เรื่องเล่าจากออสเตรเลีย (31.12)


แม่น้ำสองสายในระบบบริการสาธารณสุขไทย ที่ยังไม่สามารถรวมกันได้

            ในระดับประเทศ ก็เกิดมีแม่น้ำสองสายคู่ขนานขึ้นมาใหม่หลังจากการเกิดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคคือกระทรวงสาธารณสุข(สธ) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช)ซึ่งดูเหมือนจะพยายามชิงบทบาทการนำกันอยู่ ในบางช่วงจึงมีการขัดแย้งกันให้เห็นชัดในระดับผู้บริหารสูงสุด ทำให้การทำงานเป็นไปได้ไม่ราบรื่น กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดบริการ ควบคุมดูแลหน่วยงานในสังกัดมานานพร้อมด้วยการจัดสรรทรัพยากรและเงินงบประมาณ แต่พอเกิด สปสช.ขึ้นการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรหลายอย่างเปลี่ยนไปอยู่ในมือ สปสช. ต่างก็มีการพยายามออกกฎเกณฑ์ในเรื่องเดียวกันแต่ไปคนละทาง ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความอึกอัด อย่างง่ายๆแค่การขึ้นป้ายที่ สปสช.สั่งให้ขึ้น แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ให้ขึ้นเพราะเป็นการสั่งตรงไปยังหน่วยบริการในสังกัดโดยไม่ขอความร่วมมือให้กระทรวงสั่งเอง เป็นต้น และยิ่งมาปีหลังๆ ทาง สปสช.เองก็พยายามมาแสดงบทบาทการจัดบริการ การควบคุมคุณภาพสถานบริการ การนำเงินบางส่วนไปใช้ฉุกเฉิน มีการกันเงินไว้ที่ สปสช.จำนวนมากเพื่อจัดทำโครงการที่ สปสช.เห็นว่าสำคัญ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขเหมือนถูกแย่งภารกิจบางส่วนไป ซึ่งตรงนี้น่าจะมาพูดกันให้ชัด เจตนารมณ์กฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องการแยกระหว่างผู้ให้บริการ (Provider) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดหลัก กับผู้ซื้อบริการ (Purchaser) ซึ่ง สปสช.ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่นี้ การพยายามออกนอกแนวทางไปทำบทบาทคนอื่นจึงเกิดการเหยียบตาปลากันแล้วสร้างความไม่พอใจกันได้ง่าย

             ในเรื่องของคุณภาพบริการก็มีสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (สรส) ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กับสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ) ซึ่งเป็นองค์กรอสระในกำกับของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งอยู่ในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข ต่างก็ทำหน้าที่ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพสถานบริการเหมือนกัน แต่ก็มีแนวคิดที่แตกต่างกัน โดย พรพ. และประเมินตามาตรฐาน HA (Hospital Accreditation) ที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาอยู่แล้ว แต่ สรส. ก็ไปสร้างมาตรฐานบริการสาธารณสุขขึ้นมาใหม่ โดยไปเชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านQAและTQMมาช่วยวางระบบและพยายามที่จะให้โรงพยาบาลเข้าร่วม โดยจัดขึ้นเป็นระบบที่เรียกว่า HNQA (Hospital Network Quality Audit) ทำให้การรับรองคุณภาพเกิดความซ้ำซ้อนไปอีก หลายโรงพยาบาลก็สับสนว่าจะเอายังไงกันแน่ กระทรวงจะใช้มาตรฐานไหน   นอกจากนี้ยังมีข่าวมาอีกว่า ทาง สปสช.ที่เคยสนับสนุนงบประมาณให้ พรพ.ก็จะดึงงบประมาณกลับมาทำเรื่องมาตรฐานบริการเองอีกเพื่อจะให้เข้ากับเรื่องเวชศาสตร์ครอบครัวและPUCที่ทาง สปสช.พยายามผลักดัน ต่อไปถ้าเป็นแบบนี้ก็คงจะไม่ใช่แม่น้ำสองสายแล้ว คงเป็นสามสายไป แต่ถ้าเป็นสองสายหรือสามสายแบบซอ ที่มีคนเล่นเป็นมาบริหารจัดการก็อาจทำให้ได้ทำนองบรรเลงที่ไพเราะและเกิดประโยชน์ก็ได้

            ในระดับโรงพยาบาลชุมชนเอง ก็มีชมรมแพทย์ชนบท ที่มีวิวัฒนาการเพื่อชาวชนบทมานาน เป็นที่ยอมรับของสังคม แต่ในระยะหลังก็หลุดไปทำเรื่องทางสังคมมากเกินไป จนขาดการดูแลเรื่องสิทธิ ผลประโยชน์ของแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ทำให้เกิดการรวมตัวกันของผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนกลุ่มหนึ่งจัดตั้งเป็นชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทยขึ้น แต่ทั้งสองชมรมนี้ก็ทำเพื่อคนกลุ่มเดียวกัน แต่ก็ไม่สามารถประสานงานกันได้ ต่างก็พยายามแย่งชิงบทบาทการนำกันขึ้น การสร้างพลังร่วมกันจึงยังไม่เกิดขึ้น เพราะต่างก็มองว่าอีกฝ่ายจะเข้ามาแย่งบทบาทของตนเอง

หมายเลขบันทึก: 11226เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2006 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท