นิยามแห่งรัก


ปรัชญาความรัก

                โลกาภิวัตน์  ทำให้สังคมไทยเปี่ยมล้นด้วยความรัก  บางคนถึงกับสำรักความรักก็มี บางคนมีหมากับแมวเป็นที่รัก  แต่ไฉนสังคมไทยความสุขมวลรวมลดลง  ซึ่งเราจะเห็นว่าในแต่ละปี มีสถิติการหย่าร้างเพิ่มมากขึ้นทุกปี   ความรักคืออะไร  เป็นคำถามที่ตอบไม่เหมือนกัน ทั้งที่ทุกคนก็มีความรัก และปรารถนาให้ได้มาซึ่งความรัก  เหตุผลของความรักไม่ได้มาพร้อมกับการมีความรัก  ความเข้าใจหรือคำตอบจะปรากฏภายหลังจากที่เข้าถึงความรักแล้ว   การนิยามความรักนั้น เป็นการแสดงถึงตัวตนของผู้ที่อยู่ในภาวะแห่งรัก   ความรักจึงมีบทบาทและท่าทีการที่แสดงออกผ่านพฤติกรรมในลักษณะต่างๆ  ตามนิยามของแต่ละบุคคล  ดังนี้        

         1.            ความรักคือการดูแลและเอาใจใส่   เป็นความรักของวัยเด็กที่เกิดจากการได้รับ หรือพ่อแม่เป็นผู้มอบให้  มีลักษณะแห่งความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง    ที่เกิดกับเด็กๆ  โดยการเอาใจใส่และดูแล  เป็นวัยที่ทำอะไรไม่มีความผิด  เป็นความรักแบบไร้สาร ทำอะไรก็ให้ดูดีไปหมด               

           2.            ความรักคือความอยากรู้อยากทดลอง  เป็นความรักที่จะเกิดกับวัยรุ่นที่กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยง  ความอยากรู้อยากลองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบอารมณ์รู้สึก  หรือจะเรียกว่า  เป็นอารมณ์ที่มากับการเปลี่ยนถ่ายทางร่างกาย  จากภาวะเด็กไปสู่ความเป็นวัยรุ่น พฤติกรรมไม่ต่างจากนักวิทยาศาตร์เท่าใดนัก ต้องการคำตอบ  ที่เกิดจากการทดลอง   เราเห็นกลุ่มคนที่ตกอยู่ในภาวะความรักเช่นนี้อยู่มากในสังคม  ผลแห่งการมีรักไม่ได้สร้างความสุขให้อย่างแท้จริง  ตามที่ทุกคนเข้าใจ  เป็นความสุขแบบเสี่ยงทุกข์  มีหลายคนใช้ความรักแบบอยากรู้อยากทดลองฟุ่มเฟือย  จนกระทั่งต้นทุนแห่งรักหมดไปกับในช่วงของวัยรุ่นก็มาก  ตัวอย่างการเปรียบเปรยการเสียต้นทุนรักแต่เป็นเห็นวิกฤติโอกาสไป  ดังคำกล่าวประโยคที่ว่า   อกหักดีกว่ารักไม่เป็น  หรืออกหักไม่ยักกะตาย  หรือแทงหลังทะลุไม่หัวใจ   เป็นต้น               

           3.            ความรักคือความเข้าใจและเข้าถึง เป็นความรักที่ทำให้เกิดความรู้  เกิดสติปัญญา  เป็นความรักที่เป็นความรู้  ความรักในช่วงนี้ทำให้เข้าใจการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  การเรียนรู้กับการปรับใจ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ความรักจะสวยงามหรือไม่  ความรักเป็นพัฒนาการทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆหรือไม่  ไม่ใช่เริ่มมีความรักครั้งแรก  แต่เป็นระยะนี้  ใครเข้าใจและเข้าถึง จะทำให้ความรักที่ตนใฝ่หานั้นสวยงาม  หากว่า  ใครไม่เข้าใจหรือสายตามีเพียงสองเรา   ความรักจะงดงามเพียงชั่วคราวเท่านั้น  และตายไปกับอารมณ์การตอบสนองอารมณ์แห่งรัก  สังคมไทยในอดีตจึงมีกุสโลบายในการสร้างความเข้าใจและเข้าถึงความรัก  เช่นการสอนว่า  ช้าๆได้พร้าเล่มงาม (บางคนบอกว่าพร้าที่เหลือๆนั้นเป็นพร้าบิ่นต้องรีบ)    อย่าชิงสุกก่อนห่าม (บางคนบอกว่าผลไม้บางชนิดอร่อยมากตอนห่ามๆ)  รักดีห่ามจั่วรักชั่วหามเสา  (บางคนบอกว่าเสาหนักกว่าจั่ว)               

              4.           ความรักคือการเริ่มต้น  เป็นความรักที่เริ่มต้นจากการหลวมรวมความรู้สึกและความคิดเป็นแล้ว   จึงทำให้เกิดการแต่งงาน  การเริ่มต้นกับสิ่งใหม่ๆ  มีข้อจำกัดคือการทิ้งของเก่า  เช่น  บทบาทเก่า  พฤติกรรมเก่า  ความคิดเก่า  การกระทำเก่า   ความเห็นแก่ตัวเก่า  (ของตัวเอง)  แล้วผนวกความใหม่ระหว่างคนสองคน  เป็นช่วงแห่งการค้นพบ  เราจะพบสิ่งที่ไม่เคยได้เห็น  เห็นสิ่งที่ไม่เคยฟัง  สัมผัสกับปรากฏการที่ลี้ลับ  เป็นช่วงแห่ง การชี้นกเป็นไม้  ชี้ไม้เป็นนก  ก็ว่าได้  หลายคน  สายตาจะดีและกว้างไกล  เห็นอะไรชัดขึ้น หูที่เคยอื้ออึงหรือตึง  จะได้ยินชัดเจนแจ่มแจ๋ว (แหล่ม) ก็ตอนนี้หละ  สังคมไทย  มีวัฒนธรรมในการสร้างความสว่างตาเปิดใจ  ที่น่าอัศจรรย์คือ  ให้ล้างความสกปรกออกจากมือและใจก่อน (รดน้ำสังข์)  แล้วให้รวมใจของทั้งสองเป็นเช่นน้ำที่รดล้างมือ  เพราะคุณสมบัติของน้ำนั้น  ปรับตัว  เย็น  มีประโยชน์  เป็นหนึ่งเดียว ให้คนสองคนเป็นดังน้ำนั้น  ต่อจากนั้นมอบใจและกายให้กันและกัน มีชีวิตเป็นคนเดียวกัน  (สวมสายมงคล) ซึ่งสวมบนศีรษะของคู่บ่าวสาว ก็คือสติสัมปชัญญะ ซึ่งหมายความว่า  การมีสติและการรู้ตัว  ทำให้คู่บ่าวสาวรู้จักการสร้างเกียรติและรักษาเกียรติของกันและกัน การมอบกายให้ความรักอยู่ภายใต้ความบทบาทและหน้าที่   ปัจจุบันหลายคู่ไม่ได้ยึดแบบวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามเช่นนี้    เหมือนเมื่อครั้งในอดีตกระมัง  จึงมักขาดสติและขาดสัมปชัญญะ  ซึ่งเป็นผลให้เกิดปัญหากับครอบครัวมากมาย และโยงใยเป็นลูกโซ่กระทบต่อสิ่งอื่นๆ               

          5.             ความรักคือความทุกข์ เป็นสมบัติของครอบครัวอย่างแท้จริง เป็นระยะที่ตอบคำถามเกี่ยวกับความรักได้อย่างชัดเจนที่สุด การปฏิเสธหรือการยอมรับเป็นภาวะอันเดียวกัน  ในพุทธศาสนา กล่าวถึงความรักว่า  ความโศกเกิดจากมีความรัก  ความทุกข์เกิดจากการมีความรัก   โทมนัสเกิดจากการมีความรัก  ฯลฯ  ไม่ใช่การมองเห็นความรักในมุมร้าย ไม่ดี  แต่สอนให้มองความรักว่า  ถ้าเมื่อไรมีความรัก  ต้องมีเกราะป้องกันพิษรักด้วย  ถ้ามองแต่ไม่เห็น  หรือเห็นไม่เข้าใจ  เป็นเหตุนำไปสู่ความผิดพลาดในทางการปฏิบัติได้  เราพบความสุขแล้วชีวิตมีความสุข เป็นเรื่องธรรมดา  พุทธศาสนา สอนให้เห็นเหตุของความทุกข์ สอนให้เรียนรู้วิธีจัดการ  แล้วแปรสภาพให้เป็นต้นทุนชีวิตเสีย  จะทำให้เราเกิดการเรียนรู้ทุกข์และเป็นสุขได้ในทุกสถานการณ์               

                ความรักจะอยู่ในประเภทใดก็ตาม  ก็ยังเป็นสิ่งที่ดีในสายตามของมหาชน  แต่สิ่งที่น่าสนใจคือว่า  ทำไมยามที่เรายังไม่มีความรัก  อารมณ์เย็นได้  มีเหตุผลดี  พูดจากับใครๆ  ก็รู้เรื่อง  แต่พอมีความรัก ความรักเป็นกลายเป็นมลภาวะทางความรู้สึก  อารมณ์เคยเย็นก็ร้อนง่าย  เคยมีเหตุมีผลก็กลายเป็นหาไม่เจอ  เคยพูดรู้เรื่องกับไม่รู้เรื่อง(แฟน)  แต่กับคนอื่นรู้ดี  และอีกสารพัดจะเป็น  นี่กระมังที่เขาเรียกกันว่า พิษรัก  ความรักไม่ดีเลยในมิตินี้  เพราะความรักได้ฉุดกระชากลากเราให้เป็นไปต่างๆ  นานา ทำอะไรได้โดยไม่ละอายใคร  แล้วเราจะมีรักไปทำไม เมื่อมีแล้วไม่ดีกว่าการไม่มี  หรือเป็นเพราะความรักเป็นนายเรา  แล้วเราจะทำให้มันเป็นทาสเราได้บ้างไหมหนอ               

             ลัทธิเต๋า  ได้อธิบายว่า สรรพสิ่งจะคงอยู่และเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับความสมดุลของหยินกับหยาง  หรือภาวะที่เป็นของคู่กัน  อันว่าความรักก็เช่นเดียวกัน จะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ  คือเข้าใจว่า  มันมีภาวะสองภาวะในหนึ่งภาวะ (two in  one)   ดังนั้น  การเข้าใจว่าความรักคือสวนดอกไม้  หรือเปรียบประดุจดังสีชมพู  หรือนานาความหมาย  ถ้าไม่เข้าใจ หรือเห็นว่ามันเป็นด้านเดียว(บวก)  ที่ทำให้หลายคู่หลายคนสดชื่นสมหวัง มีพลัง มีอนาคต ทำให้เราทำอะไรได้สารพัด  ไม่เหนื่อย   ลัทธิเต๋ามองว่า  นั่นเป็นความรักครึ่งทาง  เมื่อไหร่ที่เราเห็นด้านลบด้วย (ไม่ดี)  กล่าวคือ  เห็นวิธีถนอมความรัก (อดทน)  เห็นวิธีทำให้มันยั่งยืน (ยิ้มทั้งน้ำตา)  เห็นวิธีที่ทำให้ภาวะรุนแรงมันเย็นได้ (หูหนวกตาบอด)  นั่นหละเรียกว่า  รักล้นใจ  คงไม่ต่างกับนิยามที่ฝรั่งกล่าวไว้ว่า  ความรักคือสวนดอกไม้ (ด้านดี)  ที่ต้องใช้น้ำตารด  (ด้านไม่ดี)               

             ถึงอย่างไรก็ตามรักก็จะคงอยู่คู่โลกต่อไป   จะดีเป็นสิ่งที่จรรโลงความรักของคนในโลกให้มีความสุขหรือไม่  มันขึ้นอยู่กับยุทธวิธีการครองรักครองเรือนแต่ละคู่  สิ่งหนึ่งที่อยากจะแลกเปลี่ยนคือ  ถ้าใครคิดจะแต่งงาน  ถ้ายังเห็นความรักเป็นแค่สวนดอกไม้ การแต่งงานเสี่ยงต่อการขาดทุนรัก  แต่ถ้าเมื่อไรเห็นว่า  ความยั่งยืนของความรักต้องใช้น้ำตารด  จึงจะทำให้เป็นรักนิรันดร์  ขอแนะนำ  ให้พิมพ์การ์ดแต่งงานได้เลย  มาถึงตรงนี้  ก็ยังมีความสงสัยอยู่เหมือนกันว่า  เพื่อนที่กำลังจะแต่งงานในวันที่  12 สิงหาคม  2550 และ  20 สิงหาคม 2550 นี้   เขาเห็นความรักเป็นอย่างไร  และเมื่อเวลานั้นมาถึงตัวเองบ้าง  จะตอบคำถามตัวเองได้อย่างที่คิดไหม                

คำสำคัญ (Tags): #ความรัก
หมายเลขบันทึก: 116402เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2007 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท