การเขียนวิทยานิพนธ์ : อาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์


การเขียนวิทยานิพนธ์ : อาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์

         อาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ถือว่ามีความสำคัญยิ่งเพราะมีความเกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มต้นจนจบหลักสูตร อาจารย์ควบควบคุมวิทยานิพนธ์เป็นเสมือนไฟส่องทางหรือสื่อที่จะสามารถถ่ายทอดความคิด ความรู้และคำตอบของประเด็นปัญหาที่นิสิต นักศึกษาได้ทำการวิจัยค้นคว้า  โดยทั่วไปแล้วการเลือกอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์แต่ละสถาบันมีหลักเกณฑ์ไม่เหมือนกัน แต่จะไม่แตกต่างกันมาก  การเลือกอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ที่เหมาะสมจะช่วยให้กระบวนการทำวิทยานิพนธ์ของนิสิต  นักศึกษามีความราบรื่นยิ่งขึ้น ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำวิทยานิพนธ์ คุณลักษณะของอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์หรืออาจารย์ที่ปรึกษา(Advisor) ที่เลือกต้องสอดคล้องกับเรื่องที่นิสิต นักศึกษาสนใจ  นอกจากนี้ก่อนการเลือก นิสิต นักศึกษาควรเข้าพบ ทาบทามอาจารย์มาเป็นที่ปรึกษา   ซึ่งบางครั้งอาจารย์อาจจะไม่รับเป็นที่ปรึกษาก็ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า อาจารย์ท่านนั้นไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่นิสิต นักศึกษาทำหรืออาจารย์รับเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ครบแล้วและอาจารย์ไม่มีเวลาในการให้คำปรึกษา  การศึกษาลักษณะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ก่อนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ลักษณะสำคัญที่สุดของอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ คือ รู้ขั้นตอนการทำวิทยานิพนธ์ มีเวลาให้นิสิต นักศึกษา จริงใจต่อนิสิต  นักศึกษาและมีความรู้ความสามารถ รวมถึงด้านบุคลิกภาพ ล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญยิ่งขององค์ประกอบที่จะทำให้วิทยานิพนธ์มีคุณภาพและประสบความสำเร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ได้

หลักเกณฑ์ในการเลือกอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์

          วิทยานิพนธ์จะประสบความสำเร็จได้นั้น บางครั้งต้องขึ้นอยู่กับอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ เป็นสำคัญถ้านิสิต นักศึกษาได้อาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ที่ดี  การทำวิทยานิพนธ์มีความสำเร็จไปแล้วเกือบครึ่ง ในทางกลับถ้าได้อาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ไม่มีคุณภาพการจะทำวิทยานิพนธ์จะเสร็จสมบูรณ์มีคุณภาพนั้นเป็นไปได้ยาก ดังนั้นนิสิต นักศึกษาจะเลือกอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ ควรพิจารณาหลักเกณฑ์ดังนี้


   1.  รู้ขั้นตอนการทำวิทยานิพนธ์ 
             โดยทั่วไปแล้วแต่ละสถาบันจะมีรูปแบบและขั้นการทำวิทยานิพนธ์ไม่แตกต่างกันมากนัก  จะแตกต่างกันตรงรายละเอียดบางหัวข้อหรือบางประการเท่านั้น ดังนั้นการเลือกอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการทำวิทยานิพนธ์ตามคู่มือการเขียนวิทยานิพนธ์ของสถาบัน  ข้อบังคับ  ระเบียบและประกาศของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาแล้ว จะสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่นิสิต  นักศึกษา ได้เป็นอย่างดี ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้านิสิต  นักศึกษาได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำวิทยานิพนธ์ที่ถูกต้องแล้ว จะทำให้สามารถวางแผนล่วงหน้าก่อนลงมือทำจริงได้ชัดเจน  มีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนเมื่อใดจะเริ่มทำอันไหนก่อน-หลัง รวมทั้งสร้างนิสัยของนิสิต  นักศึกษา ให้ทำงานเป็นระบบมากขึ้น
      2.  ความรู้ความสามารถของอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ 
           การเลือกอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ที่มีความรู้ความสามารถจะทำให้การทำวิทยานิพนธ์ของนิสิต  นักศึกษาประสบความสำเร็จง่ายยิ่งขึ้น ถือว่าปัจจัยสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้  ในทางกลับกันถ้านิสิต  นักศึกษาเลือกอาจารย์ที่ไม่มีความรู้ความสามารถในเรื่องที่ทำ จะทำให้งานวิทยานิพนธ์ออกมามีคุณภาพน้อยและจะมีปัญหาในการดำเนินการทำวิทยานิพนธ์  การเขียนวิทยานิพนธ์ การสอบเค้าโครงและการสอบปากเปล่าด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่นิสิต นักศึกษาไม่อยากให้เกิดขึ้น สิ่งที่ต้องการให้มีคือต้องการอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ที่มีความรู้ความสามารถ สามารถให้คำปรึกษา  คอยชี้แนะ ช่วยเหลือเวลาขึ้นสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์และสอบปากเปล่า ซึ่งบุญชม  ศรีสะอาด(2544 : 31) กล่าวว่า ลักษณะอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ที่นิสิต นักศึกษาต้องการมากด้านความรู้ความสามารถคือ 
         2.1  มีความรู้ในเรื่องที่นิสิตทำวิทยานิพนธ์
         2.2  มีประสบการณ์ในการทำวิทยานิพนธ์
         2.3  มีความรู้ความสามารถในด้านสถิติ  สามารถชี้แนะแนวทางการเลือกใช้สถิติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามข้อตกลงเบื้องต้นของสถิติ ไม่ฝ่าฝืนข้อตกลงเบื้องต้นของสถิตินั้น  รวมทั้งสามารถให้คำปรึกษา  แนะนำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ด้วย
        2.4  มีความรู้ในการวิจัยประเภทต่าง ๆ  เช่น  วิจัยเชิงปริมาณและวิจัยเชิง
คุณภาพ  เป็นต้น
        2.5  รู้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลในการทำวิจัย 
        2.6  ให้คำแนะนำเกี่ยวกับรูปแบบวิทยานิพนธ์  การเรียบเรียงภาษา  การเรียงลำดับหัวข้อ  การใช้ภาษาที่เป็นแนวเดียวกันและแหล่งศึกษาค้นคว้าข้อมูลได้
    2.7  สามารถเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์เพื่อให้นิสิต  นักศึกษาเลือกได้
     2.8  สามารถชี้ปัญหาในการทำวิจัยได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง
     2.9  เป็นผู้มีตำแหน่งทางวิชาการ(ผศ.  รศ.)และเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ มีความรู้รอบตัว
    2.10  สามารถให้คำแนะนำ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขปัญหาในการทำวิทยานิพนธ์
  3.  เวลา 
   การเลือกอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ที่มีเวลาให้คำปรึกษาเป็นสิ่งประเสริฐอย่างยิ่งและที่สำคัญ การตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบสูง  ไม่เลื่อนนัดมากจนเกินไป จนทำให้แผนการดำเนินการทำวิทยานิพนธ์ล้ม ดังนั้นเวลาของอาจารย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อถึงเวลานัดหมายแล้วอาจารย์ให้คำปรึกษามากน้อยเท่าใด และอาจารย์นัดหมายให้พบกี่ครั้ง การที่อาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์มีเวลามากเท่าใดยิ่งดีสำหรับนิสิตที่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางการวิจัยและไม่เคยทำงานวิจัยมาก่อน เพราะจะได้ขอคำปรึกษาทั้งกระบวนการ  ระเบียบวิธีวิจัยและการเลือกใช้สถิต  เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ต้องได้รับคำปรึกษา ขอคำชี้แนะจากอาจารย์ที่ปรึกษา เวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการทำวิทยานิพนธ์ให้ประสบความสำเร็จ แต่กระนั้นเมื่ออาจารย์มีเวลาให้กับนิสิตเต็มที่ นิสิตควรฉกฉวยโอกาสให้ได้มากที่สุด  ไม่ควรจะปล่อยเวลาให้สูญเสียโดยเปล่าประโยชน์  จะพบว่ามีกรณีตัวอย่าง เช่น  นิสิตส่วนมากคิดว่าค่อยไปเร่งช่วงสุดท้าย ซึ่งบางครั้งทำให้อาจารย์ไม่มีเวลาและจะส่งผลเสียต่อนิสิตโดยตรงและทางอ้อม เพราะนิสิต นักศึกษาคิดว่าอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์คงจะมีเวลาให้คำปรึกษาตลอดเวลา    ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่และที่สำคัญนิสิต  นักศึกษาควรทำตารางนัดหมาย รายละเอียดศึกษาได้ในบทที่ 8
  4.  ความจริงใจ  
   นิสิต  นักศึกษาควรเลือกอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ที่มีความจริงใจต่อนิสิต   ทั้งนี้เพราะจะต้องทำงานร่วมกับอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ตลอดระยะเวลาที่ทำวิทยานิพนธ์ จึงควรเลือกอาจารย์ที่ให้ความสำคัญกับงานวิทยานิพนธ์อย่างจริงใจ ไม่ปิดปังและสามารถอุทิศเวลาให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่ไม่หน่วยเหนี่ยว กีดกันไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมให้นิสิต  นักศึกษาเสียเวลาและทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก  เช่น การตรวจงานวิทยานิพนธ์ไม่ควรจะล้าช้าเกินเวลาที่ควรจะเป็นหรือการลงนามเซ็นแบบฟอร์มต่าง ๆ 
  5.  บุคลิกภาพ 
   ถือว่ามีความสำคัญยิ่งเช่นเดียวกัน บุคลิกภาพของอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์เป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้นิสิต  นักศึกษามีกำลังใจในการทำงาน สร้างแรงจูงใจในการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งมีกรณีตัวอย่างหลายครั้งที่นิสิต นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ไม่สำเร็จ เพราะบุคลิกภาพและนิสัยใจคอเข้ากันไม่ได้  ทำให้การทำงานเกิดความขัดแย้งส่งผลเกิดความเบื่อหน่ายในการทำวิทยานิพนธ์มากที่สุดและสิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือเปลี่ยนอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ ส่งผลเสียทำให้เสียเวลา เสียเงินและกำลังงานต้องมานับหนึ่งใหม่อีกครั้ง จากการสำรวจโดยทั่วไปแล้วบุคลิกภาพอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ที่นิสิต  นักศึกษาต้องการ คือ มีความเสียสละ  มีความเป็นกันเองไม่ถือตัว  ใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาและผู้อื่น  สื่อความหมายกับนิสิต นักศึกษาได้ชัดเจน มีความรอบคอบ ไม่ดูถูกเหยียดหยาบความรู้ความสามารถของนิสิต  นักศึกษา  มีความยุติธรรมไม่ลำเอียงกับนิสิต นักศึกษา
คนใดคนหนึ่ง   ตัดสินใจได้รวดเร็วและถูกต้องตามหลักการ เหตุผลของกระบวนการทำวิทยานิพนธ์  แยกแยะเรื่องส่วนตัวและเรื่องการทำงานให้ชัดเจน  ดังนั้นนิสิต  นักศึกษาควรเลือกอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ที่มีบุคลิกภาพดี
  6.  ความสนใจในหัวข้อวิทยานิพนธ์ 
   การที่อาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์มีความสนใจหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่นิสิต นักศึกษาศึกษา ก็จะทำให้งานวิจัยมีความสำเร็จและมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้เพราะอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์มีความอยากรู้อยากเห็นผลการวิจัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจารย์จะมีเอาใจใส่ดูงานให้นิสิต นักศึกษาและให้ความช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วิทยานิพนธ์ประสบผลสำเร็จได้  ดังนั้นนิสิต นักศึกษา ควรเลือกหัวข้อที่น่าสนใจไม่ซ้ำงานที่เคยทำมาแล้วหรือเลือกหัวข้อที่มีความใกล้เคียงกับความเชี่ยวชาญของอาจารย์ด้วย
  7.  ลักษณะการทำงาน 
   นิสิต  นักศึกษาต้องเลือกอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ที่มีความพร้อมที่เต็มใจเป็นที่ปรึกษาให้จริง ๆ มีลักษณะการทำงานที่จะอุทิศเวลาให้วิทยานิพนธ์ที่ตนรับผิดชอบ ตรงต่อเวลาที่นัดหมายซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้นิสิต นักศึกษา สามารถวางแผนการทำงานล่วงหน้าก่อนลงมือทำจริงได้ชัดเจน นอกจากนี้อาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ต้องมีความสามารถในการชี้แจงเรื่องที่นิสิต นักศึกษาสงสัย  เกิดข้อข้องใจและมีความกระตือรือร้นที่จะร่วมงานกับนิสิตอย่างเต็มใจ และสิ่งที่นิสิต นักศึกษาต้องหลีกเลี่ยงอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ที่มีลักษณะการทำงานได้มาตรฐานต่ำ กล่าวคือ  ประเมินงานวิทยานิพนธ์ง่ายหรือไม่ตรวจรายละเอียดงานเลยแต่ให้ผ่าน  ซึ่งนิสิต นักศึกษาบางคนอาจจะพอใจ วิทยานิพนธ์สำเร็จตามที่กำหนดไว้แต่บางครั้งอาจจะไม่ประสบความสำเร็จตามมุ่งหวังไว้ เพราะอาจจะมีปัญหาในการขั้นตอนการสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ จะทำให้นิสิตไม่สามารถตอบคำถามของกรรมการหรือสอบไม่ผ่านได้  ที่สำคัญงานวิทยานิพนธ์ของนิสิต  นักศึกษาด้อยคุณภาพ
  8.  ทัศนะต่อการทำวิทยานิพนธ์
   ทัศนคติต่อการทำวิทยานิพนธ์ก็มีผลต่อการทำวิทยานิพนธ์ เช่นเดียวกัน ถ้านิสิต  นักศึกษา และอาจารย์มีทัศนคติทางบวกว่า การทำวิทยานิพนธ์จะช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถของนิสิต  นักศึกษา ทั้งการทำวิจัย ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพ  จะช่วยให้การทำวิทยานิพนธ์มีความสำเร็จมากขึ้น เพราะได้แรงเสริมทางบวก เมื่อเจออุปสรรคในขั้นตอนการทำวิทยานิพนธ์ ไม่ว่าจะเป็น  การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลและการสอบปากเปล่า อุปสรรคเหล่านี้จะไปผ่านไปและแก้ปัญหาได้เพราะทัศนคติทางบวกต่อวิทยานิพนธ์นั้นเอง  ในทางตรงข้ามถ้าเกิดอาจารย์หรือนิสิต  นักศึกษามีทัศนคติที่ไม่ดีแล้ว  ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้จะเข้ามาแทนที่ทำให้เกิดความล้าช้าในทำวิทยานิพนธ์ตามเวลาที่กำหนดที่ไว้  จะเห็นได้จากตัวอย่างในปัจจุบัน ที่นิสิต นักศึกษาไม่จบการศึกษาตามเวลากำหนด หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนเรียนสาขาใหม่  ซึ่งเหล่านี้เกิดจากทัศนคติที่ไม่ดีต่อวิทยานิพนธ์
   เมื่อนิสิต  นักศึกษาได้เลือกอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์หรือทราบว่าได้อาจารย์ท่านใดท่านหนึ่งเป็นที่ปรึกษาแล้ว  นิสิต นักศึกษาก็ควรติดต่อ ขอคำปรึกษา อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่ออาจารย์และนิสิต นักศึกษาจะมีพูดคุย ซักถาม ซึ่งอาจมีความคิดเห็นแตกต่างกัน  คนละแนวทางกันได้เสมอ    อย่างไรก็ตามพึงระมัดระวังอย่าให้ความคิดเห็นไม่สอดคล้องกันกลายเป็นความขัดแย้งส่วนตัว  เมื่อใดก็ตามที่ นิสิต นักศึกษารู้สึกว่าความคิดเห็น / ข้อเสนอแนะของตนไม่ได้รับความสนใจจากอาจารย์ที่ปรึกษา  ควรพยายามเข้าพบเพื่อหารือเรื่องนี้อย่างจริงจังกับอาจารย์ที่ปรึกษาทันที  พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อเริ่มมีปัญหากับอาจารย์ที่ปรึกษา  ต้องคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาโดยเร็ว    อย่าปล่อยให้ความคิดเห็นหรือทัศนะที่ไม่สอดคล้องกันพัฒนาไปเป็นความขัดแย้งหรือเป็นปรปักษ์กัน  อย่างไรก็ตามถึงแม้นิสิต  นักศึกษาจะเลือกอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ที่ดีที่สุดแล้ว แต่ถ้านิสิต  นักศึกษาไม่มีความรับผิดชอบในการทำวิทยานิพนธ์  สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จเหมือเดิม ดังนั้นต้องเริ่มจากนิสิต  นักศึกษาเป็นสำคัญ เพราะเป็นผู้ทำวิทยานิพนธ์นั้นเอง

ทองสง่า ผ่องแผ้ว 6/08/2550

หมายเลขบันทึก: 117286เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2007 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท