หน่วยบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช


ร่วมคิด พิชิตเบาหวาน

      สวัสดีปีใหม่...สมาชิกเครือข่ายฯ ทุกท่าน หลังจากที่ดิฉันหายหน้าจากการทำ Weblog ไป ๓ วัน วันนี้ดิฉันก็พร้อมจะนำเรื่องเล่าดีๆ จากเพื่อนๆ สมาชิกมาลง blog ให้ได้อ่านกันต่อค่ะ

บันทึกโดย : สุภาพรรณ ตันติภาสวศิน        

หน่วยบริการปฐมภูมิ

        หน่วยบริการปฐมภูมิ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช พอ.บนอ. ได้เปิดให้บริการเมื่อ ต.ค. ๒๕๔๔ โดยมีเขตพื้นที่รับผิดชอบ ๔ เขต คือ ดอนเมือง, สายไหม, หลักสี่ และบางเขน ประชากรที่รับผิดชอบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน หลังจากเปิดให้บริการประมาณ ๑ ปี เราพบว่าโรคที่พบอันดับ ๑ คือ โรคความดันโลหิตสูง, อันดับ ๒ คือ โรคเบาหวาน และอันดับ ๓ คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเราได้ทบทวนดูส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีเบาหวานร่วมด้วย ทางทีมงานจึงมีความเห็นว่าควรจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อร่วมคิด พิชิตเบาหวาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ยั่งยืน

        กลุ่มเบาหวานได้เริ่มดำเนินการขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ โดยมีแผนดำเนินงานดังนี้

        ๑. ลงทะเบียนกลุ่มตามความสมัครใจ แต่คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดคือ

            - เดินได้ พูดคุยรู้เรื่อง

            - อายุไม่เกิน ๗๐ ปี

            - ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดมากกว่า ๒๐๐ mg% หรือระดับน้ำตาลขึ้นๆ ลงๆ ควบคุมไม่ได้

            - กรณีอายุเกิน ๗๐ ปี แต่พูดคุยรู้เรื่อง แข็งแรงพอสมควร ต้องมีญาติมาด้วย

        ๒. ทำ Pretest ประเมินภาวะสุขภาพและความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน

        ๓. ดำเนินกิจกรรมกลุ่มทุกวันพุธ-พฤหัสบดี จะต้องมีการบันทึกผลการควบคุมน้ำตาลในเลือด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องเข้ากลุ่มอย่างน้อย ๔ ครั้ง โดยผู้ทำกลุ่มจะสอนวิธีดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมและเปิดโอกาสให้สมาชิกกลุ่มได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของตนเอง โดยเนื้อหาที่ทำกลุ่มมีดังนี้

            - การควบคุมอาหารและสัดส่วนอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

            - การให้ความรู้เรื่องยาและความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาและการเตรียมความพร้อมในการเดินทาง

            - การออกกำลังกายที่เหมาะสมและการจัดการภาวะฉุกเฉิน

            - ภาวะแทรกซ้อนและแนวทางป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน

        ๔. ทำ Post test เพื่อประเมินความรู้ ความพึงพอใจและผลการปฏิบัติเมื่อเข้ากลุ่มครบเนื้อหา

        ๕. วิเคราะห์เปรียบเทียบผลการทดสอบและภาวะสุขภาพของสมาชิกกลุ่มก่อนและหลังการเข้ากลุ่ม

        ๖. จัดค่ายเบาหวานให้ผู้ป่วยหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมกลุ่ม เพื่อเป็นการทบทวนและเพิ่มความเข้าใจในโรคเบาหวานมากยิ่งขึ้น ในลักษณะ Day camp โดยให้ผู้ป่วยร่วมกิจกรรม Walk Rally ด้วยความสมัครใจเช่นกัน ลักษณะกิจกรรมมีชื่อว่า "วิถีชีวิตพิชิตเบาหวาน" จะแบ่งเป็น ๔ สถานี ดังนี้คือ

             - สถานีอาหาร           คิดเป็น กินเป็น เน้นความสุข

             - สถานียา                รู้ชัด จัดยาเป็น เน้นถูกวิธี

             - สถานีออกกำลังกาย ขยับกายวันละนิด จิตแจ่มใส

             - สถานีความรู้           ใส่ใจไว้ใช้โรคแทรก เน้นในเรื่องภาวะ Hypo-Hyper Glycemia

        โดยแต่ละสถานีมีชื่อเรียกให้สอดคล้องกับกิจกรรม เช่น สถานีอาหาร ใช้คำว่า คิดเป็น กินเป็น เน้นความสุข

        ในการประเมินผลด้านความพึงพอใจ ผู้ป่วยมีความพึงพอใจมาก และเกิดความไว้วางใจพยาบาลมากขึ้น แต่ในด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเราพบว่า ระดับความรู้ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของตัวผู้ป่วยเอง ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ป่วยที่ค่อนข้างมีความรู้ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมดี จะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดี

        ในด้านการขยายผล เมื่อทีมได้ดำเนินกิจกรรมในระดับปฐมภูมิแล้ว ทางทีมงานได้นำกลับมาทบทวนและเห็นว่า การทำกลุ่มบำบัดมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดี ผู้ป่วยมีความเอื้ออาทรต่อกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ซึ่งกันและกัน เราจึงได้ขยายผลลงสู่ชุมชนและขึ้นสู่ระดับตติยภูมิและสร้างเครือข่ายไปยัง ศบส. และตามกองบินต่างๆ โดยได้จัดตั้งทีม PCT DM ขึ้นเป็นศูนย์กลางในการพัฒนากระบวนการทำงานและวางแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

เล่าโดย: น.ต.หญิง ดวงกมล กุลอาจยุทธ

            โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมการแพทย์ทหารอากาศ กองบัญชาการสนับสนุนทหารอากาศ

                   

หมายเลขบันทึก: 11325เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2006 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท