เรื่องเล่าจากการลงพื้นที่บ้านเอื้อม


องค์กรจะไม่เข้มแข็งถ้ามีคนอยู่ 6 ประเภท

      วันนี้ยังคงเป็นวันทำงานสำหรับใครหลายคน  รวมทั้งผู้วิจัยด้วย  แม้จะเป็นวันอาทิตย์ก็ยังต้องสอนอยู่ดี  แต่ในวันนี้มีวาระพิเศษในช่วงเช้า  คือ  เหล่าคณาจารย์ของวิทยาลัยได้จัดเวทีให้กับ   นักศึกษาชั้นปีที่ 2  ได้พูดถึงปัญหาในการเรียน  เนื่องจากชั้นปีนี้เรียนอ่อนมาก  จนบรรดาคณาจารย์ไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร  ผู้วิจัยเป็นหนึ่งในอาจารย์ที่สอนในชั้นปีนี้ด้วย  (สอนตั้ง    2 วิชา 7 หน่วยกิต)  รู้สึกหนักใจ+เครียด+อะไรอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถบรรยายออกมาได้      ทีแรกไม่มีนักศึกษาคนไหนกล้าพูดเลย  พอบอกให้เขียน  จึงค่อยๆจับปากกาขึ้นมา  แต่ผู้วิจัยเห็นว่าบางครั้งการเขียนก็ไม่สามารถบอกอะไรได้ทั้งหมดก็เลยกระซิบบอกให้เพื่อนอาจารย์อีกคนช่วยกระตุ้นหน่อย  ปรากฎว่าได้ผล  นักศึกษาแสดงความคิดเห็น  ความรู้สึกกันอย่างคึกคัก  กว่าจะเสร็จก็เกือบเที่ยงแล้ว  ผู้วิจัยก็เลยปล่อยนักศึกษาให้ลงไปทานข้าว  พอมาในช่วงบ่ายก็คุยเรื่อง   การเรียนการสอนกันต่ออีกพอสมควร  กว่าจะเข้าเนื้อหาที่เรียนจริงๆก็ปาเข้าไปบ่าย 3 โมงแล้ว 

     เมื่อเริ่มสอนรู้สึกว่าการสอนครั้งนี้เป็นการสอนที่ยากมาก  เพราะ  ผู้วิจัยเปลี่ยนรูปแบบการสอนจากเดิมที่เดินเรื่องโดยใช้สื่อ Powerpoint  มาเป็นการบรรยายไปเรื่อยๆโดยไม่ใช้สื่อ  จะขึ้นเฉพาะหัวข้อหรือใจความสำคัญที่แผ่นใสเท่านั้น ที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบเพราะนักศึกษาบอกว่าถ้ามี Powerpoint  นักศึกษาก็มัวแต่จดแต่ไม่สนใจที่อาจารย์บรรยาย  ผู้วิจัยก็เลยลองเปลี่ยนรูปแบบใหม่  รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจเลย  พูดไม่ค่อยเรียงลำดับตามที่ตั้งใจไว้  บางครั้งก็ลืมพูดประเด็นสำคัญต้องย้อนกลับมาใหม่  คงต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะในการปรับตัว

    มาเข้าเรื่องการลงพื้นที่ดีกว่าค่ะ  เราไปลงพื้นที่กลุ่มบ้านเอื้อมเมื่อคืนวันที่ 6 มกราคม  2549  ที่ผ่านมา  วิธีการก็เหมือนๆกับที่ลงในกลุ่มอื่นๆค่ะ  คือ  เมื่อกรรมการไปถึงก็จะมีการตรวจหลักฐานการเงินที่ทางกลุ่มเตรียมไว้  จากการสอบถามคณะกรรมการเครือข่ายฯ  พบว่า  บัญชีของกลุ่มบ้านเอื้อมไม่มีปัญหาอะไร  เพียงแต่ยังไม่ได้แบ่งแยกกองทุนชัดเจนเท่านั้นเอง     (ซึ่งผิดจากที่ทุกคนคาดไว้ค่ะ  เพราะ  กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ทุกคนคิดว่ามีปัญหาในเรื่องบัญชีและการเงิน  แต่พอมาตรวจสอบดูจริงๆก็ไม่มีอะไรน่าหนักใจ)

    เมื่อตรวจเอกสารเสร็จ  คุณสามารถก็เชิญทุกคนมารวมกัน  จากนั้นก็เปิดการพูดคุยโดยบอกวัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่าเนื่องมาจากการที่จังหวัดลำปางเป็นต้นแบบในเรื่องของสวัสดิการชุมชน  ขณะนี้ตำบลบ้านเอื้อมได้รับการอนุมัติงบประมาณตำบลละแสนจาก พอช.  แต่การที่จะรับเงินมาได้นั้นทางกลุ่มจะต้องมีความพร้อมที่จะบริหารจัดการกองทุน  นอกจากนี้แล้วในอนาคตเครือข่ายฯจะพยายามผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะ  โดยทางสปสช. จะอนุมัติงบประมาณรายหัวหัวละ 170 บาทมาให้สมาชิกที่อยู่ในเครือข่ายฯ  แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ  โปร่งใส  ตรวจสอบได้ 

   ต่อจากนั้นคุณสามารถได้เล่าต่อว่าขณะนี้มีงานวิจัยเรื่องการจัดการความรู้เข้ามาช่วยในการพัฒนาให้กลุ่มและเครือข่ายฯมีความเข้มแข็ง  ในส่วนของกลุ่มบ้านเอื้อมนั้นอาจารย์ชวนพิศ  ซึ่งเป็นประธานฯกลุ่มมีความตั้งใจ  ขณะนี้เท่าที่ตรวจสอบพบว่ามีการคีย์ข้อมูลประวัติของสมาชิกลงในโปรแกรมบัญชีของทางกลุ่มเสร็จแล้ว  คงเหลือแต่ข้อมูลในเรื่องการรับ-จ่ายเงินเท่านั้นที่ยังไม่เสร็จ  คาดว่าน่าจะเสร็จในเร็ววันนี้

    ในส่วนของงานวิจัยการจัดการความรู้นั้นเราได้ตั้งเป้าหมาย (หัวปลา)  ไว้ 3 ข้อ  คือ

    1.การบริหารจัดการ

    2.การขยายผล

    3.การเชื่อมโยงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ

    ขณะนี้เราต้องมาช่วยกันในเรื่องของการบริหารจัดการ  ในเครือข่ายฯมีหลายกลุ่มที่ทำได้ดี  เช่น  กลุ่มแม่ทะป่าตันมีการจัดสถานที่ที่ดี  มีข้อมูลแสดงให้สมาชิกเห็นอย่างชัดเจน  ในขณะที่เมื่อมาที่กลุ่มบ้านเอื้อม  คณะกรรมการของกลุ่มมัวยุ่งอยู่กับการเตรียมอาหาร  ไม่ค่อยมาสนใจในเรื่องการเก็บข้อมูลของคณะกรรมการเครือข่ายฯสักเท่าไร  ซึ่งในประเด็นนี้คุณสามารถบอกว่าไม่เป็นอะไร  แต่ต่อไปเวลามีทีมลงมาเก็บข้อมูล  ทางกลุ่มก็ควรที่จะให้ความสนใจส่วนนี้ด้วย

    จากนั้นเป็นการคั่นรายการด้วยการแนะนำตัวของคณะกรรมการกลุ่มและคณะกรรมการเครือข่ายฯ  โดยในการแนะนำตัวนั้นคุณสามารถบอกว่าให้แนะนำชื่อ-นามสกุล  รวมทั้งตำแหน่งงานที่ตนเองทำอยู่ด้วย 

    เริ่มต้นจากคณะกรรมการเครือข่ายฯ

    1.ลุงคมสัน  เป็นประธานกลุ่มบ้านต้าฯ , รองประธานเครือข่ายฯรับผิดชอบกองทุนหมุนเวียน , กองทุนคำประกันเงินฝาก , กองทุนคำประกันเงินกู้

    2.พี่สวรส  เป็นคณะกรรมการเครือข่ายฯดูแลกองทุนสวัสดิการคนทำงาน

    3.อ.สมพิศ  เป็นเลขาฯเครือข่ายฯ  ดูแลกองทุนชราภาพและการศึกษา

    4.คุณวรณพร  เป็นกรรมการเครือข่ายฯดูแลกองทุนเฉลี่ยความเสี่ยง

    5.คุณอุทัย  เป็นประธานกลุ่มแม่ทะป่าตัน , รองประธานฯเครือข่ายฯดูแลกองทุนสวัสดิการคนทำงานและสินเชื่อคนทำงาน

    6.อ.ชุติกานต์  เป็นประธานกลุ่มวังเคว้ง , รองประธานฯเครือข่ายฯดูแลกองทุนร่วมและกองทุนทดแทน

    7.พี่สุภัตรา  เป็นกรรมการเครือข่ายฯ  ดูแลกองทุนร่วม

    8.ลุงบุญเทียม  เป็นประธานกลุ่มสบตุ๋ย

    9.อาจารย์พิมพ์ฉัตร  เป็นนักวิจัย  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศูนย์ลำปาง

    10.อาจารย์วิไลลักษณ์  เป็นนักวิจัย  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศูนย์ลำปาง  (ผู้วิจัยเองค่ะ)

    11.คุณสามารถ  เป็นประธานกลุ่มนาก่วมใต้ , ประธานเครือข่ายฯ

    สำหรับคณะกรรมการกลุ่มที่มาต้อนรับในวันนี้  ประกอบด้วย

    1.คุณบัวชร

    2.คุณชรินพร

    3.คุณนิภารัตน์  (คีย์ข้อมูล)

    4.คุณอุบลรัตน์

    5.คุณกนกพร

   6.คุณชวนพิศ  (ประธานกลุ่มฯ)

   7.คุณสวิง  (สามีคุณชวนพิศ)

   จากการแนะนำตัวเป็นที่น่าสังเกตว่าคณะกรรมการ (ส่วนใหญ่) ของกลุ่มนี้ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่ทำอะไร  โดยทางกลุ่มฯยอมรับว่าที่ผ่านมาช่วยกันทำ  ยังไม่มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน  แต่ต่อไปคาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์จะจัดแบ่งหน้าที่แล้วเสร็จ  เพราะ  ตอนนี้มีคณะกรรมการ  คือ  คุณกนกพร  ได้เอื้อเฟื้อสถานที่บริเวณบ้านซึ่งอยู่หน้าวัดให้เป็นที่ทำการของกลุ่มฯ  จะเริ่มจัดการในเรื่องสถานที่ให้แล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์  นอกจากนี้คุณกนกพรยังบอกเพิ่มเติมว่าจะนำเงิน 30% ในส่วนของธุรกิจชุมชนมาลงทุนเปิดร้านค้าขายของในราคาถูกให้กับสมาชิก  ซึ่งคุณสามารถกับผู้วิจัยได้แสดงความเห็นด้วย  คุณสามารถบอกว่าขอให้เริ่มทำไปก่อน  ยังไม่ต้องกังวลว่าใครจะมาช่วยหรือไม่มาช่วย  ถ้าเริ่มทำแล้วติดขัดตรงไหน  ทางเครือข่ายฯยินดีให้การสนับสนุน

    อนึ่ง  คุณสามารถได้กล่าวเพิ่มเติมว่า  การให้แต่ละคนแนะนำตัวนั้นเป็นการฝึกพูด  ถ้าไม่ฝึก  เวลาที่ต้องพูดจะไม่มั่นใจ  สิ่งที่เป็นห่วงในตอนนี้ก็คือ  การทำงานครั้งนี้ไม่ใช่ทำแล้วเลิก  แต่ทำไปเรื่อยๆ  สมาชิกก็มีมากขึ้น  คำถามก็คือ  จะทำกันต่อไปอย่างไร  จะมีการบริหารจัดการอย่างไร

   ในประเด็นนี้  คุณสามารถบอกว่าตอนที่ตั้งกลุ่มแรกๆ  คุณสามารถได้นำโครงสร้างของสหกรณ์มาใช้ในการบริหารจัดการ มีตำแหน่งต่างๆ  ประกอบด้วย

    1.ประธานฯ  ทำหน้าที่พูด

    2.รองประธาน   เวลาประชุมก็นั่งมองหน้าประธานฯ

    3.เลขาฯ  ทำหน้าที่จด

    4.เหรัญญิก  ทำหน้าที่เก็บเงิน (คนเดียว)

    ซึ่งโครงสร้างการบริหารจัดการอย่างนี้ได้รับการพิสูจน์จากหลายๆพื้นที่แล้วว่าไปไม่รอด      เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้คนมาทำงาน  จึงเป็นที่มาของการกระจายกองทุน  ดังนั้น  เมื่อมีการกระจายกองทุนแล้วก็ต้องมีคณะกรรมการให้ครบทุกกองทุน

    นอกจากนี้แล้วคุณสามารถยังได้ให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อกลุ่ม (ตามความคิดของผู้วิจัย)  โดยคุณสามารถบอกว่าการที่องค์กรต่างๆไม่เข้มแข็งนั้น  เพราะ  ในองค์กรมีคนอยู่ 6 ประเภท  คือ

    1.เอาเขาว่า  เป็นคนยังไงก็ได้ 

    2.ท่ายกมือ  ผิดถูกยกมือไว้ก่อน

    3.ดาราตัวแทน  เวลามีประชุมจะมีตัวแทนไปคนเดียว  ไม่เคยเห็นคนอื่น

    4.แหงนดูหน้า  ได้แต่มอง

    5.ถือตัวแน่  ใครว่าไม่ได้

    6.แย่แล้วไม่แก้ไข

    ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับ  คุณสามารถได้ให้คณะกรรมการทั้งของเครือข่ายฯและของกลุ่มเสนอแนะวิธีการทำงานหรือบอกเล่าสปัญหาอุสรรคต่างๆ  มีผู้แสดงความคิดเห็นดังนี้

   1.อ.สมพิศ  ควรมีสมุดประจำแต่ละกองทุน  เพื่อให้คณะกรรมการแต่ละคนรับผิดชอบ

   2.อ.ชวนพิศ  บอกว่าที่นี่ผู้นำไม่ค่อยสนใจ  ผู้ใหญ่บ้านเคยบอกว่าจะให้การสนับสนุนแต่กลุ่มอาชีพ  แต่ก็ยังไม่เห็นทำอะไร  ในประเก็นนี้คุณสามารถบอกว่า  ไม่เป็นไร  ไม่ต้องไปสนใจ  ให้เราตั้งใจทำไว้ก่อน

   3.พี่สุภัตรา  แนะนำว่าเท่าที่ตรวจดูบัญชี  คิดว่าบางอย่างกลุ่มยังไม่เข้าใจ  ได้ให้คำแนะนำไปบ้างแล้ว  ต่อไปถ้าไม่เข้าใจตรงไหนก็ให้โทรศัพท์ไปถามได้

    4.ลุงบุญเทียม  เล่าว่ากลุ่มสบตุ๋ยก็มีปัญหาเหมือนกัน  แต่พอทางเครือข่ายฯลงไปช่วย  ตอนนี้พอจะมองเห็นธงชัยแล้ว  ขอให้กลุ่มบ้านเอื้อมมีความตั้งใจ  มีความพยายาม  จะเป็นกำลังใจให้

    เขียนมาตั้งนาน  หลายคนคงตั้งคำถามว่าแล้วผู้วิจัยทำอะไร  งานนี้บทบาทหลัก  คือ  เป็น      คุณลิขิตค่ะ  ส่วนบทบาทรองๆก็ไม่รู้เหมือนกัน  แยกไม่ค่อยออก  แต่ถ้าถามตัวเองคงต้องตอบว่าเป็นตัวโจ๊กมากกว่าค่ะ

 

   

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11624เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2006 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท