พัฒนาคุณอำนวย


วางธงใหญ่ ย่อยเป็นธงเล็ก

            จากการที่ได้มีโอกาสไปอบรมนักวิจัยของโครงการ “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงิน” ในวันที่ 24-25 ธันวาคม  2548  ที่ รร.ราชภัฎสวนดุสิต   ในวันนั้นมีการพูดคุยกันหลายประเด็น  ซึ่งประเด็นหนึ่งก็คือ  การทำงานในช่วง 6 เดือนต่อไป  ผู้วิจัยยอมรับว่าในตอนแรกนั้นหนักใจมาก  เพราะ  รู้สึกว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา  ถ้าพิจารณากันตามเป้าหมายแล้ว  รู้สึกว่าทีมของเรายังทำงานได้ห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้มากพอสมควร  แต่เมื่อได้รับคำแนะนำ  ประกอบกับแผนภาพที่อาจารย์ตุ้มได้เคยวาดเอาไว้  ทำให้ผู้วิจัยเกิด “ปิ๊งแว๊บ” ขึ้นมาว่าตอนนี้ที่ผู้วิจัยรู้สึกสับสน  ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหนก่อนนั้น  คงเป็นเพราะผู้วิจัยใจร้อนจนเกินไป  ประกอบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นค่อนข้างเป็นเป้าหมายใหญ่  ตัวชี้วัดก็พลอยใหญ่ตามไปด้วย  รวมทั้งผู้วิจัยยังมีความกังวลค่อนข้างมากว่าถ้าหากเอาอะไรสักอย่างหนึ่ง  หรือหลายๆอย่างใส่เข้าไปให้กับเครือข่ายฯตอนนี้เกรงว่าจะไม่ได้ผล  เพราะ  ภายในเครือข่ายฯยังมีอะไรไม่ลงตัวอยู่พอสมควร
            แต่ถ้าหากลองทำตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิ  รวมทั้งผู้ประสานงาน  และที่ปรึกษาโครงการคงจะพอเห็นแนวทางการทำงานที่ชัดขึ้น  คำแนะนำที่ผู้วิจัยเห็นด้วยเป็นอย่างมากก็คือ  ในการที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น  ระหว่างทางที่ก้าวเดินไปเราควรทำธงย่อยๆขึ้นมา  ธงย่อยเหล่านี้นี่แหละค่ะที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายใหญ่
            ทีนี้  ลองมาพิจารณาเป้าหมายใหญ่ข้อแรกของโครงการวิจัยวิจัยการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปางก่อนก็แล้วกันนะคะ  เป้าหมายนั้นก็คือ  การสร้างคุณกิจและคุณอำนวยในระดับเครือข่ายฯ  และระดับกลุ่ม  (โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 5 กลุ่ม) 
            วันนี้จะขอกล่าวถึงในส่วนของคุณอำนวยก่อนก็แล้วกันนะคะ  ความจริงแล้วทีมของเราเคยคุยกันเรื่องนี้มาก่อนสักพักใหญ่แล้วค่ะว่าจะจัด “หลักสูตรคุณอำนวย” ขึ้นมา  โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน  2548  เป็นต้นไป  ตอนนั้นทีมของเราใจร้อนอยากจัดให้เสร็จเป็นคอร์สๆไป  โดยจะเชิญนักวิชาการจาก สคส. มาร่วมด้วย  แต่เพราะเราติดงานใหญ่ที่ยังแก้ไขไม่ได้ลุล่วงอย่างที่ใจตั้งไว้ก็คือ  ในเรื่องการบริหารจัดการ   “หลักสูตรคุณอำนวย”  จึงถูกพับไป
            เมื่อเริ่มต้นศักราชใหม่  ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีและสมควรแก่เวลาแล้วที่เราจะต้องพัฒนาคุณอำนวยขึ้นมาอย่างจริงจัง  ผู้วิจัยยอมรับว่ามีกำลังใจมากขึ้นจากการที่ได้พูดคุยกับทีมสงขลาที่เริ่มไปก่อนหน้าเรานานแล้ว  จากการพูดคุยกันนอกจากจะทำให้ผู้วิจัยมีกำลังใจมากขึ้นแล้ว  ยังพอที่จะเห็นแนวทางมากขึ้นด้วย
            เบื้องต้น  ผู้วิจัยตั้งใจไว้ว่าจะใช้เวลาประมาณไม่เกิน 3 ชั่วโมงในช่วงบ่ายของวันที่มีการประชุมเครือข่ายฯในทุกเดือน  ในการจัดหลักสูตรนี้  (คงต้องใจเย็นมากขึ้นกว่าเดิมค่ะ)  ดังนั้น  ในระยะเวลาต่อจากนี้ไปผู้วิจัยคงต้องแบ่งเวลาในการหาความรู้ในเรื่องการพัฒนาคุณอำนวยให้มากขึ้น
            ว่าแล้วก็อย่าให้เสียเวลาเลยค่ะ  ในช่วงที่มีวันหยุดหลายวันแบบนี้  ผู้วิจัยก็ได้ไปพยายามขุดคุ้ยหาหนังสือ  เอกสารต่างๆ  เกี่ยวกับการพัฒนาคุณอำนวยมาอ่านค่ะ  ซึ่งโชคก็เข้าข้างผู้วิจัยมาก  เพราะ  ผู้วิจัยได้ค้นพบเอกสารชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นเอกสารประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง  “วิทยากรกระบวนการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้” จัดขึ้นในวันที่ 14-15 พฤษภาคม  2548  ณ  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร  สนับสนุนโดย  สถาบันการส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)  , มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร , สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร  (ขอสารภาพค่ะว่าเสียดายมากที่ผู้วิจัยมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเพียงครึ่งวันแรกเท่านั้น  ถ้าได้อยู่ร่วมตลอดคงจะดีมากค่ะ)  สำหรับวัตถุประสงค์ของการอบรมในครั้งนี้  คือ
            1.เรียนรู้แนวคิด  และเครื่องมือการจัดการความรู้
            2.เรียนรู้บทบาท/หน้าที่ของคุณอำนวย
            3.ติด “อาวุธ” ให้กับคุณอำนวยเพื่อนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
            จากการศึกษาเอกสารทำให้ผู้วิจัยได้รับความรู้มากมาย  แต่จะขอตัดตอนพูดถึงเฉพาะในส่วนของ “คุณอำนวย” ก็แล้วกันนะคะ


            บทบาทของคุณอำนวยในชุมชน
            1.ร่วมกับทีมงานบริหารโครงการในการ
                        - วางแผนการจัดการความรู้
                        - ปฏิบัติกิจกรรม KM
                        - ประเมิน KM
            2.จัดตลาดนัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้
            3.จัดกิจกรรม  เช่น  Peer Assist , AAR , CoP
            4.อำนวยความสะดวกให้กับคุณกิจในการจัดทำกิจกรรม KM
            5.เชื่อมโยง KM
            6.เชื่อมโยง/คัดเลือกคุณกิจเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
            7.รวบรวม  จัดเก็บ  คัดเลือก  Knowledge Assets
            8.วิทยากร – กระบวนการด้านการจัดการความรู้


            การพัฒนาศักยภาพคุณอำนวย
            1.ทักษะ (Skill)
            2.ความรู้ (Knowledge)
            3.ทัศนคติ (Attitude)


            จากเอกสารใน 2 หัวข้อนี้  ผู้วิจัยลองเอามานั่งคิด (เล่นๆ) แบบเร็วๆ นะคะว่า  ในส่วนของทักษะนั้น  คุณอำนวยควรมีทักษะอะไรบ้าง?
            1.การสื่อสารเพื่อสร้างสัมพันธภาพ
            2.การเชื่อมประสาน/เชื่อมโยง
            3.การตั้งคำถาม
            4.การจูงใจ
            5.การคัดเลือกคุณกิจ
            6.การสังเกต/การสื่อสาร
            7.การฟัง
            8.การจัดการปัญหาเฉพาะกลุ่ม
            9.การเล่าเรื่อง
            10.การจดบันทึก/สรุปประเด็นเพื่อสร้างคลังความรู้
                                                              ฯลฯ


            สำหรับในส่วนของความรู้นั้น  คุณอำนวยต้องมีความรู้อะไรบ้าง?
            1.ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการของกลุ่ม  (โครงสร้าง+บทบาทหน้าที่)
            2.ความรู้ในเรื่องการให้สวัสดิการ  (การมอบสวัสดิการตั้งแต่เกิดคนตาย)
            3.ความรู้ในเรื่องกติกาต่างๆ
                                                              ฯลฯ


            ส่วนเรื่องของทัศนคตินั้น  คุณอำนวยควรมีทัศนคติอะไรบ้าง?
          1.มองโลกในแง่ดี  เช่น  มองคนให้เป็นคน , มองคนแล้วเห็นศักยภาพในตัวคนคนนั้น    เป็นต้น
            2.มองและเปลี่ยน “วิกฤติ” ให้เป็น “โอกาส”
            3.รับฟังและให้โอกาสคนอื่นในการแสดงความคิดและความสามารถ
                                                              ฯลฯ


            หมายเหตุ : ถ้าบังเอิญมีใครได้เข้ามาอ่านก็เสนอแนะเพิ่มเติมได้นะคะ  จะขอบคุณมากค่ะ  เพราะ  ที่เขียนๆมานั่งคิดคนเดียวแบบเร็วๆ  (คิดไปพิมพ์ไป)   คงจะมีผิดบ้าง  ถูกบ้าง  ไม่ครบถ้วนไปบ้าง  


            ดังนั้น  ผู้วิจัยจึงนั่งคิดเล่นๆต่อไปอีกนิดหนึ่งนะคะว่าน่าจะเอาข้อมูลในส่วนของการพัฒนาศักยภาพคุณอำนวยมาเป็นโจทย์ตั้งเอาไว้ว่าในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งนั้น  ควรที่จะ MIX ทั้ง 3 ส่วนนี้เข้าด้วยกัน  โดยใช้กิจกรรมต่างๆ  เช่น  เกมส์  เป็นต้น  มาเป็นสิ่งที่จะถ่ายทอดให้กับคุณอำนวย  (ถ้ามีความคิดเห็นเพิ่มเติมก็แนะนำได้ค่ะ)  ผู้วิจัยจะลองเอาความคิดนี้ไปปรึกษากับทีมวิจัยดูนะคะ  (คิดว่าในส่วนนี้คงเป็นธงใหญ่  ส่วนธงย่อยก็คือ  กิจกรรมในแต่ละครั้ง  ซึ่งในช่วงแรกทีมวิจัยคงเป็นผู้แสดงบทบาทหลัก  หลังจากนั้นจะโยนไปให้ “คุณอำนวย” ลองฝึกตนเองขึ้นมาบ้างค่ะ)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11201เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2006 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ปิ้งแว๊บของอ.อ้อมช่วยที่อื่นได้มากทีเดียว โครงการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐเพื่อลงไปพัฒนากลุ่มการเงิน3ตำบลที่นครศรีธรรมราชสรุปทิศทางการทำงานว่าจะลงไปสร้างคุณอำนวยของเครือข่ายขึ้นมาเช่นกัน เนื้อหาที่อ.อ้อมคิดไว้จะนำเข้าหารือในหมู่คุณอำนวยที่รับผิดชอบของแต่ละตำบล ซึ่งที่เราร่วมหารือกันก็มีอยู่บ้างแล้วครับ
เราจะสรุปเนื้อหากันในวันที่18ม.ค.นี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท