สามปีที่รอคอย


                 การรอคอยเป็นความอึดอัดที่หลายคนเคยประสบมาแล้ว รวมถึงตัวดิฉันเองด้วย แต่ถ้าการรอคอยที่มีความหวังมันจะแปรความอึดอัดเป็นแรงขับที่มีความหวังลึกๆ นี่ก็อีกหนึ่งบทเรียนที่ได้รับจากการทำงานที่ ยึดชาวบ้านเป็นหลัก              

   เมื่อปี 2547 ดิฉันได้รับผิดชอบโครงการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม(SAFE Project) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก DANIDA ด้านความรู้ทางวิชาการและงบประมาณ ในครั้งนั้นมีพื้นที่ดำเนินการหลายจุด แต่จุดหนึ่งเป็นพื้นที่ทางโครงการให้ความสนใจเป็นพิเศษเพราะว่าเป็นพื้นที่ต้นน้ำและมีสภาพป่าใกล้เมืองที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน คือพื้นที่ตำบลเรือง จึงได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย โดยนำชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ บ้านศรีนาป่านและตาแวน ตำบลเรือง ที่มีการปลูกเมี่ยง(ชาอัสสัม)ไปศึกษาดูงานที่ ดอยแม่สลอง เป้าหมายการศึกษาดูงานครั้งนั้น คือการตัดแต่งกิ่งต้นเมี่ยง พวกเราได้รับการอนุเคราะห์จากสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงรายที่จัดเจ้าหน้าที่ไปเป็นผู้นำทาง พาพวกเราพบกับ คุณจำเริญ  ชีวินเฉลิมโชติ ประธานบริษัทใบชาโชคจำเริญ ซึ่งในวันนั้นคุณจำเริญ ได้ให้ความรู้ในการผลิตชาและให้กำลังใจแก่นักวิจัยชุมชนว่าอย่าเพิ่งตัดต้นเมี่ยงทิ้งถ้ามีโอกาสจะลงไปช่วยในเรื่อง การเพิ่มมูลค่าจากเมี่ยงมาเป็นผลิตใบชา และจะช่วยดูเกี่ยวกับระบบการตลาดด้วย ดิฉันเองก็คิดว่าเป็นการให้กำลังใจเกษตรกรเท่านั้นเองและไม่คิดว่าคำพูดของคนที่ไม่เคยรู้จักจะเป็นจริง 

ทำไม เมี่ยงต้องเป็นชา เบื้องต้นที่ดิฉันได้เกริ่นนำว่าชาวตำบลเรืองมีอาชีพปลูกเมี่ยง(ชาอัสสัม) ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน จากประวัติศาสตร์ชุมชนพบว่าเมี่ยงได้นำมาปลูกในตำบลเรือง กว่า 400 ปีมาแล้ว แต่ระยะไม่กี่ปีมานี่ผู้ปลูกเมี่ยงประสบกับปัญหาต่างๆดังนี้

v   การเก็บเกี่ยวยากลำบากเพราะต้นเมี่ยงสูง 4-7 เมตร เนื่องจากไม่มีการตัดแต่งกิ่งตั้งแต่ปลูก จนกระทั่งเก็บเกี่ยว ไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่มีความรู้แต่ชาวบ้านไม่นิยมตัดแต่งกันเอง

v   แรงงานเก็บเมี่ยงนับวันยิ่งหายากเพราะถือว่าเป็นงานเสี่ยงที่จะต้องขึ้นต้นเมี่ยงเก็บและค่าแรงงานสูงขึ้นด้วย

v   คนรุ่นใหม่ไม่นิยมกินเมี่ยงเพราะเมี่ยงมีกลิ่นเฉพาะตัว ประกอบกับชาวบ้านนิยมส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือในตัวเมืองและต่างจังหวัด และไม่ได้กลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมๆอีกการเก็บเมี่ยงจึงเป็นภาระของพ่อแม่และคนแก่ๆที่อยู่บ้าน

v   การผลิตเมี่ยงมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่  การเก็บใบเมี่ยง ฮอมเมี่ยง(รวมเป็นมัด) นึ่งเมี่ยง หมักเมี่ยง ในแต่ละขั้นตอนต้องใช้แรงงานและเวลา นอกจากนี้ การนึ่งเมี่ยงต้องใช้ฟืนจำนวนมาก ซึ่งนับวันก็มีข้อกำจัดเข้าไปทุกที

v   ราคาผลผลิตเมี่ยงนั้นไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลาง

นี่คือเหตุผลที่ชาวบ้านอยากจะปรับเปลี่ยนการผลิตเมี่ยงมาเป็นการขายยอดชาแทน              

   จากวันนั้นจนถึงวันนี้ กว่าสามปี และแล้วความหวังที่เลือนลางก็เริ่มสว่างไสวอีกครั้ง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2550 นี่เอง คุณจำเริญ ชีวินเฉลิมโชติ บอกผ่านดิฉันให้นัดพบชาวบ้านผู้ปลูกเมี่ยงตำบลเรือง ว่าได้ตกลงใจจะเข้าจะมารับซื้อใบชา(ยอดเมี่ยง)ของจังหวัดน่าน โดยมีการนัดหารือระหว่างบริษัทฯกับเกษตรกร ในการซื้อขาย ซึ่งเบื้องต้นตกลงราคากันที่ กิโลกรัมละ 10 บาทและใบที่สาม-สี่จะซื้อในราคากิโลกรัมละ 4 บาท และจะเริ่มรับซื้อกันกลางเดือนกรกฎาคม 2550 นี้ นอกจากแหล่งปลูกเมี่ยงของตำบลเรืองแล้ว ในจังหวัดน่านยังมีแหล่งปลูกเมี่ยงแหล่งใหญ่อยู่ที่ ตำบลสกาด อำเภอปัว ขณะนี้ทางบริษัทฯก็ไปดูการผลิตและพร้อมที่จะรับซื้อยอดชา(ยอดเมี่ยง)จากชาวบ้านสกาดเหมือนกัน ในส่วนนี้มีคุณกิตติกุล มะโนราช ซึ่งเป็นนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรที่รับผิดชอบตำบลสกาด เป็นผู้ประสานงานอยู่  หลายท่านอาจจะสงสัยว่ามันเป็นหน้าที่อะไรของคุณถึงต้องทำงานลักษณะนี้ อันที่ก็มิใช่หน้าที่โดยตรงหรอกค่ะ แต่ดิฉันคิดว่าการเป็นข้าราชการนั้นเป้าหมายสุดท้ายคือความอยู่ดีกินดีของชาวบ้านใช่หรือไม่?ที่พูดนี้มิใช่พูดเพื่อให้ตัวเองดูดีแต่ดิฉันได้ทำอย่างนี้มาตลอดชีวิตตั้งแต่รับราชการมา บทเรียนที่เกิดจากการทำงานลักษณะนี้ทำให้ดิฉันเรียนรู้ว่า  

v   ความสำเร็จนั้นมิได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป แต่เต็มไปด้วยความอดทน แรงเสียดทานหลากหลายรูปแบบ

v   การที่จะทำให้คนอื่นที่ไม่มีความคุ้นเคยยอมรับและเชื่อถือ ความจริงจังจริงใจอาจจะไม่เพียงพอ ต้องแสดงความมุ่งมั่นให้เขาเห็นด้วย

v   ชาวบ้านเองต้องแสดงออกถึงความพยายามในการช่วยเหลือตัวเองให้ถึงที่สุดสักวัน ความเพียรพยายามนั้นจะปรากฏผลในเชิงบวก

v   การประสานงานหรือที่ใครๆชอบพูดว่าการบูรณาการ ถ้ามีพื้นฐานความสัมพันธ์ส่วนตัวแล้วจะทำให้อะไรๆง่ายไปหมด

v   ข้อมูลพื้นฐานเรื่องที่จะทำ เช่น พื้นที่การปลูกเมี่ยง ระดับความสูง จากระดับน้ำทะเล  วิถีชีวิตของชุมชนฯลฯ เป็นเรื่องสำคัญที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงธุรกิจ

v   การเรียนรู้เงื่อนไขทางธุรกิจเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าตัวเรา ต้องเข้าไปอยู่ตรงกลาง        ความเป็นธรรม ความเสมอภาค ต้องเป็นพันธสัญญาที่ต้องพูดคุยกัน ให้รู้เรื่อง ระยะทางพิสูจน์ม้ากาลเวลาจะพิสูจน์คน คำสุภาษิตบทนี้ยังใช้ได้ตลอดไปหรือไม่ ต้องเรียนรู้กันไปอีกนาน                                                                                    

               

หมายเลขบันทึก: 113095เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2007 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

              คุณชานนท์ พิมศิริ นักวิจัยชาวบ้าน

  • ผมมีแนวคิดที่จะทำวิจัยชุมชน เกี่ยวกับกระท่อม  แต่ติดอยู่ที่ข้อกฏหมาย ทั้งๆที่ ความจริงแล้ว ในภาคใต้ มีชาวบ้านบริโภคกันแพร่หลาย แต่ต้องหลบๆซ่อนๆ  จึงน่าจะศึกษา
  • ขอบคุณป้ายอม ที่นำมา ลป.ครับ

สวัสดีครับอ.พยอม  ดีใจอย่างสุดฯฯที่เปิดบล็อก ขอเป็นกำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท