มองโลกด้วยสายตาที่แตกต่าง ทำยังไงกัน (๒) มองให้เห็นอำนาจ


อำนาจของอำนาจ

วิธีการมองโลกแบบถอดปรากฎการณ์ให้เห็นรูปแบบของการสื่อสาร ให้เห็นสารที่ซ่อนอยู่ภายในเหตุการณ์ต่างๆ เป็นแบบฝึกหัดขั้นแรกที่เอาไว้ใช้ฝึกวิทยายุทธวิชาชุมชนครับ

ขั้นต่อไปขอเสนอการมองโลกแบบที่ยากขึ้นมาอีกสักหน่อยคือการมองให้เห็นอำนาจในปรากฎการณ์ หรือเหตุการณ์ทางสังคม

หัดมองว่าปรากฎการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับใครบ้าง และคนเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กันในเชิงอำนาจอย่างไร ใครเป็นผู้ควบคุม ใครเป็นผู้ต้องกระทำตาม เพื่อให้ได้ผลอะไร ใครได้เสวยผลประโยชน์

เวลาหัดมองอย่างนี้ก็จะได้เห็นโลกในมุมมองที่แตกต่างอีกมุมหนึ่งครับ

ลองยกตัวอย่าง เรื่องการแต่งกายของนักศึกษาหญิง

ตัวนักศึกษามีอำนาจในการจัดการกับการแต่งกายของตัวเอง มีกลุ่มก้อนที่มีรูปแบบการแต่งกายคล้ายๆ กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งจำนวนมากนี้ก็เป็นอำนาจรูปแบบหนึ่งนะครับ 

ในขณะที่อาจารย์มีอำนาจต่อรองในการปรับแต่งพฤติกรรมการแต่งกายของนักศึกษาหญิงด้วยกระบวนการของกฎระเบียบ และการหักคะแนนความประพฤติ

สองฝ่ายกำลังพยายามหาจุดสมดุลของอำนาจ

ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ นักศึกษาหญิงแต่งตัวมิดชิดมากขึ้น (ดุลอำนาจเอียงไปในฝั่งอาจารย์) หรือในทางกลับหากนักศึกษายังรักษาอำนาจในการจัดการกับเครื่องแต่งกายของตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่น คือพยายามแต่งตามแบบที่ตัวเองพอใจโดยรักษาความหมิ่นเหม่ไว้ไม่ให้ผิดระเบียบ เรียกว่าถูกระเบียบแบบไม่มิดชิด ยื้อกันไปนานๆ จนกว่าทุกคนจะชินกับมัน หรือจนกว่าแฟชั่นจะเปลี่ยนไปอีกรอบหนึ่ง (ดุลอำนาจเอียงไปในฝั่งนักศึกษา)

หากมีเวลาอยากแนะนำให้ไปสังเกตที่ คลินิกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งในราชอาณาจักรสยาม ช่วงเวลาแปดโมงเช้าไปยันเที่ยง

แล้วลองถอดปรากฎการณ์ออกมาให้เห็นอำนาจ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รูปแบบการสื่อสารเชิงอำนาจ (เช่นคำพูด น้ำเสียงของพนักงานต้อนรับ) การใช้สัญลักษณ์เชิงอำนาจ (เช่นป้ายต่างๆ การจัดตำแหน่งของคนไข้ หมอ พยาบาล ฯลฯ) ลองมองดูว่าคนไข้ (แม้แต่คำ "คนไข้" ก็บอกถึงสถานะแล้วว่า ไม่ใช่คนที่มีอำนาจเหมือนคนปกติ) มีอำนาจอะไรใช้ต่อรองกับระบบบริการสุขภาพภาครัฐบ้าง (เทียบกับอำนาจของคนไข้ในระบบสุขภาพเอกชนคือ เงิน)

 

หมายเลขบันทึก: 114351เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2007 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เห็นด้วยครับคุณหมอ
  • คนไข้มีสิทธิ์ในการต่อรอง
  • น้อยจัง
  • ขอบคุณครับ

ขอบคุณ อ ขจิตที่กรุณาเข้ามาให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอครับ

ที่จริงการติดต่อราชการเกือบทุกที่

คือเวทีของการแสดงอำนาจครับ

ยิ่งประชาชนต้องรับการพึ่งพามากเท่าไหร่

เจ้าหน้าที่รัฐก็ยิ่งตัวพองด้วยอำนาจมากเท่านั้น

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเสนอว่าเราจะต้องพยายามมองปรากฏการณ์ทางสังคมให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

แต่การมองให้เห็นแบบนี้....ยากเอาการอยู่....

เพราะ.....มักจะถูกตั้งคำถามว่า มองโลกในแง่ร้ายไปไหม สิ่งที่ทำไปเพราะอยากให้มัน "ถูกต้อง" "ดีงาม" และทำไปด้วยความ "หวังดี" (นะจ๊ะ) จะมาหาว่าเป็นการใช้อำนาจได้อย่างไร

เพราะ.....อำนาจที่ซ่อนเร้นอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคมใดๆ ส่วนหนึ่งใช่ที่มันอาจจะเป็นอำนาจแบบหยาบๆ ที่เป็นความรุนแรงอย่างโจ๋งครึ่มที่กระทำต่อกัน แต่อีกส่วนหนึ่ง (ซึ่งมีอยู่มากกว่า) มักจะอำนาจแบบละเอียดที่แฝงตัวอยู่ในทุอณูของความสัมพันธ์ทางสังคม แม้กระทั่งในส่วนเล็ก ๆ ที่มนุษย์ไม่น่าจะมึ้ง (กำเมืองแปลว่า อ๋อ...หรือสังเกตเห็น)ว่า อ้อ...นี่ก็เป็นอำนาจแบบหนึ่ง เช่น มีอะไรบางอย่างที่บอกให้เราต้องใส่สูท หากจะขึ้นนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการใหญ่ ๆ การใส่แห่กันไปใส่เสื้อเหลือง ชมพูหรือดำ ของคนไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นต้น

เพราะ.....อำนาจแบบนี้มีลักษณะเฉพาะที่เราจะต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะไปมองหามันได้เจอ

อันแรกก็คือ มันไม่ใช่อำนาจชนิดที่เราจะมาตัดสินได้ว่ามันไม่ดี มันอาจจะเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ก่อให้เกิดสิ่ง "ดี ๆ" หรือ สิ่ง "แย่ๆ" ก็ได้ ยิ่ง

ไปกว่านั้นอำนาจแบบนี้มักจะมีคำสัญญาที่ให้กับเราว่า มันจะทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น การตัดสินคุณค่าของอำนาจจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่าไรนักในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ความสัมพันธ์เชิงอำนาจมันเกิดขึ้นแล้ว และมีใครบางคนกำลังตกอยู่ใต้การบงการของอำนาจ และจำนำไปสู่สิ่งอื่นๆอีกต่อไปได้มากมาย

นอกจากนั้น อำนาจแบบนี้บางทีเราไม่อาจจะไปหาต้นตอของผู้ที่ตั้งใจใช้อำนาจไม่ได้ และหาไม่เจอ เพราะมันมักจะไม่มีต้นตอ และมันจะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมันดำรงอยู่ท่ามกลางความไม่ตั้งใจ ไม่ตระหนัก ของทั้งผู้ที่อยู่เหนือกว่าและต่ำกว่าบนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และหากเมื่อไร อำนาจถูก "ตระหนักรู้" ปฏิบัติการของมันก็จะลดพลังลงอย่างมหาศาล

เห็นด้วยกับสุธีครับที่

"เราควรหัดมองว่าปรากฎการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับใครบ้าง และคนเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กันในเชิงอำนาจอย่างไร ใครเป็นผู้ควบคุม ใครเป็นผู้ต้องกระทำตาม เพื่อให้ได้ผลอะไร ใครได้เสวยผลประโยชน์"

การมองแบบนี้จะทำให้เราใช้อำนาจอย่างมีสติ ระมัดระวัง และนุ่มนวลมากขึ้น แต่อาจจะยังคงต้องใช้อำนาจอยู่เพราะอำนาจเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้เช่นกัน

สิ่งที่ยังไม่รู้และคิดไม่ออกเลยก็คือ

เราจะหาทางให้พวกบุคลากรสาธารณสุข (โดยเฉพาะทันตแพทย์)เรียนรู้วิธีคิดเหล่านี้ได้อย่างไร

และอีกอย่างที่อยากจะนั่งคิด (แต่ยังไม่ได้คิดชัดๆสักทีเลยอยากจะชวนสุธีกับมัทมาคิดด้วยกันก็) ก็คือ เราจะเรียนรู้และเราจะทำความเข้าใจ concept เรื่อง Empowerment ยังไง ภายใต้วิธีคิดเรื่องอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบที่ว่า เพราะเท่าที่เป็นอยู่ (ที่ตัวเองใช้ และที่ มช. ก็ใช้) Empowerment มันถูกใช้และเข้าใจอย่างง่ายและไร้เดียงสาเกินไป (เราจะไป empower ใครได้ บนความสัมพันธ์ที่เราเหนือกว่าเค้าอยู่ และจะเหนือกว่าเค้าตลอดไป)

ยินดีและชื่นชมอย่างมากกับสิ่งที่สุธีและมัทกำลังทำอยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท