ย้อนความยามยังเด็ก : แมงดายามรุ่งอรุณ (Giant Water Bug)


สวัสดีครับทุกท่าน

    ช่วงนี้ฝนคงตกบ่อยๆ นะครับ น้ำในนาก็คงเต็ม มีน้ำใหม่ จากฝนห่าใหม่ น้ำใส ก็คงมีเสียงกบร้อง อึ่งอ่างบรรเลงเพลง พร้อมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากมาย ผมขอนำเสนอ แมงดานา นั่นเองนะครับ แล้วค่อยเอารายละเอียดว่าด้วยแมงดา มานำเสนอต่อในเชิงวิชาการนะครับ แมงดานั้นเป็นสัตว์จำพวกแมลงที่อยู่ในน้ำที่ใหญ่ที่สุดนะครับ เลยถูกเรียกว่า Giant Water Bug มีขาหกขา ซึ่งควรจะถูกเรียกว่าแมลง แต่ก็มีคนเรียกเป็นแมงดา มานะครับ ดังนั้น จะถูกใช้เป็นข้อสอบเพื่อหลอกเด็กบ่อยๆ สมัยเรียนวิชาชีววิทยานะครับ

http://www.life.uiuc.edu/ib/109/Insect%20rearing/giant%20water%20bug.html   http://www.pca.state.mn.us/kids/c-october.html   http://www.pca.state.mn.us/kids/c-october.html   

เกริ่นนำเรื่อง

    ท่านๆ คงเคยเจอฝนห่าใหญ่ใช่ไหมครับ ประมาณว่าฝนตกหนักในตอนกลางวันโดยตกครั้งแรก แล้วคืนนั้นท่านจะได้ยินเสียง กบร้อง อึ่งอ่าง คางคก เขียด อะไรเต็มไปหมดเลยครับ อิๆๆๆ แต่ผมไม่ได้มาเล่าทริคจับกบนะครับ เอาไว้โอกาสต่อไปครับ

คือฝนตกห่าใหญ่ผ่านไปแล้วนะครับ รุ่งเช้ามืดเลยครับ ท่านคิดว่าท่านจะหาอะไรได้บ้างครับ ให้ทายกันดูนะครับ 3...2...1....

ทริคที่ว่านั่นคือ การหาแมงดานานั่นเอง หากท่านเคยจำได้หรือเคยเห็นท่านจะเจอแต่ไข่แมงดานา ส่วนตัวแมงดาท่านจะต้อง งมด้วยมือ หรือจับด้วยสุ่ม คราวนี้มาดูเทคนิคการดำเนินเรื่อง ในตัวละคร ที่ชื่อว่า นุ้ย ดูนะครับ ว่าเค้าจะทำอย่างไร

เรื่อง ย้อนความยามยังเด็ก (ตอน แมงดายามรุ่งอรุณ)

"หลังจากฝนตกหนักเมื่อคืน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของท้องทุ่งนาและชนบนแห่งนี้ ด้วยการที่เล่ากันมาว่า หลังจากคืนฝนตกหนักคืนแรกในแต่ละครั้ง เจ้าแมงดาที่อาศัยอยู่บนเขา (เขาคือภูเขา) ก็จะบินออกมายังท่ามกลางท้องนาในคืนนั้นเช่นกัน แต่จะเริ่มวางไข่ในตอนเช้าวันรุ่ง ด้วยความชำนาญของนุ้ยและแม่ก็มิได้ปล่อยให้โอกาสที่ดีอย่างนี้ล่องลอยไป กว่าฝนจะตกครั้งใหม่ไปรู้เมื่อไหร่

เป็นปกติว่าถ้าฝนตกหนักวันนี้ คืนนี้เตรียมตัวหากบและจับแมงดานา ในวันรุ่งได้เลย ด้วยนิสัยของเจ้าแมงดา จะเริ่มไข่ตอนเช้าตรู่ และเมื่อไข่แล้วตัวเมียก็จะเป็นที่ต้องการ ของชาวนาผู้ล่าในละแวกนี้ แมงดาตัวผู้ก็เป็นที่ต้องการเช่นกันเพราะว่ากลิ่นมันได้รสชาติมากเลย โดยเป้าหมายมีอยู่สองอย่างคือ ถ้าจับได้มากก็จะนำไปขายหรือแจกญาติพี่น้อง โดยราคาค่อนข้างสูงมาก ตัวละสิบห้าถึงยี่สิบบาท กับอีกอย่างคืนนำมาตำน้ำพริกที่เรียกว่าน้ำพริกแมงดานี่เอง

เรามาดูกันว่านุ้ยกับแม่จะเจออะไรบ้างรุ่งเช้านี้ "

"ไอ้นุ้ย มานี่เร็วๆ"" แม่เรียกเสียงดังลั่น

""ไหรแม่"" (อะไรเหรอแม่) นุ้ยตอบ "

"แม่เจอแล้วรังแรกเลย"" แม่บอก เป็นโอกาสดีของนุ้ยที่จะได้เจอกับรังแรกของแมงดานาในปีนี้ "

"หยูไหนแม่"" (อยู่ตรงไหนล่ะแม่)

แม่ก็กวักมือและทำท่าอย่าส่งเสียงดังไป แมงดาตัวเมียกำลังวางไข่อยู่ มีฟองสีขาวนวลอยู่เหนือผิวน้ำบนกอซังข้าว และแมงดาตัวเมียกำลัง ใช้หางตวัดไปมา ด้วยกระบวนการของการวางไข่ ""แล้วหลังจากนี้เป็นไงต่อหล่ะแม่"

"ด้วยความอยากรู้อยากเห็นของนุ้ยที่ไม่เคยเจอกรณีนี้ มาก่อน

แม่กระซิบบอกว่าให้รอดูเอง หลังจากนั้นได้ประมาณห้านาที แมงดาตัวนั้นก็วิ่งลงน้ำไป ก็มีแมงดาอีกตัววิ่งขึ้นไปบนรังที่เพิ่ง ที่มีไข่อยู่แล้วใช้หางตวัดไปมาและลงน้ำทันที่ แม่กระซิบบอกนั่นเป็นตัวผู้ปล่อยน้ำเชื้อเสร็จก็จะวิ่งลงน้ำทันที และจะมีแมงดาตัวหนึ่งทำหน้าที่เฝ้าไข่จนกว่าไข่จะฟักออกเป็นตัวลูกแมงดานับร้อยตัว ปกติเวลาเราไปเจอรังแมงดา เราจะเจอแมงดาเพียงตัวเดียวอยู่ที่ใต้ผิวน้ำ และตัวนี้จะมีกลิ่นฉุน และคนก็บอกว่าตัวนี้คือตัวผู้ ทำหน้าที่เฝ้ารัง

ตัวผู้จะคอยดูและเอาน้ำขึ้นไปพรมไข่อยู่อย่างสม่ำเสมอ ที่เค้าเปรียบผู้ชายประเภทหนึ่งว่าเป็นแมงดา ไม่รู้ทำไมนะแม่ มันเกี่ยวกันไหมครับ ขณะที่แม่เล่าอยู่นั้นก็มิได้รอเฉยไม่ หลังจากที่ตัวผู้ขึ้นไปทันทีนั้น แม่ก็คว้าเข้าไปยังต้นซังนั้นทันที และจับได้ทั้งสองตัว ด้วยน้ำที่ไม่ลึกมากและน้ำใสด้วยจึงเห็นว่าตัวแมงดาอยู่ตรงไหน และประสบการณ์ใหม่ของนุ้ยด้วย นุ้ยเคยเจอแต่เป็นรังที่ไข่ไว้เรียบร้อยแล้ว แล้วจะจับมันได้อย่างไร

โดยตัวผู้จะคอยอยู่ที่ใต้ผิวน้ำที่ตรงโคนต้น ซังข้าวอยู่ใกล้ๆรังของมัน แต่ตัวเมียจะว่ายน้ำไปต่อซึ่งหาโอกาสยากนักที่จะเจออย่างกรณีวันนี้ แม่ก็เล่าต่อว่าการจับแมงดาเนี่ยนะต้องจับที่ตัว อย่าให้โดนที่หัวมันจะต่อยเราได้ เคยมีคนโดนต่อยมาแล้วแม่บอกว่ายิ่งต่อยเค้าก็เด็ดหางทิ้ง เด็ดจนถึงตัวแล้วก็ยังต่อยอยู่อีก นั่นเพราะ เค้าไม่รู้ว่าเข็มพิษมันอยู่ตรงไหน ความเจ็บปวดที่ได้รับจากการต่อยของแมงดาเนี่ยยิ่งกว่าต่อแตนซะอีก แม่ก็เก็บใส่ถุงพลาสติกไว้แล้วเหน็บไว้ที่สะเอวแล้วเดินต่อไปหารังใหม่

จากนั้นนุ้ยก็แยกทางกันกับแม่ เพื่อช่วยกันหา แม่กะว่าถ้าได้หลายตัววันนี้จะตำน้ำพริกไปหา แม่เฒ่าและปู่ด้วย (แม่เฒ่า คือ คุณยายนั่นเอง)"

เส้นทางต่อไปหลังจากที่น้อยแยกทางมาเองตามลำพัง ก็ทำให้นุ้ยรู้สึกต้องสังเกตเวลาเจอไข่แมงดา

"โอ้โห เจออีกแล้วไข่แมงดาอีกแล้ว แต่ครั้งนี้ ต่างจากที่เจอกับแม่เมื่อกี้ นุ้ยเดินย่องๆ เข้าไป ต้องเดินเข้าไปแบบมีเทคนิคนะครับ คือให้เอาปลายเท้าอยู่เหนือน้ำแล้ววางเท้าแบบปลายเท้าชี้ลงดินเพื่อลดแรงเสียดทาน แล้วก้าวต่อไปก็ต้องยกเท้าอีกข้างทำเหมือนกัน เดินไปจนถึงรังไข่ของแมงดา

ด้วยประสบการณ์ของนุ้ยที่เจอมาเยอะ ก็ทราบว่าตัวแมงดาจะอยู่ตรงไหน (ท่านคิดว่ารังไข่หันไปทางทิศตะวันออกแล้วตัวแมงดาจะอยู่ตรงไหนที่ใต้น้ำครับ แล้วท่านคิดว่ามันจะอยู่บนผิวดินหรือว่า อยู่ในน้ำว่ายอยู่ครับ หรือว่าอยู่ที่ กอซักข้าว อิๆๆ )  มาดูต่อครับ

ว่านุ้ยจะทำไง

นุ้ยก็ทราบและนี่คือทริกที่นุ้ยทราบและค้นพบด้วยประสบการณ์แล้วบอกกันในครอบครัวและเพื่อผู้ค้นหาแมงดาด้วยกัน เพราะเราจะไม่หาแบบไปสุ่มจับหรือไปเหวี่ยงแห ครับ มันจะทำให้น้ำสีใสๆ ข้นไปทั้งแปลงนา

ตัวแมงดาจะเกาะอยู่ได้หลายที่ ตามกรณีของไข่แมงดานั่นเอง เช่น

หากรังไข่แมงดาอยู่สูงจากระดับผิวน้ำมาก นั่นคือตัวแมงดาจะอยู่ไกลจากที่กอซักหรือต้นไม้ที่ไข่อยู่ หากไข่อยู่ใกล้ผิวน้ำมาก ตัวแมงดาจะอยู่ใกล้ไข่เช่นกัน แล้วตัวแมงดาจะอยู่ในทิศของรัศมีของไข่แมงดา นั่นคือ หากไข่แมงดาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หรือที่เวลา สามนาฬิกา ตัวแมงดาก็จะอยู่ในทางทิศตะวันออกของรังไข่แมงดาด้วย แต่อาจจะอยู่ได้ตั้งแต่ ตำแหน่ง 1-5 นาฬิกา (เทียบกับการอ้างอิงแบบทหารนะครับ) ดังนั้นทำให้เราจับแมงดาได้แม่นยำและไม่พลาดมาก หลังจากใช้วิธีนี้ทำให้นุ้ยจับได้เยอะมากขึ้น เช่น เจอ 30 รัง ก็อาจจะได้ 25 ตัว

และแล้ววันนั้นนุ้ยจับได้หลายตัวมากผสมกับที่แม่จับได้ด้วย ทำให้เราสองแม่ลูกเอาไปแจกญาติที่อยู่ห่างไกลและคนข้างเคียงกันได้หลายคนเลยครับ"


  ขอบพระคุณมากครับ

เม้ง

 

หมายเลขบันทึก: 116375เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2007 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
แมงดานา
(กมลศิริ พันธนียะ ผู้รวบรวม)


     ธรรมชาติของมันแล้วน่าจะเรียกว่า "แมลงดา" จะถูกต้องกว่าเพราะมันมีขาแค่ 6 ขา ไม่ใช่ 8 ขาซึ่งเรียกว่า "แมง" ตามจำแนกวิธีเรียกของสัตว์เล็กๆจำพวกนี้ แต่น้อยคนที่จะเรียกกันว่า แมลงดานา ก็เอาเป็นว่ายอมรับคำว่า "แมงดา" กันโดยปริยายก็แล้วกัน
     แมงดานาจัดเป็นสัตว์จำพวกมวนน้ำชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนี้ ฝรั่งจึงเรียกแมงดานาว่า "มวนน้ำยักษ์" ลักษณะทั่วไปของสัตว์ชนิดนี้ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ ตานูนแข็งขนาดใหญ่ 1 คู่ มีขาคู่แรกเป็นอวัยวะจับอาหาร ส่วนขาคู่ที่ 2 และ 3 เป็นขาว่ายน้ำ โดยเฉพาะขาคู่หลังสุดจะมีลักษณะคล้ายใบพาย ทั้งนี้เนื่องจากแมงดานาเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อวัยวะส่วนนี้จึงมีความจำเป็นมากในการดำรงชีพ สำหรับในบ้านเราเท่าที่เคยมีการจำแนกชนิดของแมงดานานั้น บอกต่อๆกันว่ามีอยู่ 3 ชนิด คือ แมงดาหม้อ แมงดาเหลืองหรือแมงดาทอง และแมงดาลาย โดยจำแนกกันตามลักษณะภายนอก โดยแมงดาพันธุ์หม้อนี้จัดเป็นแมงดาพันธุ์ไข่ดก ขอบปีกมีลายเหลืองทองยาวไม่ถึงหาง ส่วนพันธุ์เหลืองหรือพันธุ์ทองนั้นจะออกสีเหลืองทองทั้งตัวและนับว่าหายากที่สุด สำหรับพันธุ์ลายนั้นขอบปีกจะออกลายสีเหลืองทองคล้ายกับพันธุ์หม้อ แต่ขอบปีกจะยาวจนถึงหาง และในตลาดที่เราเห็นกันบ่อยๆโดยเฉพาะะช่วงหน้าฝนนี้จะเป็นแมงดาพันธุ์ลายเสียส่วนมาก
     ส่วนสำคัญที่ขายได้ของแมงดานาจะอยู่ที่หางยาวแหลมคล้ายเดือย ส่วนนี้จะมีต่อมกลิ่นหอมฉุน และจะมีแต่เฉพาะตัวผู้เท่านั้น และแม้ว่าแมงดานาทั้งตัวผู้และตัวเมียจะมีขนาดใกล้เคียงกันคือ ลักษณะลำตัวยาวรีเหมือนใบไม้ออกโทนสีน้ำตาล ยาวประมาณ 2-4 นิ้ว แต่ข้อสังเกตง่ายๆคือ ตัวผู้ลำตัวจะกลมป้อม และเล็กกว่าตัวเมียนิดหน่อย ส่วยตัวเมียลำตัวจะออกแบนๆ ส่วนท้องใหญ่ กว้างและที่สังเกตคือมักจะไม่มี่เดือยหาง แม้ว่าบางครั้งเราหยิบขึ้นมาดมดูจะพบว่ามีกลิ่นฉุนๆก็ตาม นั้นแสดงว่าแม่ค้าเขาเหยาะกลิ่นแมงดานาเข้าไปแล้ว เหตุที่ต้องทำเช่นนี้เพราะว่าราคาแมงดาตัวผู้จะแพงกว่าแมงดาตัวเมีย

รูปร่างลักษณะ
ไข่
     เป็นกลุ่มวางเรียงเป็นแถวตามต้นข้าวหรือต้นหญ้า หรือตามกิ่งไม้ขนาดเล็กในน้ำ ไข่มีสีน้ำตาลอ่อน มีลายเป็นขีดสีน้ำตาล ด้านบนมีจุด ระยะไข่ 7-8 วัน
ตัวอ่อน
     เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อน ด้านบนของไข่จะเปิดออกเรียกกันว่าเปิดฝาชีหรือหมวก ตัวอ่อนจะอยู่ในท่าหงายท้องแล้วกระโดดลงในน้ำ ระยะแรกๆลำตัวนิ่ม สีเหลืองอ่อน ต่อมาเป็นสีเขียวปนเหลือง เมื่อโตขึ้นสีเหลืองปนน้ำตาล
ตัวเต็มวัย
     เป็นมวนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ลำตัวกว้าง 2-2.5 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร ตัวแบนสีน้ำตาลยาวรีเหมือนใบไม้ ปากแบบเจาะดูด ขาคู่หน้าแบบจับเหยื่อ ขาคู่ที่ 2 และ3 ใช้ว่ายน้ำ ตัวผู้มีกลิ่นฉุนและมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย เมื่อแง้มดูที่ปลายท้องตัวเมียจะเห็นอวัยวะวางไข่คล้ายเม็ดข้าวสาร

ฤดูและการผสมพันธุ์
     ฤดูที่แมงดาจะออกแพร่พันธุ์ จะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนตุลาคม หรือเข้าหน้าฝนได้ประมาณสองอาทิตย์ และจะหยุดก่อนปลายฝนประมาณสองอาทิตย์ ในฤดูนี้บางแห่งจะมีน้ำขังอยู่มากบ้างน้อยบ้าง แมงดาในขณะที่บินมาจากไหนก็ตาม เมื่อตกลงยังพื้น โดยเจตนาของมันหรือโดยการกระทบกับสิ่งที่ทำให้มันเสียหลัก มันจะหาที่พักได้ง่ายเพราะทุกแห่งมีน้ำ แมงดาอาจพักซ่อนตัวในเวลากลางวันตามแอ่งน้ำเล็กๆ หรือในรอยเท้าสัตว์ เช่น วัว ควาย ซึ่งมีน้ำปนอยู่กับโคลนเล็กน้อย เมื่อถึงเวลากลางคืนแมงดาจะบินต่อไปอีก ฉะนั้นในบางโอกาสที่เราจับแมงดาได้ ปีกของมันจะยังเปื้อนโคลนอยู่ก็มี การที่แมงดาต้องอาศัยน้ำอยู่ตลอดเวลาก็เนื่องจากมันเป็นแมงชนิดสะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibian) แมงดาตัวเมียเมื่อได้กลิ่นตัวผู้ ณ ที่ใดก็จะบินมาตกบริเวณนั้น แสงสว่างเป็นเครื่องชักจูงให้แมงดาบินมาเวียนวนในแถบนั้นเช่นเดียวกับแมลงทุกชนิดที่เคลื่อนไหวในเวลากลางคืน แหล่งที่แมงดาชอบลงเพื่อทำการขยายพันธุ์คือที่ระดับน้ำไม่เปลี่ยนแปลงเร็วและมีอาหารพอที่ลูกแมงดาจะยังมีชีวิตอยู่ได้ แหล่งเหล่านั้นคือท้องนาและริมๆขอบบึงที่น้ำตื้น และในการผสมพันธุ์ตัวผู้จะปล่อยกลิ่นฉุนเรียกตัวเมีย แล้วเกาะบนหลังตัวเมีย ผสมพันธุ์ตามกอหญ้า กอข้าว

การวางไข่และการเจริญเติบโต
     การวางไข่ของแมงดานา แมงดานาไม่ชอบวางไข่ที่ไม้แข็ง เช่น ไม้เต็งรัง แต่จะวางที่ไม้สน หรือใบหญ้า ใบกก หรือต้นไม้ขนาดเล็ก สูงจากระดับน้ำประมาณ 10 นิ้วหรือ 1 ฟุตแล้วแต่ว่ามันจะรู้สึกว่าน้ำจะมามากหรือน้อย โดยตัวเมียจะปล่อยวุ้นออกมายึดไข่กับกิ่งไม้หรือกอหญ้า วางไข่เป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มมีประมาณ 100-200 ฟองทั้งนี้แล้วแต่ความสมบูรณ์ของแมลง แมงดาที่ชอบที่เงียบๆไม่มีสิ่งรบกวนสำหรับการวางไข่ ไข่ที่วางไว้กับไม้หรือต้นไม้ ต้นข้าว จะมีวัตถุคล้ายวุ้นทำหน้าที่เป็นกาวยึดไข่ไว้อย่างมั่นคง ไข่ที่วางไว้ใหม่ๆจะมีสีนวลน้อยๆ มีลายริ้วสีน้ำตาลประกอบ แล้วจะค่อยๆคล้ำไปเล็กน้อย ไข่สีคล้ำเรียกว่าไข่แก่ เมื่อวางไข่แล้วตัวผู้จะคอยดูแลไข่ จนกว่าตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่และหากินเองได้ เพราะบางครั้งตัวเมียถ้าได้โอกาสก็จะกินไข่ของมันเอง
     ภายหลังห้าวันที่ได้มีการวางไข่ ลูกแมงดาอ่อนๆ จะเกิดเป็นตัวอยู่ในไข่ ภายหลัง 6-7 วันไข่จะฟักออกเป็นตัวโดยไข่จะเปิดฝาขอองมันคล้ายฝาชี แต่ไม่หลุดออกจากกัน ไข่เปิดฝาแบบนี้เรียกว่าเปิดแบบ opercular ลูกแมงดาจะค่อยๆโผล่จากไข่ โดยการแบ่งตัวออกมาในท่าหงายท้องแล้วร่วงลงในน้ำ ลูกแมงดาจะอยู่นิ่งพักบนผิวน้ำครู่หนึ่งแล้วจึงดำลงใต้น้ำ ลูกแมงดาเกิดใหม่ๆตัวของมันเป็นสีนวล ไม่มีปีก สีของมันจะค่อยๆเข้มขึ้นภายในระยะเวลาน้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ครั้นแล้วจะเริ่มกินเหยื่ออย่างกระหายหิว (ลูกแมงดาเรียกกว่า nymphs) ซึ่งลูกอ๊อดเป็นเหยื่อที่ลูกแมงดาชอบมาก ในขณะที่ลูกอ๊อดผ่านมาในระยะอันสมควร ลูกแมงดาที่เกาะนิ่งอยู่ จะพุ่งตัวอย่างรวดเร็วเข้าเกาะที่ปลายหางลูกอ๊อด แล้วไต่อย่างรวดเร็วเข้าสู่โคนหาง ลูกแมงดาจะช่วยเหลือตัวเองได้ประมาณครึ่งชั่วโมงภายหลังการออกจากไข่ ระยะนี้เป็นระยะสำคัญในการเลี้ยงลูกแมงดา ต้องระวังเรื่องขาดแคลนอาหารหรือจัดที่เลี้ยงแคบเกินไป ถ้าขาดความระมัดระะมังในเรื่องนี้ลูกแมงดาจะกินกันเองจนกระทั่งครอกหนึ่งจะเหลือตัวเก่งอยู่สองสามตัวหรืออาจเหลือเพียงตัวเดียวก็ได้ แมงดาที่เสียเปรียบในการรักษาตัวรอดคือตัวที่ทำอาการเคลื่อนไหวซึ่งพี่น้องของมันจะจับกินเป็นเหยื่อ การหายใจของลูกแมงดาทำโดยวิธีจับอากาศจากผิวน้ำไว้ใต้ท้องหรือใช้ท่อที่อยู่เกือบสุดปลายตัวของมันจ่ออยู่ที่ผิวน้ำ นอกจากท่อ 2 ท่ออยู่เกือบสุดปลายของลูกแมงดา ยังมีท่อที่ขอบตัวของมันทุกๆปล้อง ท่อเหล่านี้เรียกว่า tracheae ลูกแมงดาที่ซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำเมื่อออกซิเจนซึมเข้าตัวของมันหมด มันจะโผขึ้นสู่ผิวน้ำและทำอาการพลิกหงายท้องเพื่อจับอากาศใหม่เพื่อหายใจแล้วดำลงซ่อนตัวเหมือนเดิม
     การเจริญเติบโตของแมงดาเป็นไปโดยการลอกคราบ (molting) แมงดาจะลอกคราบรวมทั้งหมดห้าครั้ง จึงจะเป็นแมลงมีปีกโดยสมบูรณ์ แมงดาที่ลอกคราบในครั้งที่สี่ที่ห้า จะไม่สามารถกินเหยื่อได้ในวันแรกๆเพราะตัวของมันยังอ่อนนิ่มอยู่ ปากของมันยังไม่แข็งพอที่จะเจาะเหยื่อ ขาของมันก็ยังไม่แข็งพอที่จะกอดรัดเหยื่อไว้ให้มั่นคงได้ มันจะอาศัยเพียงอากาศหายใจ ท่อหายใจตามขอบตัวมันยังเป็น nymphs จะปิดหมด และใช้อวัยวะที่มีอยู่สุดปลายตัวต่อจากท่อถ่ายและอวัยวะสืบพันธุ์เป็นเครื่องหายใจ

วงจรชีวิตของแมงดานา Lethocerus indicus Lep.Serv.
                 ระยะ                                               อายุ (วัน)
                  ไข่                                                  7-8
            ตัวอ่อน
                   วัย 1                                              3-5
                   วัย 2                                              5-7
                   วัย 3                                              7-9
                   วัย 4                                             11-13
                   วัย 5 เพศผู้                                      21
                          เพศเมีย                                    32

วิธีการจับเหยื่อ
     แมงดามีความว่องไวในการจับเหยื่อ ช่วงแรกมันจะอยู่เฉยๆ ไม่ขยับตัวปล่อยให้เหยื่อ เช่นลูกปลา ลูกกุ้ง ว่ายน้ำผ่านไป เมื่อเข้ามาระยะพอเหมาะแมงดาจะพุ่งตัวเข้าไปหาเหยื่อ ใช้ขาคู่หน้าจับเหยื่อไว้และใช้ปากเจาะ แล้วปล่อยสารพิษเข้าไปในผิวหนังของเหยื่อ ดูดของเหลวจากตัวเหยื่อ

สถานที่และการเลี้ยงแมงดานา
     สถานที่ที่เหมาะสมในการทำบ่อเพาะเลี้ยงแมงดานา ควรเป็นที่โล่งเเจ้งใกล้แหล่งน้ำแต่น้ำท่วมไม่ถึง และต้องไม่พลุกพล่านซึ่งบ่อเลี้ยงแมงดาไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก และขนาดของบ่อที่นิยมคือให้มีความยาวเป็นบวกหนึ่งของด้านกว้าง และขนาดที่เหมาะสมที่สุดควรมีพื้นที่บ่อประมาณ 20 ตารางเมตร โดยด้านข้างทั้งสี่ด้านควรลาดเททำมุม 45 องศา และตรงกลางบ่อทำเป็นหลุมลึกสักจุดหนึ่งเพื่อใช้รวบรวมของเสียและง่ายต่อการกำจัด และที่ขาดไม่ได้คือชานบ่อโดยรอบให้กว้างประมาณ 1 เมตร ส่วนนี้ไม่ต้องเทซีเมนต์แต่ปล่อยทิ้งไว้เป็นดิน เพื่อที่เราจะปลูกต้นไม้ใช้เป็นที่พักอาศัยของแมงดา อาจปลูกต้นกก ผักบุ้งหรือเลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุด นอกจากนี้บ่อเลี้ยงต้องขึงตาข่ายตาไม่ใหญ่กว่า 1 ซม. ป้องกันไม่ให้แมงดาบินหนี หรือมีนก หนูเข้าไปลักกินแมงดานา ส่วนหลังคาต้องกันแดดกันฝนได้ดี
     หลังจากทำบ่อและบ่มจนน้ำหมดกลิ่นปูนเรียบร้อยแล้วก็จัดการปล่อยพ่อแม่พันธุ์แมงดานาลงไปได้เลย โดยน้ำที่ใส่ต้องเป็นน้ำสะอาดจากน้ำคลองที่สูบขึ้นมาพักจนตกตะกอนดีแล้วจะดีที่สุด ใส่น้ำให้ได้ระดับความลึกประมาณ 70-80 ซม.แล้วปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงไปในอัตรา 50 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร สัดส่วนของตัวผู้กับตัวเมีย 1 ต่อ 1 ดีที่สุด แต่สัดส่วน 1 ต่อ 5 ก็ได้ผลดีพอสมควร การรวบรวมพ่อแม่พันธุ์แมงดานาช่วงที่ดีที่สุด ควรเป็นช่วงตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม เนื่องจากเป็นแมงดาวัยรุ่นยังไม่มีไข่ ( เขาว่าแมงดานาที่มีไข่ติดท้อง หากตกใจจะกลั้นไข่จนตายในที่สุด) แต่เราสามารถแยกเพศได้แล้ว โดยดูที่อวัยวะสืบพันธุ์ ตรงก้นที่เห็นเป็นระยางค์แฉกๆลองแง้มดูภายในหากเห็นเป็นอวัยวะคล้ายเม็ดข้าวสารแแสดงว่าเป็นตัวเมียแน่นอน ขั้นตอนการเตรียมบ่อเพื่อให้แมงดานาผสมพันธุ์เริ่มจากลดระดับน้ำลงจากเดิมประมาณครึ่งหนึ่ง พร้อมกับจัดการเก็บไม้น้ำ โพรงไม้ ขอนไม้ หรืออะไรที่ลอยน้ำเป็นที่ยึดเกาะของแมงดานาออกจากบ่อให้หมดโดยนำไม่ไผ่หรือกิ่งไม้แห้งๆใส่ลงไปแแทนที่ทิ้งไว้แบบนี้ 3-4 วัน ก่อนเปลี่ยนน้ำเข้าไปใหม่ในระดับเดิมคือ ประมาณ 80 ซม.หรือเกือบเต็มบ่อก็ได้ จากนั้นเก็บกิ่งไม้ไผ่ กิ่งไม้ออก ใส่ลูกบวบลงไปแทน โดยลูกบวบนี้ทำจากท่อนกล้วยยาวท่อนละ 1 เมตร ที่ถ่วงน้ำหนักให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของท่อนกล้วยจมน้ำด้านนี้เสมอ ส่วนด้านบนที่ไม่จมน้ำ ปักด้วยซี่ไม้ไผ่หรือไม้เสียบลูกชิ้นยาวคืบกว่าๆเป็นแถว กะว่าแต่ละอันห่างกันประมาณ 10 ซม. แมงดานาจะขึ้นมาวางไข่ตามไม้ที่ปักไว้นี้ หลังจากนี้ประมาณ 3-4 วันไปแล้ว ซึ่งเมื่อเห็นว่าแมงดานาวางไข่แล้วเต็มที่ก็ให้จับพ่อแม่พันธุ์ออกไปเลี้ยงในบ่ออื่นให้หมด นอกจากนี้แล้วแมงดานาตัวเมียจะวางไข่ได้อีก 2-3 ครั้ง ในแต่ละช่วงปีห่างกันครั้งละประมาณ 1 เดือน ดังนั้นหากต้องการมีแมงดานาขายอย่างต่อเนื่องแล้วอาจจะต้องลงทุนทำบ่อไว้หลายบ่อโดยวิธีเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หลังจากวางไข่ผสมพันธุ์แล้วจะดีกว่า เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็วเช่นนี้จะเร่งให้มันผสมพันธุ์วางไข่เร็วขึ้น โดยพ่อแม่พันธุ์แต่ละรุ่น มักนิยมใช้กันแค่ปีเดียวคือวางไข่ได้ 2-3 ครั้งก็จับขายแล้วคัดเอาบรรดาลูกๆรุ่นใหม่เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป
     หรือการเลี้ยงอีกวิธีหนึ่งก็คือโดยการมัดกลุ่มไข่หรือเสียบกับลวดเพื่อวางยืนในกล่อง ใส่น้ำและวางกล่องในถาดหล่อน้ำ กันมด ไข่ที่ใกล้ฟักจะมีสีเข้มชัดเจน พองผิวเต่งตึง แมงดามักจะออกจากไข่ช่วงเช้าและเย็น เมื่อฟักออกจากไข่จะหงายท้องและดีดตัวร่วงลงน้ำ ตัวอ่อนที่ฟักออกจากตัวใหม่ๆจะสีเหลืองอ่อน ด้านในลำตัวสีเขียว ตาสีดำ ต่อมาอีกประมาณ 1 ชั่วโมง สีจะคล้ำขึ้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา แยกตัวอ่อนวัย 1 ใส่เลี้ยงถ้วยละ 1 ตัว โดยใช้ขวดน้ำขนาดความจุ 950 มิลลิเมตร ตัดเอาก้นขวดสูง 3 นิ้ว เป็นถ้วยเลี้ยง เจาะรูก้นถ้วยเพื่อความสะดวกในการถ่ายน้ำเสีย วางถ้วยในถาดพลาสติกใส่น้ำลงไปประมาณ 0.5 นิ้ว ให้ลูกปลาเป็นอาหารถ้วยละ 1 ตัว
     การให้อาหารตอนเช้าก่อน 08.00 น. วันละ 1 ครั้ง และช่วงเย็น (16.00น.) เอาเศษลูกปลาตายออก ล้างทำความสะอาดถ้วยเลี้ยง เปลี่ยนน้ำ เมื่อตัวอ่อนลอกคราบเข้าวัย 3 ย้ายเข้ากรงคู่ทำด้วยตาข่ายพลาสติกสีดำ ( มีจำนวนรู 35 รู ต่อ 1 ตารางนิ้ว ) ลักษณะรูปทรงกระบอกยาว 18.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เซนติเมตร ปิดส่วนท้ายกรงแต่ละคู่ด้วยแผ่นตาข่ายขนาด (กว้าง x ยาว) 9 x19 เซนติเมตร วางกรงในแนวนอนลงในถาดหรือกะละมังที่มีน้ำประมาณ 2 นิ้ว ด้านบนของกรงกรีดตาข่ายออกสามด้าน ขนาด (กว้าง x ยาว) 5 x 6 เซนติเมตร แล้วใช้ลวดยึดไว้เพื่อเป็นช่องประตูเปิดปิด ใส่ปลาและเอาแมงดาเข้าออก เมื่อลอกคราบเข้าวัย 4 ย้ายเข้ากรงทำเป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาด ( กว้าง x ยาว x สูง) 10 x 15 x 10 เซนติเมตร ซึ่งใหญ่กว่าเดิมและเอากล่องลงบ่อดินขนาด ( กว้าง x ยาว) 3.5 x 7 เมตร ลึก 1 เมตรปูพื้นด้วยพลาสติก มีผักตบและกอบัว ใช้โฟมติดด้านข้างกรงเป็นทุ่นให้กรงลอยน้ำได้ ในกรงใส่ผักตบชวาให้แมงดาเกาะ เพื่อความสะดวกในการจัดการเอากรงขึ้นลงจากบ่อ จัดวางเป็นแถวและเอาลวดเสียบหัวและท้ายกรงในแนวยาวเหมือนไม้เสียบลูกชิ้นหรือบาร์บีคิว เลี้ยงจนเป็นตัวเต็มวัย

วิธีการจับ
1. ใช้มือจับ
2. ใช้สวิงจับหรือช้อนตามไม้น้ำ
3. ใช้แสงไฟล่อ ติดตั้งหลอดแบล็กไลต์บนเสาไม้ไผ่สูงๆ ใช้ตาข่ายขึง กั้นให้สูงแมงดาจะมาเล่นไฟ
4. ปัจจุบันมีเครื่องมือจับแมงดานาแบบพื้นบ้านซึ่งเป็นผลงานการคิดค้นของจ่าสาย ศรีสมุทร สภอ.นาแก จังหวัดนครพนม โดยการใช้สังกะสีแผ่นเรียบมาตัดต่อบัดกรีให้เรียบร้อยเป็นกรวยปากกว้าง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 เมตร ความสูงของกรวย 1 เมตร และด้านล่างทำเป็นท่อกลวงขนาดกระป๋องนม ยาวประมาณ 30 ซม. การติดตั้งเครื่องมือให้เลือกสถานที่ใกล้แหล่งน้ำ โดยตั้งเสาสูงประมาณ 6 เมตรติดหลอดแบล็กไลต์ไว้ล่อแมงดา ด้านล่างติดตั้งกรวยสังกะสีหงายปากกรวยขึ้น มีไฟนีออนสีฟ้าล่อไว้อีกดวงหนึ่งที่ปากกรวยนั้น ส่วนด้านล่างสุดใช้ถุงปุ๋ยที่ไม่ขาดทะลุสวมเข้าที่ท่อกลวงด้านล่างผูกติดให้แน่น ซึ่งแสงจากหลอดแบล็กไลต์จะล่อแมงดาให้มาที่นี่ ส่วนแสงสีฟ้าจากหลอดนีออนเมื่อสะท้อนจากปากกรวยสังกะสีจะดูคล้ายๆกับแหล่งน้ำขนาดเล็ก ดึงดูดใจให้แมงดาบินลงกรวยในที่สุด ซึ่งการจับด้วยวิธีนี้สะดวก เพราะเราไม่ต้องนั่งเฝ้า รอไว้ดูตอนเช้าเลยทีเดียว

การนำมาปรุงอาหาร
1. ไข่แมงดานา นำมาย่างไฟหรือกินสดๆ
2. ตัวเต็มวัย ตัวเมียชุบแป้งทอด ทำแกงคั่วแมงดานา ตัวผู้มีกลิ่นหอมทำให้เพิ่มรสชาติอาหาร นำมาทำน้ำพริกแมงดา แจ่วแมงดานา น้ำพริกปลาร้า น้ำปลาแมงดา หรือดองแช่น้ำปลาไว้ขายราคาแพง (ตุลาคม-มีนาคม)

เอกสารอ้างอิง
เชียด อภัยวงศ์. 2505. วงชีวิตของแมงดานา. วารสารการประมง ปีที่ 15 ฉบับที่ 1. หน้า 67-73.
ดินจร.2537. แอบเปิดตำราเซียน เลี้ยงแมงดาเป็นอาชีพ. มติชนบท เทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 7 ฉบับที่ 104. หน้า 31-33.
ไม่มีชื่อผู้แต่ง.2546. แมงดานา. มติชนบท เทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 15 ฉบับที่ 304. หน้า 78.

ที่มาจาก http://www.nicaonline.com/articles9/site/view_article.asp?idarticle=149

ผมได้ออกแบบที่จับแมงดากลางคืนไว้เหมือนกันครับ แต่ยังไม่ได้เคยลองจริงๆ นะครับ หากใครสนใจ สอบถามไว้ได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท