ขอลองสักตั้ง เรื่องพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์


สิ่งใดสิ่งหนึ่ง "จริง" เพราะไม่มีหลักฐานรอบๆ มันแสดงความขัดแย้งกับข้อพิสูจน์ แต่เมื่อใดเริ่มมีหลักฐานที่ขัดแย้งกับข้อพิสูจน์ที่มีเหตุผลพอ "ความจริง" ก็เปลี่ยน

ได้อ่านหนังสือ ของคุณหมอสม สุจีราแล้วก็เกิดแรงดลใจแบบทันตแพทย์+พุทธศาสนา+วิทยาศาสตร์ เลยอยากของเขียนเรื่องพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ในมุมมองของตัวเองดูสักตั้งครับ

อันที่จริงจะว่าเป็นมุมมองของผมเองทั้งหมดก็ไม่ถูกครับ ได้รับวิธีคิดในการมองมาจากหนังสือรวบบทความของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่องไฮเทคคาถาปาฏิหารย์ พิมพ์โดยมติชน

เริ่มเรื่องที่จุดร่วมของทั้งพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ก่อนครับ

พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์มีจุดที่คล้ายกันคือ ทั้งสองพูดถึงเรื่อง "ความจริง" ในธรรมชาติ

เป็นความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้

ณ กาลครั้งหนึ่งเมื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ก้าวหน้า "องค์กร" ศาสนามี "อำนาจ"ในการอธิบายความจริง แถมยังเป็นองค์กรที่ฟูมฟักและเป็นแรงผลักดันหรือแรงกดดันให้แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เติบโตด้วยซ้ำ

อาจกล่าวได้ว่า ณ จุดๆหนึ่งในอดีต ศาสนากับวิทยาศาสตร์อยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน

พอวิทยาศาสตร์ผลิตสิ่งที่เรียกว่า "เทคโนโลยี" ออกมา วิทยาศาสตร์ก็เลยมีอำนาจในการอธิบายความจริงหรือปรากฎการณ์เป็นของตัวเอง แถมอำนาจนั้นสามารถดลบันดาลให้ผลได้ทันตาเห็น

วิทยาศาสตร์จึงแยกตัวออกมาเป็นเอกเทศจากศาสนาได้อย่างสมบูรณ์

และยึดเอาอำนาจในการอธิบายความจริงทั้งหมดมาไว้อีกต่างหาก

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าทั้งวิทยาศาสตร์ และศาสนาต่างเสนอวิธีในการเข้าถึงความจริงในธรรมชาติ

แต่วิธีในการเข้าถึงความจริงในธรรมชาติของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์นั้นแตกต่างกัน

ในวิทยาศาสตร์ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง "จริง" เพราะไม่มีหลักฐานรอบๆ มันแสดงความขัดแย้งกับข้อพิสูจน์ แต่เมื่อใดเริ่มมีหลักฐานที่ขัดแย้งกับข้อพิสูจน์ที่มีเหตุผลพอ "ความจริง" ก็เปลี่ยน

วิทยาศาสตร์จึงพัฒนาจาก "การท้าทายให้โต้แย้งความจริง" และมีความจริงใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ

ความจริงในทางวิทยาศาสตร์ จึงเป็นความจริงเชิงสัมพัทธ์ที่สามารถใช้กระบวนการทางเหตุผลในการเข้าถึง เป็นความจริงที่คงอยู่จนกระทั่งมีข้อพิสูจน์ใหม่มาโต้แย้ง และพัฒนาไปสู่ความจริงชุดใหม่

ความจริงในพุทธศาสนานั้นเป็นจริงเสมอ เป็นความจริงสัมบูรณ์ และท้าทายให้พิสูจน์

ประโยคข้างบนนี้กล่าวบนฐานที่นิยาม พุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาที่พูดถึงแต่เรื่องความทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น

ในแง่การพิสูจน์ได้ เราจึงสามารถพิสูจน์เรื่องทุกข์และการดับทุกข์ได้จริงอย่างสัมบูรณ์ในคำสอนของพระพุทธศาสนา

พุทธศาสนาเสนอการเข้าถึงความจริงชุดนี้ด้วยกระบวนการทางปัญญา "เห็นแจ้ง" ว่าทุกข์เป็นอย่างไร และความดับทุกข์เป็นอย่างไร

แก่นเรื่องความจริงของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์จึงต่างกันด้วยประการฉะนี้ครับ

เพราะมัน "พิสูจน์" และมีวิถีทางกันคนละเรื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียดที่แต่ละฝ่ายพยายามอธิบายปรากฎการณ์ธรรมชาติอื่นๆ ครับ

พุทธศาสนา ก็มีหลักเรื่องกรรม ที่ใช้อธิบายความจริงชุดหนึ่ง

วิทยาศาสตร์อธิบายเรื่อง กรรมพันธุ์ เรื่องยีน ดีเอ็นเอ ที่ใช้อธิบายปรากฎการณ์ "ความจริง" ชุดหนึ่ง

หรือแม้แต่จะใช้ทฤษฎีควอนตัมมาอธิบายสนับสนุนปรากฎการณ์ที่อธิบายได้ด้วยหลักอนัตตา

ก็ล้วนแต่เป็นความพยายามอธิบายปรากฎการณ์ของแต่ละฝ่ายครับ

เผอิญมันเข้ากันได้ ก็ดีใจว่าศาสนาพุทธของเราเป็นวิทยาศาสตร์

ซึ่งก็ดีในแง่ที่จะทำให้คนสนใจวิทยาศาสตร์มาสนใจศาสนา

แต่ผมคิดว่า ศาสนาก็คือศาสนา วิทยาศาสตร์ก็คือวิทยาศาสตร์ ทั้งสองอยู่บนฐานที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด การเทียบดีเอ็นเอ กับหลักกรรม จึงเป็นการเอาส่วนที่เป็นส่วนประกอบ ของสองสิ่งที่มีแก่นต่างกันมาเทียบกัน

แกล้งเขียนแบบชวนทะเลาะนะครับ

จริงๆ แล้วดีใจครับที่มีหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาออกมาเยอะแยะในหลายมุมมองผู้เขียนหลายๆ คนให้เราได้อ่าน กระตุ้นให้เราได้คิดกันครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #พุทธ
หมายเลขบันทึก: 111979เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท