สาระน่ารู้


คุณธรรม 8 ประการ ของการจัดการความรู้

คุณธรรม 8 ประการ ของการจัดการความรู้จากวารสารการเรียนรู้  สานปฏิรูปปีที่ 8 ฉบับที่ 92 เดือน มกราคม พ.ศ. 2549    เรื่อง... คุณธรรม 8 ประการ ของการจัดการความรู้โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี                อ่านแล้วก็เลยสรุปมาอีกทีหนึ่งเพราะเนื้อหามีหลายส่วนค่ะคำว่า การจัดการอาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีนักในสังคมไทย เพราะเหมือนจะไปใช้อำนาจจัดการอะไรๆ                 แต่คำว่า จัดการความรู้ (Knowledge Management) มีความหมายที่หมายถึงการจัดการการให้มีการค้นพบความรู้ ความชำนาญที่แฝงเร้นในตัวคน หาทางนำออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตกแต่งให้ง่ายต่อการใช้สอยและมีประโยชน์เพิ่มขึ้น มีการต่อยอดให้งดงามและใช้ได้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและกาลเทศะยิ่งขึ้น มีความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมเกิดขึ้นจากการเอาความรู้ที่ไม่เหมือนกันมาเจอกัน                 ข้อสำคัญก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของคนทั้งหมดที่ร่วมในกระบวนการ ก่อให้เกิดปัญญาร่วม (collective wisdom) ทำให้แก้ปัญหาหรือพัฒนาในเรื่องยากๆ ได้สำเร็จ                 แนวคิดและวิธีการในเรื่องการจัดการความรู้มีการตีพิมพ์ค่อนข้างแพร่หลายทั้งในภาษาต่างประเทศและภาษาไทย สคส.(สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) กำลังทำงานอย่างเข้มแข็งตามชื่อของสถาบัน ได้ผลิตข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแนวคิด วิธีการ และประสบการณ์ไว้มากพอสมควรและมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเครือข่ายและกิจกรรมในตัวเอง เป็นข่าวสารและการสื่อสารที่ยิ่งกว่าสื่อในกระดาษ                  ต่อไปนี้เป็นคุณธรรม 8 ประการของการจัดการความรู้ 1. เป็นศีลธรรมพื้นฐาน ศีลธรรมพื้นฐานของสังคมคือการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ศีลธรรมพื้นฐานนี้จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันด้วยสันติ 2. การไม่ใช้อำนาจ            มนุษย์ตามปกติจะใช้อำนาจกระทำต่อกัน แม้ในสังคมที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย เพราะอำนาจเป็นกิเลสที่ลึกที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์  การใช้อำนาจจะไปปิดกั้นกระบวนการตามธรรมชาติ กระบวนการตามธรรมชาติคือการรับรู้ เรียนรู้ งอกงาม ถักทอเครือข่าย เมื่อใช้อำนาจจะทำให้กระบวนการตามธรรมชาติบิดเบี้ยวเบี่ยงเบนไปจากที่ควรจะเป็น 3.   การฟังอย่างลึก (deep listening)           การนำความรู้ที่แฝงเร้นในตัวออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ต้องมีการคุยที่เน้นการฟังอย่างลึก ไม่ใช่โต้เถียงกันโดยหวังเอาชนะคะคานหรือพ่นให้ผู้อื่นฟังข้างเดียว คนบางคนไม่ฟังคนอื่น เอาแต่พูด หรือฟังก็ไม่ได้ยิน อย่างนี้ปัญญาไม่เกิด แต่เป็นอาการของคนที่มีตัวตนจัด (ego)    การฟังอย่างลึกทำให้เกิดปัญญา    โบราณใช้คำว่า พหูสูต สำหรับผู้มีปัญญา (สุตะ = ฟัง) 4.   เป็นวิธีการทางบวก                  กล่าวคือ เอาความสำเร็จ ความภาคภูมิใจของสิ่งที่เคยทำด้วยดีเป็นตัวตั้ง นำมาเห็นคุณค่าและชื่นชม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดให้งดงาม และมีประโยชน์ยิ่งขึ้น  วิธีการทางลบคือ เอาความล้มเหลวหรือปัญหาขึ้นมาเป็นตัวตั้งวิพากษ์วิจารณ์แล้วทะเลาะกัน เป็นการทอนกำลัง 5.การเจริญธรรมะ 4 ประการที่เกื้อหนุนการเรียนรู้ร่วมกัน การจัดการความรู้เน้นที่การส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน ปรกติมนุษย์เรียนรู้ร่วมกันยากเพราะกิเลส เช่น  ความโกรธ ความเกลียด อหังการ มมังการ การจะเรียนรู้ร่วมกันควรเจริญธรรมะ 4 ประการ คือ -        ความเอื้ออาทร (compassion) -        ความเปิดเผย (openess) -         ความจริงใจ (sincerity) -         ความเชื่อถือไว้วางใจกัน (trust) เมื่อเกิดความเชื่อถือไว้วางใจกันจะมีค่ามาก ทำอะไรก็ง่ายและมีความสุขอย่างยิ่ง ถ้าขาดความเชื่อถือ ไว้วางใจกัน จะไม่อยากคุยกันอย่างลึกๆ 6. การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (interactive learning through action) เป็นอิทธิปัญญา การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติเป็นอิทธิปัญญา การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติมีความสำคัญที่สุดในการทำ ให้ทำอะไรยากๆ ให้สำเร็จ การไม่เรียนรู้ การเรียนรู้โดยท่องตำราอย่างเดียว การเรียนรู้เฉพาะบางคนโดยไม่ใช่การเรียนรู้ของคนทั้ง หมดร่วมกัน ไม่เกิดปัญญาร่วมที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่เป็นไปเพื่อความสำเร็จ  7.   การถักทอไปสู่โครงสร้างใหม่ขององค์กรและของสังคม                 โครงสร้างที่สุดโต่ง 2 อย่างคือ (1)      โครงสร้างทางดิ่ง และ (2)      โครงสร้างปัจเจกชนนิยม แบบตัวใครตัวมัน ไม่มีพลังเพียงพอในการแก้ปัญหาที่ยากและซับซ้อน ของสังคมปัจจุบัน                 การจัดการความรู้ก่อให้เกิดโครงสร้างใหม่แบบเครือข่าย                 การที่การจัดการความรู้นำไปสู่การถักทอโครงสร้างใหม่ จากโครงสร้างทางดิ่งและโครงสร้างแบบตัวใครตัวมัน ไปสู่การเป็นเครือข่ายมนุษย์ มีความสำคัญยิ่งนัก เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation) ที่ไม่เคยทำได้สำเร็จด้วยวิธีใช้ความรุนแรง แต่สำเร็จได้ด้วยการจัดการความรู้อันประณีต ที่ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ โครงสร้างใหม่จะปลดปล่อยมนุษย์ไปสู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข 8. การเจริญสติในการกระทำ การจัดการความรู้ที่ดีเป็นการเจริญสติไปในตัว การเจริญสติคือการรู้ตัว การรู้ตัวทำให้มีปัญญาและทำได้ถูกต้อง ในกระบวนการจัดการความรู้ที่ดี ทุกคนต้องพยายามมีสติระลึกรู้ เมื่อทุกคนมีสติในกิจกรรมร่วม จะเกิด เป็นสติของกลุ่ม หรือสติขององค์กร หรือสติของสังคมอันเป็นเรื่องใหม่ซึ่งดียิ่งนัก เพราะสังคมที่ไม่มีสติเป็นอย่างไร เราพอนึกออกและเห็นอยู่ทั่วไป                  การจัดการความรู้คงจะมีคุณลักษณะอื่นๆ อีก ที่นำมากล่าวไว้ 8 ประการก็คงเพียงพอที่จะเป็นกำลังใจให้ฮึกเหิมในธรรม เห็นภาพรวมของการจัดการความรู้ในเชิงลึก ซึ่งถ้าตระหนักรู้และพยายามเจริญคุณธรรม 8 ประการให้ประณีตยิ่งๆ ขึ้น การทั้งปวงจะงดงามและทรงพลังมากขึ้นเรื่อยๆ บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ การจัดการความรู้ กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์สู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี จัดพิมพ์โดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)    

ที่มา    :     learners.in.th/file/achariyaporn/aew8.doc

          

 

หมายเลขบันทึก: 113724เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2007 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท