Adult Learning (การฝึกอบรมกับกระบวนการเรียนรู้ของผู้ใหญ่)


Knowles 1984 "people are become adult psychologically when they arrive at the self concept of being responsible for their own lives, of being self-directed" so You can teach children but You can only help adults learn.

สาเหตุที่เลือกทำเรื่องนี้ จริงๆแล้ว เพราะว่าคิดหัวข้อไม่ออก เลยไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์ส้ม ท่านเลยแนะนำหัวข้อนี้มาให้ พอได้ลองศึกษาก็เห็นว่ามันมีประโยชน์จริงๆ ทั้งต่อตนเองและเพื่อนๆ ที่อนาคตอาจต้องไปข้องแวะเกี่ยวกับฝ่ายพัฒนาและอบรม พนักงานในองค์กรถือว่าบรรลุนิติภาวะแล้ว ดังนั้นเราจึงไม่สามารถสอนเขาแบบครูสอนนักเรียน เรามีหน้าที่เพียงแค่ว่าเราจะช่วยเขาได้อย่างไร เราทำหน้าที่เป็น Facilitator ของเขาเท่านั้น ดังคำกล่าวของ KNOWLES ที่ว่า "You can teach children but You can only help adults learn."  มันเป็นการยากที่จะให้เขามาสนใจเนื้อหา และยอมเปิดใจฟังเรื่องที่เราจะพูด หรืออบรม ซึ่งเมื่อเราได้อ่านเนื้อหา เราก็จะเข้าใจว่าธรรมชาติของผู้ใหญ่นั้นเป็นอย่างไร การทำงานก็จะง่ายขึ้น สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้

การฝึกอบรมมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเรียนรู้ เนื่องจากการฝึกอบรมเป็นกระบวนการหนึ่งซึ่งมุ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวร อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติที่มีการเน้นย้ำบ่อยๆ โดยที่ผลของการเรียนรู้อาจไม่สามารถเห็นได้โดยตรง แต่อาจตรวจสอบได้จากผลของการกระทำ หรือผลงานของผู้เรียน นักจิตวิทยาได้ทำการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ไว้มากมาย ล้วนแต่เห็นว่าการเรียนรู้ของผู้ใหญ่แตกต่างจากการเรียนรู้ของเด็ก

ลักษณะธรรมชาติในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่

                    1.       ผู้ใหญ่ต้องการรู้เหตุผลในการเรียนรู้ และผู้ใหญ่จะเรียนรู้ก็ต่อเมื่อเขาต้องการจะเรียนเนื่องจากผู้ใหญ่รู้ว่าตนเองมีความรับผิดชอบต่อผลของการตัดสินใจของตนเองได้ ก่อนการเรียนรู้ผู้ใหญ่ มักต้องการจะรู้ว่า เพราะเหตุใด หรือทำไมเขาจึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ เขาจะได้รับประโยชน์อะไร และจะสูญเสียประโยชน์อะไรถ้าไม่ได้เรียน

                    2.       ลักษณะการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องการที่จะชี้นำตนเองมากกว่าจะให้ผู้สอนมาชี้นำ การสอนควรเป็นแบบแนะแนวมากกว่า ดังนั้นบทบาทของผู้สอนควรจะเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วม (Facilitator) มากกว่า

                    3.       บทบาทของประสบการณ์ของผู้เรียน ประสบการณ์เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่มีความแตกต่างระหว่างบุคคล ดังนั้นการจัดกิจกรรมควรคำนึงถึงด้านความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย ควรใช้เทคนิคฝึกอบรมต่างๆ ที่เน้นการเรียนรู้โดยอาศัยประสบการณ์ (Experiential Techniques) เช่น การอภิปรายกลุ่ม กิจกรรมแก้ปัญหา กรณีศึกษา เป็นต้น

                    4.       แนวโน้มในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ การเรียนรู้จะมุ่งเน้นไปที่ชีวิตประจำวัน หรือเน้นที่งาน หรือการแก้ปัญหา เสียมากกว่า นั่นคือ เขาจะสนใจหากช่วยให้การทำงานของเขาดีขึ้น หรือช่วยการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน การจัดหลักสูตรควรอาศัยสถานการณ์ต่างๆรอบตัวเขา

                    5.       บรรยากาศในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะเรียนรู้ได้ดีกว่าในบรรยากาศที่มีการอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งทางกายภาพ เช่น การจัดแสงสว่าง อุณหภูมิที่พอเหมาะ การจัดที่นั่งที่เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์กัน และมีบรรยากาศของการยอมรับในความแตกต่างในทางความคิด และประสบการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละคน มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีอิสรภาพในการแสดงออก เป็นกันเอง

ประเภทของการเรียนรู้               

                    เพื่อให้การเรียนรู้ของผู้ใหญ่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างสมบูรณ์ ผู้สอนต้องเข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ และยังต้องสามารถประยุกต์หลักการต่างๆเข้ากับปัจจัยต่างๆทางการศึกษา เพื่อให้เกิดสภาพที่จะสนับสนุนและเหมาะต่อการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ให้มากที่สุด พิจารณาจาก 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้

                     1.       Structure of Learning Experience การจัดกิจกรรมควรมีกำหนดการที่ยืดหยุ่น เพื่อตอบสนองต่อข้อจำกัดเรื่องเวลา ควรเน้นการเรียนการสอนแบบ face-to-face มากกว่าการสอนผ่านสื่อต่างๆ และควรให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ กับผู้อื่น ตัวอย่าง การสัมมนากลุ่มย่อย หรือการโต้วาที เป็นต้น

                    2.       Learning Climate บรรยากาศการเรียนที่มี การช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันจะส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ผู้เรียนต้องการเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือในสายตาของผู้อื่น ควรเปิดโอกาสให้มีการแบ่งปันและรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มเพื่อน ผู้สอนควรทราบถึงความคาดหวังของผู้เรียน และช่วยปรับแต่งให้เหมาะสมขึ้น

                    3.       Focus of Learning การเรียนควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้และวิเคราะห์ประสบการณ์ที่ตนมี ผู้เรียนควรมีอิสระในการวางแผนและจัดการการเรียนรู้ของตัวเอง ผู้สอนเป็นแค่คนคอยช่วยเหลือ ประเด็นการเรียนรู้ควรอยู่ในรูปของ จะทำอย่างไร เมื่อ.....”  มากกว่าเป็นเรื่องของทฤษฎีล้วนๆ

                    4.       Teaching-Learning Strategy and Media การเรียนควรเป็นไปในเชิง การแก้ปัญหา และส่งเสริมให้เรียนด้วยกัน โดยเน้นให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ให้มากที่สุด โดยอาจมีส่วนร่วมในวิธีการสอน เช่น วิธีบทบาทสมมติ หรือมีส่วนในการประเมิน (Self assessment) ก็ได้

บทบาทที่สำคัญของผู้สอน

                    ในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่จำเป็นที่ผู้รับผิดชอบจัดการฝึกอบรมจะต้องเข้าใจและพยายามที่จะดำเนินการต่างๆในการฝึกอบรมให้สอดคล้องกัน สรุปได้ดังนี้               

                     1. ผู้สอนจะต้องยอมรับว่าผู้เรียนแต่ละคนมีคุณค่า  และจะต้องเคารพในความรู้สึกนึกคิด และความเห็น ตลอดจนประสบการณ์ของเขาด้วย               

                    2. ผู้สอนควรพยายามทำให้ผู้เรียนตระหนักด้วยตนเองว่า มีความจำเป็นที่เขาจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรม (ทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถ และทัศนคติ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และอาจประสบปัญหาอย่างใดบ้าง อันเนื่องมาจากการขาดพฤติกรรมที่มุ่งหวังดังกล่าว               

                    3. ควรจัดสิ่งแวดล้อมทางกายภาพให้สะดวกสบาย (เช่นที่นั่ง อุณหภูมิ แสงสว่าง การถ่ายเทอากาศ เป็นต้น) รวมทั้งเอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองด้วย               

                    4. ผู้สอนจะต้องแสวงหาวิธีการที่จะแสวงหาความสัมพันธ์อันดี ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน เพื่อสร้างความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ และความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ควรพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขัน               

                    5. หากเป็นไปได้ผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในเรื่องดังต่อไปนี้               

                     5.1 การพิจารณาวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ ตามความต้องการของผู้เรียน โดยสอดคล้องกับเนื้อหาวิชาด้วย               

                    5.2 การพิจารณาทางเลือกในการกำหนดกิจกรรมเพื่อการเรียนการสอน และวิธีการเรียนการสอน               

                    5.3 การพิจารณากำหนดมาตรการหรือเกณฑ์การเรียนการสอน ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมทั้งร่วมกำหนด เครื่องมือและวิธีการวัดผลความก้าวหน้า เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรกด้วย               

                    6. ผู้สอนจะต้องช่วยผู้เรียนให้รู้จักพัฒนาขั้นตอน และวิธีการในการประเมินตนเองตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้แล้ว

อุปสรรคของการเรียนรู้ของผู้ใหญ่

1.       ประสบการณ์เดิมของผู้ใหญ่

2.       การขาดความเชื่อมั่นในตนเอง

3.       การขาดแรงจูงใจในการเรียน

4.       ความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง

5.       ความกลัวต่อการล้มเหลว

6.       ความเชื่อว่าผู้ใหญ่ไม่สามารถเรียนได้

7.       การขาดความสนใจ

คำสำคัญ (Tags): #knowles
หมายเลขบันทึก: 116065เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2007 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

citrus say:

งานนี้ของใครเอ่ย ใส่ชื่อผู้เขียนหน่อยนะคะ

เนื้อหายังไม่ครบใช่ไหมคะ

อ่านเรื่องนี้แล้วโดนในเพราะใกล้เคียงกับความต้องการของตัวเองบ้าง อยากเห็นบทสรุปของเรื่องค่ะ

พี่บุป

อ่านแล้วก็รู้สึกว่าเราก็ชอบการเรียนรู้แนวนี้เหมือนกัน คือต้องทราบเหตุทราบผลที่เราจะต้องมาเรียนรู้ และเรื่องที่จะเรียนรู้นั้นสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้จริงๆ โดยเฉพาะสามารถทำให้งานของเราดีขึ้น

อยากทราบว่าองค์การที่นำแนวคิดนี้ไปใช้ เขามีรูปแบบการเรียนรู้อย่างไรค่ะ แล้วพนักงานของเขามี feedback ที่ดีกับการเรียนรู้แบบนี้เพียงไร

ขอบคุณค่ะ

แป๋ม

หัวที่นำเสนอน่าสนใจมากค่ะ เพราะเป็นการนำหลักการเรียนรู้ไปเชื่อมโยงกับการฝึกอบรม หากนำไปใช้ในการจัดฝึกอบรมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการอบรมมากทีเดียว แต่ยังไม่เคยเห็นตัวอย่างของการนำแนวคิดเรื่อง Adult Learning ไปใช้ในการฝึกอบรมจริง ๆ  ยังไงรบกวนขอตัวอย่างด้วยนะคะ

น่าสนใจมากค่ะ รู้สึกว่าการเรียนรู้ของผู้ใหญ่เป็นการให้ผู้ใหญ่ได้มีส่วนร่วมเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจริงๆ แต่อยากเห็นกรณีตัวอย่าง วิธีการฝึกอบรมบ้างค่ะ น่าจะสนุกดีนะคะ

อุไรวรรณ ทองเจริญ IO ค่ะ

ชัยยุทธ (ปิค) กลีบบัว

อยากขอคำแนะนำหน่อยครับ(พี่คนไหนแนะก็ได้นะครับไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเรื่อง)....ถ้าผู้สอนหรือวิทยากรที่ฝึกอบรมยังอายุน้อยอยู่แต่มีความรู้ด้านเทคนิคใหม่ๆมากกว่าต้องไปอบรมหรือสอนเรื่องเทคนิคใหม่ๆเหล่านี้ให้กับผู้เข้าอบรมที่มีอายุมากกว่าและประสบการณ์การทำงานมากกว่าผู้สอน...........ผู้สอนควรทำอย่างไรให้สอนคล้องการเรียนรู้ของผู้ใหญ่และให้ผู้เข้าอบรมเชื่อถือและยอมรับกับวิธีใหม่ๆที่อบรมไป(ซึ่งบางทีอาจค้านกับวิธีทำงานของเค้าที่ทำอยู่) และยิ่งผู้สอนมีอายุน้อยด้วยจะมีผลต่อความเชื่อถือหรือการยอมรับมากแค่ไหนคับ

 

ขอบคุณล่วงหน้านะครับสำหรับคำแนะนำ

โบว์ พัชวรินทร์ ภัทรนาวิก

อ่านบทความนี้แล้วก็นึกถึง Case ในบริษัทตัวเอง Case นึง คือ ผู้เรียนคนหนึ่งมีตำแหน่งเป็น Manager ของแผนก ซึ่งก็มีอายุมากพอสมควรแล้ว(คาดว่าน่าจะประมาณ 40 ปลายๆน่ะค่ะ) พอพี่ที่ฝ่าย HRD ส่งไป Training ก็เกิดปัญหาที่ว่าพี่เค้าบอกว่าเค้าอายุมากแล้วจะ Train ทำไม เค้าน่ะ อายุมากว่าแล้วก็มีความรู้มากกว่าคนที่จะมาสอนเค้าซะอีก(ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่น่ะค่ะ555) อยากทราบว่าพี่ผู้เขียนจะมีคำแนะนำอะไรจากความรู้เรื่อง Adult Learning เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นนี้มั๊ยคะ

 

ขอบคุณค่ะ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจนะคะ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้าง sensitive ในการที่จะให้คนที่อายุน้อยกว่าไปให้คำแนะนำหรือให้ความรู้กับผู้ที่อายุมากกว่า บางทีอาจจะเกิดอคติในตัวผู้สอนได้ ซึ่งทำให้พลาดโอกาสในการเรียนรู้วิทยาการหรือความรู้ใหม่ๆที่เป็นประโยชน์มากเลยนะคะ โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผู้ใหญ่บางคนอาจมองว่าตนเองเกินวัยที่จะเรียนรู้แล้ว ก็ใช้รูปแบบเดิมๆที่เคยทำมาต่อไป ซึ่งรูปแบบที่เคยทำมาบางครั้งก็ดีแล้ว แต่การที่เราได้รับความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมด้วย แล้วเอามาวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียของทั้งรูปแบบเก่าและใหม่ แล้วนำส่วนดีของทั้งสองแบบมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็น่าจะดีกว่า...ไม่ใช่หรือคะ

เทพิน เกษะศิริ

การเรียนรู้ ถือได้ว่า ทำอย่างไรก็ไม่หมดไปจากชีวิต เพราะสามารถเรียนรู้ได้หลากหลาย มากมาย แต่กำลังสงสัยกับคำว่า Training จะคล้าย หรือ แตกต่างจากคำว่าเรียนรู้นี้มากแค่ไหนคะ หรือว่าสามารถใช้แทนกันได้ มีผู้กล่าวถึงเกี่ยวกับเรื่องการเรียนรู้ที่ค่อนข้างจะน่าเชื่อถือได้ นั่นคือ หากสมองของคนเราในแต่ละวันไม่มีการคิด พัฒนา เรียนรู้บ้าง สักวันจะทำให้เป็นโรคหลงลืมได้ คนเราไม่มีวันแก่เรียน แต่จะทำยังไงได้บ้างที่จะกระตุ้นให้เกิดการอยากเรียนรู้ ถึงแม้จะมีภารกิจมากมายแตกต่างกัน มีวิธีกระตุ้นบ้างไหมคะ โดยเฉพาะกับวัยเด็ก อยากหาวิธีการที่จะปลูกฝังตั้งแต่เริ่มต้น ลองมาหลายวิธีแล้ว ยังไม่ค่อยได้ผลเท่าใดนัก ช่วยชี้แนะด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

บุษบงค์ จงจิตเจริญ (ยิน)

ชอบการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่จังค่ะ เพราะไม่ใช่แค่การมานั่งฟังในห้องเรียน แล้วผู้สอนก็มีหน้าที่แค่ป้อนๆๆๆความรู้เข้าไป โดยที่ผู้เรียนก็มีหน้าที่รับอย่างเดียว ซึ่งก็อาจเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา หรือไม่ได้ใช้สมอง ความคิดเท่าที่ควร และจากที่เคยเรียนใน class พบว่า Retention Rate ของการ Lecture มีเพียง 5 % แต่การเรียนรู้แบบผู้ใหญ่นี้ มีรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทำให้รู้จักการใช้เหตุผลอย่างเต็มที่ ได้มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ได้ผลมากกว่า การแชร์แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นใน blog แบบนี้ ก็ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ Adult learning ใช่ไหมคะ โดยส่วนตัวถือว่าน่าสนใจมากเลยทีเดียว...ยังไงจะรออ่านฉบับสมบูรณ์ที่มีตัวอย่าง case study ที่จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นนะคะ สู้ๆๆๆ :-) 
ดีมาก ๆ เลยเพราะเวลาที่ผมคิดว่าการจะไปสอนคนที่โตกว่านั้นลำบากมากเพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ และที่สำคัญเค้ามักไม่เปิดใจให้กับคนที่เด็กกว่า นอกจากนี้น่าจะมีการเสนอวิธีการสอนงานให้คนที่เด็กกว่าแต่เป็นพวกถือตัวคิดว่าตัวเองเก่งด้วยนะครับ อันนี้อยากรู้

ทฤษฎีการเรียนรู้ตามหลักจิตวิทยามีอีกอย่างค่ะที่อยากแนะนำ Constructivism http://gotoknow.org/blog/teerawat2519/109256

ขโมยมาจากคุณธีรวัฒน์น่ะคับ มันเป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ดีอย่างนึง ออมเรียนมาตั้งแต่ปี3แล้ว จำไม่ค่อยได้ ได้อ่านก็ดีขึ้นคับ

ของพี่โน๊ตออมว่ามันดีที่เอาไปใช้ได้คับ ยิ่งองค์กรที่มีทั้งคนยุคSenior BabyBoom และGenX GenY อยู่รวมกันด้วยแล้วล่ะก็สมควรใช้คับ

 

น่าสนใจคะเรื่องนี้โดยเฉพาะอุปสรรคของการเรียนรู้ในด้านประสบการณ์เดิมของผู้ใหญ่เพราะการเปลี่ยนทัศนคติเดิมๆของผู้เรียนนั้นจะต้องให้เค้ายอมรับและเชื่อถือในตัวผู้สอนอย่างมาก อยากทราบว่าผู้เขียนมีแนวความคิดเกี่ยวกับอุปสรรคในข้อนี้อย่างไรบ้างคะ

น่าสนใจค่ะ  กำลังทำความเข้าใจกับเรื่องนี้นิสนึงพอดีเลยค่ะ  เพราะมันสอดคล้องกับเรื่องที่นันทน์เขียน  ซึ่ง รูปแบบการเรียนรู้แบบ Adult Learning   เป็นแนวทางหนึ่งในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสู่การเกิดนวัตกรรม  เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการนำไปปฏิบัติได้จริง  เนื้อหายังไม่ครบใช่มั้ยคะ  จะรอติดตามนะคะ  เผื่อจะได้link ขยายความจากblock ของนันทน์มาที่นี่ได้เลย แฮ่ๆๆ

นันทน์ 

อ่านบทความนี้แล้วน่าสนใจมากค่ะ เพราะว่านำไปใช้กับการทำงานจริงได้ มีโอกาสได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอนการศึกษาผู้ใหญ่เห็นว่าน่าสนใจ สอดคล้องกับบทความนี้ เพื่อน ๆ น่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้

"ในการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ใหญ่นั้น ผู้สอนหรือผู้ถ่ายทอดความรู้ต้องมีคุณสมบัติความสามารถเฉพาะเรื่องที่สอน เช่นสอนวิชาชีพทางการเกษตร สอนการเล่นดนตรี สอนการทำขนมไทย เป็นต้น ไม่ได้คำนึงคุณวุฒิทางการศึกษา แต่ผู้สอนต้องมีความรู้ จิตวิทยาการเรียนรู้ของผู้ใหญ่โดยเฉพาะ การสอนจะเน้นการปฏิบัติจริง"

นุ้ย พงศ์ทร วงศ์พุธ

ถึงผู้เขียนและผู้ร่วมลงความเห็น

     ผมก็พยายามหาว่า ตกลงใครเขียนขึ้นมากันเนี่ย เค้าซ่อนไว้รึเปล่าก็หาไม่เจอเหมือนกัน แต่อ่านแล้วโดนเหมือนหลาย ๆ คนที่บอกมาน่ะครับ ถึงแม้จะเป็นผู้ใหญ่ไม่เต็มที่เหมือนพี่บุป เพราะผู้ใหญ่หลายคนต้องยอมรับจริง ๆ ว่า เค้าพร้อมปรับตัวเรียนรู้ก็มีเยอะ แต่ว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นไปตามทฤษฏีที่เค้าบอกมาจริงๆ  ด้วย วิธีการเรียนรู้ค่อนข้างน่าสนใจ คือการโต้ตอบกันให้มากที่สุด หรือการแสดงความคิดเห็นนั่นเอง  ขอเสนอแนะนะครับ ยิ่งมีเคสตัวอย่างของผู้สอนหรือเคสตัวอย่างทั่วไปมาเล่าให้ฟัง น่าจะเพิ่มดีกรีความชอบมากยิ่งขึ้นนะครับ ทุกคนเห็นว่าเป็นอย่างไร

ปล. จะพยายามนั่งทางใน ให้เจ้าของกระทู้มาลงชื่อด้วยนะครับ

ปิยา เดชาภิวุฒิ ^^ Chippo

 

หัวข้อและเนื้อหาน่าสนใจนะ ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของตัวเอง เข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ซึ่งก็คือในวัยทำงานอย่างเราเนี่ยแหละ  ซึ่งเราจะได้รู้วิธีการเรียนรู้ ที่เหมาะกับตัวเองได้ดี

น่าจะมีตัวอย่างของการนำไปใช้ในบริษัท หรือในชีวิตประจำวันในที่ทำงาน อย่างที่เพื่อนๆคนอื่นเสนอมาบ้างแล้ว นะจ๊ะโน๊ต

ป.ล.พี่บุปกับนุ้ยคะ โน๊ต ญ เค้าแสดงตัวไว้ในคอมเม้นท์แล้วนะคะ ลองกลับขึ้นไปดู ^^

เห็นด้วยกับพี่ชิพค่ะ ชอบบทความนี้มากเหมือนกัน( ตั้งแต่คำโปรยในกล่องสีเขียวแล้วที่ดึงดูดความสนใจมากๆ) ที่ทำให้ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น นอกจากจะช่วยในการเอาไปใช้จัดฝึกอบรมในองค์การแล้ว ก็ยังสามารถนำไปใช้กับตัวเองได้มากเลยค่ะ  เพราะว่านอกจากจะมีใจใฝ่เรียนรู้แล้ว เราต้องมีวิธีการและรู้จักสภาพการเรียนรู้ของตัวเองซึ่งจะทำให้การเรียนรู้นั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นเรื่องการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่นี้ก็เชื่อมโยงกับเรื่องleadershipด้วยเหมือนกันค่ะ

พอดีมีโอกาสได้อ่านหนังสือ "กลยุทธ์เหนือผู้นำ ของJack Welch" (ทฤษฎี4E) ทำให้ทราบว่ากลยุทธ์หนึ่งที่เขานำมาใช้คือ การปลูกฝังให้ผู้บริหารรู้จักเปิดใจยอมรับในความสามารถตัวเอง และพร้อม เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าผู้สอนจะอยู่ในวัยเดียวกันหรือไม่

คือเขาจะให้พวกผู้บริหารมาเรียนเทคโนโลยีกับเด็กรุ่นใหม่ ส่วนเด็กรุ่นใหม่ก็ได้ทักษะในการถ่ายทอดความรู้ เป็นการแลกเปลี่ยนกันด้วย  ...

พอดียังอ่านไม่จบ ถ้าเพื่อนๆสนใจก็ไปหาหนังสือมาอ่านได้เลยค่ะ ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯน่าจะมีนะคะ

ลืมบอกไปว่าความคิดเห็นเมื่อกี้ นั้น  ของเบญเองค่ะ

คือพี่ไม่รู้ว่าเป็นของใครอ่ะนะ แต่ขออนุญาต mentละกัน อย่างแรก อยากรู้อ่ะคะว่ามีกรณีตัวอย่างหรือเปล่าคะ ว่าถ้านำไปใช้ในองค์กรแล้วจะสามารถพัฒนาบุคลากรได้จริง อีกอย่างหนึ่งการเรียนรู้ในผู้ใหญ่ ที่ต้องมีการสอนแบบ Facilitator เนี่ยขอขยายความหน่อยได้มั้ยคะ คือไม่ค่อยมีความรู้ด้านนี้เลย และก็คิดว่ามันเป็นกลยุทธ์การสอนแบบหนึ่งที่น่าสนใจมากแล้วก็น่าจะใช้ได้ผลดีนะพี่ว่า เพราะจริงๆแล้วเราแค่เป็นตัวเหนี่ยวนำเค้าก็จะทำให้เกิดความคิดที่อยากจะเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ไอ้ที่เหนี่ยวนำให้ได้ผลดี จะทำได้ยังงัย ตรงนี้คะที่อยากรู้ ถ้าใครมีข้อมูลเพิ่มเติมก็ส่งมาได้ จะรอฟังข่าวคะ

เรื่อง Adult Learning เป็นเรื่องสำคัญและเป็นประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะในองค์กร ที่มีกลุ่มคนหลายๆกลุ่มอายุ ทำงานร่วมกันค่ะ

อย่างงานที่ทำอยู่ก็จะมีปัญหาซึ่งเกิดจาก gap ของอายุเหมือนกัน ซึ่งก็เหมือนๆกับเพื่อนหลายๆคน ที่บางทีพอเค้าเห็นเราเป็นเด็กกว่า ก็จะตั้งแง่ และไม่ยอมรับแล้ว

พี่ว่าเรื่องดีก็ดีค่ะ  แต่ในความคิดของพี่ว่าผู้ใหญ่ต้องฝึกคิดเยอะค่ะ  แล้วผู้ใหญ่ในสายตาของพี่ว่า จบป.ตรีก็น่าจะจัดไว้กลุ่มผู้ใหญ่ได้แล้วค่ะ

พี่เอ๋

  • ตกลงเรายังไม่รู้กันเลยใช่ไหมคะ ว่าเรื่องนี้เป็นของใคร แสดงตัวด่วนค่ะ!!!!!
  • อ่านเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงคอลัมภ์หนึ่งที่เคยอ่านโดยผู้เขียนเล่าถึงประสบการณ์ในการไปอบรมการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้นสำหรับข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอายุประมาณ50ปีขึ้นไป(ข้าราชการระดับสูง=สูงอายุค่ะ...แปลได้ประมาณนั้น)แถมตำแหน่งหน้าที่แต่ละท่านก็ไม่ธรรมดาซะด้วย และเนื่องจากศัพท์ทางcomputerส่วนใหญ่ก็ใช้ภาษาอังกฤษใช้มั้ยคะ วิทยากรก็ต้องบรรยายทับศัพท์ เช่น แนะนำส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ว่ามีHard ware,soft ware ผู้เข้าอบรมก็ถามทันทีว่า"ไม่มีภาษาไทยเหรอคุณ ทำไมไม่ใช้ภาษาไทย ที่นี่เมืองไทยนะ"ประมาณนี้ค่ะ วิทยากรพยายามอธิบายแล้วว่าส่วนใหญ่ใช้ทับศัพท์ แต่ดูเหมือนผู้เข้าอบรมนอกจากไม่พยายามที่จะเข้าใจแล้วยังไม่ตั้งใจฟังและพูดจายียวนกวนวิทยากร จนในที่สุดความอดทนของวิทยากรก็จบสิ้นลง หันมาใช้ศัพท์ภาษาไทยในการบรรยายแทน เช่น soft ware ก็ใช้ ละมุนภัณฑ์ hard ware ก็ใช้  กระด้างภัณฑ์ เป็นต้นจนจบการบรรยายซึ่งได้ผลผู้เข้าอบรมนิ่งเงียบไปเลยค่ะ
  • การใช้คอมพิวเตอร์สำหรับผู้ใหญ่ มักคิดว่าน่ากลัว กลัวการใช้เทคโนโลยีใหม่ กลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวการล้มเหลว ทำให้ไม่เปิดใจในการเรียนรู้ ไม่เพียงแต่เรื่องคอมพิวเตอร์เรื่องเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่นๆด้วย
  • น่าสนใจนะคะ ว่าจะทำเช่นไรให้ Adult Learning เกิดผลอย่างดีเยี่ยม

เผอิญผมยังเด็ก

แถมยังจะพยายามทำตัวเป็นเด็กอยู่อีก เรื่องเหล่านี้ก็คงไม่เกิดกับผมมั้ง

เพราะจะพยายามทำตัวให้เป็นน้ำครึ่งแก้ว(แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีน้ำเลยต่างหาก อิ อิ)

 

ใช้การจะสอนผู้ใหญ่นี้ยากกว่าการจะสอนเด็กเล็กๆ อีกเพราะอย่างน้อยเด็กมันก็น่าจะเชื่อผู้ใหญ่ ยิ่งถ้าเด็กกว่าแล้วไปสอนผู้ใหญ่นี้ ต้องใจเย็นมากๆ

เคยอ่านเจอเคสนึง มีเด็กจบคอมใหม่ ได้ไปฝึกสอนการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้นให้กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ขององค์กรแห่งนึง ปรากฎว่า มันมีปัญหาเยอะมาก เหมือนที่กล่าวมาข้างบน ทั้งเรื่องการสื่อสารคนละภาษา(ภาษาวัยรุ่นกับภาษาผู้ใหญ่) หรือบางทีผู้ใหญ่ก็อาจไม่เชื่อถือข้อมูลของน้องเขาที่มาสอน ประมาณนี้ละครับ

 

ซึ่งคงต้องใจเย็นทั้งสองฝ่าย ถึงจะสำริดผล และต้องเข้าใจกันด้วยนะเออ

ไม่ใช่เจ้าของบทความนะคะ แต่ขอแจ้งว่าเป็นของโน้ต (หญิง) ค่ะ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว เผื่อไว้ว่าจะต้องสอนงานคนที่อายุมากกว่าแต่โชคดีที่เคยได้เจอมา พี่เค้าน่ารัก รับฟัง ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตาม และเป็นการสอนแบบ OJT ค่ะ

ต่าย ^^

มารอดูตัวอย่างด้วยคน คิดว่าเรื่องนี้น่าจะสนใจตรงที่ค่อนข้างใกล้ตัวทุกคนที่กำลังจะเป็นผู้ใหญ่ หรือเป็นผู้ใหญ่แล้ววว  ..เราต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้จากที่ทำงาน และกำลังเรียนต่อ ป. โท  ทำให้ได้มอง ได้คิด ว่าตัวเองกำลังอยู่ในการเรียนรู้ลักษณะที่เหมาะกับ Adult Learning หรือยัง  ได้รู้ธรรมชาติในการเรียนรู้ในวัยนี้มากขึ้นด้วยค่ะ ... รอโน๊ตมาเพิ่มตัวอย่างนะจ๊ะ แล้วจะแวะมาอ่านใหม่

พี่เกด (^o^)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท