โครงการ 30 บาท กับอนาคตการเข้าถึงบริการของประชาชน


มองว่าทุกวันนี้เป็นโอกาสดีแล้วที่ประชาชนคนชายขอบ สามารถเข้าถึงบริการได้ระดับหนึ่ง และมีโอกาสถึงส่งต่อไปที่ใหญ่ ๆ ได้เมื่อจำเป็น

     ผมมีข้อเสนอเพื่อให้การดำเนินงานด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ซึ่งมองว่าทุกวันนี้เป็นโอกาสดีแล้วที่ประชาชนคนชายขอบ สามารถเข้าถึงบริการได้ระดับหนึ่ง และมีโอกาสถึงส่งต่อไปที่ใหญ่ ๆ ได้เมื่อจำเป็น ไม่เหมือนในอดีตที่ต้องเลือกกลับบ้าน เพราะกลัวว่าไม่มีผืนนาเหลือไว้ให้ลูกก่อนตาย ผมเน้นว่าเป็นมุมมองโดยส่วนตัวที่มองทั้งระบบ แม้จะไม่สมบูรณ์ก็ได้พยายามมองให้ครบ ส่วนข้อมูลสนับสนุนจะไม่ขอนำเสนอ เพราะถึงมี ก็มีไม่ครบ ฉะนั้นข้อเสนอนี้จึงเป็นข้อเสนอเชิงบ่น ๆ ไม่ได้มีความเป็นวิชาการอะไรมาก หากท่านจะสงสัยในแหล่งอ้างอิง และข้อมูลสนับสนุน ก็ขอว่าไม่มีครับ ดังนี้

     1. ยังต้องมีการสร้างและปรับความเข้าใจระหว่างผู้ให้บริการด้วยกันเองในแต่ละระดับ และทุกระดับ โดยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายในเครือข่าย และระหว่างเครือข่ายบริการ เรื่องการสร้างหลักประกันสุขภาพ และการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างเสมอภาคถ้วนหน้ากัน อย่างอย่างสม่ำเสมอ

     2. การพัฒนาคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งเชิงสังคมและเทคนิคบริการ โดยเฉพาะเทคนิคบริการก็ต้องให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจมากขึ้นไม่งั้น ปัญหาเรื่องความเคลือบแคลงสังสัยของประชาชน จะนำมาซึ่งการร้องเรียนตามสิทธิ และผู้ให้บริการหลักจะหนีหายจะระบบจนผลิตเพิ่มไม่ทัน แม้ตัวไม่หาย เพียงเอาใจออกไป ปัญหาคุณภาพเชิงสังคมก็จะยิกตามมาติด ๆ อีกเรื่องหนึ่ง

     3. การพัฒนาบุคลากรสายสนับสนุน เพื่อให้เกิดความใกล้ใจ เป็นบุคลากรที่เน้นการสร้างสุขภาพโดยการพึ่งตนเองของชุมชน น่าจะเป็นสิ่งสนับสนุนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการผลิตแพทย์ เพราะต้นทุนถูกกว่า กลับมาแล้วฝังตัวอยู่ในชุมชนได้เลย คิดเป็นตำบลว่าจะมีสักกี่คนนอกจากหมออนามัย บุคลากรเหล่านี้ผมเห็นว่า มรภ.ผลิตได้ ใช้การประสานกับ สสจ.ในการเรียนการสอน โดยให้ อบต.เป็นเจ้าภาพให้ทุน และบรรจุใน อบต. โดยรับงบอุดหนุนจากโครงการไปในส่วนของเงินเดือน สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ เรื่องนี้ที่ มรภ.สงขลา ได้พยายามทำ ซึ่งผมได้เห็น แต่ติดที่คนสนใจน้อย เพราะไม่เห็นโอกาสของความก้าวหน้า และมองไม่เห็นภาพว่าจะออกมาทำอะไร
 
     4. ระบบส่งต่อที่ดี เป็นเครือข่ายการให้บริการของสถานีอนามัย PCU โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลเฉพาะทาง เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน โดยประชาชนได้รับทราบตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีฐานคิดว่าระบบส่งต่อไม่ใช่เครื่องมือในการปิดกั้นประชาชน แต่เป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบบริการแทน ทั้งนี้ต้องมีการกำหนดค่ารักษาตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRGs) ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของต้นทุน และการส่งเสริมให้เอกชนเข้าร่วมโครงการมากขึ้น เหมือนในระบบประกันสังคม

     5. เรื่องกองทุนคุ้มครองและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการให้และรับบริการ เหมือนที่มีใน ม.41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แต่ต้องขยายไปให้ถึงผู้ให้บริการให้มากกว่านั้น และต้องครอบคลุมทุกสิทธิทั้งระบบ ไม่งั้นจะดูแปลก ๆ แปล่ง ๆ เหมือนเช่นทุกวันนี้

      6. เรื่องใหญ่ ๆ แต่ต้องพูดถึงด้วย คือ การเงินการคลังของระบบหลักประกันสุขภาพที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง การจัดสรรก็ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลาย ๆ ด้าน เช่น จำนวนประชากร กลุ่มอายุ ภาระโรค พื้นที่เฉพาะ โดยเฉพาะภาระงานหรือจำนวนผู้ป่วย (กรณีที่ใช้บริการข้ามเขต ในช่วงแรก ๆ ที่สถานบริการยังมีคุณภาพแตกต่างกันเช่นนี้) ฯลฯ รวมทั้งการคงแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายไว้ก่อน

     7. ทบทวนระบบประกันสุขภาพที่รัฐสนับสนุนทั้ง 3 ระบบ คือ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการข้าราชการฯ/รัฐวิสาหกิจ และระบบประกันสุขภาพตามนโยบาย 30 บาทฯ เรื่องการนำทรัพยากรมาใช้ร่วมกันได้ตามความเหมาะสม การจัดบริการที่เชื่อมต่อกันได้ ชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่ไม่แตกต่างกันมากนัก

     8. ให้ประชาชนยืนยันสิทธิด้วยบัตรประจำตัวประชาชน ใช้เลข 13 หลัก ตรวจสอบสิทธิว่าอยู่ในกลุ่มใด หากไม่ใช่สิทธิในระบบประกันสังคม หรือระบบสวัสดิการข้าราชการฯ/รัฐวิสาหกิจ ก็ต้องถือว่าเป็น ระบบประกันสุขภาพตามนโยบาย 30 บาทฯ ตามที่กฎหมาย (พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545) ระบุไว้ ยึดหลักการสำคัญคือ ความเสมอภาค ประสิทธิภาพ  คุณภาพ  มีกติกากลาง ๆ ที่ยืดหยุ่นในทุกสิทธิ

     9. อันนี้สำคัญมาก คือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ ที่ประชาชนพึงได้รับและขั้นตอนการใช้บริการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

     10. อันนี้สำคัญที่สุดในระยะยาว คือ ประชาชนในการสร้างและส่งเสริมสุขภาพของตัวเอง โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรในระบบเดิมยังคงเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน และเป็นผู้ให้บริการ ที่ว่าไม่เพียงพอก็น่าจะพอ หรือเกือบพอ

     ทั้ง 10 ข้อที่เขียนบันทึกขึ้นนี้ เขียนไว้หลายวันแล้ว ลังเลที่จะนำมาลงพิมพ์ไว้ เพราะรู้ว่ายากหากไม่ขยับที่ส่วนหัว แต่ก็ขอดันทุรังอีกสักครั้ง

หมายเลขบันทึก: 11626เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2006 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
   บ่นหรือดันบ่อยๆเข้า  หัวก็คงขยับเข้าสักวันแหละ  ขอเป็นกำลังใจให้สำเร็จครับ
     ขอบคุณท่านอาจารย์ Handy ครับ ที่แวะเวียนมาให้กำลังใจ แต่ผมกำลังประเมินว่าทำไมบันทึกนี้เลขคนอ่านวิ่ง แต่จำนวนการ ลปรร.น้อย หรือเพราะหนัก ๆ เกินไป หมายถึงเป็นวิชาการเกินไปหรือยังไงก็ไม่ทราบครับ อันเพื่อการพัฒนาตน หากมีคำแนะนำเข้ามา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท