เพลงพื้นบ้าน จากการปฏิบัติจริง 13 (เพลงแหล่)


เข้าใจผังคำกลอน ร้องต่อคำกับครู จนทำได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

เพลงพื้นบ้าน

จากการปฏิบัติจริง (13)

เพลงแหล่   ตอนที่ 3

วิธีฝึกหัดร้องแหล่ด้นสด   

                ในตอนที่แล้ว ผมได้เล่าถึงเพลงแหล่ที่น่าสนใจ ว่าน่าติดตามรับฟัง โดยเฉพาะคำขึ้นต้น และคำเอื้อนเอ่ยผสมผสานในการกร้องแต้ละวรรค แต่ละตอน  มีเสน่ห์ชวนให้ไหลหลง น่ารับฟัง  เสียงร้องเกริ่น เอื้อนเอ่ยขึ้นมาว่า โอ่ โอ๋...โอ โฮ โอ.. โอ่..โอ... เอ่อ เออ... เอิ้ง เงอ.. เอ่อ เอย... แล้วเริ่มเข้าเนื้อร้อง อย่าง เช่น น้องอิม-หทัยกาญจน์ เมืองมูล ลูกศิษย์เพลงแหล่ที่ผมฝึกให้ ก่อนที่เขาจะขึ้นเนื้อร้อง จะต้องมีเอื้อนเอ่ยขึ้นมาก่อนเสมอ ก็ไพเราะน่าฟังดี ครับ

            ในตอนที่ผมฝึกหัดร้องเพลงแหล่ มีเพียงพ่อคุณวัน  มีชนะ เป็นปราชญ์ชาวบ้านคนเดียว ที่ให้คำชี้แนะแก่ผม  ถึงแม้ว่าพ่อคุณของผม จะไม่มีความรู้เรื่องดนตรี (ท่านพอที่จะเล่นดนตรีไทยได้บ้าง) แต่ท่านก็สามารถให้คำแนะนำในเรื่องของ การออกเสียง บังคับเสียง หลบเสียง และการเอื้อน ส่วนพ่อคุณเอง ท่านจะร้องคำล้วน ๆ ไม่มีเอื้อนเอ่ย (อายุท่านมากแล้วตอนนั้น) พ่อคุณเป็นคนที่มีน้ำเสียงไพเราะ  ร้องขึ้นมาคนที่ได้ยินจะต้องเงี่ยหูฟัง เดินเข้ามาดูคนร้อง เสียงพ่อมีเสน่ห์ จึงทำให้มีคนเชิญไปในงานทำขวัญนาคจนวาระสุดท้ายของชีวิต

            ผมรับมรดกทางเพลงจากท่านมาหลายอย่าง รวมทั้งงานศิลปะอื่น ๆ เช่น งานวาดภาพ งานตัดกระดาษ  ฯลฯ  เมื่อมาถึงระยะหนึ่ง ผมจึงได้คิดที่จะถ่ายทอดเพลงเหล่านี้ไปยังคนรุ่นใหม่ที่เขามีหัวใจรักที่ฝึกหัด เพลงพื้นบ้านเอาไว้ติดตัวไป  ไดเรียนรู้  ได้ฝึกหัดปฏิบัติ ได้ออกไปรับใช้ผู้คน และสังคมในงานต่าง ๆ เมื่อเรามีความสามารถ และเป็นที่หมายตาของผู้ที่จะให้การอุปการะ ก็จะได้รับความกรุณาจากท่านเจ้าภาพ  ติดต่อไปเผยแพร่ผลงานในงานของท่านเอง  แต่กว่าที่จะถึงวันนั้น เบื้องหลังของความสำเร็จ มีมาก และยากที่จะบอกท่านได้ว่า ช้า หรือเร็วกว่าที่จะประสบผลสำเร็จได้อย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้ 

            ในบทความนี้  ผมขอนำเอาวิธีการเบื้องต้นในการนำไปสู่การฝึกหัดร้องเพลงแหล่  แบบด้นกลอนสด ที่ผมได้ใช้จริงกับ น้องอิม-หทัยกาญจน์  เมืองมูล จนเขามีชื่อเสียง  มีคนรู้จักอิมไปทั่วเมืองไทย ด้วยการประชันเพลงแหล่ ในรายการคุณพระช่วย  ทางช่อง 9  โมเดิร์นไนน์  ผมฝึกเองดูจะไม่ค่อยยาก  เพราะผมมีความหวังที่นำเอาไปใช้จะต้องทำให้ได้ แต่การที่เรานำเอาวิธีการของเราซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้ว  นำเอามาถ่ายทอดไปยังคนอีกคนที่ไม่ใช่ตัวเรา  ผมคงไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่า ในส่วนลึก ๆ ของหัวใจ เด็กเขาคิดอย่างไร  แต่คำพูดหลายประโยคที่ อิม พูดกับผม คือ

             -              หนูจะร้องได้หรือ อาจารย์  หนูร้องเพลงแหล่ไม่เป็น

             -              หนูจะเอาคำที่ไหนมาร้อง  หนูคิดไม่ออก  ร้องไม่ได้หรอกค่ะ

             -              หนูคงจะร้องล่มแน่ คิดไม่ทันหรอกค่ะ  และหนูก็ไม่ฉลาดด้วย

            ยังมีวาทะที่เผยออกมาอีกมากมาย  ผมได้แต่ปลอบใจว่า ศิลปะทุกแขนง  สามารถฝึกทักษะ ทำให้คนที่สนใจมีโอกาสพัฒนาความรู้ ความสามารถได้ จากนั้น ผมจึงเริ่มต้นเลย ครับ

           1.            ร้องเพลงแหล่ให้ อิม เขาฟัง  ผมร้องหลายเที่ยว โดยใช้เพลงของพระพร ภิรมย์

           2.            ผมร้องด้นกลอนสดเพลงแหล่ ด้วยกลอนแปด แบบแบ่ง  2 วรรค และกลอนแปดแบ่ง  3 วรรค ให้อิมฟัง

           3.            ผมจัดทำผังคำกลอนมาให้ อิม สังเกตคำที่สัมผัส ด้วยการบังคับสระตัวเดียวกัน

           4.            ทดลองให้เขาร้องตามเรา และร้องตามเนื้อเพลงในผังทั้ง 2 แบบ

           5.            ให้อิม เขาหาคำร้องขึ้นมาเองโดยครูขึ้นนำ อิมหาคำร้องมาต่อครู จนในที่สุดเขาทำได้

(ติดตามในตอนต่อไป วิธีฝึกหัดร้องแหล่ด้นสดกลอนหัวเดียว จากชำเลือง มณีวงษ์ / 2550)

 

 

หมายเลขบันทึก: 113237เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2007 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท