“นิตยสารธรรมะใกล้ตัว” นิตยสารออนไลน์ ให้ธรรมะอยู่ใกล้ตัวคุณ


ถ้าเธอไล่ชั้น ชั้นก็ไป แต่ขอให้รู้ไว้ หัวใจชั้นอยู่ที่เธอ...

คัดลอกมาจากนิตยสารธรรมะใกล้ตัว...แบ่งปันให้ทุกคนได้อ่านนะคะ

............................ 

สวัสดีค่ะ

ช่วงนี้ ฤดูกาลแห่งสายฝนหอบเอาความชุ่มฉ่ำมาฝากไม่เว้นแต่ละวันเลยนะคะ

บางวันที่พายุลง ก็น่ากลัวขนาดพัดเอาป้ายโฆษณาใหญ่ ๆ ปลิวหลุดลงมาได้เลย

แต่บางวัน ก็โปรยปรายลงมาเพียงให้พอชุ่มฉ่ำ เฉอะแฉะ และรถติดเล่นอย่างนั้นเอง : )

มีเพลงหลายเพลง ที่เปรียบเปรยยามฝนมาฟ้าครึ้มว่าเหมือนกับชีวิตยามทุกข์

บ้างก็เรียกฝนว่าน้ำตาฟ้า แหงนหน้ามองเห็นสายฝนที่ตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตาแล้ว

ก็นึกถึงพุทธพจน์ที่ครูบาอาจารย์ท่านมักจะพูดให้ฟังเสมอ ๆ นะคะว่า

"น้ำตาที่หลั่งออกมาในแต่ละชาติตลอดการเวียนว่ายตายเกิดของเรานั้น

รวมกันแล้วมากยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก"

โอ้โฮ... แปลว่า ปริมาณน้ำฝนที่เราเห็นกระหน่ำ ๆ ลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตานี่

ยังเทียบไม่ได้กับเพียงเศษเสี้ยวของน้ำตาทั้งหมดที่หลั่งริน

ด้วยความโศกเศร้าครั้งแล้วครั้งเล่าผ่านจำนวนชาติที่นับไม่ถ้วนเลยนะคะ

ในช่วงไม่กี่วันมานี้ ไม่ค่อยได้เจอ น้ำตาฟ้า มากนักค่ะ แต่ น้ำตาคน ที่มาพร้อมกับ

ความโศกจากการพลัดพรากของคนรอบ ๆ ตัว มีเข้ามาให้กระทบใจอย่างจัง ๆ

เพื่อนที่สนิทที่สุดคนหนึ่ง ตัดสินใจเป็นผู้สละโลก และเดินหน้าเข้าวัดตลอดชีวิต

แน่นอนค่ะว่า เจ้าตัวแทบจะต้องว่ายทวนน้ำตาพ่อแม่ออกมาจากบ้าน

แม้ผู้เป็นบิดามารดาจะเอ่ยวาจาอนุญาตแล้ว

แต่ความผูกพันอาลัยนั้น ย่อมตัดได้ยากยิ่ง

เสียงโทรศัพท์จากผู้เป็นแม่ที่ดังอยู่หลายครั้งในวันสุดท้ายก่อนเข้าวัดกับเสียงร้องไห้ของแม่

ทำให้รู้สึกถึงความผูกพันที่สัมผัสและเข้าใจได้ว่า คงไม่เป็นการง่ายนัก

กับการทำใจในวันที่ลูกชายกำลังเสมือนเดินห่างจากผู้เป็นพ่อและแม่ไป


แต่ก็มีสิ่งที่น่าปีติอย่างหนึ่งค่ะ แม้ในท่ามกลางน้ำตา หลังจากเข้าวัดในวันแรกแล้วนั้นเอง

สุดท้ายผู้เป็นแม่ก็ได้โทรมาเอ่ยกับลูกชายอย่างเต็มเสียงว่า "แม่อนุโมทนาด้วยนะ..."

โดยส่วนตัวเองก็รู้สึกอาลัยไปด้วยค่ะ กับการที่เพื่อนสนิทที่เจอกันอยู่ทุกวันจะหายไปหนึ่งคน

แต่ยังไม่ทันไร สาย ๆ วันเดียวกันนั้นเอง ก็ต้องรีบไปเยี่ยมคุณแม่ของพี่ที่สนิทกันอีกท่านหนึ่ง

ซึ่งท่านนอนอยู่ที่โรงพยาบาลมาพักหนึ่งแล้ว และก็เพิ่งทราบเดี๋ยวนั้นเองว่า

ถ้าไม่รีบไป ก็อาจไปไม่ทันดูใจคุณแม่ท่านในนาทีสุดท้ายเสียแล้ว...

เมื่อไปถึง ภาพแรกที่เห็นเมื่อเดินเข้าไปในห้องที่โรงพยาบาล

คือสีหน้าและสายตาอันเศร้าหมองของญาติพี่น้อง และคนใกล้ชิดที่รายล้อมอยู่รอบเตียง

ความรู้สึกอาลัยเพื่อนสนิทเมื่อสักครู่มลายหายไปในทันที

แทนที่ด้วยความโศกอีกอารมณ์ที่ซึมซับเข้ามาอย่างรวดเร็ว จนน้ำตาแทบจะรื้นล้นขอบตา

ย้อนกลับมามองใจตัวเองทันทีที่ระลึกได้ ใจก็สงบลง

ได้แต่ยืนนิ่งพร้อมกับคนอื่น ๆ อยู่อย่างนั้น แล้วมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าตามความเป็นจริง

นี่เอง... ทุกข์จากการพลัดพราก

นี่เอง... กฎของธรรมชาติที่ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับลงไปเป็นธรรมดา

เสียงเพลงท่อนหนึ่งของเพลง "อมตะ" ที่คุณดังตฤณเคยประพันธ์ไว้ ดังขึ้นในหัวว่า...

"เปลี่ยนแปลงลับลาใช่ว่ามีรู้สิ้น แตกแปรผันภินท์พังสุดช้าเร็วตามกัน
ชีพถูกบันดาลด้วยกรรมเก่า หมดกรรมแค่เผาฝังพื้นดิน
สู่การดิ้นรนในฉากใหม่ต่อไป..."

ทุกคน แม้แต่ตัวเราเอง ก็จะต้องมีวันนี้ จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

และตราบเท่าที่ยังหลุดไม่พ้นจากกิเลสเครื่องผูกมัดทั้งหลาย

วินาทีที่ฉากเก่าจบลง ก็จะเป็นวินาทีของฉากใหม่ที่เริ่มต้นขึ้นเสมอ

การเดินทางไม่เคยจบสิ้น... การเดินทางยังไม่จบสิ้น...

สายตาของผู้ที่กำลังจะจากไป แฝงด้วยความรู้สึกที่หลากหลาย และน้ำตาที่คลอรื้นหน่วยตา

แววตาห่วงหา น้ำตา และมือกุมอันอบอุ่นของคู่รัก ครอบครัว ญาติพี่น้อง คนใกล้ชิดที่รายล้อม

เสียงสะอึกสะอื้นของผู้เป็นแม่ที่ลูกชายหันหลังให้โลกและกำลังเดินหน้าเข้าสู่ประตูวัด

ความรู้สึกอาลัยในเพื่อนสนิทที่กำลังจะพลัดห่างจางหาย ไม่ได้เจอกันแบบเดิมอีก... ฯลฯ

ความรู้สึกเหล่านี้ระดมโถมถาอยู่ในใจ แล้วใจก็นึกถึงพระพุทธองค์ขึ้นมา

...อย่างนี้เองนะคะ พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงตรัสว่า

การพลัดพรากจากสิ่งหรือบุคคลอันเป็นที่รักนั้นเป็นทุกข์

ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล นางวิสาขาก็ร้องไห้คร่ำครวญเช่นนี้ค่ะ

โดยเหตุแห่งความโศกเศร้าก็คือหลานสาวได้ตายลงด้วยโรคปัจจุบัน

พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสปลอบนางวิสาขาโดยให้พิจารณาตามว่า...

ดูกรนางวิสาขา

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐, ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙๐,

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘๐, ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗๐,

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๖๐, ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕๐,

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔๐, ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓๐,

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒๐, ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐,

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙, ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘,

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗, ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๖,

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕, ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔,

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓, ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒,

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑

ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์

เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส ฯ

นางวิสาขาได้ฟังและพิจารณาตามดังนั้นแล้ว จึงคิดได้ และตัดอาลัยลงได้ในที่สุด

(จาก วิสาขาสูตร)

สิ่งที่แน่นอนอย่างหนึ่งคือ เราทุกคนต้องประสบกับการพลัดพราก

และด้วยเหตุที่เราเอาใจไปผูกไว้กับสิ่งที่รัก หรือบุคคลอันเป็นที่รัก

เราก็ย่อมต้องทุกข์เป็นธรรมดา เพราะการพลัดพรากนั้นเป็นของธรรมดาโลก

เหมือนยิ่งรักมาก ก็ยิ่งเป็นเหตุให้ต้องทุกข์มากด้วยประการต่าง ๆ

เพราะ ความรัก ที่เรารู้จักกันนั้น มักจะมาพร้อมกับ ความยึด นั่นเอง


แต่ทั้งนี้ เป็นคนละเรื่องกันกับการมีเมตตานะคะ เคยฟังคุณดังตฤณพูดให้ฟังว่า
เมตตา นั้น เป็นความรักโดยอาการที่จิตปราศจากพยาบาท และปรารถนาเกื้อกูล
แต่โดยพฤติของจิตแล้ว จะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น

คิดครอบครองเป็นเจ้าของ หรือหวงไว้เป็นของตัวเลยค่ะ

กับเหตุการณ์ที่โรงพยาบาลในวันนั้น ต้องนับเป็นโชคดีของคุณแม่ในนาทีสุดท้ายด้วยนะคะ

ที่ครอบครัวมีโอกาสนิมนต์พระมาให้คุณแม่ได้ทำสังฆทานและถวายเพลถึงที่โรงพยาบาล

เมื่อมาถึง พระท่านได้นั่งลงข้างเตียง มองหน้าคุณแม่นิดหนึ่ง

และเอ่ยด้วยเสียงอันนุ่มนวลเปี่ยมไปด้วยเมตตายิ่งนักค่ะว่า

"ไม่ต้องกังวลอะไรนะ... เราทำมาดีแล้ว

 ไม่ว่าจะเกิดอะไรข้างหน้า จำไว้นะ อย่าทิ้งพระพุทธเจ้า

 มีอะไรก็พุทโธไว้นะ ท่องไว้ พุทโธ พุทโธ..." _/|\_

อาจด้วยอานิสงส์และความปีติยินดีในทานครั้งสุดท้ายนั้นหรือมหัศจรรย์อันใดก็ตาม

คุณแม่... กลับฟื้นคืนแรงที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ และยังอยู่จนถึงวันที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้เลยค่ะ

ในคำพูดที่พระท่านได้กล่าวนำทางให้คุณแม่ไว้นั้น

มีวลีสำคัญอยู่วลีหนึ่ง ที่เหมือนจะบอกเราด้วยนะคะว่า

สิ่งที่จะช่วยเราอย่างยิ่งในวินาทีสุดท้าย ก็คือกรรมของเราที่ทำมาตลอดทั้งชีวิตนั่นเอง

นั่นคือ ถ้าเราสร้างเหตุที่ดีไว้แล้ว ก็ย่อมมีผลที่ดีรออยู่ข้างหน้า ไม่มีอะไรที่ต้องกังวลเลย

คุณดังตฤณเองก็เคยพูดให้ฟังไว้เมื่อนานมาแล้วค่ะว่า

"การเตรียมตัวตายนั้น ไม่ใช่เตรียมตัวจะตั้งท่าตายยังไง

แต่ทำตัวเป็นปกติอย่างไรต่างหาก

คือที่ทำ ๆ อยู่ทุกวันนี้แหละ คิดยังไง พูดยังไง ทำยังไง

เป็นการเตรียมตัวเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ เปลี่ยนชีวิตทั้งสิ้น"

หากตลอดชีวิตนี้ไม่เคยทำ ครุกรรม หรือกรรมหนัก ชนิดที่กรรมใดก็ไม่สามารถมาตัดรอนได้
(คือ ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า หรือทำให้สงฆ์แตกแยก)

และหากมิได้มี อาสันนกรรม อันเป็นกรรมที่กระทำหรือระลึกถึงหนักแน่นเมื่อยามใกล้ตายจริง ๆ

กรรมที่จะเป็นตัวให้ผลในยามนั้นก็คือ อาจิณกรรม หรือกรรมที่ทำอยู่เป็นประจำนี่ล่ะค่ะ

คิดอย่างไร พูดอย่างไร ทำอย่างไรมาตลอดชีวิต ก็ผลจากกรรมเหล่านี้นั่นเองที่จะรอคิวให้ผล

แล้ว กตัตตากรรม หรือกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ประเภทที่ทำโดยไม่มีความตั้งใจ หรือสักแต่ทำ

จึงจะให้ผลในลำดับถัดมาเป็นลำดับสุดท้าย


ในวันนี้ที่เรายังมีลมหายใจ วันที่เรายังมีเรี่ยวมีแรง

อย่าปล่อยโอกาสอันน้อยนิดนี้ให้หลุดลอยไปโดยเปล่าประโยชน์

และมานึกเสียดายเอาเมื่อวันที่ลมหายใจรวยรินเลยนะคะ

หมั่นสร้างกุศลกรรมอันดีไว้เป็นเสบียงติดตัวยามเดินทางข้ามภพข้ามชาติ

สร้างอาจิณกรรมอันประกอบด้วย ทาน ศีล และภาวนา ให้เป็นนิสัย

เราบังคับฝันก่อนนอนไม่ได้ฉันใด เราก็บังคับฝันครั้งสุดท้ายก่อนตายไม่ได้ฉันนั้น

เรารู้แต่ว่า ถ้าวันนี้เรามีความสุข เราจะฝันดี ถ้าวันนี้เราทำเรื่องไม่ดี มีความกังวล เราก็จะฝันร้าย

เช่นกัน ณ วินาทีแห่งความตาย เราจะบังคับให้ตัวเองคิดดี มีปีติ ระลึกถึงบุญกุศล

ระลึกถึงพระรัตนตรัย เพื่อหวังที่จะไปสุคติภูมิในชั่วเดี๋ยวนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

เราทำได้เพียงหมั่นสร้างเหตุในทางกุศลไว้เรื่อย ๆ

เพื่อที่จิตจะได้คุ้นเคยและระลึกถึงในวินาทีสุดท้ายเท่านั้น

ความตายอาจไม่ได้อยู่ไกลตัวอย่างที่คิดนะคะ

พรุ่งนี้ อาจเป็นเรา

เร่งหมั่นทำทาน รักษาศีลให้เป็นนิสัย และโดยเฉพาะหมั่นเจริญสติระลึกรู้กายรู้ใจ

เท่าที่จะทำได้ในทุกขณะที่ยังมีลมหายใจเถิดนะคะ

เพราะเมื่อเจริญสติอยู่เนือง ๆ จนวันหนึ่งเห็นความเป็นจริงของกายของใจแล้ว

ความสุขเย็นอันเกิดจากการเป็นอิสระจากพันธนาการทางจิตใจและเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง

จะมีให้เราประจักษ์ได้ตั้งแต่ชาตินี้ วันนี้ เดี๋ยวนี้ ตรงหน้า

โดยไม่ต้องรอจนวินาทีสุดท้ายของชีวิตหรือกระทั่งภพหน้าชาติไหนเลยค่ะ...

สำหรับฉบับนี้ เรามีเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลจาก "บันเทิงธรรม ไรท์เตอร์ อวอร์ด" (BWA)

ซึ่งจัดโดยเว็บลานธรรมเสวนาเมื่อปี ๒๕๔๙ มาฝากกันค่ะ

หลายคนต้องเผชิญกับวินาทีสุดท้ายของชีวิตอย่างเลี่ยงไม่ได้

แต่อีกหลายคนกลับเลือกที่จะตัดช่องน้อยแต่พอตัว ทั้งที่ชีวิตยังดำเนินมาเพียงน้อย

ติดตามเรื่องราวของลัดดา สาวน้อยที่มีแต่ทุกข์วิ่งวุ่นอยู่ในจิตใจจนหาทางออกอื่นไม่ได้

กับเรื่อง ความรัก เมตตา ความจริง โดย คุณปุ่นบ้อกี๋ ดูนะคะว่าเธอจะลงเอยอย่างไร

ส่วน สัพเพเหระธรรม คุณมนสิการ ตั้งชื่อเรื่องไว้น่าสนใจว่า อยากได้ดีแบบเหมาจ่าย

เออหนอ... ถ้าทำความดีแบบเหมาจ่ายได้ก็คงดีไม่น้อย

คุณมนสิการเธอเห็นอะไร และเหมาจ่ายความดีกันอย่างไร

ต้องลองพลิกไปฟังข้อเคล็ดเกร็ดธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ จากเธอกันดูค่ะ

และสำหรับคอหนัง พลาดไม่ได้เช่นเคยกับ ข้อคิดจากหนัง

กับฝีมือถ่ายทอดโดย คุณชลนิล ซึ่งครั้งนี้เขียนมาให้เราได้อ่านกันถึงสองเรื่องค่ะ

เรื่องแรก Hello God – ตามหาความสุข

และเรื่องที่สอง The Sixth Sense – ขอเพียงเข้าใจ

ทั้งอ่านสนุกและได้ข้อคิดทางธรรม นำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างคมคายเช่นเคย

มีคนกระซิบมาด้วยว่า เรื่องแรกนั้น เขายกนิ้วโป้งให้สองมือ (two thumbs up) เลยนะคะ : )

ฉบับที่แล้ว เราได้นำเอา กรรมพยากรณ์ ตอน ชนะกรรม ภาคการ์ตูน

มาฝากคุณผู้อ่านกันเป็นน้ำจิ้มไปแล้ว และก็ได้ความคิดเห็นต่าง ๆ เข้ามามากมายเลย

มีคุณผู้อ่านไม่น้อยเลยนะคะ ที่พูดถึงบุคลิกและหน้าตาของนางเอก "ณชะเล"

ว่านึกว่าเธอน่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้... : )

ฉบับนี้ ผู้เขียนการ์ตูนเลยลองวาดภาพของสาวน้อยคนนี้มาให้ดูกันใหม่เพิ่มเติมค่ะ

ลายเส้นที่แสดงความเป็นตัวตนของ "น้องทราย" จะใช่บุคลิกหน้าตาตัวตน

อย่างที่คุณผู้อ่านจินตนาการไว้หรือไม่ ลองแวะเข้าไปชมกันดูนะคะ : )

http://dungtrin.com/forum/viewtopic.php?f=3&t=1586

แล้วอีกสองสัปดาห์ กลับมาพบกันใหม่

พร้อมกับการประกาศผลบทความที่ผ่านการคัดเลือกในหัวข้อ "พระคุณแม่" ด้วยค่ะ

ระหว่างนี้ คุณผู้อ่านมีอะไรอยากจะคุยแก้เหงา (ให้ทีมงานเรา) : )

ก็แวะมาคุยกันได้ที่กระดานสนทนาแห่งเดิมที่นี่นะคะ

http://www.dungtrin.com/forum

ขอให้ทุกท่านมีความสุขใจแม้ในยามฝนพรำนะคะ : )

กลางชล

*อีเมล์ฉบับนี้ได้แนบนิตยสารในรูปแบบ PDF ความละเอียดปกติ มากับอีเมล์นี้แล้ว  [21.pdf ]

หากท่านไม่พบ สามารถ Download ได้ http://dungtrin.com/mag/pdf/21.pdf

นิตยสารในรูปแบบอื่นๆ

อ่านทุกฉบับผ่าน website

http://dungtrin.com/mag

อ่านด้วยโปรแกรม Word

http://dungtrin.com/mag/word/21.doc

รูปแบบ PDF คุณภาพสูง และ PDF Booklet พร้อมพิมพ์ เป็นหนังสือ

http://dungtrin.com/mag/?21.pdf

เสียงอ่านหนังสือธรรมะใกล้ตัว wma mp3

http://dungtrin.com/mag/sound.php?21

สมัครสมาชิกนิตยสาร รับอีเมล์ทุกวันพฤหัสบดี สัปดาห์เว้นสัปดาห์

หมายเลขบันทึก: 114972เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2007 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท