เริ่มต้นจัดการความรู้ (2)


เรื่องแรกที่ต้องทำทันที คือต้องจัดการความรู้ให้กับทีมจัดการความรู้ของเราก่อน

สาเหตุที่ทำให้ผมปวดหัวเมื่อได้รับคำขอจากทีมงาน KM ให้สอนเรื่องการจัดการความรู้นั้น มีอยู่ 3 สาเหตุคือ

     1. ไม่แน่ใจว่าตัวเองรู้จริงๆหรือไม่ว่า การจัดการความรู้คืออะไร

     2. สงสัยว่า ทำไมทีมงานจึงไม่คิดที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อค้นหาคำตอบว่าการจัดการความรู้คืออะไร

     3. หนักใจว่า ทีม KM ที่เริ่มจากศูนย์แบบนี้ จะไปรอดหรือไม่ในการเป็นทีมประสานการจัดการความรู้ขององค์กร

 

ผมเริ่มได้ยินคำว่าการจัดการความรู้ หรือ Knowledge management - KM มาในราว 4-5 ปี โดยอ่านจากหนังสือการจัดการความรู้ ปกสีขาว พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ AR โดยในตอนนั้น เป็นการอ่านด้วยความอยากรู้เฉยๆว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้มีส่วนร่วมจัดกิจกรรมการจัดการความรู้ในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานให้รหัสโรค ICD-10 โดยมีท่านอาจารย์วิจารณ์ พานิช และทีมงานจาก สคส.เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างตารางแห่งอิสรภาพและธารปัญญา และในปลายปี พ.ศ.2547 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดประชุมวิชาการเรื่องการจัดการความรู้กับเวชสารสนเทศ ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือรวมบทความในการประชุมและเข้าฟังการอภิปรายตลอด 3 วันของการประชุม แต่จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่แน่ใจว่า ตัวเองรู้จริงแล้วหรือไม่ว่าการจัดการความรู้คืออะไร เพราะตำราส่วนใหญ่บอกว่า คือ "การเปลี่ยน Tacit knowledge ให้กลายเป็น Explicit knowledge และสร้าง Knowledge asset ให้เกิดเป็นประโยชน์เสริมการบรรลุเป้าหมายและภารกิจขององค์กร" แต่ตัวผมเองแบบเถียงอยู่ในใจต่อ concept ดังกล่าวนี้อยู่หลายประเด็น ได้แก่

-ในตำราบอกว่า ความรู้มี 2 ประเภทคือ Tacit knowledge(ความรู้ที่มีอยู่ในตัวบุคคลแต่มิได้บอกให้คนอื่นรู้) กับ Explicit knowledge(ความรู้ที่ถ่ายทอดออกมาจากตัวบุคคลมาเป็นความรู้ของทีมงานหรือองค์กร) แต่ผมคิดว่า น่าจะมีอีก 1 ประเภทคือ Deficit knowledge หมายถึง ความรู้ที่มีอยู่ครึ่งๆกลางๆ ผิดๆถูกๆ หรือความรู้เดิมที่เรียนรู้มานานแล้ว ปัจจุบันล้าสมัย ผิดไปครึ่งหนึ่งหรือมากกว่า

-ในตำราบอกว่า การจัดการความรู้คือการเปลี่ยน Tacit knowledge ให้กลายเป็น Explicit knowledge แต่ผมคิดว่า น่าจะต้องรวมการเปลี่ยน Deficit knowledge ให้กลายเป็น Tacit หรือ Explicit knowledge ด้วย

-ในตำราบอกว่า กิจกรรมหลักที่สำคัญของการจัดการความรู้ คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำโดยจับคนที่ทำงานคล้ายๆกันมาแลกเปลี่ยน Best practice มองหาคู่ที่เหมาะสมในการถ่ายโอนความรู้ และสร้าง Knowledgde asset แต่ผมคิดว่า กิจกรรมที่น่าจะสำคัญพอๆกัน คือการพัฒนาคนให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง(Seft directed learning) และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดทีมงานที่สามารถตอบสนองต่อปัญหาที่เข้ามาใหม่ๆ โดยใช้การเรียนรู้ด้วยตนเองของทีมงานเพื่อหาหนทางแก้ปัญหานั้นได้อย่างรวดเร็ว

-ในตำราเน้นการเรียนรู้จาก Best practice หรือความสำเร็จของคนอื่น แต่ผมคิดว่า บางครั้ง Worst practice หรือความล้มเหลวของตัวเราหรือคนอื่น ก็สามารถนำมาเรียนรู้ได้ดีพอๆกันกับการเรียนรู้จาก Best practice

ความขัดแย้งในใจดังกล่าว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมยังคงไม่แน่ใจอยู่ว่า ตัวเองเข้าใจเรื่องการจัดการความรู้ถูกต้องหรือไม่ เมื่อกลางปี พ.ศ.2548 เคยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ลาดกระบัง โทรศัพท์มาหา ทาบทามผมขอให้ไปช่วยเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการจัดการความรู้ให้กลุ่มอาจารย์ฟังหน่อย ผมรีบตอบปฏิเสธโดยทันที เพราะประเมินตนเองว่ามีความรู้เรื่อง KM ในระดับงูๆปลาๆเท่านั้น พอมาครั้งนี้ ทีม KM ขอให้เล่าให้ฟังจึงหนักใจมาก

ความสงสัยในใจผมอีกเรื่องหนึ่ง คือสงสัยว่า ทำไมทีม KM จึงไม่คิดที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อจะหาคำตอบว่าการจัดการความรู้คืออะไร เพราะถ้าดูตามศักยภาพของทีม จะเห็นว่าทีมงาน KM ของเรานั้น ประกอบไปด้วย อาจารย์หนุ่มสาว วุฒิปริญญาโท 3 คน เจ้าหน้าที่ของคณะวุฒิปริญญาตรี อีก 4 คน น่าจะมีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองมากพอที่จะแก้ปัญหานี้ได้ แต่เมื่อผมนึกค้นหาคำตอบอยู่ในใจสักพักนึ่ง ก็พอจะนึกออกถึงสาเหตุของปัญหานี้คร่าวๆคือ

ทีมงาน KM ของเราทุกคนเป็นผลผลิตจากระบบการศึกษาของไทย พวกเราเรียนมาในระบบการศึกษาที่มีรูปแบบการบรรยายเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ชั้นประถม พอขึ้นชั้นมัธยมศึกษาก็มุ่งแต่จะสอบ entrance ให้ได้ จึงต้องเรียนพิเศษหรือกวดวิชาเพิ่มเติม(ก็โดยรูปแบบการบรรยาย 100% อีกนั่นแหละ) พอเข้ามหาวิทยาลัย ก็ยังคงเรียนรู้โดยการฟังบรรยายเป็นส่วนใหญ่ พวกที่เรียนต่อปริญญาโทอาจต้องศึกษาด้วยตนเองมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้พวกเขาคิกว่าการศึกษาด้วยตนเองเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะการฟังบรรยายนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับผู้เรียน นั่งเฉยๆฟังครูสอบ เชื่อครู 100% พยายามจำให้ได้ เพื่อสอบให้ผ่าน สอบเสร็จก็รีบลืมเพื่อ clear พื้นที่สมองให้ว่างรอรับฟังการบรรยายวิชาต่างๆในเทอมต่อไป ฟัง-เชื่อ-จำ-สอบ-ลืม แบบนี้อยู่เรื่อยไปจนสอบได้ปริญญาตรี-โท ทุกคนประสพความสำเร็จด้านการเรียนได้ด้วยการฟังบรรยาย จึงเสพติดการฟังบรรยาย เมื่อต้องการทำความเข้าใจกับเรื่องใหม่ๆ ก็อยากให้ใครมาบรรยายให้ฟัง

เมื่อผมคิดได้เช่นนั้น จึงเข้าใจความรู้สึกและความคาดหวังของทีม KM ตอนแรกจึงคิดว่าน่าจะเชิญท่านอาจารย์วิจารณ์ พานิช มาบรรยายให้ทีม KM ฟัง แต่นึกขึ้นได้ทันที่ว่า ท่านอาจารย์มีภารกิจมาก ถ้านัดอาจารย์ ท่านก็คงให้ความกรุณา แต่อาจได้คิวบรรยายในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งคงทำให้เราเริ่มงานช้าเกินไปโดยไม่จำเป็น ประกอบกับเคยได้รับทราบจากท่านอาจารย์วิจารณ์ว่า ธรรมชาติของการฟังบรรยายเรื่อง KM นั้น ผู้ฟังส่วนใหญ่จะไม่รู้เรื่องในการฟังบรรยายครั้งแรก จึงคิดได้ว่า ทำไมจะต้องรบกวนอาจารย์มาบรรยายให้ทีม KM งงในครั้งแรก หน้าที่ของการบรรยายให้งงในครั้งแรกน่าจะตกเป็นหน้าที่ของผมเอง เมื่อคิดได้ดังนั้นก็สบายใจ รับปากทีมงานว่าจะบรรยายให้ฟัง อย่างไรก็ตาม ผมขอเวลาทีมงานเพื่อไปศึกษาเพิ่มเติม เตรียม slide ประกอบการบรรยายตามประสาครูที่ดี โดยขอเวลา 1 สัปดาห์

ข้อหนักใจประการที่สาม คือรู้สึกว่าทีม KM ที่ตั้งต้นจากศูนย์แบบนี้ จะไปรอดหรือไม่ในการเป็นทีมประสานการจัดการความรู้ขององค์กร? ที่เรียกว่าเริ่มจากศูนย์นั้น เพราะนอกจากจะเป็นทีมที่ไม่มีความรู้เรื่องการจัดการความรู้มาก่อนเลย บุคลากรส่วนใหญ่ของทีม คือ 5 ใน 7 คน เพิ่งรู้จักกับผมเป็นครั้งแรก ยังไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน หลายคนในทีมงานไม่มั่นใจว่าตัวเองจะทำงานนี้ได้ หลายคนกังวลว่าจะเป็นตัวถ่วงของทีม หลายคนเรียกร้องขอให้ผมพาไปดูงานการจัดการความรู้ในคณะแพทย์แห่งอื่นๆเพิ่มเติมก่อนทำงาน

เรื่องการดูงานในสถานที่อื่น ดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จประการหนึ่งของหน่วยราชการไทยก่อนเริ่มต้นงานใหม่ๆ ตัวผมเองเคยไปดูงานด้านต่างๆในองค์กรอื่นๆหลายที่ รวมทั้งเคยต้อนรับคณะบุคลากรอื่นๆที่มาดูงานในคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์หลายหน่วยงาน ผมจึงไม่แปลกใจที่ทีม KM ขอให้พาไปดูงานเรื่องการจัดการความรู้ในคณะแพทยศาสตร์แห่งอื่น ซึ่งในปัจจุบัน ผมทราบว่า มีคณะแพทยศาสตร์ 2 แห่ง(อาจมีมากกว่านั้น แต่ผมไม่ทราบ) ที่ได้ทำ KM ไปแล้ว คือ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์

อย่างไรก็ตาม ผมยังสงสัยอยู่ในใจว่า การไปดูงาน KM ของคณะแพทยศาสตร์ทั้ง 2 แห่งนั้น จะเกิดประโยชน์ต่อทีม KM ของเราจริงหรือไม่ เพราะการทำ KM ในคณะแพทย์ทั้ง 2 แห่งนั้น ทำในกลุ่มงานพยาบาลและทำควบคุ๋ไปกับกิจกรรมพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล(Hospital accreditation หรือ HA) ในขณะที่สถานการณ์ของเราที่จะเริ่ม KM ในคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์นี้ เราไม่สามารถเริ่มทำ KM ในกลุ่มพยาบาลได้(เพราะพยาบาลทำงานใน รพ.ธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่อยู่ใต้สังกัดของคณะแพทยศาสตร์) เราต้องเริ่มทำ KM ในหน่วยงานของคณะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน สถานการณ์จึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การไปดูงานทั้ง 2 แห่งนั้น จึงไม่น่าจะทำให้เกิดประสพการณ์ที่จะนำมาใช้ในการทำ KM ของคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาตร์ได้ นอกจากนั้น ผมยังมีความเชื่ออีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการดูงาน กล่าวคือ ผมเชื่อว่าก่อนจะไปดูงานด้านใดด้านหนึ่งขององค์กรอื่นนั้น เราควรได้เริ่มทำงานนั้นหรือทำงานนั้นอยู่แล้ว เมื่อไปดูงานองค์กรอื่นก็จะได้นึกเปรียบเทียบ วิเคราะห์งานของเขากับงานของเราเพื่อหาแนวทางที่ดีขึ้นได้ทันที การไปดูงานโดยยังไม่ได้เริ่มงานจะทำให้เราไม่มีแนวทางไปเปรียบเทียบกับองค์กรอื่น ทำให้การดูงานนั้นเกิดประโยชน์น้อยต่อผู้ดูงาน เรื่องการดูงาน KM นี้ ผมจึงขอให้ทีมงานรอไว้ก่อน

จุดอ่อนของทีม KM เราที่สำคัญที่สุด คือการไม่มีความรู้เรื่อง KM เลยแม้แต่นิดเดียว(ยกเว้นผมที่รู้แบบงูๆปลาๆ) ทำให้ผมนึกได้ว่า เรื่องแรกที่ต้องทำทันที คือต้องจัดการความรู้ให้กับทีมจัดการความรู้ของเราก่อน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11544เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2006 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ลองเอา Narrated PowerPoint เรื่อง KM โดย ดร ประพนธ์ ผาสุขยืด (๒ ชม.)   กับวีซีดี "คุณค่าและมูลค่าของปัญญาปฏิบัติ" (๒๔ นาที) ที่ สคส. ใช้เปิกมหกรรมจัดการความรู้เมื่อวันที่ ๑ ธค. ๔๘  ไปให้ทีมงานดูร่วมกัน    แลร่วมกันตีความว่า KM คืออะไร   จะมีประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ของคณะแพทย์อย่างไร    ดีไหมครับ

คำแนะนำข้อหนึ่ง คือ อย่าเริ่มที่กลุ่มอาจารย์    ให้เริ่มที่กลุ่มบุคคลากรสายสนับสนุนก่อน   โดยเลือกคนทำงานดีเป็นกลุ่มแกนนำ    คนที่อาจารย์น่าจะคุยด้วยคือ รศ. สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์  รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ม. วลัยลักษณ์ 

วิจารณ์ 

ลองเอา Narrated PowerPoint เรื่อง KM โดย ดร ประพนธ์ ผาสุขยืด (๒ ชม.)   กับวีซีดี "คุณค่าและมูลค่าของปัญญาปฏิบัติ" (๒๔ นาที) ที่ สคส. ใช้เปิกมหกรรมจัดการความรู้เมื่อวันที่ ๑ ธค. ๔๘  ไปให้ทีมงานดูร่วมกัน    แลร่วมกันตีความว่า KM คืออะไร   จะมีประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ของคณะแพทย์อย่างไร    ดีไหมครับ

คำแนะนำข้อหนึ่ง คือ อย่าเริ่มที่กลุ่มอาจารย์    ให้เริ่มที่กลุ่มบุคคลากรสายสนับสนุนก่อน   โดยเลือกคนทำงานดีเป็นกลุ่มแกนนำ    คนที่อาจารย์น่าจะคุยด้วยคือ รศ. สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์  รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ม. วลัยลักษณ์ 

วิจารณ์ 

ขอบคุณครับ ผมไปรับ powerpoint กับ VCD ที่สคส.ดีไหมครับ หรือ download จาก website ได้

จะติดต่อ อาจารย์ สมนึก ได้อย่างไรดีครับ

วีซีดีซื้อได้ที่ สคส. ครับ แผ่นละ ๑๐๐ เดียว   ซื้อไป ๑ แผ่น ก๊อปปี้แจกได้ไม่จำกัด  

รศ. สมนึก ติดต่ออย่างไรลองโทรถามที่หน่วยประสานงาน มวล. ที่กรุงเทพได้ครับ   02 298 0245, 02 298 0290-3

วิจารณ์

รศ. สมนึก เขียน บล็อก ใน GotoKnow.org ชื่อ KM ใน ม. วลัยลักษณ์ ครับ

วิจารณ์

คุณหมอใจกว้างมากค่ะ ดีใจทีคุณหมอ ไม่เรื่องเฉพาะ Best practice  แต่กลับมองหาจุดแข็งของ Worst practice ได้นับถือค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท