ไฉน
นาย ประกาศิต ปอ ประกอบผล

เทียนพรรษา


วันนี้ทางมหาวิทยาลัยได้นำต้นเทียนพรรษาไปถวายวัดที่อยู่ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัย เป็นการอนุรักวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยพุทธ จึงอยากนำข้อคิดเกี่ยวกับเทียนพรรษามาสู่มวลสมาชิกอ่าน 

ในเทศกาลวันเข้าพรรษานี้พุทธศาสนิกชนนิยมถวายสิ่งของเพื่ออำนวยความสะดวกในการอยู่จำพรรษาของพระสงฆ์ โดยมุ่งหวังกุศลกรรมจากผลการฝึกตนของพระสงฆ์ที่จะส่งผลมาถึงตนบ้าง สิ่งที่ชาวพุทธนิยมถวายได้แก่ เทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน เป็นต้นความเป็นมาของเทียนพรรษานี้แรกเริ่มก็เป็นเพียงการทำเทียนขี้ผึ้งเล่มเล็กๆ มาไว้จุดเพื่อให้ได้แสงสว่าง ในการประกอบกิจกรรมต่างๆ หรือทำเป็นเทียนมงคลเท่านั้น  ส่วนในกิจกรรมบางประเภทที่ต้องใช้ไฟดวงใหญ่ๆ แต่ไม่มีโดยตรงจึงมีการรวมเทียนเล่มเล็กๆเข้าด้วยกัน โดยวิธีการมัดรวมกันแล้วจุด ซึ่งการทำเช่นนี้ก่อให้เกิดการเผาผลาญเร็วและมีน้ำตามเทียนไหลออกมามากจึงนำน้ำตามเทียนนั้นมารวมหลอมเป็นเทียนเล่มใหม่ เพื่อเป็นการประหยัด และได้เป็นเทียนเล่มเดียวที่ใหญ่และยาวกว่าเทียนทั่วไปซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์มากขึ้นการหล่อเทียนพรรษาเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาล ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พิธีหล่อเทียนจัดเป็นพระราชกุศลและเป็นงานบุญทั่วไปของชาวบ้านอีกด้วย โดยกำหนดจัดงานราชพิธีหล่อเทียนขึ้นในเดือน 8 ของทุกปี ก่อนวันเข้าพรรษา ในสมัยนั้นการหล่อเทียนใช้ขี้ผึ้งล้วนๆ ปีหนึ่งๆจะใช้ขี้ผึ้งจำนวนมากทั้งนี้เนื่องจากบรรดาวัดต่างๆที่เป็นวัดหลวงทุกวัดจะได้รับพระราชทานเทียนพรรษาวัดละหนึ่งต้น หรือมากกว่านั้น จำนวนเทียนที่หล่อจึงมีมาก ปลายรัชกาลที่ 3 กล่าวกันว่าต้องหล่อเทียนจำนวนถึง 200 ต้น จึงจะพอนำไปถวายวัดต่างๆได้อย่างทั่วถึง สมัยนั้นการหล่อเทียนแต่ละต้นต้องใช้ขี้ผึ้งหนัก 16 ชั่ง ปีหนึ่งๆจึงใช้ขี้ผึ้งเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อถึงเทศกาลหล่อเทียนทางสำนักพระราชวังจึงบอกบุญไปยังพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน เจ้าภาษี นายอากร และขุนนางฝ่ายต่างๆ ให้นำขี้ผึ้งมาช่วยกัน การหล่อเทียนจึงสำเร็จลงได้มูลเหตุที่ต้องมีการหล่อเทียนนั้นเนื่องมาจากในฤดูฝนหรือที่เรียกกันว่าฤดูการเข้าพรรษา ช่วงเวลาวัน แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 โดยกำหนดให้พระภิกษุทั้งหลายต้องเข้าอยู่ประจำ ณ วัดใดวันหนึ่งตลอดระยะเวลา 3 เดือน พระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอยู่จำพรรษาในอารามระหว่างนี้มีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าค่ำ มีความจำเป็นต้องใช้เทียนไว้สำหรับจุดบูชาและให้แสงสว่างตลอดพรรษา พุทธศาสนิกชนจึงพร้อมกันหล่อเทียนสำหรับให้พระภิกษุสงฆ์ได้ใช้ตลอด 3 เดือนของการจำพรรษา จึงเรียกเทียนที่หล่อนี้ว่า เทียนพรรษา หรือ เทียนจำนำพรรษาในกาลต่อมาจึงเกิดประเพณีหล่อเทียนพรรษาขึ้นทุกภาคของประเทศไทยเป็นกิจกรรมของชุมชน ซึ่งจะมีก่อนวันเข้าพรรษาประมาณครึ่งเดือน เพื่อให้เสร็จและทันถวายพระภิกษุสงฆ์ในวันเข้าพรรษา เทียนพรรษาที่หล่อเสร็จสมบูรณ์ตามต้องการของแต่ละชุมชนจะมีการแห่เทียนพรรษาไปถวายพระภิกษุสงฆ์ที่วัดใกล้ชุมชนของตน วัดบางวัดมีชุมชนใกล้เคียงหลายชุมชน เมื่อแต่ละชุมชนมีการหล่อเทียนแล้วแห่เป็นขบวนของแต่ละชุมชนมาที่วัดก็เกิดการเปรียบเทียบเทียนพรรษาระหว่างชุมชน จึงมีการประกวดเทียนพรรษาระหว่างชุมชนขึ้น มีการจัดทำลำเทียนที่มีลายวิจิตรสวยงาม หรือจัดทำเป็นรูปทรงต่างๆอย่างสวยงามลงตัวและริ้วขบวนที่ตระการตาน่าชม จังหวัดที่สืบสานประเพณีนี้มาถึงปัจจุบันเป็นประเพณีสำคัญประจำจังหวัด สามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัด สภาพเศรษฐกิจคล่องตัว จังหวัดดังกล่าวนี้คือ อุบลราชธานีประเพณีทำบุญหล่อเทียนและถวายเทียนพรรษานับเป็นพระเพณีที่ดีงามพุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรช่วยกันรักษาประเพณีนี้ไว้ให้คงอยู่สืบไปชั่วกาลนาน

เทียนในสมัยพุทธกาลตามที่ปรากฎในคัมภีร์ไม่ได้กล่าวว่าเป็นเทียน มีเพียงคำกลางๆว่าประทีปโคมไฟ หมายถึงแสงสว่างที่ขจัดความมืดให้มลายไป ซึ่งจะเป็นสิ่งใดก็ได้ที่ให้แสงสว่าง

ในความมืดแสงสว่างเป็นสิ่งที่สำคัญในการประกอบกิจกรรมการงานต่างๆในการเดินทางที่มืดย่อมมีภัยอันตรายมาก ทั้งพื้นทางเดินไม่สม่ำเสมอ มีเศษหรือของแหลมของมีคม เช่นเศษแก้ว หนาม หรือสิ่งขวางกั้น และจากสัตว์ร้ายต่างๆที่อาศัยความมืดหากิน เราไม่อาจมองเห็นได้ เมื่อต้องเดินทางผ่านไปในบริเวณนั้นย่อมเกิดอันตรายเป็นภัยแก่ร่างกายหรือถึงชีวิตได้ หากแสงสว่างมีก็สามารถหลบหลีกจากอันตรายดังกล่าวนั้นได้

การให้แสงสว่างเป็นทาน นับว่าเป็นประโยชน์มากทั้งการให้แสงสว่างเพื่อการมองเห็นและการให้แสงสว่างทางปัญญา มีเรื่องเล่าว่าพระอนุรุทธะพุทธสาวกเป็นผู้มีปัญญาอันเฉียบแหลมเฉลียวฉลาด รู้อรรถ รู้พระธรรมวินัยแต่ฉาน จนเป็นเอตทัคคะด้านนี้พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ในชาติปางก่อนพระอนุรุทธะได้ให้แสงสว่างเป็นทานจึงมีปัญญาเฉลียวฉลาด

ดังนั้น ความเชื่อในเรื่องถวายประทีปโคมไฟและเทียนเพื่อให้แสงสว่างเพื่อสักการะแด่พระรัตนตรัยจึงได้ถือสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล ประกอบกับความศรัทธาในพระศาสนาที่มีการทำบุญในเทศกาลสำคัญ เช่น เดือนแปดเป็นงานบุญเข้าพรรษา ในระหว่างที่พระภิกษุสงฆ์จำพรรษาตลอดไตรมาสชาวพุทธทั้งหลายมักถวายความอุปถัมภ์ด้วยจตุปัจจัยต่างๆที่จำเป็นอันควรแก่สมณะอุปโภคบริโภค สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการถวายธูปเทียนและน้ำมันเพื่อจุดให้แสงสว่าง และจุดบูชาพระรัตนตรัย เนื่องจากในอดีตแสงสว่างจากไฟฟ้ายังไม่มี หรือมีไม่ทั่วถึง การจุดไต้ จุดตะเกียง หรือจุดเทียนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่ต้องใช้แสงสว่างเพื่อการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัยในการประกอบศาสนกิจอีกด้วย ส่วนชาวพุทธผู้ยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไปถวายพระรัตนตรัยในเทศกาลเข้าพรรษา นอกจากเพื่อบุญกุศลแล้วก็เพื่ออธิษฐานให้ตนเองเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดมีไหวพริบประดุจแสงสว่างของดวงเทียน

ศาสนาใช้แสงสว่างเปรียบเทียบกับปัญญา เช่น ปัญญา โลกัสมิง ปัชโชโต แปลว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก แสงสว่างในดลกทำให้มนุษย์เห็นสิ่งที่จะให้เกิดอันตรายกับร่างกายและชีวิตได้ แต่แสงสว่างคือปัญญาทำให้มนุษย์เห็นโลกแห่งชีวิตจิตใจและจะได้ดำเนินชีวิตอย่างไม่ผิดพลาดเป็นอันตรายกับชีวิต แต่นำพาชีวิตเข้าถึงเป้าหมายที่ประเสริฐสุด นักปราชญ์บางท่านมีความเห็นว่าปัญญาเป็นสิ่งประเสริฐสุดที่มนุษย์ควรแสวงหา ปัญญาเป็นจุดแบ่งแยกมนุษย์ออกจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เพราะมนุษย์มีปัญญาจึงสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร

การถวายเทียนพรรษาควรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ในปัจจุบันใช้แสงสว่างจากไฟฟ้า จึงควรถวายหลอดไฟฟ้า หรืออุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้า เช่น สายไฟ เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 114319เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2007 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท