งานวิจัยการใช้ ICT พัฒนาสื่อการเรียนการสอน


ท่านสามารถพัฒนาการใช้ ICTเพื่อการเรียนการสอนได้
รายงานการวิจัยการดำเนินงานของโรงเรียนต้นแบบ  ICT  เพื่อการเรียนรู้  ปีการศึกษา  2548  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ เขต 1  ได้มุ่งศึกษาสภาพการดำเนินงานการใช้  ICT  เพื่อการบริหารจัดการของผู้บริหารสถานศึกษา  ความคิดเห็นของครูผู้สอนที่มีต่อรูปแบบและเอกสารประกอบการอบรมการพัฒนาทักษะคอมพิวเตอร์ ของครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  นอกจากนี้ยังศึกษาความคิดเห็นของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการใช้  ICT  เพื่อการเรียนการสอน  โดยมีวัตถุประสงค์ในการวิจัยดังนี้ วัตถุประสงค์ของการวิจัย                    1. เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานการใช้  ICT  เพื่อการบริหารจัดการของผู้บริหารสถานศึกษา และความคิดเห็นที่มีต่อเอกสารประกอบการอบรมพัฒนาทักษะการใช้  ICT  เพื่อการเรียนการสอน  ของครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  ในโรงเรียนต้นแบบ  ICT  เพื่อการเรียนรู้  ปีการศึกษา  2548  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ เขต 1                    2.  เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  ที่มีต่อการใช้  ICT  เพื่อการเรียนการสอน ของครูผู้สอนคอมพิวเตอร์ และครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ในโรงเรียนต้นแบบ  ICT  เพื่อการเรียนรู้  ปีการศึกษา  2548  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ เขต 1
สรุปผลการวิจัย
1.      ผลการดำเนินงานการใช้  ICT  เพื่อการบริหารจัดการของผู้บริหารสถานศึกษา ในโรงเรียนต้นแบบ  ICT  เพื่อการเรียนรู้  ปีการศึกษา  2548  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแพร่  เขต 1   อยู่ในระดับการปฏิบัติมาก ค่าเฉลี่ย  3.42  เป็นไปตามเกณฑ์ที่พึงพอใจกำหนดไว้                       สำหรับโรงเรียนที่มีโปรแกรมการบริหารงานด้วยระบบ  ICT   มีจำนวน 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนสองพิทยาคม และโรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ ได้แก่โปรแกรม IT School , Linux TLE  และ PHP, Linux Windows  นอกนั้นใช้โปรแกรมพื้นฐานที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ เขต 1  กำหนดให้                     2.  ความคิดเห็นที่มีต่อเอกสารประกอบการอบรมพัฒนาทักษะการใช้  ICT  เพื่อการเรียนการสอน ของครูผู้สอนคอมพิวเตอร์และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี   อยู่ในระดับการปฏิบัติมาก  6 ด้าน  ค่าเฉลี่ยระหว่าง  3.43 3.84  เป็นไปตามเกณฑ์ที่พึงพอใจกำหนดไว้  และอยู่ในระดับการปฏิบัติปานกลาง  1  ด้าน  ค่าเฉลี่ย  3.27  สำหรับการนำโปรแกรมที่ผ่านการอบรมแล้ว ไปใช้จัดการเรียนการสอนและในการผลิตสื่อการสอนนั้น ปรากฎว่  ครูผู้สอนาสามารถผลิตได้จำนวน  25  เรื่อง  ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่แต่ละคนทำการสอนอยู่                    3. ความคิดเห็นของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  ที่มีต่อการใช้  ICT  เพื่อการเรียนการสอน ของครูผู้สอนคอมพิวเตอร์ และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  อยู่ในระดับการปฏิบัติมาก  ค่าเฉลี่ย  3.93  เป็นไปตามเกณฑ์ที่พึงพอใจกำหนดไว้                    4. ความคิดเห็นของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  ที่มีต่อการใช้  ICT   เพื่อการเรียนการสอน ของครูผู้สอนคอมพิวเตอร์ และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ  และเทคโนโลยี  อยู่ในระดับการปฏิบัติมาก  ค่าเฉลี่ย  3.70   เป็นไปตามเกณฑ์ที่พึงพอใจกำหนดไว้                     5. ความคิดเห็นของนักเรียนทั้ง 2 ระดับชั้น ที่มีต่อการใช้ ICT  เพื่อการเรียนการสอนของครูผู้สอน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  อยู่ในระดับการปฏิบัติมากเช่นเดียวกัน  ค่าเฉลี่ย  3.85  เป็นไปตามเกณฑ์ที่พึงพอใจกำหนดไว้                    สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติมของนักเรียนเกี่ยวกับการผลิตและใช้สื่อเพื่อการเรียนการสอนของครูผู้สอนนั้น  อยู่ในระดับดีร้อยละ  65  และดีมากร้อยละ 35  ของนักเรียนที่แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมทั้ง  2 ระดับชั้น อภิปรายผล                    1.  การที่ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถดำเนินการบริหารจัดการด้วยระบบ  ICT  อยู่ในระดับการปฏิบัติมาก เมื่อเทียบกับผลการประเมินตนเองในปีการศึกษา  2547มีผลการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้น  ทั้งนี้เพราะว่าการกำหนดนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด มีส่วนส่งเสริมให้โรงเรียนในสังกัดทุกโรง  ได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ  เพื่อสร้างความโปร่งใส เป็นธรรมและสามารถตรวจสอบได้ จากผู้รับบริการทางการศึกษาหรือจากผู้มีส่วนได้เสียจากการรับบริการทางการศึกษาของโรงเรียน และผู้บริหารสถานศึกษาได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน  นอกจากนี้ครูผู้สอนที่รับผิดชอบด้าน  ICT   ของโรงเรียน ได้พยายามผลักดันให้มีโครงการพัฒนาด้าน  ICT  ของโรงเรียน โดยร่วมกับกลุ่มงานส่งเสริม พัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ เขต 1 โดยการจัดอบรมพัฒนาทักษะด้านการใช้  ICT  เพื่อการเรียนการสอนแก่ครูผู้สอนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุดของโครงการโรงเรียนต้นแบบด้าน  ICT  เพื่อการเรียนรู้  ในการด้านการบริหารงานจัดการ คือ ทุกโรงเรียนต้องจัดหาและใช้โปรแกรมการบริหารจัดการด้วยระบบ  ICT  โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ เขต 1  ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง                      ซึ่งผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า  ผู้บริหารสถานศึกษาส่วนใหญ่มีทักษะด้านการใช้คอมพิวเตอร์ อยู่ในระดับเบื้องต้นและปานกลางเป็นส่วนใหญ่  ดังนั้นถ้าผู้บริหารสถานศึกษาไม่เห็นความสำคัญในการใช้ระบบ  ICT  เพื่อการบริหารจัดการจะประสบความสำเร็จยากยิ่งขึ้น  และยังพบว่า  รายการประเมินที่โรงเรียนยังไม่สามารถปฏิบัติได้เป็นลำดับต้น ๆ มากที่สุด   คือ การจัดหาซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์สำหรับใช้งาน ทั้งนี้เพราะว่าซอฟต์แวร์แต่ละชิ้นมีราคาสูง โรงเรียนไม่มีงบประมาณที่จะดำเนินการได้  ประกอบกับระเบียบว่าด้วยการเงินและพัสดุยังเปิดโอกาสให้โรงเรียนปฏิบัติได้ ทางออกที่เหมาะสมคือให้หน่วยงานต้นสังกัดจัดซื้อหรือจัดหาให้  แล้วขยายผลไปสู่การปฏิบัติในระดับโรงเรียนเหมือนกับโปรแกรมพื้นฐานทั่ว ๆ ไป                     2.  การที่ครูผู้สอนมีความคิดเห็นต่อเอกสารประกอบการอบรมพัฒนาทักษะการใช้  ICT   เพื่อการเรียนการสอน อยู่ในระดับการปฏิบัติมากทั้ง  6  ด้าน และในระดับการปฏิบัติปานกลาง  1 ด้าน  สืบเนื่องมาจากการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของกลุ่มงานส่งเสริม พัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ เขต 1 สามารถช่วยให้ครูผู้สอนมีทักษะด้าน  ICT  เพิ่มสูงขึ้น  รูปแบบและวิธีการในการพัฒนาครูผู้สอนเหมาะสมกับสภาพความต้องการของโรงเรียน และสอดคล้องกับระดับความพร้อมของกลุ่มงาน หรือสอดคล้องกับศักยภาพของตนเอง  นอกจากนี้ยังพบว่าโปรแกรมที่ใช้ในการอบรมและการผลิตสื่อในครั้งนี้ เหมาะสมกับระดับความรู้ความสามารถของครูผู้สอน ขั้นตอนการผลิตและระยะเวลาที่ใช้ไม่มาก สามารถนำไปใช้ได้อย่างสะดวกทั้งครูผู้สอนและขยายผลลงถึงนักเรียนได้                    สำหรับรายการประเมินที่ครูผู้สอน ต้องการให้กลุ่มงานส่งเสริมพัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ เขต 1   คือ ชี้แจงรายการอบรมในส่วนของการวัดและประเมินผล  และการจัดทำตัวอย่างชิ้นงานประกอบการอธิบายในแต่ละกิจกรรมของการติดตั้งและการใช้โปรแกรม  นอกจากนี้ต้องการให้ฝ่ายจัดอบรมเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ให้  เพื่อความสะดวกในการใช้และการนำเสนอของคณะวิทยากรและผู้เข้าอบรม

                    3. การที่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  มีความคิดเห็นต่อการใช้  ICT   เพื่อการเรียนการสอน ของครูผู้สอนทั้ง 2 ระดับชั้น อยู่ในระดับการปฏิบัติมากทุกด้าน   สืบเนื่องมาจากครูผู้สอนมีทักษะในการใช้  ICT  เพื่อการเรียนการ

สอน  อยู่ในระดับปานกลางและระดับสูงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ในการใช้  ICT  สำหรับนักเรียนได้  นอกจากนี้ยังมีการใช้สื่อการเรียนการสอนที่ผลิตขึ้นจากโปรแกรมที่ใช้ในการอบรม  ทำให้นักเรียนมีความรู้เข้าใจมากขึ้นประกอบกับการเรียนการสอนด้วยระบบ  ICT  นักเรียนส่วนใหญ่มีความต้องการและสนใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  จึงส่งผลให้นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับดี  ซึ่งจะเห็นได้จากข้อเสนแนะเพิ่มเติมของนักเรียน ในด้านการใช้สื่อการสอนของครูที่เข้าใจยาก นักเรียนต้องการให้ครูอธิบายอย่างช้า ๆ  และต้องการให้เพิ่มเวลาในการฝึกปฏิบัติจริงให้มากขึ้น เพื่อที่นักเรียนทุกคนจะได้มีชิ้นงานเสร็จทันในเวลาที่ครูสอน                    ข้อค้นพบเพิ่มเติมจากข้อเสนอแนะของนักเรียน พบว่า  ส่วนใหญ่ร้อยละ 70  ของผู้ที่แสดงความคิดเห็นต้องการให้ทางโรงเรียน เพิ่มจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียน และในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3  ยังต้องการให้เพิ่มจำนวนห้องคอมพิวเตอร์ให้เพียงพอกับจำนวนอาคารเรียน พร้อมทั้งมีการปรับปรุงระบบและประสิทธิภาพความเร็วของคอมพิวเตอร์ทุกปี  ในด้านการสืบค้นข้อมูลต้องการให้โรงเรียนปรับปรุงระบบอินเตอร์เน็ตและความเร็วในการโหลดข้อมูลมากขึ้น

 

 

หมายเลขบันทึก: 111786เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2007 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท