การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) ตอนที่ 2 การสร้างประเด็นค้นหาคำตอบ


ความยากของ "โจทย์วิจัย" อยู่ที่ว่า "ตกลงแล้วประเด็นสงสัยนี้เป็นของใครกันแน่ที่ต้องการค้นหาคำตอบที่แท้จริง

     การค้นหาประเด็นสงสัยเพื่อใช้ในการหาคำตอบนั้น  เมื่อเสร็จสิ้นการการฝึกอบรมในเนื้อหา "การวิจัยชุมชน โดยเนื้อหาสาระ...วิสาหกิจชุมชน" แล้ว ผลที่เกิดขึ้นคือ  ทีมงานได้กรอบของเนื้อหาสาระและแผนงานที่จะลงไปทำกับกลุ่มอาชีพ (วิสาหกิจชุมชน) ตำบลโพธิ์พระยา  จังหวัดสุพรรณบุรี 


     การคิดโจทย์ดังกล่าวเป็นการออกแบบการทำงานในห้องเรียน ฉะนั้นเมื่อทีมงานลงไปยังห้องเรียนพื้นที่จริง ก็ได้ชวนแกนนำกลุ่มคุยกันถึงข้อมูลพื้นฐานของกลุ่ม อาชีพที่สมาชิกทำเป็นหลัก ข้อเท็จจริงของการทำอาชีพ  ความเป็นอยู่  และอื่น ๆ หลังจากนั้น เราก็นำข้อมูลที่เกิดขึ้นมาประมวลและร่วมกันวิเคราะห์พบว่า ปัญหาของกลุ่มอาชีพก็คือ  สมาชิกต้องการลดต้นทุนการผลิต เพราะต้นทุนการทำนาสูง  และต้องการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง เพราะเมล็ดพันธุ์มีการปนเปื้นและมีข้าวแดงข้าวดีดข้าวเด้ง


     ต่อมาทีมงานจึงนำข้อมูลที่เกิดขึ้นไปตรวจสอบกับชุมชนเพื่อรับการยืนยัน ค้นหาแนวทางการแก้ไข  และการยอมรับเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการทำอาชีพให้ดีขึ้น จึงตกลงใจที่ "ไปดูงานด้วยกัน" ถึงวิธีการทำนาที่ลดต้นทุนการผลิต (เกษตรอินทรีย์) และวิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี รวมทั้งได้นำ "กรณีตัวอย่าง (Best Practice)" มาเล่าให้เกษตรกรฟัง  แล้วให้เกษตรกรลองเปรียบเทียบข้อมูลด้วยตนเอง (ข้อมูลของมูลนิธิข้าวขวัญ  ข้อมูลของBest Practice ที่มาเล่าให้ฟัง  และข้อมูลของตนเองที่ปฏิบัติอยู่จริง) ได้แก่  ต้นทุนการผลิต รายได้  กำไร  ผลผลิต  และอื่น ๆ ประมาณ 7 เรื่อง ข้อสรุปที่เกิดขึ้นคือ เกษตรกรยอมรับว่า  1) ต้นทุนการผลิตของตนเองสูง  2) ตนเองทำนาแล้วใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีมาก  3) เมล็ดพันธุ์ที่ตนเองใช้นั้นมีการเจือปนและไม่ได้คัดพันธุ์  และ 4) อยากจะทดลองทำ คือ ลดต้นทุนจากค่าปุ๋ยค่ายา และเมล็ดพันธุ์ดี


     หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลและสรุปโจทย์ที่ชาวบ้านต้องการทำและต้องการค้นหาคำตอบ โดยชาวบ้านได้แบ่งที่นาของตนเองมาเป็นแปลงทดลอง และมีการลงชื่อเพื่อทำการทดลองทำเมล็ดพันธุ์ดีไว้ใช้เอง 

     ส่วนโจทย์ของเจ้าหน้าที่นั้นคือ 1)  จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านยอมลดต้นทุนการผลิต  2) มีวิธีการอย่างไรให้เกษตรกรลด ละเลิก การใช้ยาและปุ๋ยเคมี  และ 3) จะทำอย่างไรให้เกษตรกรเกิดการเรียนรู้
เรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม 


     ฉะนั้น ข้อสรุปที่เกิดขึ้นคือ  ทีมงานได้ประเด็นที่จะจัดเก็บข้อมูลรายครัวเรือนเพื่อหาต้นทุนการทำนา  ผลผลิต  รายได้ กำไร  และสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ  โดยใช้แบบสัมภาษณืในการรวบรวมข้อมูล ที่ให้ผู้แทนชุมชน หรือ นักวิจัยชุมชน 4-5 คนในการจัดเก็บข้อมูลตามโจทย์ ที่สงสัย 

     ส่วนประเด็นของสถานการณ์  ปัญหาอุปสรรค  และกลยุทธิ์ในการทำงานวิสาหกิจชุมชนนั้น  ได้ทราบข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของกลุ่มที่มาจากการสนทนากลุ่ม (Focust Group) และ
การใช้แบบสัมภาษณ์รายครัวเรือน


     ในการสรุปโจทย์เพื่อหาคำตอบจึงแบ่งเป็น  3 ระดับ คือ
 1. โจทย์ของชุมชน คือ ต้องการผลิตเมล็ดพันธุ์ดีไว้ใช้เอง  และต้องการลดต้นทุนการผลิตข้าว  นั้นจะทำได้อย่างไร?
 2.  โจทย์ของพื้นที่ คือ  วิธีการทำให้เกษตรกรเห็นว่า  1)  ต้นทุนการทำนาที่สูงนั้น มาจากรายจ่ายอะไรบ้าง? ฉะนั้นจะต้องลดต้นทุนค่าอะไรลงบ้าง?  แล้วที่อื่นเขามีวิธีการลดต้นทุนการผลิตกันอย่างไร? และตกลงแล้วของกลุ่มเราจะเลือกทำแบบไหนดี?
2)  กระบวนการเรียนรู้ที่จะนำไปช่วยให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ดีนั้นเขาทำกันอย่างไร?  และ 3) การบริหารจัดการกลุ่มที่เป็นอยู่นั้น ยังอาศัยเจ้าหน้าที่เป็นหลัก ฉะนั้น เราจะมีรูปแบบและวิธีการอย่างไร? ให้เกษตรกรบริหารจัดการกลุ่มด้วยตนเองเป็น
 3. โจทย์ของทีมสนับสนุน คือ ตกลงแล้วตอนนี้สถานการณ์วิสาหกิจชุมชนเป็นอย่างไร?  เกิดปัญหาอุปสรรคอะไรขึ้นบ้าง?  และ 3) เราควรจะมีกลยุทธิ์อะไรบ้าง? ในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้ยั่งยืน
 

     ในการ "ค้นหาประเด็นปัญหา" ที่เกิดขึ้นมาจากการใช้ PAR เข้าไปปรับเปลี่ยนวิธีการค้นหาประเด็นของเจ้าหน้าที่ และประเด็นของเกษตรกรที่ต้องการพัฒนาความรู้และอาชีพของตนเองให้ดีขึ้น โดยคนทุคนเข้ามามีส่วนร่วมในการหาความต้องการ และสรุปว่า "นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการแก้ไข...." ที่เริ่มจากเจ้าหน้าที่ออกแบบรูปแบบการได้มาซึ่งประเด็นปัญหา  แล้วนำกระบวนการไปจัดจริงกับกลุ่มอาชีพ จนมั่นใจและได้ข้อสรุปจากกลุ่มอาชีพว่า "นี่แหละคือโจทย์จริง ๆ ของเขา"  หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จึงนำข้อเท็จจริงที่ค้นพบ (ความต้องการ) มาเทียบกับหลักการวิชาการ  แล้วสรุปเป็นทางออกของวิธีการทำงานและเนื้อหาที่เจ้าหน้าที่จะนำไปช่วยเกษตรกร ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็จะกลายมาเป็น "โจทย์ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องการคำตอบด้วยเช่นกัน"
 

     ดังนั้น  วิธีการทำงานจึงอยู่ที่วิธีการพัฒนาเจ้าหน้าที่และเกษตรกร ให้นำข้อเท็จจริงมาใช้ในการเทียบเคียงกับหลักการเพื่อหาคำตอบในงานและในอาชีพของเกษตรกรให้เป็น.

คำสำคัญ (Tags): #วิสาหกิจชุมชน#par
หมายเลขบันทึก: 114064เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2007 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท