การจัดการเรียนรู้โดยการบูรณาการ 2


                  สำนักงานโครงการพิเศษสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติกระทรวงศึกษาธิการได้จำแนกรูปแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการ  ออกเป็น  2  ลักษณะ  คือ               

                  1. การบูรณาการภายในวิชา  เป็นการเชื่อมโยงการสอนระหว่างเนื้อหาวิชาในกลุ่มประสบการณ์หรือรายวิชาเดียวกันเข้าด้วยกัน  ซึ่งโดยปกติครูผู้สอนในวิชาต่าง ๆ  จะปฏิบัติอยู่แล้ว               

                 2.   การบูรณาการระหว่างวิชา  จะมี  4  รูปแบบ  คือ

                        2.1   การสอนบูรณาการแบบสอดแทรก  (Infusion) เป็นการสอนในลักษณะที่ครูผู้สอนในวิชาหนึ่งสอดแทรกเนื้อหาวิชาอื่น ๆ  ในการสอนของตน             

                       2.2         การสอนบูรณาการแบบคู่ขนาน  (Parallel  Instruction) เป็นการสอนโดยครูตั้งแต่  2  คนขึ้นไปมาวางแผนการสอนร่วมกันโดยมุ่งสอนหัวเรื่องหรือความคิดรวบยอดหรือปัญหาเดียวกันแต่สอนต่างวิชากันและต่างคนต่างสอน 

                       2.3         การสอนบูรณาการแบบสหวิทยาการ (Multidisciplinary  Instruction) เป็นการสอนลักษณะเดียวกันกับการสอนบูรณาการแบบคู่ขนาน  แต่มีการมอบหมายงานหรือโครงการร่วมกัน

                       2.4         การสอนบูรณาการแบบข้ามวิชา (Transdisciplinary  Instruction) เป็นการสอนที่ครูผู้สอนวิชาต่าง ๆ ร่วมกันสอนเป็นคณะ  หรือเป็นทีม  มีการวางแผน  ปรึกษาหารือร่วมกันโดยกำหนดหัวเรื่อง  ความคิดรวบยอด  หรือปัญหาร่วมกันสอนนักเรียนกลุ่มเดียวกัน

                  UNESCO-UNEP  ได้จำแนกประเภทของการบูรณาการหลักสูตรและการเรียนการสอนออกเป็น  2  แบบ  ดังนี้

               1. แบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary) เป็นการสร้างหัวเรื่อง (Theme) ขึ้นมาแล้วนำเนื้อหาจากวิชาต่าง ๆ มาโยงสัมพันธ์กับหัวเรื่องนั้น  ซึ่งบางครั้งเราอาจจะเรียกวิธีบูรณาการแบบนี้ว่า สหวิทยาการแบบมีหัวข้อ (Themetic  Interdisciplinary   Studies) หรือ การบูรณาการที่เน้นการนำไปใช้เป็นหลัก (Application-First  Approach)   การบูรณาการแบบสหวิทยาการ  เป็นการสร้างหัวเรื่องขึ้นมา  แล้วนำเนื้อหาจากวิชาต่าง ๆ  มาโยงสัมพันธ์กับหัวเรื่องที่กำหนด  โดยที่การกำหนดหัวเรื่องต้องมีหลักการ  ดังนี้

                          1.1    เป็นเรื่องที่ผู้เรียนสนใจและมีโอกาสได้เลือกเรียน

                          1.2    เป็นเรื่องที่สามารถโยงความสัมพันธ์ได้หลายวิชาหรือหลายกลุ่มประสบการณ์

                           1.3    เป็นเรื่องที่นักเรียนมีประสบการณ์เดิมอยู่แล้วและสดคล้องกับชีวิตจริงและมีความหมายต่อผู้เรียน

                          1.4    เป็นเรื่องที่มีแหล่งความรู้ให้ผู้เรียนได้ศึกษา   ค้นคิดอย่างหลากหลาย  และเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับท้องถิ่นกับความรู้ที่เป็นสากล

                          1.5    เป็นเรื่องที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้เรียนและส่งเสริมพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน

                          1.6    การตั้งชื่อเรื่องต้องทันสมัย  และน่าสนใจยั่วยุให้ผู้เรียนอยากรู้  อยากเรียน เช่น  บ้านแสนสุข” , “โรคร้ายที่ใกล้ตัว” , นักสืบชุมชนค้นาคนดี” , ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม

                  2. แบบพหุวิทยาการ (Multidisciplinary) เป็นการนำเรื่องที่ต้องการจะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ไปสอดแทรก(Infution) ไว้ในวิชาต่าง ๆ  ซ่งบางครั้งเราอาจจะเรียกวิธีบูรณาการแบบนี้ได้ว่า การบูรณาการที่เน้นเนื้อหารายวิชาเป็นหลัก (Discipline-First   Approch)

                   ทิศนา    แขมมณี ได้กล่าวถึงการบูรณาการเนื้อหาสาระที่มีความเกี่ยวข้องกัน  สามารถทำได้หลายลักษณะ  ดังนี้

                1) การบูรณาการภายในวิชา (Intradisciplinary) หมายถึง การนำเนื้อหาสาระในวิชาเดียวกัน  หรือกลุ่มประสบการณ์เดียวกันมาสัมพันธ์กัน  เช่น  ในวิชาภาษาไทยมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการอ่าน  การเขียนคำประพันธ์  การพูดจูงใจ  ไวยากรณ์  และวรรณคดี  ฯลฯ แทนที่ผู้สอนจะสอนเนื้อหาสาระที่ละเรื่องแยกออกจากกัน  ผู้สอนสามารถนำสาระทุกเรื่องมาสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกัน  โดยเลือกศึกษาวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณีเป็นแกนหรือหัวข้อหลัก (theme) ในการศึกษาเรื่องพระอภัยมณี  ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องราว  ความงามของภาษา  การเขียนคำประพันธ์ (กลอน) การใช้ไวยากรณ์ในคำประพันธ์ การอ่านให้ไพเราะ  ซาบซึ้ง  และการพูดจูงใจให้เยาวชนหันมาสนใจวรรณคดีไทย เป็นต้น

                 2) การบูรณาการระหว่างวิชา  (interdisciplinary)  หมายถึง  การนำเนื้อหาสาระของหลาย ๆ วิชามาสัมพันธ์ให้เป็นเรื่องเดียวกัน  ตัวอย่างเช่น นำเนื้อหาสาระของวิชาภาษาไทย  คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  สังคมศึกษา ศิลปะ  และดนตรี  มาประสานสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกัน ภายใต้หัวข้อเรื่อง หรือ “theme” ที่เลือก

                การบูรณาการภายในวิชา หรือ การบูรณาการระหว่างวิชาส่วนใหญ่จะต้องมี หัวข้อเรื่องหรือ“theme” เป็นหัวข้อในการเรียนรู้  ซึ่งหัวข้อนี้สามารถตั้งชื่อได้หลายลักษณะ เช่น เรียกว่า หน่วยการเรียนรู้  ซึ่งอาจจะตั้งตามหัวข้อเนื้อหาสาระ (content – centered) เช่น โครงการทำปุ๋ยหมักหรืออาจตั้งตามบทบาทหน้าที่ทางสังคม (social  function - centered) เช่น การเป็นพลเมืองดีของประเทศไทยหรืออาจตั้งตามประสบการณ์ที่จัดให้ผู้เรียน (experienced - centered) เช่น เรือเจ้าพระยากับตาวิเศษเป็นต้น

                  นอกจากการบูรณาการเนื้อหาสาระแล้ว  ธำรง   บัวศรี  กล่าวว่า  ควรมีการบูรณาการในลักษณะอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย  ได้แก่  การบูรณาการระหว่างความรู้และกระบวนการเรียนรู้  การบูรณาการระหว่างพัฒนาการทางความรู้และพัฒนาการทางจิตใจ  การบูรณาการระหว่างความรู้และการกระทำ   การบูรณาการระหว่างสิ่งที่เรียนในโรงเรียนกับสิ่งที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้เรียน

                  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการได้จำแนกประเภทของของการจัดการเรียนการสอนโดยการบูรณาการ ดังนี้

                 1.  จำแนกจากการเชื่อมโยงจุดประสงค์หรือมาตรฐานการเรียนรู้และหรือสาระวิชาที่สอนโดยอาจแบ่งเป็นลักษณะหรือประเภทย่อย ๆ  ดังนี้   

                     1.1 การบูรณาการแบบสอดแทรก  เป็นลักษณะการสอนปกติทั่วไปที่บางช่วงได้นำเนื้อหาสาระอื่นมาสอดแทรกระหว่างการเรียนการสอน  เช่น  การสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมเรื่องความซื่อสัตย์ในขณะสอนเรื่องกติกาการเล่นฟุตบอล  โดยการเตรียมการสอนผู้สอนมิได้ดำเนินการละเอียดถึงขั้นวิเคราะห์หลักสูตร   แต่พิจารณาว่าเรื่องใดพอที่จะแทรกเชื่อมโยงกันได้ และ นักเรียนจะได้รับประโยชน์มากขึ้นก็จัดสอดแทรก   

                  1.2 การบูรณาการภายในวิชาหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกัน  เป็นการนำจุดประสงค์ หรือมาตรฐานการเรียนรู้และหรือสาระวิชา  หัวเรื่อง หรือประเด็นสาระประเด็นต่าง ๆ  ที่มีในวิชานั้น ๆ มาบูรณาการกัน  โดยครูผู้สอนมีการดำเนินการวิเคราะห์กำหนดรายละเอียดการบูรณาการชัดเจน  เช่น  ในวิชาวิทยาศาสตร์นำสาระย่อยเรื่องสสาร แรง พลัง  งาน  เซลล์ไฟฟ้า และวงจรไฟฟ้า  เป็นต้น มาบูรณาการสอนในหัวข้อเรื่อง กังหันมหัศจรรย์ หรือ วิชาภาษาไทยนำทักษะการฟัง  พูด  อ่าน  เขียน  มาสอนในหัวข้อเรื่อง บ้านแสนสุข เป็นต้น   

                1.3 การบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือ สหวิทยาการ  เป็นการนำจุดประสงค์หรือมาตรฐานการเรียนรู้และหรือสาระวิชาต่าง ๆ ตั้งแต่ 2 วิชาหรือกลุ่มสาระมาบูรณาการกัน  โดยโดยครูผู้สอนมีการดำเนินการวิเคราะห์กำหนดรายละเอียดการบูรณาการของแต่ละรายวิชาอย่างชัดเจน   เช่น การสอนเรื่อง ไฟฟ้าพาสุขสันต์ ที่นำมาตรฐานการเรียนรู้ หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและสาระวิชาจากวิชาวิทยาศาสตร์  ภาษาอังกฤษ  ภาษาไทย  ดนตรี  นาฎศิลป์  พลศึกษา  คณิตศาสตร์ ศิลปะ เป็นต้น  มาบูรณาการกัน  หรือ  การนำสาระคณิตศาสตร์  ภาษาไทย  และจริยธรรมมาบูรณาการการสอนเรื่อง การแก้ไขโจทย์  ปัญหาการบวก เป็นต้น   

                1.4 การบูรณาการกับชีวิต  เป็นการกำหนดหัวเรื่อง  เนื้อหาสาระ และวิธีการเรียนรู้หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ยึดหรือให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นหลักก่อนแล้วจึงวิเคราะห์ผลการเรียนรู้ที่เกิด  เทียบโยงกับมาตรฐานการเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  หรือสาระที่หลักสูตรกำหนด   เช่น ครูร่วมกับนักเรียนกำหนดจุดมุ่งหมาย  สาระและกิจกรรมการเรียนรู้  หรือกำหนดแผนการเรียนรู้ที่เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น  ชนรุ่นใหม่กับการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องราวการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตในชุมชน เป็นต้น แล้วดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ที่กำหนดนั้นจนเสร็จสิ้น  โดยครูมีบทบาทในการวิเคราะห์ผลการเรียนที่เกิดขึ้นนั้นว่าบรรลุผลการเรียนรู้ใดที่หลักสูตรกำหนดไว้บ้างเพื่อใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรต่อไป 

              2. จำแนกโดยการพิจารณาจากกิจกรรมการเรียนการสอน

                       2.1  บูรณาการลักษณะสอดแทรกกิจกรรมต่าง ๆ โดยที่ครูสอนวิชาใดวิชาหนึ่งตามปกติแล้วสอดแทรกกิจกรรมหรือเชื่อมโยงสาระวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับการสอนนั้น ๆ  มาร่วมสอน เช่น ขณะสอนห้องเรียนขาดความสงบครูก็ชวนให้นักเรียนนั่งสมาธิ  และกล่าวถึงประโยชน์ของสมาธิพร้อมกันไปด้วย เป็นต้น

                       2.2  บูรณาการโดยใช้กิจกรรมโครงงาน  เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่บูรณาการการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการทำโครงงานเป็นหลักหรือใช้ประกอบในการเรียนรู้เรื่องนั้น ๆ  ด้วยการทำโครงงานแต่ละโครงงานโดยปกติจะต้องใช้ความรู้และความสามารถลักษณะบูรณาการอยู่แล้ว  โครงงานจึงสำเร็จได้   การเรียนรู้โดยการทำโครงงานจึงสะท้อนการเรียนรู้ลักษณะการบูรณาการได้เป็นอย่างดี

                     2.3 บูรณาการโดยใช้กิจกรรมแก้ปัญหา    เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่บูรณาการการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการแก้ปัญหาเป็นหลักในการเรียนรู้ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกิจกรรมการทำโครงงาน  ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้จากกิจกรรมการแก้ปัญหาสามารถสะท้อนการเรียนรู้ลักษณะบูรณาการได้เป็นอย่างดีเพราะธรรมชาติการแก้ปัญหามิได้ใช้ความรู้  ความสามารถอย่างเดียวแต่ใช้อย่างบูรณาการ 

                 3.  จำแนกโดยการพิจารณาจากผู้สอน               

                           3.1  แบบสอนคนเดียว   เป็นลักษณะการสอนที่ครูผู้สอนคนเดียว  สอนหลายวิชาหรือทุกวิชา  และผู้สอนท่านนั้นจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการในทุกวิชาหรือกลุ่มวิชาที่รับผิดชอบนั้นโดยการดำเนินการกำหนดหรือวิเคราะห์รายละเอียดการบูรณาการอย่างชัดเจน               

                        3.2 แบบสอนคู่ขนาน  มีลักษณะครู 2 วิชาขึ้นไปร่วมกันกำหนดหัวเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  แล้วต่างคนต่างสอนสาระที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องนั้นในวิชาตนเอง เช่น ครูในสายชั้นวางแผนกำหนดสอนเรื่อง สีสัน โดยในวิชาวิทยาศาสตร์  ก็สอนเกี่ยวกับความถี่ของคลื่นแสง  สีต่าง ๆ  ครูศิลปะก็สอนเกี่ยวกับแม่สี และการผสมสี เพื่อวาดรูป  วิชาสังคมศึกษา สอนเกี่ยวกับความเชื่อเกี่ยวกับสีในสังคมต่าง ๆ  วิชาการงานและอาชีพและเทคโนโลยีสอนการย้อมผ้าสีต่าง ๆ จากวัสดุธรรมชาติ เป็นต้น  เมื่อผู้เรียนเรียนทุกวิชาแล้วก็จะได้ภาพความรู้ที่เกี่ยวกับสีสันตามหัวเรื่อง            

                      3.3 แบบสอนเป็นคณะ (ทีม)   การที่คณะครูหลายวิชามาร่วมกันกำหนดหัวเรื่อง  จุดมุ่งหมาย  สาระและกิจกรรมรวมทั้งการวัดและประเมินผลที่นำมาจากหลายวิชามาบูรณาการกัน  กำหนดเป็นหัวเรื่องใดหัวเรื่องหนึ่งพร้อมรายละเอียด  แล้วร่วมกันสอนเป็นคณะในหัวเรื่องนั้น  ผลงานที่เกิดขึ้นก็สามารถใช้ประเมินได้ทุกรายวิชา  เป็นต้น  ประเภทและลักษณะบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนทั้งประเภทใหญ่และลักษณะย่อย ๆ ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างการจัดแบ่งลักษณะที่พบกันทั่วไป  ซึ่งอาจมีการจัดแบ่งลักษณะอื่นได้อีกมากตามแต่จะกำหนดความซับซ้อนหรือองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา  ซึ่งบางประเภทอาจมีลักษณะผสมกัน เช่น การสอนแบบบูรณาการโดยสอนเป็นทีมและใช้กิจกรรมโครงงานประกอบกันเป็นต้น  

ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนโดยการบูรณาการ               

                    สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ  ได้กำหนดขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนโดยการบูรณาการ ดังนี้

                  1.       ศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

                 2.       จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา

                 3.       การจัดหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ

                 4.       การจัดแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ

             5.       การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ

                 สำนักงานโครงการพิเศษ  สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ  กระทรวงศึกษาธิการ  ได้กำหนดขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณการ  ดังนี้

                1.  กำหนดเรื่องที่จะสอน  โดยการศึกษาหลักสูตรและวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกัน   เพื่อนำมากำหนดเป็นหัวเรื่องหรือปัญหา  หรือความคิดรวบยอดในการสอน

               2. กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้  โดยการศึกษาจุดประสงค์ของวิชาหลักและวิชารองที่จะนำมาบูรณาการ   และกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ในการสอนสำหรับหัวเรื่องนั้น ๆ เพื่อการวัดและประเมินผล

               3. กำหนดเนื้อหาย่อย เป็นการกำหนดเนื้อหาหรือหัวเรื่องย่อย ๆ สำหรับการเรียนการสอนให้สนองจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้

                4. วางแผนการสอน  เป็นการกำหนดรายละเอียดของการสอนตั้งแต่ต้นจนจบ   โดยการเขียนแผนการสอน  ซึ่งประกอบด้วยสำคัญเช่นเดียวกับแผนการสอนทั่วไป คือ  สาระสำคัญ  จุดประสงค์  เนื้อหา  กิจกรรมการเรียนการสอน  การวัดผลประเมินผล

                5. ปฏิบัติการสอน  เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ในแผนการสอน  รวมทั้งมีการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน  ความสอดคล้องสัมพันธ์กันของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  ผลสำเร็จของการสอนตามจุดประสงค์  ฯลฯ  โดยมีการบันทึกจุดเด่น  จุดด้อยไว้สำหรับการปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

                  6. การประเมินปรับปรุง  และพัฒนาการสอน  เป็นการนำผลที่ได้บันทึก  รวบรวมไว้ในขณะปฏิบัติการสอน มาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาแผนการสอนแบบบูรณาการให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

บทสรุป

               ทิศนา   แขมมณี  ได้กำหนดตัวบ่งชี้การการจัดการเรียนรู้โดยการบูรณาการ  ดังนี้

                 1) ผู้สอน หรือผู้สอนและผู้เรียนมีการจัดเตรียมหน่วยบูรณาการ  โดยมีการวิเคราะห์  อภิปรายเกี่ยวกับหลักสูตร  เนื้อหาสาระและวัตถุประสงค์   และนำเนื้อหาสาระภายในวิชา / ระหว่างวิชา  มาสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกันโดยใช้วิธีการและกระบวนการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม   เพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ          

               2) ผู้สอน หรือผู้สอนและผู้เรียนมีการร่วมกันกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สามารถสนองวัตถุประสงค์ที่กำหนด  ทั้งนี้กิจกรรมควรมีลักษณะที่สำคัญ  ดังนี้ 

                        2.1)เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนมีโอกาสศึกษาหาความรู้หรือสร้างความรู้ในเนื้อหาสาระที่นำมาบูรณาการครบทุกเรื่อง     

                         2.2)  เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนมีโอกาสได้ใช้ความรู้ / เนื้อหาสาระที่นำมาบูรณาการ     

                         2.3)  เป็นกิจกรรมที่เน้นความเข้าใจ  มิใช่เพียงความจำเนื้อหาสาระ    

                       2.4)  เป็นกิจกรรมที่เน้นความสัมพันธ์เป็นภาพรวม

                3)  ผู้เรียนมีการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้  ภายใต้คำปรึกษาแนะนำของผู้สอน

               4)  ผู้สอนและผู้เรียนมีการร่วมกันอภิปราย สะท้อนความคิด  และสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ

                5) ผู้สอนมีการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนครบถ้วนทุกด้านตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด

หมายเลขบันทึก: 115447เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2007 07:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท