ความหวัง


สิ่งสำคัญที่พึงทำ คือ การฟื้นฟูผู้ป่วยให้สามารถชีวิตอยู่ได้ในระยะยาวของช่วงการมีชีวิตอยู่นี้

เมื่อวานดิฉันได้รับโทรศัพท์ทางไกลจาก อ.เชษฐา หรือ คุณคนไกล ท่านกำลังทำปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรเลีย เราคุยกันเป็นนานสองนาน ในเรื่องการดูแลบำบัดรักษาในผู้ป่วยจิตเวช และระบบการดูแลในประเทศไทย ทำให้ดิฉันนั้นเกิดความหวังขึ้นมาอย่างมากต่อการทำงานอย่างที่ทำ เพื่อผู้ป่วยสุขภาพจิตและจิตเวช

 

ดิฉันมักเกิดคำถามสำหรับตนเองเสมอว่า ... ผู้ป่วย... ต้องป่วยอย่างนี้ตลอดไปหรือเปล่า ... คำตอบแน่นอน..หากว่าผู้ป่วยยังต้องมารับการรักษา แต่..หากคนไข้ที่ขาดการรักษาที่ไม่มาและหายไปเลย ถามว่าเขาเป็นอยู่หรือใช้ชีวิตได้ไหม หากไปตามดูจริงๆ นั้นก็พบว่าได้ เขาก็ยังดำรงชีวิตอยู่อย่างที่มีคุณภาพชีวิตที่ไม่แตกต่างจากผู้ป่วยที่มารับยาประจำ

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น...ทั้งๆที่คนหนึ่งมารับยาประจำ แต่อีกคนไม่ทานยาเลย แต่สภาพต่างไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลย ความสูญเสียความสามารถทางสังคมก็อยู่ในสภาวะเดียวกัน ... ดังนั้นประเด็นเรื่องมารับการรักษาหรือรับยาประจำ... ไม่น่าจะใช่กุญแจสำคัญที่ตัดสินชีวิตคนไข้ทั้งหมดได้ว่า ดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น... ในบางรายกลับสูญเสียมากกว่าเดิม เพราะแทนที่จะดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะทานยาไปแล้วง่วงนอน และเอาแต่นอน...

 

หัวใจสำคัญและในประเด็นที่เราคุยกัน (กับ อ.เชษฐา) ก็คือ เราในฐานะพยาบาลจิตเวช หรือผู้ทำงานทางด้านสุขภาพจิตนี้ (Mental Worker) ลืมสิ่งสำคัญที่พึงทำ คือ การฟื้นฟูผู้ป่วยให้สามารถชีวิตอยู่ได้ในระยะยาวของช่วงการมีชีวิตอยู่นี้ เรามัวไปเน้นในเรื่องยาและการรักษา การประเมิน... แต่ขาดการลงมือทำในกิจกรรมหรือบทบาทของการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองกับสภาวะโรคที่เป็นอยู่นี้

หมายเลขบันทึก: 116271เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2007 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

จากการอ่านผมเข้าใจได้ว่า นอกจากจะดูแลจิตผู้ป่วยแล้ว ต้องดูแลใจผู้ป่วยด้วย จริงมัยครับ

 

สวัสดีค่ะ...คุณP จารุวัจน์

เราควรและพึงดูแลทั้งจิตและใจ...แต่ในความเป็นจริงเราได้ดูแลสิ่งเหล่านี้น้อยมากเพราะเรามุ่งทำแต่งาน...

"จิต"และ"ใจ" จึงอาจเป็นเรื่องที่รองลงมา...หรือบางครั้งจิตและและใจของผู้ดูแล...ก็อาจถูกลืมดูแล ... จึงทำให้พลังที่มุ่งและพุ่งมาที่ "จิตและใจ"..น้อยลง

ขอบคุณนะคะ

(^____^)

กะปุ๋ม

อรุณสวัสดิ์ กะปุ๋ม

ขอบคุณมากนะครับสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ทางโทรศัพท์เมื่อวันก่อน

 ผมเห็นด้วยกับคำถามที่่ว่า "คนไข้จำเป็นต้องเป็นคนไข้ตลอดไปไหม  การมาพบแพทย์เป็นทางเดียวเท่านั้นเหรอที่จะทำให้เขามีชีวิตอยู่ได้ หรืออีกหลายคำถามในทำนองเดียวกัน

คำถามเหล่านี้สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิดที่  recovery orientation ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยจิตเวช  แนวคิดนี้มองว่า  

การฟื้นฟูสภาพ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วย (เกิดจากการเรียนรู้และปรับเปลียนด้วยตัวผู้ป่วยเอง) เพื่อให้เขาเผชิญกับความเจ็บป่วยและผลของการเจ็บป่วยได้อย่างมีความสุข

แนวคิดนี้มองว่า

  • การหายป่วยเป็นประสบการณ์เฉพาะบุคคล แต่ละคนจะมีวิธีการทำให้ตัวเองหายป่วยในแบบที่แตกต่างกันไป
  • การหายป่วยไม่จำเป็นจะต้องอาศัยผู้รักษาหรือวิธีการรักษาใดๆก็ได้ เพราะก่อนที่เขาจะมาหาเรา หรือขณะที่อยู่ใน รพ กระบวนการนี้ก็เกิดได้ตลอดเวลา
  •  กระบวนการหายป่วยสามารถเกิดได้แม้ว่าจะยังมีอาการปรากฏให้เห็นก็ตาม
  • การหายป่วยไม่จำเป็นว่าจะตอ้งดีขี้นและดีขึ้นเสมอไป  บางทีอาจดีขึ้นหรือแย่ลงได้ แล้วแต่สภาพแวดล้อม
  • ผลกระทบจากอาการของโรคยังน้อยนิดเมือเทียบกับผลกระทบอันเกิดจากตราบาปจากการเป็น คนไข้จิตเวช
  • การหายป่วยไม่ได้หมายถึงการที่เขาไม่มีอาการ   แต่หมายถึงการอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุขแม้จะีมีอาการก็ตาม

ทำไมแนวคิดนี้ถึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

เพราะว่า  การดูแลผู้ป่วยในรูปแบบเดิม เกิดจากการตัดสินโดยผุ้รักษา  ผุ้ป่วยมีหน้าที่ต้องทำตามๆ (เพราะเขารู้น้อยกว่าผุ้รักษา)  

ท้ายที่สุดแล้ว ความเป็นมนุษย์  ความสามารถในการพึ่งตัวเอง  ความสามารถในการตัดสินใจ แทบไม่เหลือเลย

ถ้าเขาต้องดำรงชีวิตที่เหลือ ด้วยการเป็น คนไข้ (คนบ้า) ไม่ใช่ มมุษย์ เหมือนคนอื่นๆ  แล้วชีวิตที่เหลือของเขาจะมีความหมายอะไร

นี่แหละครับ แนวคิดที่ผมได้คุยกับกะปุ๋มไปเมือวันก่อน

แล้วผมจะหาเอกสารให้นะครับ  ตอนนี้ขอเวลาสรุปรายงานส่งอาจารย์ก่อนครับ 

สวัสดีค่ะ...อ.เชษฐา

จากแนวคิดและความรู้ที่ได้ต่อยอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เมื่อวันก่อนนั้น ตอนนี้กะปุ๋ม...ลุกขึ้นมาก้าวเดินต่อในเรื่องที่สนใจศึกษาค่ะ

จาก case ที่ศึกษา...ที่ตัวผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นว่าตนเอง...สามารถหายได้...หากรู้และเข้าใจในสาเหตุของตนเอง... โรคที่เป็นนั้นเป็นเพราะจากการวินิจฉัย...หากตามสภาพแห่งธรรมชาตินั้น เขารู้แต่ว่าเขาเจอสภาวะแห่งความทุกข์....และเมื่อเขาเดินเข้ามาในโรงพยาบาลเขาถูกประทับตราด้วยโรค schizophenia แต่ตัวเขาเองเขาไม่ทราบหรอกว่าโรคนี้คืออะไร เขารู้แตว่าเขาถูกลิดรอนสิทธิทางสังคมไปสมัครงาน หรือทำงานที่ไหนไม่ได้ เพราะเขามีประวัติเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช..

ตอนนี้จากความรู้สึกที่ประสบซ้ำในความล้มเหลวของชีวิต... เขามีความเชื่อว่า เขาสามารถที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งยา... เข้าปีที่สองกับสภาพชีวิตที่ไม่ต้องทานยา... อาจจะยังไม่ใช่บทสรุปทั้งหมด ... แต่เป็นเรื่องที่กะปุ๋มกำลังติดตามอยู่...

และสิ่งที่กำลังดำเนินต่อตอนนี้ คือ กำลังให้พี่เขียวรวบรวมข้อมูลในผู้ป่วยที่เข้าร่วมกลุ่มบำบัด...และเข้าสู่ phase II ของการศึกษาตนเองโดยจะนำแนวคิดrecovery orientation มาเป็นกรอบแนวคิดในการศึกษา

กะปุ๋มจะพยายามทยอยนำมาเล่าความก้าวหน้าให้ฟังนะคะ

ขอบคุณมากนะคะ...สำหรับ "ความหวัง"

(^____^)

กะปุ๋ม

อ.เชษฐาคะ...

โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป...และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเท่าที่ทราบและรวบรวมได้

- โรงพยาบาลร้อยเอ็ด

- โรงพยาบาลกาฬสินธุ์

- โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มข.

และโรงพยาบาลจิตเวช เฉพาะทาง

- โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา

- โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

- โรงพยาบาลจิตเวชนครพนม

- โรงพยาบาลจิตเวชเลย

ว่างจากเขียนรายงาน มาตอบกระทู้ต่อดีกว่า

จากที่ผมได้ฟังตัวอย่างผุ้ป่วยที่เล่ามา น่าสนใจ และน่าทำการศึกษาต่อยอด แม้จะเป็นการศึกษาในผู้ป่วยรายเดียวก็ตาม

อย่างที่บอกไปว่า  การหายเป็นประสบการณ์เฉพาะตัวขอผู้ป่วยแต่ละราย

ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ลองส่งเสริมผู้ป่วยรายนี้ โดยการเป็นพี่เลี้ยงในการ

  • เขียนเล่าประสบการณ์ของตัวเอง และอาจมีการเผยแพร่ในวารสาร (ในต่างประเทศจะมีคอลัมน์ที่เรียกว่า เสียงสะท้อนจากผู้รับบริการ)
  • การให้เขาช่วยเป็นพี่เลี้ยง หรือเล่าประสบการณ์ในกับผู้ป่วยรายอื่นๆ  การทำ self help group จะเป็นประโยชน์มาก เพราะเรืองที่เราสอนไม่สำคัญเท่ากับ   การได้ฟังประสบการณ์ตรงๆ จากคนที่เคยป่วย
  • การทำวิจัยร่วมกับผู้ป่วย ในต่างประเทศมีการของบวิจัย โดยให้ผู้ป่วยร่วมทีมวิจัย (เท่าที่ศักยภาพเขาจะทำได้ และมีเราเป็นพีเลี้ยง) และมีรายได้เล็กน้อยจากงานวิจัยนั้น
  • หรืออื่นๆ 

ฟังดูแล้วอาจจะเป็นเรืองยาก แต่เป็นส่ิงที่สามารถทำได้   เฉกเช่นเดียวกับ  กรณี คนไข้ เอดส์ ที่ออกมาเปิดเผยตัวเอง และสามารถทำประโยชน์ให้สังคม และทัศนคติของสังคมก็เริ่มปรับไปในทางที่ดีขึ้น

กะุปุ๋ม คงจะพอนึกภาพ ผลบวกที่เกิดแก่คนไข้ ทั้งตัวเขาเองและต่อคนไข้อื่นๆ

การเปลียนแปลงทุกอย่าง เกิดจาก เมล็ดพันธ์เล็กๆ แบบนี้แหละครับ

แล้วคงมีโอกาสได้มา ลปรร กันอีกนะครับ 

ขอบคุณกะปุ๋มมากนะครับ

กะปุ๋มผมต้องขอโทษด้วยที่ไม่ได้เขียนบล๊อกเลย

ช่วงนี้ไม่ค่อยจะอยู่สำนักงานเลยเดินสายตลอดเลย

ต้องขอโทษไว้ที่นี้ด้วยครับ

 

ทำงานในโรงพยาบาลจิตเวชมาประมาณเกือบสิบปีค่ะทำหน้าที่ในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวช โดยใช้กิจกรรมบำบัด รู้สึกเหนื่อยในบางครั้งกับความไม่เข้าใจของบุคลากรเกี่ยวกับเรื่องการฟื้นฟูฯผู้ป่วยจิตเวช ยังให้ความสำคัญกับการรักษาทางยาอยู่มาก สนในแนวคิดที่ คุณคนไกลพูดถึงมาก อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมและเอกสารอ้างอิงค่ะ

มีโอกาสจะเข้ามาแลกเปลี่ยนบ่อยๆนะคะ

ขอบคุณคุณ โอทีจิตเวชครับทีสนใจ

เป็นโรคเดียวกันครับ ผมเองก็ทั้งสอนทั้งนิเทศจิตเวชมาสิบกว่าปี  เห็นเหตุการณ์เดิมๆ ซ้ำๆ จนคิดว่า ไม่มีอะไรน่าสนใจแล้วเหรอ จนหันหลังไปเล่นกับคนดีๆ (จิตวิทยาองค์การ) อยู่พักใหญ่  แต่พอผมมาเจอแนวคิดใหม่ recovery orientaion ก็พบว่ามีอะไรน่าใจอยู่อีกมากมายที่เรามองข้ามไป

วันก่อนคุยกับกะปุ๋มว่า   เรามองเห็นคนใข้จิตเภทว่าหมดหวัง  แล้วเราเองเป็นผู้ดูแลก็พลอย หมดหวังตามไปด้วย

ไม่รู้ว่า คนไข้ทำให้เราหมดหวัง หรือ เราทำให้คนไข้หมดหวังกันแน่

เอาเป็นว่าจะหาเวลามาสนทนา หรือเปิดห้องทีว่าด้วยเรือง recovery orietation  ล้วนๆ   เพราะในต่างประเทศ  เรียกมันว่าเป็น  recovery movement  กันเลยที่เดียว เพราะมันถูกนำไปใช้ในการกำหนดแผนพัฒนาสุขภาพจิต

ผมคิดว่า อีกไม่นานคงจะเคลือนมาถึ งเมืองไทยครับผม 

 

 

 

สวัสดีค่ะ...คุณ OT จิตเวช และ อ.เชษฐา (คนไกล)

กะปุ๋มเห็นด้วยที่ว่าเรามาจับเข่าคุยกันดีกว่านะคะแม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ ก่อน ก็ยังดีกว่าที่ไม่ได้คุยกันเลย

กะปุ๋มรู้สึกดีใจที่...มีใครสักคนหนึ่งอยากทำเพื่อสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อเกิดคุณค่าที่มากมาย

(^_____^)

กะปุ๋ม

กะปุ๋มครับ ผมพยายามเข้าเวบของผม แต่เข้าไม่ได้ติดต่อไปทางผู้ดูแลแล้ว  แต่ก็เงียบ

สงสัยว่าจะต้องเปิดเองใหม่อีกสักอัน คราวนี้ว่ากันเฉพาะเรือง recovery orientation กับคนไข้  chronic mental illness ล้วนๆ เลยดีกว่า

ขอเวลาศึกษาอีกรอบก่อนนะ เพราะรูปลักษณ์ใหม่ ของ gotoknow ตอนนี้ก็เปลี่ยนไปจากเิดิมพอสมควร 

ตอนนี้ผมได้เปิดพลาเน็ตที่ว่าด้วยแนวคิด recovery movement เรียบร้อยแล้ว   ผมจะพยายามเอาแนวคิด  ข้อสรุปจากงานวิจัย  และมุมมองการปฏิบัติในบ้านเรา 

ขอเชิญติดตามได้แล้วครับ 

สนใจศึกษาในเรื่องของ "จิตเวช " เพราะเห็นว่าในปัจจุบันภาวะต่างๆในสังคม มีผลต่อพฤติกรรมของคนในสังคม  ผลตามตามคือปัญหา   ดีใจที่ได้พบเว็บนี้โดยบังเอิญ  เพราะชอบมีชีวิจอยู่ด้วยการให้โอกาสตนเองในการเรียนรู้เรื่องราวชองขีวิตในทุกด้าน  ขอเป็นกำลังใจให้กะปอม  และอยากเรียนรู้ความจริงให้มากขึ้น จากอ. เชษฐา  ดังนั้นของร่วมด้วยช่วยกันเพิ่มอีกหนึ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท