Hospital OS โปรแกรมบริหารระบบการจัดการสารสนเทศโรงพยาบาล
Hospital OS Hospital OS โปรแกรมบริหารระบบการจัดการสารสนเทศโรงพยาบาล ianalysis คลังข้อมูล Hospital OS (โปรแกรม โรงพยาบาล)

Episode IV: Hospital OS Go lives!


"เดินมาโรงพยาบาล ตั้งหลายชั่วโมง เมื่อก่อนมายังได้นั่งอยู่ตั้งนาน เดี๋ยวนี้แป๊ปเดียวเสร็จแล้ว จะให้รีบไปไหน ยังไม่หายเหนื่อยเลย"


โดย หมอก้อง




เป้าหมายสำคัญที่พวกเราจะต้องไปถึง หลังจากที่เราเพียรพยายามมาตลอด 2 ปี ก็เพื่อรอวันนี้ รอว่า งานที่เราทำนั้นจะใช้ได้หรือไม่

หลังจากที่ทีมงานฝังตัวอยู่ในพื้นที่ ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ เสียงหญ้าแทรกพื้นไม่เคยได้ยิน มีแต่เสียงแป้นพิมพ์ เสียงพัดลมของคอมพิวเตอร์ เสียงถอนหายใจซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า แต่ไม่มีเสียงร้องไห้!!!!!

การสอน การเตรียมข้อมูล ทำมาจนถึงวันที่เราตั้งใจว่าจะขึ้นระบบให้ได้ในเร็ววันนี้
ตอนนั้นก็ได้หารือกันว่า เราน่าจะขึ้นระบบและอยู่ดูแลต่ออีกสักอาทิตย์เพื่อที่จะได้ดูผลลัพท์ที่เกิดขึ้นหากมีข้อผิดพลาดอะไร ก็จะได้อยู่แก้กันหน้างานนั้นเลย รุ่งกับแหม่มก็มีหน้าที่สอนขั้นตอนการทำงานให้กับสมาชิกในโรงพยาบาล ที่เหลือ สุรชัย พงศ์ธร โสทร และพี่อ๊อด ก็ทำงานที่ต่างต้องรับผิดชอบกันอย่างเต็มที่ บรรยากาศเริ่มตึงขึ้นเพราะเริ่มเครียด เมื่อบรรยากาศไม่ดี ก็กลายเป็นความกดดัน และในที่สุดความผิดพลาดก็เกิดขึ้น


    น่าสนใจครับที่เริ่มต้นจาก “ความตั้งใจดี” และคาดหวังถึงความสุขเมื่อประสบความสำเร็จ แต่ระหว่างเส้นทางเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น อาจจะไม่เป็นสุขเสียแล้ว เพราะเราคาดหวัง มุ่งหวัง มองไกลที่ "เป้าหมาย" เราถูกสอนให้กลัวความล้มเหลวและผิดพลาด เราอาจจะมีแรงจากคำสบประมาท เราจึงไม่อยากแพ้ เราอยากจะชนะ เราเสียเวลามาสามอาทิตย์แล้ว ผมเชื่อว่าลึกๆความคิดเหล่านี้ เกิดขึ้นในใจของทีมงาน และแม้แต่ในใจผมเอง และด้วยความอ่อนด้อยในการควบคุมสติ ก็เลยทำให้เรา ลืมดูแลจิตใจที่ถูกกดดันของกันและกัน เกิดเป็นอารมณ์ปะทะกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่รุนแรงนัก และทุกคนก็ช่วยกันทำขึ้นมาใหม่

หมอก้อง เหน่ง พี่อุทัย พี่โส พี่อ็อด


คืนวันก่อนขึ้นระบบ ผมจำวันที่ไม่ได้แล้ว แต่จำได้ว่าเป็นเดือนตุลาคม 2545 สิบเดือนหลังจากเราเริ่มโครงการฯ และซอฟต์แวร์ที่ทุบทิ้งไปหลายรอบ คืนนี้พวกเราไม่ได้นอนครับ เพราะแผนงานจะเริ่มตอนเที่ยงคืน โดยการปิดระบบเก่า และเอาข้อมูลคนไข้จากระบบเก่าขึ้นมาบนระบบใหม่ ข้อมูลทีละรายการเริ่มไหลเข้าสู่ฐานข้อมูลใหม่ดำเนินไปเรื่อยประมาณตี 1 ก็เสร็จ เราสำเนาฐานข้อมูลเก็บไว้ก่อน 1ครั้ง และเช็คข้อมูลการสั่งการรักษา เมื่อทุกอย่างถูกต้องแล้ว ทดสอบการค้นคนไข้ สามารถค้นขึ้นมาแสดงข้อมูลได้

ทีมงานก็สลายตัว ยังครับ ยังไม่ได้ไปนอน
เรากระจายกำลังกันยังจุดต่างๆที่ติดตั้งเครื่องและเริ่มทดสอบกันทุกเครื่อง อันที่จริงโรงพยาบาลไม่ใหญ่ครับ เป็นรพ. ขนาด 30 เตียง และเราติดตั้งที่แผนกผู้ป่วยนอกอย่างเดียว ซึ่งก็มีชั้นเดียวและมีจุดบริการอยู่ 5-6 จุดเท่านั้น แต่คงด้วยความตื่นเต้นของทีมงาน และความไม่ชัดเจนในขั้นตอน พวกเราก็เดินกันวุ่นไปทั้งโรงพยาบาล เมื่อเริ่มมั่นใจว่า ทุกอย่างพร้อมแล้ว เราก็มารอกันที่ห้องทำงาน และสรุปงานกัน ทุกคนรายงานว่าพร้อม และมอบหมายกันไปประจำจุด และบางคนก็ต้องนั่งเฝ้าที่ห้องทำงานนี้เพื่อดูแลฐานข้อมูล


ใจเต้นครับ รอคนไข้คนแรกมารับการตรวจ น้องๆบางคนก็กลับหอไปเปลี่ยนเสื้อ บางคนงีบหลับ

ผมนอนไม่หลับครับ ตอนนั้นตีห้าแล้ว ฟ้าเริ่มมีแสง อากาศหนาวเย็น ผมเดินออกไปที่หลังคาซึ่งมีประตูเปิดให้ออกไปได้จากกระได เป็นดาดฟ้า นั่งมองไปทางทิศเหนือ เห็นภูเขาสูงที่ค่อยๆชัดเจนขึ้นจากแสงอาทิตย์ยามเช้า หมอกสีขาวบางๆ กระจายไปทั่ว ลมเย็นปะทะใบหน้า ความคิดก็เริ่มล่องลอย


“ในที่สุดก็ถึงวันนี้ วันที่เราเดินทางด้วยเวลาถึงสองปี และระยะทางกว่าพันกิโล อีกไม่นาน เราก็จะได้รู้ว่า เราจะทำได้ไหม”


ในความเป็นจริงแล้ว จุดนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เป็นจุดที่ทำให้เรียนรู้ จากความไม่รู้ เป็นพอที่จะรู้ แต่ยังไม่ใช่ความสำเร็จสุดท้าย


new day has come
ผมเดินกลับเข้ามาส่งเมล์ฉบับแรกให้กับสมาชิกของ Hospital OS เพื่อให้ทราบว่า เรากำลังจะเริ่มต้นแล้ว

หกโมงกว่า ผมเดินถือกาแฟ ลงมาที่โถงกลางโรงพยาบาล เห็นเจ้าหน้าที่ พยาบาล มากันแต่เช้า ใส่เสื้อหนาวสีสดใส หน้าตาสดชื่น ยิ้มแย้ม เพราะเขาตื่นเต้นที่จะได้ใช้งานซอฟต์แวร์ที่อุตสาห์เรียนมาถึง 3 สัปดาห์ จากบางท่านที่ไม่รู้ว่าคลิ๊กขวา คลิ๊กซ้าย ในที่สุดสิ่งที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง

เด็กชายอายุสัก 7 ปีมากับคุณแม่ เข้ามาเป็นคนแรกของเช้าวันนั้น เขาจะรู้ไหมหนอว่าเขาได้รับเกียรติเป็นผู้ใช้ระบบ Hospital OS คนแรก พยาบาลและเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งทีมงานของเราไปมุงที่ห้องเวชระเบียน คนที่ทำหน้าที่ลงทะเบียน ก็เริ่มทำตามที่ได้เรียนมา เพื่อนๆก็ยืนมุงลุ้น คงมีแต่คนไข้กับแม่เขาคงงงว่า “เอ พี่ๆเขาเล่นอะไรกัน” อาจเป็นไปได้ที่คนใช้กับโปรแกรม มือใหม่ทั้งคู่ เลยทำการลงทะเบียนเป็นไปอย่างช้า จนต้องเอาเก้าอี้ไปให้เด็กนั่ง ฮา

เด็กชาย ศรราม ครับ เป็นชื่อของคนไข้คนแรกของระบบ จากการสอบถามทราบว่า ชุมชนแถวนี้จะตั้งชื่อตามดาราหรือตัวละครที่นิยมในช่วงนั้น อนุมาณได้ว่า ชื่อนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากละครเรื่อง “เหินฟ้า”

เด็กชายศรราม

เสร็จจากขั้นตอนที่ 1 การลงทะเบียน คนไข้ถูกนำมายังจุดที่สอง คือ หน้าห้องแพทย์ เพื่อชั่งน้ำหนัก และวัดสัญญาญชีพต่างๆ รวมทั้งซักประวัติเบื้องต้น โดยพยาบาล กว่าจะเสร็จก็เกือบแปดโมง พอดีครับคุณหมอแจ๊คลงมาตรวจพอดี คนไข้ถูกส่งเข้าห้องตรวจ โดยมีผู้ช่วยพยาบาล(คอมพิวเตอร์) เข้าไปด้วยเพราะกลัวว่าหมอจะใช้ไม่ได้

พี่ๆ พยาบาล OPD

เนื่องจากโปรแกรม Hospital OS เรามีภาคบังคับ ให้แพทย์ต้องสั่งการรักษาผ่านระบบคอม ไม่ให้เขียนใบสั่งยา เพื่อจะลดความเสี่ยง และทำให้งานไม่เป็นภาระกับจุดอื่นๆ พวกเราก็เกรงว่า แพทย์จะทำไม่ได้ แต่ผิดคาดครับ คุณหมอแจ๊คใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว สั่งยาผ่านหน้าจอคอมฯ

คนไข้ก็มองอย่างง ว่า “เอ ไหงวันนี้หมอดูแต่ทีวี”  


    เรื่องการสั่งยาผ่านระบบคอมนี้หรือ Electronic Prescription ได้รับการยอมรับในต่างประเทศว่าช่วยลดความเสี่ยงให้กับคนไข้ได้อย่างมาก แต่ซอฟต์แวร์ในบ้านเราไม่ค่อยมีให้ใช้ เพราะไม่อยากไปยุ่งกับหมอ ตอนแรกๆ Hospital OS ก็โดนต่อต้านพอดูครับ เพราะหมอบอกว่าเขียนเร็วกว่า (แต่อ่านไม่ออก) แต่พอใช้ไปสักพักแล้วติดใจ เห็นได้ข่าวว่าบางโรงพยาบาลวันไหนคอมฯล่ม เขียนใบสั่งยาไม่ถูกก็มี


    เสร็จ จากห้องหมอแจ๊ค คนไข้ก็ไปรับยาที่ห้องยา ที่ห้องยาระบบของเราก็ครอบคลุมทั้งการจัดยา การพิมพ์สติ๊กเกอร์ และการจ่ายยา รวมถึงการคิดค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะเก็บเงินไม่ได้ก็ตาม เภสัชกร (ท่านที่บอกว่า จะได้ยินเสียงหญ้าแทรกดิน) ท่านก็ใช้งานอย่างคล่องแคล่ว พี่อุทัยก็ประจำช่วยอยู่ที่จุดนี้ และในที่สุด คนไข้ก็ได้รับยาที่ถูกต้องกลับบ้านไป

รอยยิ้มปรากฏบนหน้าง่วงๆของเราทุกคน ทั้งพยาบาลและเจ้าหน้าที่ ตื่นเต้นกันใหญ่ ที่ระบบทำงานไปได้ หลังจากนั้นระบบก็ทำงานไปตลอดทั้งวัน


    ก่อนที่จะขึ้นระบบ ผมตั้งคำถามกับทีมงานว่า เมื่อเอาโปรแกรมมาใช้แล้วมีอะไรดีขึ้นบ้าง เราทำการวิจัยเล็กๆ โดยการเก็บระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมาลงทะเบียน จนรับยาเสร็จ หนึ่งสัปดาห์ก่อนขึ้นระบบ และเก็บหลังจากที่ขึ้นระบบหนึ่งสัปดาห์เช่นกัน เราพบตัวเลขที่น่าสนใจว่า เราทำให้ระยะเวลาในการบริการ (Cycle time) ลดลงได้ประมาณ 20% ในสัปดาห์แรกที่เริ่มใช้ และพบว่าแพทย์สามารถจัดการคนไข้เสร็จสิ้นได้เร็วขึ้นจากเดิมที่จะเสร็จการตรวจผู้ป่วยนอกประมาณ บ่ายสามโมง ก็มาเสร็จประมาณ บ่ายโมง แปลว่า เราสามารถคืนเวลาให้แพทย์ได้ ประมาณ 20 % หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งคือ เราสามารถเพิ่มการบริการ (Capacity) ได้ 20% นับเป็นประเด็นที่น่าจะทำวิจัยต่อ

ผมมาทราบตอนหลังจากคุณอุทัยว่า คนไข้ โดยเฉพาะชาวเขา บางคนไม่ชอบที่เมื่อใช้ระบบนี้แล้วเร็วขึ้น เขามีเหตุผลว่า

"เดินมาโรงพยาบาล ตั้งหลายชั่วโมง เมื่อก่อนมายังได้นั่งอยู่ตั้งนาน เดี๋ยวนี้แป๊ปเดียวเสร็จแล้ว จะให้รีบไปไหน ยังไม่หายเหนื่อยเลย"

นี่ก็เป็นอีกบทเรียน ที่เรามักเอาค่านิยมของคนเมืองหลวง ไปกำกับวิถีของคนชนบท ซึ่งเราอาจจะภูมิใจในความสามารถของโปรแกรมเราที่เพิ่มประสิทธิภาพขึ้นมาได้ แต่เราไม่ได้มองบริบท ของคนในพื้นที่ว่าเขาต้องการอะไร อย่างไร เรามักจะนิยมความรีบเร่ง และนึกเสมอว่้าเวลาของเรามีค่ามาก แต่เราเองก็ไม่เคยที่จะหยุดมอง พักใจ สุขใจกับสิ่งแวดล้อมข้างเคียง เหมือนคนในชนบท แล้วยังมีหน้าไปบอกเขาว่าด้อยโอกาสอีก บทเรียนนี้สอนผมมากและเตือนใจผมเสมอว่า

"อย่าเอาตนเองเป็นที่ตั้ง และไปวัด ไปกำหนดค่า ไปตีราคา วิถีชีวิต ความคิด ค่านิยม คนอื่น จงยอมรับในความเป็นเขา และชื่นชมเขา" 

  ทีมงานอยู่ดูแลระบบต่ออีกสัปดาห์ แต่ผมต้องกลับไปก่อน  หลังจากขึ้นระบบได้ 1 วันเพราะต้องกลับไปทำงานประจำ

เมื่อครบสัปดาห์ก็มีการเลี้ยงส่งทีมงานกันอย่างเอกเกริก ไม่ทราบว่ามีล้มวัว ล้มหมูด้วยหรือเปล่า แต่ทราบว่าเด็กวิศวะบางคนเมาเหล้า จนถึงกับต้องฉีดกลูโคสเข้าเส้น เลยเกิดเป็นอีกหนี่งตำนาน หากใครต้องการทราบ ต้องอ่านเรื่องของสุรชัยนะครับ B-).



Episode V: การเดินทาง
การเดินทางนับหมื่นกิโลเมตร เริ่มขึ้นแล้ว

 

คำสำคัญ (Tags): #hospitalos
หมายเลขบันทึก: 113293เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2007 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

อ่านแล้วน้ำตาไหล ดีใจที่ได้มีส่วนร่วม ได้เห็นและรู้ว่าหมอทำเพื่ออะไรและทำไมต้องทำ เมื่อไหร่จะถึงตอนเราโผล่มาซะทีน้า อยากเล่าบ้างแล้ว....เราอยู่ได้ "มั่นใจในเจตนาดี"

คาดว่าประมาณ Episode ที่ 6 ครับ เพราะต้องผ่านตอน "เดินทางหมื่นลี้" ไปก่อนครับ
เสียดายมาไม่ทัน

ขอแสดงความยินดีกับทีมงาน HosOS และโรงพยาบาลแห่งนี้ด้วยครับ ขอให้ทีมงานยืนหยัดต่อไปในความมุ่งมั่นและเป้าหมายครับ

 ขอส่งกำลังใจให้ทุกคน.....

ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าดีๆเรื่องนี้มากๆค่ะ คุณหมอก้อง ดีใจจังที่เรื่องราวต่างๆที่คุณหมอทำจะได้รับการถ่ายทอดเอาไว้ด้วยตัวตนของคุณหมอเอง ขอบคุณจริงๆค่ะ ที่ลงมืออย่างจริงจังใน GotoKnow เสียที ขอบอกว่ารอมานานเหมือนกันค่ะ 

ขอบคุณทีมงานที่ช่วยใส่รูปให้ครับ เชื่อว่าหลายคนคงเห็นภาพชัดชึ้นครับ

ตอนนี้ผมอยู่ที่ตาก พรุ่งนี้จะไปเยี่ยมเยียน รพ. ที่ใช้ Hospital OS  3 แห่งครับ คาดว่าจะมีเรื่องมาเล่าให้ฟังมากมาย เร็วๆนี้ ส่วนตอนเดินทางหมื่นลี้ ขอเวลาสักพักนะครับ  

^^ ทีมงานยังหารูปหมอแจ็คไม่เจอค่ะ อดเห็นตอนคุณหมอดูจอทีวีตอนตรวจคนไข้เลย ไว้พี่อ็อดหาเจอแล้วจะเอามาลงให้ค่ะ

เป็นกำลังใจให้ทีมงาน Hospital OS ครับ

ขอบคุณทีมงาน

โดยเฉพาะ พี่โส เบะ โต้ง น้องพี(สะเด็ด) น้องโอ๋ น้องแอ้ม ที่มาแนะนำโปรแกรมดีๆให้รู้จัก ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ผมรู้จักมาตั้งแต่เวอร์ชั่น 1.2  โปรแกรมอะไร cd 2 แผ่น 600 บาทถ้า(จำไม่ผิด) เคยได้ยินแต่ราคาเป็นแสน ลองไปลองมันทำงานได้จิง ใช้มา 3 ปีกว่าๆแล้วปัจจุบัน 3.7 แล้วครับ เสถียรครับ  ไม่เคยล่มครับ

และจะใช้ต่อไปเรื่อยๆ  (ถ้า server ไม่ล่ม)

ขอเป็นกำลังใจให้ทีมงานพัฒนาโปรแกรมต่อไปครับ

อ้าว ลืมอีกคน ครับ    พี่อ๊อด   ครับ

อ่านมาหลายตอนละ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท