ว่าด้วยการนำเสนอให้น่าประทับใจ


'การนำเสนอผลงานให้เป็นที่น่าสนใจ เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องผสมกันให้พอดี' ไม่มีวิธีใดในตำราที่จะเหมาะกับเราที่สุดเท่าวิธีที่เราค้นพบเองจากการลองผิดลองถูกหลายๆครั้งแล้วนำมาปรับปรุง

ได้รับอีเมล์จากน้องคนหนึ่งถามว่า มีวิธีช่วยในการเสนองานอย่างไรบ้าง เพราะเป็นคนพูดไม่เก่ง แต่ต้อง present งานบ่อยๆทำให้กลุ่มใจ เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเอางานส่วนไหนมาเสนอให้ประทับอาจารย์


ตอนแรกว่าจะตอบเป็นการส่วนตัว แต่มานึกอีกที มาเขียนในนี้เลยดีกว่า เพราะถ้าวิธีของตัวเองน่าสนใจก็อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับอีกหลายๆท่าน และในขณะเดียวกันอาจจะมีคำแนะนำเพิ่มเติมจากอีกหลายๆท่านที่มีประสบการณ์ในการนำเสนอบ่อยๆ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ด้วยกัน

'การนำเสนอผลงานให้เป็นที่น่าสนใจ เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องผสมกันให้พอดี'

สำหรับตัวเองรู้สึกว่าการนำเสนอเป็นเรื่องที่ท้าทาย และจะคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีวิธีการนำเสนออย่างไรให้คนอื่นสนใจ และไม่เบื่อ

ย้อนกลับสมัยที่เป็นนักเรียนนักศึกษา การนำเสนอหน้าชั้นเปรียบเสมือน 'ยาขมหม้อใหญ่' สำหรับหลายๆคน รวมถึงตัวเองด้วย แตาจากการได้ผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง อ่านหนังสือมาก็หลายตำรา พบว่าสิ่งที่ตำราส่วนใหญ่บอกนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แม้จะให้ตัวเองแนะนำคนอื่นก็คงแนะนำอย่างที่ตำราต่างๆเขียนไว้ ไม่ว่าจะเป็น "ต้องศึกษาในเรื่องที่นำเสนอให้รู้จริง พูดจาต้องฉะฉาน เสียงฟังพอสมควร และพูดชัดถ้อยชัดคำ ต้องมีบุคลิกภาพดี มีความมั่นใจในตัวเอง" เหมือนจะง่าย แต่เป็นเรื่องที่ทำอยากไม่น้อย (หลายๆท่านอาจจะกำลังพยักหน้า)

สำหรับวิธีเหล่านี้ได้มาจากการประสบการณ์การนำเสนอของตัวเองสมัยเป็นนักศึกษา
1. ต้องพยายามหาข้อมูลเรื่องที่เราจะนำเสนอให้มากที่สุด และต้องคิดเสมอว่าไม่มีใครรู้เรื่องที่เรานำเสนอมากไปกว่าตัวเรา แม้ว่ามีอาจารย์นั่งฟังอยู่ จะได้ไม่ประหม่า จำไว้ว่าเรื่องที่เรานำเสนอเป็นเรื่องที่เพื่อน หรืออาจารย์อาจจะยังไม่เคยฟัง หรือเจอ เพราะฉะนั้นข้อมูลควร update จริงๆ หรือถ้าต้องใช้ไม้ตาย ก็พยายามทำให้คนอื่นเชื่อว่าเรารู้เรื่อง เพราะฉะนั้นความมั่นใจในตัวเองสำคัญมาก แต่ใช้อย่างแรกดีกว่า เพราะถ้าคนฟังเริ่มรู้อยากจะตกม้าตายตอนโดนถามได้ ไม่ควรเสี่ยง


2. พยายามร้อยเรียงเรื่องที่จะนำเสนอให้ดูน่าสนใจ บางทีเนื้อหาเยอะแต่เวลาจำกัด ต้องพยายามทำใจตัดออก การนำเสนอด้วยการพูดใช้หลักเดียวกับการเขียนเรียงความ ต้องมีบทนำ เนื้อหา และบทสรุป ให้คนฟัง


3. พยายามรักษาเวลา อันนี้ต้องมีการซักซ้อมเพื่อจับเวลา และจะทำให้เราจำเนื้อหาได้เร็วขึ้น ยิ่งซ้อมหลายครั้งยิ่งมีความมั่นใจในเนื้อหาที่นำเสนอ สำหรับคนที่พูดไม่เก่งการซ้อมน่าจะช่วยได้มาก การซ้อมจะทำให้เรารู้ลักษณะการพูดของเรา ว่าเร็วไป ช้าไป เสียงดัง หรือเบา ยิ่งมีคนฟังยิ่งดี ให้เค้าบอกว่าเราพูดเสียงเป็นยังไง จังหวะการหยุดเป็นยังไง เมื่อรู้ต้องหาทางแก้ให้ได้


4. ถ้ามีสไลด์นำเสนอ สิ่งที่อยู่ในสไลด์ควรเน้นภาพ ไม่ใช่ข้อความยาวๆเต็มไปหมด เพื่อให้เราเอาไว้อ่าน จำไว้ว่าอย่าดูถูกคนฟังด้วยการออกไปอ่านข้อความบนสไลด์ให้เค้าฟัง เพราะฉะนั้นการซ้อมจะช่วยให้เราจำเนื้อหาได้ เพราะตอนซ้อมสมองจะทำการเรียบเรียงเนื้อหา ถ้าซ้อมบ่อยๆ สมองจะเริ่มจดจำลำดับของเนื้อหาได้ และไม่ต้องอาศัยบทบนสไลด์ คนฟังเค้าอยากฟังเราพูดมากกว่าอ่านตัวหนังสือ ถ้ามีตัวหนังสือเยอะเค้าจะไม่ฟังเราและจะเริ่มอ่านๆๆๆบนสไลด์  ดังนั้นสิ่งที่ควรอยู่บนสไลด์น่าจะเป็น รูป กราฟ และข้อความสั้นๆแต่ได้ใจความ และถ้าเพิ่มความกินใจ เช่น วลีๆเด็ด ยิ่งดี (อันนี้เรียกคะแนนประทับใจได้แน่นอน) หรือภาพตลกๆที่เข้ากับเนื้อหาก็น่าสนใจ


5. เมื่อเนื้อหาพร้อม ความแม่นยำในเนื้อเรื่องพร้อม สไลด์พร้อม ต่อไปให้พยายามหามุขที่จะใช้ในแต่ละจุด หรือมีตรงไหนที่เราจะให้คนฟังมามีส่วนร่วม ทักษะอันนี้จะมากขึ้นเมื่อชั่วโมงบินมากขึ้น


6. สไตล์การนำเสนอ ขึ้นอยู่แต่ละคน บางคนชอบแบบวิชาการ แต่สำหรับตัวเองชอบสไตล์สบายๆ ลองดูการนำเสนอของฝรั่งเค้าจะเน้นสบายๆ อย่าทำหน้าซีเรียสเกินไป ยิ้มบ้าง ทำหน้าสงสัยบ้าง (แทนคนฟังที่มันไม่สงสัยในสิ่งที่เราพูดสักที) มี acting ในการนำเสนอบ้าง ไม่ควรยืนเป็นเป้านิ่งๆ และไม่มีกฏใดๆห้ามเคลื่อนไหวในขณะนำเสนอ เพราะฉะนั้นทำตัวตามธรรมชาติ อย่าไปฝืน มือไม้ใช้ประกอบการพูดได้ แต่ไม่ควรเยอะจนคนฟังมึน


7. เหมือนเจอคำถามที่ตอบไม่ได้จริงๆ อย่าพยายามตอบแบบเอาสีข้างถู ให้ใช้วิธีบอกตรงๆ และขอกลับไปหาคำตอบ ถ้ามีโอกาสนำเสนออีกครั้ง เช่นการนำเสนอครั้งที่สองที่ยังต่อเนื่อง ให้หาโอกาสตอบคำถามนั้น มันจะแสดงว่าเราให้ความสนใจแก่คนฟัง (ได้คะแนนประทับใจอีกแล้ว) หรือสำหรับอีกวิธีคือบอกคนฟังว่าเราไม่แน่ใจว่าคำตอบของเราถูกต้องหรือไม่ แต่สำหรับส่วนตัวแล้วมีความคิดอย่างไร หรือในขั้นตอนการศึกษาข้อมูล อาจจะมีบางอย่างที่เราได้คำตอบไม่แน่ชัด หรือไม่มีเวลาพอในการหาคำตอบเพราะฉะนั้นตอนที่เราติดขัดอะไรเวลาหาข้อมูล เราต้องหาทางออกไปพร้อมๆกัน และพยายามจด หรือจำไว้ เพราะมันอาจจะกลับมาช่วยเราอีกครั้งในการตอบคำถามที่เราอยากจะคาดไม่ถึง อีกวิธีคือการขุดหลุมคำถาม อันนี้จะเกิดจากการที่เราอธิบายอะไรไม่กระจ่างโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้คนฟังถาม ซึ่งแน่นอนถ้าเค้าถามจริงๆ เราย่อมตอบได้อย่างกระจ่าง (คะแนนมาอีกแล้ว) แต่อย่าไปขุดโดนจุดสำคัญของเรื่องหละ เพราะถ้าไม่มีคนถามอาจจะตายเอง แต่อันนี้พอมีทางแก้ เช่น ถ้าไม่มีคนถาม ห้องเงียบ เราก็ถามเองแล้วก็ตอบ เช่นหลายท่านอาจจะยังสงสัยตรงจุดนี้.......แต่อาจจะยังไม่กล้าถาม (อันนี้พยายามพูดให้เป็นมุข) ซึ่งมีสาเหตุมาจาก......... (อันนี้ก็อาจจะได้อะไรนะจ๊ะ เพราะเริ่มมีลูกเล่น) 


8. อันนี้สำคัญสุด ถ้าต้องนำเสนอพรุ่งนี้ งานจะต้องเสร็จก่อนหน้านั้นแล้ว อย่าพยายามทำงานจนวินาทีสุดท้ายจนอดนอน เพราะมันจะทำให้เราเบลอ และคิดอะไรไม่ออกตอนนำเสนอ ซึ่งมันจะทำให้สิ่งที่ทำมาทั้งหมดเสียไป ถ้าทำไม่ทันจริงๆแล้วต้องตัดใจเลย ไม่แค่ไหนเอาแค่นั้น พยายามตัดเนื้อหาส่วนรายละเอียด และเน้นที่ที่ไปที่มาของงาน และบทสรุปให้คนฟัง

ก็หวังว่าวิธีข้างต้นจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ แต่ทั้งนี้การนำเสนอแต่ละอย่างก็มีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งขึ้นอยู่กับคนนำเสนอจะเอาวิธีต่างๆไปประยุกต์อีกครั้ง แม้จะเป็นเรื่องยากแต่ขอบอกอีกครั้งว่าความมั่นใจในตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเรามีความมั่นใจในตัวเองมันจะแสดงออกมาภายนอกให้คนอื่นรับรู้และยิ่งทำให้คนฟังเชื่อในสิ่งที่เราพูด ทั้งนี้ความรู้จริงในสิ่งที่นำเสนอก็ขาดไม่ได้เช่นกันนะคะ

สุดท้ายอยากฝากไว้ว่าชั่วโมงบินเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนที่ต้องการมีวิธีการนำเสนอที่ดีให้ประทับใจคนฟัง พยายามหาเวทีให้ตัวเอง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง พลาดบ้าง ดีบ้าง สุดท้ายทั้งหมดก็จะเป็นบทเรียนสอนให้เราเจอวิธีที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองคะ ไม่มีวิธีใดในตำราที่จะเหมาะกับเราที่สุดเท่าวิธีที่เราค้นพบเองจากการลองผิดลองถูกหลายๆครั้งแล้วนำมาปรับปรุงคะ

หมายเลขบันทึก: 114043เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2007 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ผมคิดว่าสิ่งนึงที่ขาดไม่ได้อีกคือการ สบตาผู้ฟัง
มันสำคัญมากครับ เพราะทำให้ผู้ฟังรู้ว่าเราเอาใจใส่
แถมการมองยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ฟัง เกิดการ
ตื่นตัวด้วยแบบหนึ่ง
อีกประเด็นคือ การปล่อยมุขแล้วแป๊ก อันนี้
ผมคิดว่าเราควรมีมุขสำรองด้วยอ่ะ เพราะผม
เคยพูดแล้ว ปล่อยมุขไปแล้วไม่ขำ เล่นเอง
แก้เอง มันจะดูแปลก ๆ ต้องหาทางหนีทีไล่
ไว้ให้ดี ๆ
แนะนำอีกข้อนึงคือ ก่อนการขึ้นพูดควร
หาคำถามที่เป็นไปได้ว่าจะโดนถาม พยายาม
หาข้อมูลที่ไม่ใช่แค่เรื่องที่ตัวเองจะพูด แต่เป็นเรื่อง
ที่เกี่ยวข้อง หรือเรื่องที่สามารถเกิดการเปรียบเทียบ
กับเรื่องที่ตัวเองพูดด้วย จะดีมาก อันนี้ผม
ยกมาจากประสพการณ์ตัวเอง ที่ต้องพูดเรื่อง
เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม  ถ้าอะไรมันมีหลายทางเลือก
เราก็ควรศึกษาทางเลือกอื่นไว้ รู้ให้กว้าง ๆ
จะเป็นผลดี กับการตอบคำถามของเรา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท