ศิลปะ (8) วิธีสอนเชื่อมโยงแบบครูเก่า


เป็นการจัดการเรียนรู้ แบบถาวร ในลักษณะองค์รวม

 

ศิลปะ (8)

วิธีสอนเชื่อมโยงแบบครูเก่า 

         ผมเป็นครูที่เรียนวิธีสอนมานาน เรียนจิตวิทยาการศึกษา (Education Psychology) มานานแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ที่ยังพอจำชื่อของท่านได้บ้างก็คือ  ฟลอยด์  (Freud) ดิวอี้ (Dewey) บลูม (Bloom)  และกานเย่ (Gane)   

        จอน์ ดิวอี้ (John Dewey) ท่านมีความเชื่อว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากการกระทำ (Learning by doing) ประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญในการปรับตัวของมนุษย์

        ฟรอยด์ (Sigmund Freud) แบ่งลักษณะจิตเป็น 3 ส่วน  จิตสำนึก (Conscious) แสดงความรู้ตังตลอดเวลา   จิตใต้สำนึก (Subconscious) รู้ตัวตลอดเวลาแต่ไม่แสดงออกในขณะนั้น  และ จิตไร้สำนึก (Unconscious)

        บลูม (Bloom) กล่าวถึงหลักของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อาจมี 3 ด้าน ดังนี้

               พฤติกรรมด้านสมอง (Cognitive Domain) ได้แก่ ความรู้จำ ความเข้าใจ

               พฤติกรรมด้านจิตใจ (Affective Domain) ได้แก่ อารมณ์ ความเชื่อ ทัศนคติ

               พฤติกรรมด้านกล้ามเนื้อประสาท  (Psychomotor Domain) หรือทักษะพิสัย

        กานเย่ (Gane) การสอนแบบทักษะกระบวนการ 9 ขั้น

        สิ่งสำคัญที่ครูต้องเรียนรู้จิตวิยาการศึกษา ก็เพื่อที่จะนำเอามาจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครบทั้ง 3 ด้านอย่างแท้จริง ได้แก่ ด้านความคิด ด้านอารมณ์ และด้านการปฏิบัติ การจัดการเรียนรู้จะต้องให้สอดคล้องกับผู้เรียน สังคม ค่านิยมด้านผู้เรียน การเรียนการสอน ช่วยให้ครูเข้าใจเด็ก สามารถจัดการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการ ความสนใจ ความถนัดเชาวน์ปัญญาของเด็ก 

        ด้านสังคม ช่วยให้ครู นักเรียน เข้าใจตนและผู้อื่น ปรับปรุงพฤติกรรมตนเอง ด้านค่านิยม คุณธรรม การปกครอง การแนะแนว ให้ครูเข้าใจเด็กมากขึ้น อบรมแนะนำ ควบคุมดูแลให้อยู่ในระเบียบ จะช่วยให้ปรับตัวได้อย่างเหมาะสม

        พฤติกรรม ( Behavior)การเรียนรู้  ผู้เรียนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างถาวรการ  เปลี่ยนแปลงจากพฤติกรรมเดิมเป็นพฤติกรรมใหม่ อันเป็นผลมาจากประสบการณ์

      

        การถ่ายโยงการเรียนรู้ (Transfer of Learning)

       การเรียนรู้อย่างหนึ่งแล้วมีผลต่อการเรียนรู้อีกอย่างหนึ่ง อาจมีผลทางเพิ่มขึ้น  และในทางลดลง  เช่น การเรียนศิลปะเรื่องภาพทิวทัศน์ ก็สามารถถ่ายโยงไปมีผลกับเรื่องฉากประกอบ การแสดงได้  การถ่ายโยงจึงเป็นการที่บุคคลนำสิ่งหนึ่งไปใช้กับอีกสิ่งหนึ่งการถ่ายโยงการเรียนรู้มี 2 ประเภท

      1. การถ่ายโยงการเรียนรู้ประเภทเพิ่ม การเรียนรู้สิ่งหนึ่งมีผลกับการเรียนรู้อีกสิ่งหนึ่งในทางดีขึ้น

          1.1 เรียนศิลปะเก่งจะนำไปสู่การเรียน ที่ใช้ความคิด สร้างสรรค์ ได้ดี

         1.2 การร้องเพลง นำไปสู่การการแสดง และจัดรวมกลุ่มเป็นวงดนตรีได้

      2. การถ่ายโยงการเรียนรู้ประเภทลด การเรียนรู้สิ่งหนึ่งมีผลกับการรู้อีกสิ่งหนึ่งในทางที่    ตกต่ำลง เช่น แต่งกลอนได้ไพเราะ  อาจจะไม่สามารถด้นกลอนสดได้เลย  และขับ    รถยนต์เกียร์อัตโนมัติได้คล่อง  อาจจะขับรถยนต์เกียร์ธรรมดาไม่คล่องก็เป็นได้ 

 หลักการสอนให้นักเรียนมีการเชื่อมโยงความรู้

       1.     เชื่อมโยงความรู้ โดยครูสอนคนเดียว

       2.     เชื่อมโยงความรู้โดยมีครูสอนตั้งแต่ 2 คน

       3.     เชื่อมโยงความรู้โดยมีครูสอนหลายคน

       ความเป็นจริงยังมีวิธีการอื่น ๆ อีกหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสอนแบบโครงการ/การสอนแบบโครงงาน ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ ให้กับผู้เรียนในรายวิชาต่าง ๆ อยู่แล้ว ผมจะยังไม่นำเอามาเล่าในบทความนี้ ที่จะยกเอามาเล่า ก็คือประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้ที่ผมได้ปฏิบัติ

       ผมเป็นครูสอนอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ใจจริงแล้วมีความมุ่งมั่นที่จะสอนรายวิชาพื้นฐานมาก แต่กลับได้สอนเฉพาะรายวิชาเพิ่มเติม (เป็นเด็กกลุ่มอ่อนล้วนๆ) เมื่อได้สัมผัสแผนการจัดการเรียนรู้ มองเห็นการจัดกิจกรรมจริง ที่ครูเขาปฏิบัติ  พบปัญหามากมายอันเกิดจากตัวครูเอง แต่มองไม่เห็นปัญหา แต่ตามไปแก้ปัญหาที่ผู้เรียน ตัวอย่าง เช่น

      1.     จัดการเรียนรู้โดยเน้นพฤติกรรมผู้เรียน ด้านความรู้ (Knowledge) อย่างเดียว

      2.     จัดการเรียนรู้รายวิชาพื้นฐานโดยเน้นการปฏิบัติ (Process) มากกว่าความรู้

      3.     จัดการเรียนรู้ในวิชาเพิ่มเติม เน้น ด้านความรู้ บอกได้ อธิบายได้ เกือบทั้งหมด

      4.     จัดการเรียนรู้ไม่มีการสอดแทรกคุณธรรม ค่านิยม ความเชื่อ (Attitude) ลงไป

      5.     จัดการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติมให้กับนักเรียนทั้งห้อง โดยครูกำหนดให้ผู้เรียนต้องเรียนตามที่ครูคาดหวัง  ครูคิดแทนนักเรียน (คิดจะปั้นคนกลุ่มใหญ่)

      6.     จัดการเรียนรู้โดยแสดงการเชื่อมโยงข้ามกลุ่มสาระโดยครูผู้สอนเพียงคนเดียว

      7.     จัดการเรียนรู้ไม่สอดคล้องกับลักษณะของวิชาที่เปิดสอน เช่น

          7.1      วิชาโครงงาน สอนเนื้อหาพิเศษเน้นเฉพาะทางให้กับผู้เรียน  ไม่ได้สอน   กระบวนการตามรูปแบบของวิชาโครงงาน

         7.2      วิชากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยเฉพาะ วิชากิจกรรมชุมนุม ครูนำนักเรียนไปสอนทั้งห้อง ให้เรียนรู้ตามที่ครูถนัด ไม่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนคิดตามวงจร

         7.3      จัดการเรียนรู้วิชาโครงงานโดยให้นักเรียนปฏิบัติงานเหมือน ๆ กันทั้งกลุ่ม8.     จัดการเรียนรู้โดยเน้นเนื้อหาจากตำราขององค์กรใดองค์การหนึ่งเป็นหลัก9.     จัดการเรียนรู้โดยยึดกลุ่มใหญ่เป็นหลัก ไม่ได้จัดให้ผู้เรียนได้พัฒนาตามศักยภาพ (สนองความแตกต่างระหว่างบุคคล)  หรือมิได้มุ่งที่จะพัฒนาคน

        ยังมีประเด็นอื่น ๆ อีกหลายอย่าง แต่ขอยกเอามากล่าวเพียงบางส่วนที่ผมมองเห็น  ถ้าถามว่า แล้วตัวคนเล่ามีความสมบูรณ์มากกว่าคนเหล่านั้นหรือ ผมตอบได้อย่างมั่นใจว่า  ผมทำหน้าที่สอนเต็มที่ ทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำเด็ก ๆ ที่ผมรับผิดชอบ โดยผมเรียนรู้ไปพร้อมกันกับเด็กอยู่ดูแลพวกเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มผู้เรียน

      

       ผมจึงจัดการเรียนรู้แบบองค์รวม  จัดแบบฝึกทักษะ จัดแบบหาความสัมพันธ์ (ผลกระทบ) และจัดแบบเรียนรู้หลักการไปพร้อม ๆ กับการปฏิบัติ 

            เชื่อมโยงความรู้ โดยครูสอนคนเดียว

            ในการจัดการเรียนการสอน  วิชาศิลปะกับภูมิปัญญาไทยของผม  ผมแนะนำให้นักเรียนวิเคราะห์ตนเองเพื่อค้นหา ความสนใจ ความถนัดทางศิลปะ แล้วมองหาต้นแบบ คนที่นักเรียนรักและศรัทธาในผลงาน เป็นแบบอย่าง จัดการวางแผน ลงมือทำงาน นำเอาชิ้น งานที่ได้ไปประเมินค่าโดยเพื่อน และนำมาปรับปรุงจนได้ผลงานที่สมบูรณ์ จึงนำไปส่งครู  ขั้นตอนที่สำคัญคือ นักเรียนจะต้องนำผลงานพร้อมทั้งคำบรรยาย ไปอธิบายให้เพื่อนที่จะประเมินเข้าใจ แล้วจึงให้ประเมินผลงานออกมา  วิธีนี้ นักเรียนจะได้ทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั้ง 3 สาระในกลุ่มศิลปะ โดยเป็นไปตามความถนัด

      

        เชื่อมโยงความรู้โดยมีครูสอนตั้งแต่ 2 คน       

             ในวิชากิจกรรม / ชุมชุมศิลปะภูมิปัญญาไทย ผมฝึกทักษะเพลงพื้นบ้านให้กับนักเรียน และผมได้รับการประสานให้ร่วมจัดกิจกรรมผสมผสานกับศิลปะการต่อสู้ (กระบี่กระบอง) กับครู ส.อ.วีระ  คงสมนึก กลุ่มสาระสุขศึกษาและพละ  เราวางแผนร่วมกัน ผมเขียนบทเพลง มีทำนองขับเสภา เพลงแหล่ และเพลงอีแซว  ส่วน ส.อ. วีระ ออกแบบท่ารำ ท่าการต่อสู้ นัดหมายทำการฝึกซ้อมร่วมกัน และร่วมกันประเมินผลในรายวิชากิจกรรม/ชุมนุม จนมีผลงานเป็นที่ปรากฏในระดับจังหวัด

        เชื่อมโยงความรู้โดยมีครูสอนหลายคน  

            ผมมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงความรู้เรื่องกล้วยให้กับโรงเรียน เราประชุมวางแผน ร่วมกันจัดทำแผนการ จัดการเรียนรู้ร่วมกัน  กลุ่มสาระศิลปะแต่งบทร้องเพลงพื้นบ้านประโยชน์ ของกล้วย วาดภาพต้นกล้วยและผลผลิตส่วนกลุ่มสาระอื่น ๆ อีก 7 กลุ่ม ใช้เนื้อหาตามธรรมชาติวิชาจนเกิดเป็นห้องเชื่อมโยง ที่มีคุณค่า ได้รับการยอมรับในระดับกระทรวงว่า เป็นแบบอย่างที่ดี  

         

        การจัดการเรียนรู้แบบเชื่อมโยง แบบคร่อมวิชา แบบบูรณาการ เป็นการจัดการเรียนรู้ในลักษณะองค์รวม มีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นการประมวลความรู้ นำเอาตะกอนที่คงอยู่อย่างถาวรไปใช้ในการแก้ปัญหาชีวิตในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ สอนเชื่อมโยงเพื่อการแก้ปัญหาในชีวิตจริง. 2550)

 

หมายเลขบันทึก: 111089เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2007 08:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท