รู้จัก..ประเทศรัสเซีย


 สหพันธรัฐรัสเซีย ( Российская Федерация )

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง อยู่ทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย และมีพื้นที่ ๒ ใน ๓ อยู่ในทวีปเอเชีย โดยมีเทือกเขาอูราล เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างทั้งสองทวีป

พื้นที่ ๑๗,๐๗๕,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก ( ใหญ่กว่าประเทศไทย ราว ๓๓ เท่า ) โดยมีระยะทางจากด้านตะวันออกจรดตะวันตก ๙,๐๐๐ กิโลเมตร และจากด้านเหนือจรดใต้มีระยะทาง ๔,๐๐๐ กิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงมอสโก ในภาษารัสเซียจะเรียกว่า มัสกวา ( ประชากร ๑๐,๑๐๒,๐๐๐ คน )

เมืองสำคัญอื่นๆ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, วลาดิวอสต็อก, โนโวสิเบียรสก์, นิชนีย์, โนฟโกรอดและเยคาทารินเบิร์ก

ประชากร ๑๔๒.๙ ล้านคน เป็นชาวรัสเซีย ร้อยละ ๗๙.๘ ที่เหลือเป็นเชื้อชาติอื่นๆ อาทิ ตาตาร์ ยูเครน เบลารุส เยอรมัน ยิว อาร์เมเนีย และคาซัค

วันชาติ ๑๒ มิถุนายน

ภาษาราชการ ภาษารัสเซีย

ศาสนา ส่วนใหญ่นับถือคริสตศาสนานิกายออร์โธดอกซ์รัสเซีย ( ร้อยละ ๗๐) ที่เหลือนับถือศาสนาอิสลาม ( ร้อยละ ๕.๕) คริสตศาสนานิกายคาธอลิก ( ร้อยละ ๑.๘) และพุทธศาสนานิกายมหายาน ( ร้อยละ ๐.๖)

เขตการปกครอง มีหน่วยปกครองทั้งสิ้น ๘๘ แห่ง โดยแบ่งออกเป็นสาธารณรัฐ (Republic) ๒๑ แห่ง มณฑล ๔๘ แห่ง ดินแดนปกครองตนเอง (Krays) ๗ แห่ง เขตปกครองตนเองตามเชื้อชาติ (ethnically designated okrugs) ๙ แห่ง เขตปกครองตนเอง (autonomous oblast) ๑ แห่ง และ Federal City ๒ แห่ง (กรุงมอสโก และนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก)

หน่วยเงินตรา รูเบิล (rouble - RUR)

อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์ (USD) = RUR ๒๖.๕๘ (ณ วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๐)

เขตเวลา แบ่งเป็นเขตเวลาทั้งสิ้น ๑๑ เขต ( เวลาที่กรุงมอสโกช้ากว่าไทย ๓ ชั่วโมง ในฤดูร้อน และช้ากว่าไทย ๔ ชั่วโมงในฤดูหนาว )

การเมืองการปกครอง...

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัสเซีย ในปี ค . ศ . ๑๙๑๗ ซึ่งอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ ( ค . ศ . ๑๙๑๔ -๑๙๑๘) ได้มีการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัสเซียโดยกลุ่มบอลเชวิกภายใต้การนำของนายวลาดิเมียร์ เลนิน ทำให้ระบบกษัตริย์ได้ถูกล้มล้างไป กลุ่มบอลเชวิกได้เข้ามาบริหารประเทศ และเปลี่ยนชื่อประเทศจากจักรวรรดิรัสเซีย (Russian Empire) เป็น Russian Soviet Federative Socialist Republic พร้อมทั้งใช้กำลังทางทหารเข้ายึดครองรัฐต่าง ๆ ในจักรวรรดิรัสเซียเดิม และไดัจัดตั้งสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ( Union of Soviet Socialist Republic : USSR ) หรือสหภาพโซเวียต ( Soviet Union ) ขึ้นในปี ค . ศ . ๑๙๒๒ โดยมีสาธารณรัฐรัสเซีย เป็นแกนนำ

สหภาพโซเวียตตกอยู่ภายใต้การบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเน้นการบริหารและการวางแผน จากส่วนกลาง เป็นเวลายาวนานถึง ๖๙ ปี เป็นผลให้ชาวโซเวียตนับล้านคนเสียชีวิตจากการกวาดล้างผู้ ที่ไม่เห็นด้วยทางการเมือง และจากภาวะทุพภิกขภัย นอกจากนี้ ยังมีประชาชนชาวโซเวียตราว ๒๐ ล้านคน เสียชีวิตในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ( ค . ศ . ๑๙๓๙ -๑๙๔๕) และต่อมาในปี ค . ศ .๑๙๔๙ โซเวียตได้เริ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง

ในระหว่างสงครามเย็น สหภาพโซเวียต ให้ความสำคัญกับนโยบายแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นผู้นำด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและการพัฒนาอาวุธ ส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ช่วงทศวรรษที่ ๘๐ ทำให้ประชาชนและกลุ่มแรงงานออกมาเรียกร้องและต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นและรุนแรงขึ้น แม้ว่านายมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดีคนสุดท้าย ของสหภาพโซเวียตจะพยายามกำหนดแผนการปฏิรูปต่าง ๆ ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งนายกอร์บาชอฟ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ค . ศ . ๑๙๙๑ และสหภาพโซเวียตล่ม สลายลงอย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ค . ศ . ๑๙๙๑ โดยแยกออกเป็นประเทศทั้งสิ้น ๑๕ ประเทศ ในส่วนของสหภาพโซเวียตนั้น ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสหพันธรัฐรัสเซีย ต่อมาสหพันธรัฐรัสเซียและ ประเทศที่แตกตัวจากสหภาพโซเวียตอีก ๑๑ ประเทศ ( ยกเว้นประเทศบอลติก ๓ ประเทศ ได้แก่ ลิธัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย ) ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States : CIS)

ระบบการปกครองในปัจจุบัน...

รูปแบบการปกครอง
สหพันธรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และหัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันเริ่มใช้เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ค . ศ . ๑๙๙๓

การแบ่งส่วนการปกครอง...

ประมุข ประธานาธิบดี มีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างสมบูรณ์ ( มาจากการเลือกตั้ง อยู่ในตำแหน่งวาระละ ๔ ปี และอยู่ตำแหน่งได้ ๒ วาระ )

ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ... ดมิตรี  อนาโตเลวิช  เมียดเวเดียฟ ( Дмитрий Анатольевич Медведев )

ฝ่ายบริหาร หัวหน้าฝ่ายบริหารคือ นายกรัฐมนตรี และปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยรัฐมนตรีทั้งสิ้น ๑๗ คน ( รวมนายกรัฐมนตรี ) และทั้งหมดแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ... วลาดิมีร  วลาดิมิราวิช  ปูติน ( Влади́мир Влади́мирович Пу́тин )

- ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภาประกอบด้วย ๒ สภา คือ สภาสูงหรือสภาสหพันธรัฐ (Federation Council) ซึ่งมีสมาชิกจำนวน ๑๗๘ คน จากเขตการปกครอง ๘๘ เขต ( รวมทั้งเขตกรุงมอสโก และนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ) เขตละ ๒ คน และสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาดูมา ซึ่งมีผู้แทนจำนวน ๔๕๐ คน ( ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รัฐสภารัสเซียมีบทบาทและอำนาจค่อนข้าง น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับอำนาจของประธานาธิบดี และสมาชิกรัฐสภาจะอยู่ในตำแหน่งวาระละ ๔ ปี)
- ฝ่ายตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา ศาลสูงแห่งอนุญาโตตุลาการ และ สำนักงานอัยการสูงสุด
- ระบบพรรคการเมือง เป็นระบบหลายพรรค ปัจจุบันพรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พรรคคอมมิวนิสต์ พรรค United Russia พรรค LDPR พรรค Union of Right Forces พรรค Yabloko พรรค People's Party พรรคRodina...                                                                                             

                                                                                                                    
 

                 

 

คำสำคัญ (Tags): #russian
หมายเลขบันทึก: 111460เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2007 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท