ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) By Leif Edvinsson


โดย ดร.ตวงอัฐ ชัยกิจโกสีย์

โดย ดร.ตวงอัฐ ชัยกิจโกสีย์ : ปัจจุบันโลกธุรกิจอยู่ในยุคของ Knowledge-base Economy จะเห็นได้ว่าความรู้เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) หรือทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) และเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ ดังจะเห็นได้จากการสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าหรือบริการ (Brand Image) คุณภาพ (Quality) การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relation Management) สิทธิบัตร (Patent) ลิขสิทธิ์ (Copyrights) เป็นต้น รวมไปถึงกระบวนการต่างๆภายในองค์กร วัฒนธรรมขององค์กร ความรู้สึกนึกคิดของพนักงาน ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการสร้างคุณค่าขององค์กร และนำพาให้องค์กรบรรลุผลสำเร็จตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ได้   

        ย้อนกลับไปปี ค.ศ.1991 เมื่อ Professor Leif Edvinsson ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของโลกด้าน Intellectual Capital ให้กับ Skandia AFS ซึ่งเป็นสถานการเงินชั้นนำของประเทศสวีเดน ที่บุกเบิกและเป็นผู้นำด้านทุนทางปัญญา ในปี ค.ศ.1993 Skandia โดย Professor Leif Edvinsson ได้พัฒนาเครื่องมือประเมินวัดผลทุนทางปัญญาที่เรียกว่า Skandia Navigator ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญ 5 ประการ ได้แก่          

  1. ปัจจัยด้านการเงิน (Financial Focus) เช่น ตัวชี้วัดทางด้านการเงินต่างๆ        

  2. ปัจจัยด้านลูกค้า (Customer Focus) เช่น จำนวนลูกค้า, ส่วนแบ่งการตลาด 

  3. ปัจจัยด้านบุคลากร (Human Focus) เช่น อายุเฉลี่ย, จำนวนบุคลากร และระยะเวลาในการอบรม 
  4. ปัจจัยด้านกระบวนการ (Process Focus) เช่น จำนวนครั้งทีพนักงานติดต่อกับลูกค้า, ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และบริหารจัดการอื่นๆ

  5. ปัจจัยด้านการพัฒนาและปรับปรุง (Renewal and Development Focus)  เช่น ทรัพย์สินรวมขององค์กร สัดส่วนของลูกค้าใหม่ สัดส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัท

          ในปีค.ศ. 1995 Skandia ได้นำเสนอรายงานฉบับแรกด้านทุนทางปัญญาออกสู่สาธารณชน และในปีค.ศ. 1997 หนังสือเกี่ยวกับทุนทางปัญญาได้ถูกตีพิมพ์ออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นเขียนโดย Professor Leif Edvinsson ร่วมกับ Michael S. Malone ชื่อ Intellectual Capital: Realizing your company’s true value by finding its hidden brainpower โดยให้คำจำกัดความของทุนทางปัญญาว่า การเป็นเจ้าของความรู้ การประยุกต์ประสบการณ์ เทคโนโลยีขององค์กร ความสัมพันธ์กับลูกค้า และความชำนาญของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทำให้ บริษัทสามารถแข่งขันได้ในตลาด และอธิบายความเกี่ยวข้องทุนทางปัญญากับมูลค่าตลาด (Market Value) หรือบางครั้งทุนทางปัญญาได้ถูกจำกัดความว่าคือ ส่วนต่างระหว่างมูลค่าทางการตลาด (Market Value) ขององค์กร กับมูลค่าทางการบัญชี (Book Value) โดยสามารถเขียนเป็นสมการได้คือ  IC = Market Value – Book Value 

หมายเลขบันทึก: 113835เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2007 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตามมาอ่านทฤษฎีที่ 4 ที่อาจารย์ไม่อธิบายมากนักในการบรรยาย อ๋อ.. มันเป็นอย่างงี้เอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท