เล่าสู่กันฟังเรื่องลงพื้นที่กลุ่มแม่ทะป่าตัน


งานจะทำสำเร็จ ต้องพูดจริง ทำจริง

      วันนี้มีประชุมประจำเดือนมกราคมของวิทยาลัยตั้งแต่เช้า  ตอนแรกผู้วิจัยตั้งใจไว้ว่าประชุมเสร็จประมาณเที่ยง (ตามกำหนดการที่แจ้งไว้)  พอทานข้างเสร็จจะเข้ามาเล่าเรื่องที่สัญญาไว้ตั้งแต่เมื่อวานว่าไปลงพื้นที่ที่กลุ่มแม่ทะป่าตันมาแล้วจะมาเล่าให้ฟัง  แต่ผิดแผนที่ตั้งไว้  เพราะ  กว่าจะประชุมเสร็จก็ปาเข้าไปบ่าย 4 โมงแล้ว  พอออกจากห้องประชุมผู้วิจัยและอาจารย์พิมพ์  พร้อมกับอาจารย์นิ่มก็ต้องรีบออกมาในเมือง  เพื่อมา (ถอนเงิน) ที่ธนาคาร  ไม่อย่างงั้นมีหวัง 2 วัน (เสาร์กับอาทิตย์) คงได้รับประทานมาม่าเป็นอาหารหลักแน่  พอเสร็จภารกิจจากธนาคารก็มานั่งพักผ่อนที่ร้านอาหารกัน  เพราะ  เครียดจากการประชุมทั้งวัน  หลังจากนั้นอาจารย์พิมพ์ก็มาส่งที่บ้านเพื่อให้ผู้วิจัยพักผ่อน  เนื่องจากวันนี้ในตอนคำได้นัดกับเครือข่ายฯเอาไว้ว่าจะไปลงพื้นที่ที่กลุ่มบ้านเอื้อม  (ขอบอกเสียงดังๆว่า นายกอบต.ที่นี่หล่อมากๆๆๆๆๆๆๆค่ะ)  ประมาณ 2 ทุ่ม  ดังนั้นช่วงก่อน 2 ทุ่มจึงเป็นเวลาส่วนตัว (ตัวใครตัวมัน)

      ดังนั้น  ในช่วงเวลาที่เหลือก่อนที่จะไปลงพื้นที่ (เหลือเวลาอีกประมาณ 1 ชั่วโมง)  ผู้วิจัยจึงมีโอกาสที่จะเข้ามาเล่าเรื่องที่ไปลงพื้นที่เมื่อวานนี้ให้ฟัง (ตามคำสัญญาค่ะ)  ความจริงแล้วเราถ่ายรูปเอาไว้ด้วยค่ะ  แต่ก็ขอสารภาพอีกครั้งนะคะว่าเป็นคนที่ไปไม่ได้กับพวกเทคโนโลยีเลยค่ะ  (สงสัยต้องปรึกษาอาจารย์เบียร์  ทีมสมุทรปราการ)  ไม่รู้ว่าจะเอารูปลงยังไง  คนที่เข้ามาอ่านก็เลยต้องอ่านแต่ตัวหนังสือไปก่อนนะคะ  (สารภาพอีกครั้งค่ะว่าดันลืมเอาโน๊ตที่เขียนไว้มาด้วยค่ะ  ดังนั้น  จึงขอเล่าที่จำได้นะคะ  แล้ววันหลังจะพยายามไม่ลืมค่ะ)

      ทีมงานของเราประกอบด้วย   คุณสามารถ   ลุงคมสัน   พี่สุภัตรา  พี่สวรส  อ.ชุติกาญจน์     อ.สมพิศ  พี่อรอนงค์  ผู้วิจัย  อาจารย์พิมพ์  (มีอีกคนหนึ่งค่ะจากกลุ่มวังเคว้งแต่ขอโทษจริงๆค่ะ)  ไปถึงกลุ่มป่าตันประมาณเกือบ 2 ทุ่ม  พอไปถึงทางกลุ่มได้จัดเตรียมอาหารไว้รับรองมากมาย      ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ขอตัวไม่ทานด้วย  เพราะ  ทานกันมาเต็มที่แล้ว  ทางกลุ่มจึงนำแยมโรลมาให้ทาน  (ขอบอกว่าอร่อยมากค่ะ  ฟันธง!) พร้อมกับนำส้ม  ซึ่งเป็นสินค้าที่ทางกลุ่มใช้เงินกองทุนธุรกิจชุมชน 30 % มาดำเนินการ  (นี่คือ  ตัวอย่างที่ดีอย่างหนึ่งที่ทางกลุ่มจะนำเสนอในวันที่ 22 มกราคม  ซึ่งเป็นวันประชุมสัญจร  ขอฟันธง! อีกครั้งค่ะว่าอร่อยมาก)

      หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ  คณะทำงานก็เริ่มการตรวจสอบทันที  โดย  คณะกรรมการของเครือข่ายแต่ละกองทุนได้ตรวจสอบหลักฐานทางการเงินและบัญชีของกลุ่มที่ได้จัดเตรียมไว้ว่าตรงกับข้อมูลที่ทางเครือข่ายฯเตรียมไว้หรือไม่  ปรากฎว่าทุกอย่างผ่านไปอย่างเรียบร้อยค่ะ  บัญชีของกลุ่มกับเครือข่ายฯตรงกัน  (ตรวจสอบตั้งแต่แรกตั้งกลุ่มจนถึงปัจจุบัน)  หลังจากการตรวจสอบแล้วเสร็จ  คุณสามารถก็เชิญทุกคนมานั่งรวมกันเพื่อทักทาย (อีกครั้ง)  พร้อมกับบอกวัตถุประสงค์ของการมาในวันนี้ว่าไม่ใช่การมาจับผิด  แต่เป็นการมาเพื่อช่วยเหลือกัน  เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ  เพื่อมาเยี่ยมเยียน  และเป็นการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อจัดเวทีตำบลละแสนในวันที่ 11 มกราคมนี้ด้วย

     คุณสามารถได้เล่าให้ทางกลุ่มฟังว่า  เมื่อหลายวันก่อนได้ไปเยี่ยมที่กลุ่มหมอสม  ได้เห็นเครือข่ายข้าวกำ  (เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งของภาคเหนือ)  ทำให้เกิดความคิดว่า  กลุ่มที่มีความเข้มแข็งในขณะนี้ คือ  กลุ่มแม่พริก  กลุ่มเถิน  ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดคความเข้มแข็ง  คือ  การที่เครือข่ายฯเข้าไปช่วย  บวกกับคณะกรรมการในกลุ่มพูดจริง  ทำจริง  ทำให้สมาชิกศรัทธา  ดังนั้น  ต่อไปนี้เราน่าจะมาช่วยกลุ่มอื่นๆบ้าง  โดยใช้การทำบุญข้าวกำ  (เป็นลักษณะที่ว่าจัดงานบุญคล้ายกับการทอดผ้าป่าขึ้นมาโดยเครือข่ายฯเป็นเจ้าภาพ  สมาชิกทุกกลุ่มในเครือข่ายจะต้องลงเงินช่วยกลุ่มอื่นๆหมุนเวียนไปเรื่อยๆทุกกลุ่ม  ยกตัวอย่างง่ายๆ  เช่น  ในครั้งแรกสมมติว่ามาทำบุญที่กลุ่มป่าตัน  เครือข่ายจะระดมเงินในแต่ละกลุ่มมาช่วยกลุ่มป่าตัน  กลุ่มป่าตันก็ต้องบอกบุญไปยังสมาชิกและชุมชน  รวมทั้งหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องให้มาทำบุญช่วยกัน  เงินที่กลุ่มป่าตันระดมมาได้จากสมาชิก  ชุมชน  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะถือว่าเป็นเงินของกลุ่ม  กลุ่มจะต้องนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้  เช่น  เอาเงินไปสมทบกองทุนสวัสดิการ  เป็นต้น  ส่วนเงินที่ได้จากเครือข่ายจะต้องเก็บเอาไว้  ห้ามนำไปใช้  เพราะ  ต่อไปเมื่อเวียนไปทำบุญที่กลุ่มอื่น  กลุ่มแมทะก็ต้องเอาเงินนี้ไปช่วยกลุ่มอื่นตามที่เขาเคยช่วยกลุ่มแม่ทะมา  ที่อธิบายมาไม่รู้ว่าเข้าใจกันหรือเปล่าค่ะ  ถ้าไม่เข้าใจก็ส่งข่าวมาบอกกันบ้างนะคะ  จะพยายามเข้ามาเขียนใหม่เพื่อให้เข้าใจให้ได้ค่ะ) 

     การทำแบบนี้คุณสามารถสรุปว่าจะช่วยให้แต่ละกลุ่มนั้นมีกิจกรรมร่วมกัน  เป็นการรวมคนตามปรัชญาของการออมวันละบาท  โดยใช้เงินเป็นเครื่องมือ  ถ้ารวมคนได้พลังก็จะเกิด  ปรากฎว่าทุกคนเห็นด้วย  (ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีมากที่ทุกกลุ่มคิดจะมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆร่วมกันเพิ่มขึ้นมาจากปกติที่ทำอยู่แล้ว)  แต่ยังไม่ได้ตกลงกันว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร  (สงสัยต้องนำเข้าที่ประชุมเครือข่ายฯค่ะ)

    อ้อ! ลืมบอกไปค่ะว่าเรามีการแนะนำตัวกันด้วย  กลุ่มแม่ทะมาร่วมงานกันประมาณ 10 คนค่ะ  (ขอสารภาพความผิดอีกครั้งค่ะว่าลืมชื่อไปแล้วว่าใครมาบ้าง  แต่จดไว้นะคะ  แต่ก็ลืมเอาโน๊ตที่จดมาค่ะ)  พอมาถึงผู้วิจัยซึ่งนั่งติดหนึบอยู่กับบอร์ดรายชื่อคณะกรรมการ  นอกจากผู้วิจัยได้แนะนำตัวเองแล้ว  ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าจะนำเรื่องการลงพื้นที่นี้มาเขียนใน Blog ด้วยค่ะ  จะชิงเสื้อสามารถมาอวดให้ได้  คุณสามารถเลยหันมาบอกกับผู้วิจัยว่าถ้าได้ขอให้คุณสามารถด้วยนะ 1 ตัว 

    นอกจากนี้แล้วยังมีการคุยกันในประเด็นย่อยๆอีก  เช่น  คุณสามารถบอกว่าอยากให้ทางกลุ่มช่วยเขียนบันทึกไว้หน่อยเกี่ยวกับการทำงาน  เพราะ  การเขียนบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้  ต่อไปนี้เราจะทำการจัดการความรู้อย่างเข้มข้น  เชื่อว่าต่อไปเครือข่ายฯต้องดังระดับประเทศแน่นอน  เป็นต้น  (ความจริงคงมีประเด็นย่อยอีก  แต่ผู้วิจัยจำไม่ได้จริงๆ  ถ้ามีเวลาจะเล่าย้อนหลังให้ฟังค่ะ)

    ก่อนกลับคุณสามารถได้ให้ผู้เข้าร่วมสะท้อนความคิดเห็น  ความรู้สึกต่างๆ  มีผู้สะท้อนความคิดเห็นหลายคน  เช่น  คุณอุทัย  ซึ่งเป็นประธานกลุ่ม  บอกว่า  ที่กลุ่มก้าวมาได้อย่างนี้  เพราะ  คุณอุทัยนั้นไปดูต้นแบบจากเครือข่ายฯ  รวมทั้งพยายามทำทุกอย่างตามที่เครือข่ายฯแนะนำ  ก็เลยประสบความสำเร็จ  กลุ่มที่ประสบความสำเร็จเมื่อเรียนรู้มาแล้วต้องลงมือทำ  ไม่อย่างนั้นไม่มีทางที่จะสำเร็จได้  ตัวคุณอุทัยเองนั้นทำงานอยู่ในเมือง  แต่โชคดีที่คณะกรรมการเข้มแข็ง  เวลามีกิจกรรมอะไรแค่โทรบอกให้คณะกรรมการช่วยเตรียมงาน  คนที่ว่างก็จะมาช่วยกัน  งานจึงสำเร็จ  นอกจากนี้แล้วการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ามาทำให้กลุ่มเข้มแข็งขึ้น  เนื่องจากอปท.ให้การสนับสนุนเพราะเห็นว่ามีสถาบันการศึกษาเข้ามาช่วยกลุ่ม  ชาวบ้านก็เชื่อถือ  เวลาออมเงินในแต่ละเดือน  เวลาประกาศเสียงตามสาย  คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็สนใจ  เพราะ  เห็นเราพูดจริงทำจริง

    ความจริงแล้วยังมีอีกหลายคนที่แสดงความคิดเห็น (สั้นๆ)  แต่ตอนนี้ผู้วิจัยไม่มีเวลาจะเล่าให้ฟังแล้ว  เพราะ  ต้องรีบไปเตรียมตัวลงพื้นที่  ยังไงก็จะเข้ามาเล่าให้ฟังใหมานะคะ

   

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11508เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2006 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การลงรูปภาพใน Blog

ขั้นที่ 1 ลดขนาดรูปให้เล้กลงขนาดพอประมาณพื้นที่ไม่เยอะมาก

ขั้นที่ 2 เข้าสู่ระบบ

ขั้นที่ 3 คลิ๊กที่แผงควบคุม
ขั้นที่ 4 คลิ๊กไฟล์และรูปภาพ

ขั้นที่ 5 กด เพื่ออัฟโหลดรูปภาพที่เราย่อขนาดแล้วในที่ ๆ ที่เราจัดเก็บไว้

ขั้นที่ 6 คลิ๊กที่ที่อยู่ของรูปภาพที่เราโหลดไว้แล้ว

ขั้นที่ 7 ไปหน้าที่เราเขียนบันทึกไว้ นำเมาท์ไปวางไว้ตรงที่วางรูป

ขั้นที่  8 ไปคลิ๊กที่สัญลักษณ์ลูกโซ่
ขั้นที่ 9 นำที่อยู่ไฟล์รูปภาพที่เราคัดลอกไว้วางในช่อง Image Url ก็บันทึก

เป็นอันว่าเรียบร้อยคะ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท