การพิจารณาอยู่เนืองๆ


การพิจารณาอยู่เนืองๆ  

ความพยายามในการพิจารณา การเรียบเรียงความคิด. แม้เมื่อพยายามอยู่ ก็ไม่ได้ทำอย่างลวกๆแบบขอไปที ผิดๆพลาดๆมากๆ อย่างนั้นไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์.

ตัวปัญญา เกิดขึ้นจากอารมณ์    ความละเมียดละไม ละเอียดรอบคอบ จัดระเบียบความคิด จำแนกสุตตะที่ได้รับมาแล้วนั้นให้เป็นระเบียบ   เมื่อจัดเป็นระเบียบดีแล้ว จะหยิบจับขึ้นมาพูดถึง นำมาใช้ ก็ผูกร้อยเชื่อมโยงกันได้ ไม่ผิดพลาด หรือผิดพลาดน้อยๆ. ซึ่ง หากรีบร้อน ผลีผลามแล้ว นิสัยปัญญาก็ไม่เกิด

เปรียบเหมือนการจัดข้าวของในบ้านเรือนเราเอง หากกระทำรีบร้อน ทำแบบลวกๆ กวาดๆแบบขอไปที ซุกๆข้าวของไว้มุมนั้นมุมนี้ สักแต่ว่าให้มันพ้นสายตา ไม่ใช่ให้มันเป็นระเบียบ เพื่อให้หยิบจับใช้สอยได้ ถึงคราวจะใช้สอยสิ่งใด ก็ค้นหาไม่เจอ ทั้งที่ทำอาการเหมือนจัดระเบียบแล้ว แต่มันไม่เป็นระเบียบ มันก็ใช้ไม่ได้ ไม่เป็นประโยชน์ แม้ทำอยู่เป็นร้อยเป็นพันปี ก็ไม่เกิดประโยชน์.

การสะสมสุตตะมานั้น มันมีทั้งสุตตะที่ผิดพลาด ถูกตรง. มีทั้งสุตตะที่เป็นคุณ ทั้งสุตตะที่เป็นโทษ. เมื่อจะจัดระเบียบสุตตะ ก็ต้องได้พิจารณาสุตตะ คือ เรื่องที่เราฟังมา อ่านมานั้นๆล่ะ ว่า นี้เป็นความผิดพลาด หรือถูกตรง นี้เป็นคุณหรือโทษ. ขั้นนี้เรียกว่าเป็นจินตามยปัญญา. เทียบเคียงเอาด้วยเหตุด้วยผล.

เมื่อพิจารณาด้วยจินตาอยู่นั้นเอง   สุตตะที่คละเคล้าก็จะจำแนกออก เกิดความรู้ชัดว่า สุตตะไหนเป็นคุณในโอกาสไหน โทษในโอกาสไหน อันไหนผิดพลาดตรงไหน ถูกตรงตรงไหน สามารถจำแนกออกกล่าวได้หมด และกล่าวได้อย่างพลิกพริ้วยิ่งกว่าวิสัยแห่งสุตตมยปัญญา ซึ่ง มีวิสัยเพียงการทรงจำได้ว่า สูตรไหนอยู่ตรงไหนว่าอย่างไร แต่ไม่อาจจำแนกออกได้ด้วยวาทะของตนเอง.

เมื่อจำแนกออกไม่ได้ด้วยวาทะของตนเอง ไม่อาจทำสุตตะนั้นให้พิสดารได้โดยนัยอื่นๆ รู้เพียงนัยตามที่ปรากฏ ตามที่คนอื่นกล่าวมา การน้อมเข้าสู่ตนก็จะเป็นไปได้ยาก. เพราะอย่างนั้น สุตตะที่รับมาแล้ว พึงพิจารณาด้วยจินตะ เมื่อพิจารณาดีแล้ว มันจะซึมสิงเข้าไปในสายเลือด ในจิตวิญญาณ คือ ปรากฏว่าบันทึกไว้ในสัญญา เกิดเป็นสัญญาประเภทต่างๆ

หากเจริญให้มากยิ่งขึ้นในจินตะนั้นเอง กระทำเนืองๆ ก็จะเกิดเป็นสัญญา ซึ่งเป็นบาทเป็นฐานแห่งญาณทั้งปวง และเรียกได้ว่าเป็นขั้น ภาวนามยปัญญา เข้ารู้ได้กับของจริงๆ สติจดจ่อลงปัจจุบัน และพลิกผันรวดเร็วยิ่งไปกว่าวิสัยแห่งจินตะอีกมาก มันพลิกพลิ้วไปเป็นธรรมชาติ ไม่ติดไม่ขัดกับอะไร. มันแล่นรู้คู่เคียงกับธรรม เท่าทันกันไปๆ และจิตที่มีอาการอย่างนั้น ย่อมไม่ติดไม่ขัด จึงไม่เกิดอาการบีบคั้น

ความบีบคั้นคือทุกข์ จิตที่มีปัญญาถึงขั้นภาวนามยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีทุกข์แปะเปื้อน. ส่วนจิตที่มีปัญญาในขั้นจินตะอบรมนั้น ก็ยังมีที่ติดขัดอยู่บ้าง ในส่วนที่จินตะเข้าไปไม่ถึง แต่ก็มีวิสัยกว้างกว่าสุตตมยปัญญามาก.

การตอบที่ไม่รีบร้อน ไม่ผลีผลาม ก็คือการเจริญสุตตมยปัญญา โดยอาศัยสุตตะเป็นฐาน   อาศัยคู่สนทนามากระตุ้นจิตให้พิจารณา ทำเนื้อเรื่องให้ต่อเนื่องไป ทำให้เกิดการจัดระเบียบความคิด ความทรงจำ.

สัญญาต่างๆที่พระพุทธเจ้าสอน เป็นต้นว่า วิราคสัญญา นิโรธสัญญา อนิจจสัญญา อนัตตสัญญา ...เป็นต้น. เหล่านี้ เจริญขึ้นได้โดยอาศัยจินตะนำไปทั้งนั้น คือ จินตะบ่อยๆ นานๆเข้า มันก็กลับกลายไปเป็นภาวนา เมื่อมันปรากฏว่าเป็นสัญญาแล้ว มันก็หมุนของมันไปเอง.

ธรรมชาติของสัญญา พระพุทธเจ้าอุปมาว่า ดุจพยับแดด มันจะมืด มันจะสว่างอย่างไร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการบังคับควบคุมของเรา. สัญญามีอาการว่าอย่างไร มันก็หมุนไปตามสัญญานั้นๆ.

สัตว์ในโลกนี้ บางตัว เป็นผู้ยินดีในกาม หมกมุ่นในกาม ย่อมสะสมสุตตะเกี่ยวกับกาม และพิจารณา คิดคำนึงถึงแต่กาม จิตของเขาย่อมเกิดกามสัญญา และโคจรไปในกาม เรียกว่าจิตเป็นกามาวจร เป็นผู้ข้องอยู่เนืองๆด้วยกาม. เมื่อกามสัญญาพัดผันไป เขาย่อมไม่มีกำลังอำนาจที่จะต้านทานได้ และลักษณะการหมุนไปแห่งสัญญานั้นเอง ก็คือเรื่องของวิบาก. ลักษณะการหมุนไปแห่งสังขาร เป็นเรื่องของกรรม. ลักษณะการหมุนไปแห่งเวทนา เป็นเรื่องของการเสวยผลแห่งกรรม. ลักษณะการหมุนไปแห่งวิญญาณ เป็นเรื่องของการให้อาหารคือปัจจัยหล่อเลี้ยงการหมุนของสามจักรนั้น(คือ สังขาร สัญญา เวทนา ปรากฏว่าตั้งอยู่ได้ เพราะอาศัยมีวิญญาณเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงไว้).

อสุภสัญญา ก็เกิดจากอสุภสุตตะ สะสมสุตตะ ได้ยินได้ฟังคนอื่นเขาเล่ามา เขียนมาว่า การเจริญอสุภะพึงกระทำอย่างนั้นๆ ผลของอสุภะจะมีผลอย่างนั้นๆ เมื่อทรงจำได้ ก็นำมานึกถึง ก็เป็นการหมุนไปแห่งจินตะ. เมื่อจินตะในซากอสุภะยังปรากฏไม่หนาแน่น ก็ยังไม่เกิดอสุภสัญญาคือ หยุดจินตะเมื่อใด มันก็หายไปเมื่อนั้น แต่เมื่อจินตะมากพอ ถึงขีดถึงที่แล้ว ปรากฏเป็นอสุภสัญญา แม้ไม่ใช้ความพยายามในการจินตนาการว่า ซากสัตว์เบื้องหน้า หรือคนเบื้องหน้าเป็นอสุภะ มันก็จะหมุนไปเอง แค่มองเห็นคนหรือสัตว์ มันก็ปรากฏว่าสิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้านั้น เป็นร่างกระดูกบ้าง เป็นซากขึ้นอืดบ้าง แขนขาขาดเป็นท่อนๆ เลือดไหลโทรมบ้าง. ทั้งหมดนั้น ก็ปรากฏเพราะอาศัยการจินตะ คือการนึกถึง. เมื่อปรากฏเป็นสัญญาแล้ว ก็เรียกได้ว่า มันเป็นภาวนาไปแล้ว มันอบรมกันเองด้วยธรรม เราไม่ต้องได้พยายามมากแล้วตอนนั้น.

เมื่อพิจารณาสิ่งทั้งปวง ญาณทั้งปวง ก็จะเห็นมันปรากฏโดยความที่มันมีสัญญาเป็นบาทเป็นฐาน และเห็นความเกี่ยวพัน ความปรากฏแห่งสัญญาต่างๆว่า อาศัยสุตตะ จินตะอบรมแล้ว จึงเกิดเป็นสัญญา และเมื่อปรากฏเป็นสัญญาแล้ว ไม่ต้องอาศัยความพยายามใดๆ มันหมุนไปเองตามสิ่งที่เข้ามากระตุ้น เรียกว่า มันเป็นอัตโนมัติ เป็นไปเองของมัน.

สัญญาเกิดจากไหน?   ก็จินตะเนืองๆไง เพราะอย่างนั้น หัวใจสำคัญของการทำให้ญาณต่างๆปรากฏก็คือ คำว่า เนืองๆ. ไอ้เรื่องรู้ด้วยสุตตะนั้น คนมากมายรู้ เรื่องที่สามารถจินตะนั้น คนทั่วไปก็สามารถ แต่ผลที่ปรากฏเป็นที่พึ่งอาศัยแก่ตนเองนั้น ไม่ปรากฏแก่คนทั่วไป ปรากฏแก่คนที่ทำมันเนืองๆเท่านั้น ซึ่ง คนที่ทำมันเนืองๆนั้น หาได้ยากกว่ายาก.

ความเก่งไม่เก่ง ก็คือการทำเนืองๆหรือไม่ทำเนืองๆนั่นเอง. ใครอบรมตนด้วยจินตะในสิ่งใดเนืองๆ ก็ย่อมจะคล่องแคล่วในสิ่งนั้น เรียกว่า เก่งในสิ่งนั้น กว้างขวางในสิ่งนั้น เป็นใหญ่ในสิ่งนั้น รู้ทั่วถึงสิ่งนั้น มีปัญญาในสิ่งนั้น.

ในการพิจารณาเมื่อเห็นว่ามันง่ายแล้ว ก็ขออย่าได้ประมาท เพราะความประมาทนั้นล่ะ ที่เป็นตัวตัดคำว่าเนืองๆออกจากบุคคล และทำบุคคลนั้นให้เสื่อมเสียจากประโยชน์ที่ตนได้ยินได้ฟังแล้ว.

พระพุทธเจ้า ก่อนปรินิพพาน จึงได้ตรัสเรื่อง การยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม. เพราะโดยหลักการแห่งธรรมแล้ว ไม่มีอะไรยาก เป็นเรื่องพื้นๆง่ายๆทั้งนั้น แต่สิ่งที่ยากก็เพราะความประมาทมาตัด จากง่ายก็กลายยากไป.

--------------------------------

หมายเลขบันทึก: 112531เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2007 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 06:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท