ผู้หญิงชื่อ เจ.เค.


เป็นผู้หญิงร่ำรวยอันดับ 13 ของสหราชอาณาจักร และอันดับที่ 136 เมื่อรวมผู้ชายด้วย แต่ถ้ามองจากอาชีพนักเขียน เธอเป็นคนแรกที่ทำรายได้จากเขียนหนังสือได้เกิน 1,000 ล้านเหรียญอเมริกัน
ผู้หญิงชื่อ เจ.เค.

ชื่อเต็มของผู้หญิงคนที่โลกทั้งโลกกำลังเอ่ยถึงขณะนี้ ก็คือ เจ.เค.โรว์ลิ่ง (J.K.Rowling) อายุ 42 ปี ชาวอังกฤษ และถ้าเรียกแบบอังกฤษคือเรียกนามสกุล เธอก็คือ มิสซิส โรว์ลิ่ง แต่สื่อมวลชนเมืองนอกไม่น้อยเลยที่ชอบเรียกอักษรย่อ 2 ตัวแรกของเธอ เจ.เค. เพื่อความเป็นกันเอง

คงจะทราบกันแล้วว่าหนังสือชุดพ่อมดน้อยของเธอ อันได้แก่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 7 “Harry Potter and the Deathly Hallows” ออกวางแผงพร้อมๆ กันทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่แห่ไปรับหนังสือที่จองไว้ หรือเข้าคิวซื้อตามร้านหนังสือใหญ่ๆ แน่นขนัด เป็นข่าวทั่วโลก แม้ในบ้านเราก็มีคนไปร่วมงานที่จัดขึ้นที่ศูนย์การค้าใหญ่ๆ ที่มีร้านจำหน่ายหนังสือฝรั่งและเปิดรับจองเล่มนี้ด้วยแน่นขนัดเช่นกัน

นับเป็นความสำเร็จส่งท้ายสำหรับหนังสือชุดนี้อย่างยิ่งใหญ่ และเป็นเหตุการณ์ที่จะทำให้ลูกผู้หญิงที่ชื่อ เจ.เค. อยู่ในความทรงจำของนักอ่านไปอีกนานแสนนาน ใครจะนึกว่าจากนักเขียนถังแตก ตกงานและต้องอาศัยเงินประกันสังคมเลี้ยงชีวิตจะพลิกชีวิตขึ้นมาสู่ความยิ่งใหญ่ได้เช่นนี้

เฉพาะ 6 เล่มแรกของเธอ มีการพิมพ์จำหน่ายไปแล้วกว่า 325 ล้านเล่มทั่วโลก แปลไปแล้วกว่า 60 ภาษา

รายได้ของเธอจากลิขสิทธิ์ในการพิมพ์จำหน่าย และลิขสิทธิ์อื่นๆ เช่น ของเล่น ของที่ระลึก ทำให้เธอเลื่อนฐานะขึ้นเป็น “บิลเลี่ยนแนร์” หรือมหาเศรษฐีพันล้านภายในเวลาไม่กี่ปี เธอทำรายได้เข้ากระเป๋าของเธอไปแล้วกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งขนาดคิดในยามที่ค่าเงินบาทแข็งๆอย่างนี้ ก็ยังตกราวๆ 33,000 ล้านบาทไทย

กลายเป็นผู้หญิงร่ำรวยอันดับ 13 ของสหราชอาณาจักร และอันดับที่ 136 เมื่อรวมผู้ชายด้วย แต่ถ้ามองจากอาชีพนักเขียน เธอเป็นคนแรกที่ทำรายได้จากเขียนหนังสือได้เกิน 1,000 ล้านเหรียญอเมริกัน

จินตนาการขณะนั่งรถไฟจากเมืองแมนเชสเตอร์เข้าลอนดอนของเธอ เกิดขึ้นเมื่อปี 1990 เธอฝันถึงเด็กคนหนึ่งที่ดูธรรมดาๆ และน่ารักในโลกแห่งความเป็นจริง แต่กลับมีความผูกพันอยู่กับโลกของพ่อมดอย่างลึกซึ้ง

เธอจดพล็อตคร่าวๆ ไว้ในเศษกระดาษ แล้วก็ค่อยๆ ไปเขียนรายละเอียดในร้านกาแฟใกล้ๆ บ้านพักที่เอดินเบิร์ก สกอตแลนด์...เธอนั่งเขียนเกือบทุกวันที่ร้านกาแฟ 2-3 ร้านแถวนั้นจนจบตอนที่หนึ่ง

เธอต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีกว่าจะมีคนรับซื้อเรื่องไปพิมพ์ แต่ทันทีที่พิมพ์ออกจำหน่ายก็สะเทือนไปทั้งโลกเหมือนระเบิดปรมาณูลูกแรกในอดีต เพียงแต่เป็นปรมาณูที่ดี ปรมาณูแห่งความสร้างสรรค์ มิใช่ทำลาย

ผมยอมรับว่าวันแรกที่ผมอ่านเล่ม 1 “Harry Potter and the Sorcerer's stone” ผมไม่ได้นอนเลยทั้งคืน เพราะอยากรู้ว่าเรื่องจะเดินไปอย่างไรและจบอย่างไร
ถามว่าผมชอบอะไรมากที่สุด...คงต้องตอบว่าชอบลีลาการเริ่มเรื่องของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง มากที่สุด เธอเริ่มจากโลกแห่งชีวิตจริงที่กำลังถูกโลกของพ่อมดแทรกตัวเข้ามา ลีลาการเปิดฉากของเธอทำให้นึกถึง “ก๊อดฟาเธ่อร์” ที่มาริโอ พูโซ่ ค่อยๆ ปล่อยตัวละครออกมาทีละตัวเพื่อปูพื้นไปสู่เจ้าพ่ออิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่

เป็นลีลาที่นักเขียนทั่วโลกยกนิ้วให้ และแม้แต่ยอดนักเขียนกำลังภายในอย่าง “โกวเล้ง” มังกรโบราณก็ยังขอยืมพล็อตการเปิดตัวก๊อดฟาเธ่อร์ไปเปิดตัว “เล่าแป๊ะ” ในเรื่อง “เดชอุกกาบาต” เป็นที่ฮือฮาไม่แพ้กัน

เจ.เค.เปิดตัวพ่อมดน้อยและโลกของพ่อมดที่ทับซ้อนอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง ได้ในระนาบเดียวกันกับมาริโอ ผมอ่านเล่มแรกแล้วไม่ยอมอ่านเล่มอื่นอีกเลย เพราะถือว่าเล่มแรกเป็นเล่มแห่งความสุดยอด

แต่ตั้งใจไว้แล้วว่าจะอ่านเล่ม 7 ซึ่งเป็นตอนจบ เพราะนักวิจารณ์ของ เอพี และของ ซีเอ็นเอ็น เห็นพ้องกันว่า...เจ.เค.โรว์ลิ่ง คั้นกะทิแห่งอัจฉริยะของเธอให้กับเล่มนี้อย่างชนิดทิ้งทวน

เต็มไปด้วยความตื่นเต้นเร้าใจ ระทึกใจ ซึ่งนักวิจารณ์ของทั้ง 2 สื่อดัง ยังคงรักษามารยาทไม่ยอมบอกว่าจบยังไงแน่ บอกแต่เพียงว่าสมบูรณ์แบบมาก

ผมจะอ่านแน่นอน แต่ไม่รีบร้อน และก็คงจะอ่านภาษาอังกฤษละครับ เนื่องจากฉบับภาษาไทยนั้น นานมีบุ๊คส์เจ้าของลิขสิทธิ์บอกว่าจะรีบแปลและจัดพิมพ์ให้เสร็จเดือนธันวาคม ถึงตอนนั้นใกล้เลือกตั้งเมืองไทยแล้ว กระแสพ่อมดน้อยอาจจะลดไปเยอะแล้วละ

หมายเลขบันทึก: 114866เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2007 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท