศึกษา   ระบบสุขภาพ   ระบบการป้องกันประเทศ   ระบบสังคม      รวมทั้งเชื่อมโยงกับผู้ใช้ผลงานวิจัย    ทำให้ระบบมีลักษณะ demand – driven  มากกว่า supply – driven   
4. Dynamism ของระบบ     ไม่ใช่การกำหนดพิมพ์เขียวของระบบ     แต่มีกลไกที่เป็นเหมือนไดนาโม หมุนวิวัฒนาการของระบบวิจัยของประเทศ
5. Management    เน้นที่ทักษะด้านการจัดการระบบ  และอนุระบบ ของการวิจัย
6. Public Image  ภาพลักษณ์ของระบบวิจัยต่อคนทั่วไป     ที่มองเป็นการลงทุน (investment)     ไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่าย (expense)     มองเป็นความฟุ่มเฟือยสูญเปล่า     ไม่มองว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนสังคม    

         ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า    ควรดำเนินการ ๒ แนวทางไปพร้อมๆ กัน     คือ

1. เลือกเรื่องที่สำคัญและดำเนินการได้เลย  เช่น การเพิ่มจำนวนนักวิจัย   การเชื่อมโยงกับภาคเอกชน    ระบบติดตามประเมินผล    นำมาดำเนินการร่วมกัน
2. หน่วยไดนาโม ขับเคลื่อนวิวัฒนาการของระบบ

          โดยดำเนินการแบบแยกแยะ    หาเรื่องราวของความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอด ขยายผล

วิจารณ์ พานิช
๓ ส.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 117579เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2007 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท